++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๔. อยากทราบเรื่องมาร

ถาม ขอให้อธิบายคำว่า มาร โดยละเอียด

ตอบ มารนั้นหมายถึง สิ่งที่ฆ่าหรือขัดขวางบุคคลให้ตายไปจากคุณงามความดี หรือขัดขวางไม่ให้บรรลุคุณงามความดี ในเวลาที่ตายจากโลกมนุษย์แล้ว ท่านแบ่งไว้ ๕ อย่าง คือ
๑. อภิสังขารมาร มารคือเจตนากรรมในอดีตภพ อันได้แก่ปุญญาภิสังขาร เจตนาอันเป็นบุญได้แก่ เจตนาในมหากุศล ๘ รูปฌานกุศล ๕ อปุญญาภิสังขาร เจตนาคือบาป ได้แก่ เจตนาในอกุศล ๑๒ และอาเนญชาภิสังขาร เจตนาที่ไม่หวั่นไหวคือเจตนาในอรูปฌานกุศล ๔
ก็อภิสังขารมารคือ เจตนาในอภิสังขารทั้ง ๓ นี้เป็นเหตุให้ปฏิสนธิในภพภูมิต่างๆ เมื่อยังต้องปฏิสนธิคือยังต้องเกิดในภพต่างๆ อยู่ย่อมไม่พ้นไปจากความทุกข์ได้ อภิสังขารคือเจตนากรรมเหล่านี้ที่ชื่อว่ามาร ก็เพราะเป็นผู้ทำลายหรือกีดกันปิดกั้นหนทางที่บุคคลจะเข้าถึงความพ้นทุกข์ พูดง่ายๆ ก็คือ อภิสังขารมารนั้นปิดกั้นทางที่จะให้ถึงมรรคผลนิพพาน นี่เป็นมารข้อแรก
๒. กิเลสมาร มารคือกิเลส กิเลสชื่อว่าเป็นมาร เพราะกำจัดขัดขวางมิให้บุคคลกระทำความดี ทำให้บุคคลทั้งหลายต้องได้รับความทุกข์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
๓. ขันธมาร มารคือขันธ์ ๕ ขันธ์ชื่อว่าเป็นมาร คือเป็นตัวขัดขวางการกระทำคุณงามความดี ทั้งนี้เพราะขันธ์ ๕ เป็นสภาพที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มั่นคงถาวรมีอันแปรปรวนไปเป็นธรรมดา เสื่อมไป เพราะชราและพยาธิ ทำให้ไม่สามารถบำเพ็ญกุศลให้ถึงที่สุดได้ เพราะฉะนั้นขันธ์ ๕ จึงชื่อว่าเป็นมาร
๔. มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายจัดเป็นมาร เพราะเป็นตัวการตัดโอกาสในการทำคุณงามความดี บางคนไม่เคยสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมเลย พอหันมาสนใจก็มีเหตุให้ต้องตายไปเสียก่อนที่จะได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามที่ตั้งใจ ความตายจึงเป็นมารอย่างนี้
๕. เทวบุตรมาร มารคือเทพบุตร ท่านกล่าวว่าเทพบุตรองค์นี้เป็นหัวหน้าเทพบุตรในชั้นปรนิมมิตวสวตี เรียกกันสั้นๆว่า ท้าววสวัตตีมาร ท้าววสวัตตีมารองค์นี้แหละ ที่ตามผจญพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ยังไม่ตรัสรู้ จนกระทั่งตรัสรู้แล้ว นอกจากนั้นยังเที่ยวชักชวนให้คนที่กำลังทำความดี เลิกละการทำความดีเสีย เที่ยวชักชวนพระภิกษุภิกษุณีให้เลิกปฏิบัติ แล้วสึกมาเสวยกามสุข เทพบุตรองค์นี้จึงจัดเป็นมาร เพราะคอยขัดขวางคนทั้งหลายไม่ให้ทำความดี โดยเฉพาะความดีขั้นสูงสุด คือ มรรคผลนิพพาน
ทั้งหมดนี้คือเรื่องของมาร ๕ อย่างที่คุณอยากทราบ
ขอสรุปให้ทราบว่า มาร ๕ อย่างมี อภิสังขารมาร กิเลสมาร ขันธมาร มัจจุมาร และเทวบุตรมาร
________________________________________

ที่มา อ้างอิง และแนะนำ :-

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม

คำว่า มาร 5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น