กลางดงพงป่าเขาลำเนาไพรไกลสังคม มีแดนรื่นรมย์แสนชื่นชมมีเสรี ไร้ทุกข์สนุกสนาน สำราญกันได้เต็มที่ พวกเราชาวถิ่นนี้ล้วนมีไมตรีต่อกัน
ไม่ทราบว่าที่มาของเพลงนี้ คนแต่งเพลงได้มาเยือนบ้านกลางดงมาก่อนหรือไม่ ถึงได้เนื้อหาของเพลงที่ใกล้เคียงกับลักษณะพื้นที่จริงของบ้านกลางงเช่นนี้ เมื่อประมาณปี 2470 มีเรื่องเล่าอยู่ว่า ชาว อ.เถิน จ.ลำปาง ได้อพยพมาเป็นลูกจ้าง ชักลากไม้ให้กับบริษัททำไม้ชาวอังกฤษ อยู่นานเข้าก็ได้ชักชวนญาติพี่น้องเข้ามาบุกเบิก ทำมาหากิน ทำนา ทำไร่ เริ่มปลูกบ้านจนกลายเป็นหมู่บ้าน ซึ่งก้ได้ชื่อหมู่บ้านแรกขึ้นว่า บ้านกลางดง เพราะตรงพื้นที่แห่งนี้เป็นป่าดงดิบ มีป่าไม้นานาพรรณ เช่น ไม้สัก, ไม้ประดู่ ไม้แดง และไม้อื่นๆอีกมากมาย
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดินที่บ้านกลางดง จึงมีคำร่ำลือว่า
" บ้านกลางดง เหมืองนา ปลูกข้าววา สามต้น" ความหมายคือ ปลูกข้าวที่นี่ต้องปลูกในระยะที่ห่างกัน เพราะข้าวที่นี่ปลูกน้อย แต่ให้ผลผลิตมาก บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินแห่งบ้านกลางดง
"คนเราถ้าร่างกายไม่สมบูรณ์ ก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ อบต.กลางดงมีนโยบายในการดูแลประชาชนทุกด้าน ให้ความสำคัญทั้งด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม แล้วยังมองเห็นว่า ถึงไม่มีกองทุน กลางดงก็ต้องดูแลสุขภาพของประชาชนอยู่แล้ว" นี่คือ มุมมองของนายกท อบต.กลางดง
เคยมีคนกล่าวถึง นายก อบต.ท่านนี้ไว้ว่า
" ท่านนายก อบต. เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนกลางดง ดังนั้น เมื่อเกษียณ ท่านนายกก็มาเป็นกรรมการเงินล้าน เป็นวิทยากรเรื่องต่างๆให้กับชาวบ้าน มีคนชอบนับถือมาก เป็นที่ยอมรับ เมื่อมาสมัครลงนายก ก็ได้รับการเลือก"
การดำเนินงานโครงการของกองทุนกลางดง เป็นการบริหารงานที่เป็นระบบ ตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วมคิด ตัดสินใจในการทำโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาส้วมสาธารณะผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โครงการรณรงค์ควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก ,โครงการจัดซื้อเครื่องวัดความดันโลหิต และโครงการดูแลเยี่ยมบ้านผู้พิการ โครงการต่างๆเหล่านี้มาจากการเสนอความต้องการของชุมชนผ่านคณะกรรมการ แต่ละหมู่บ้านจากการทำประชาคม ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ทุกโครงการมาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ทั้งสิ้น
โครงการที่จัดว่า เป็นโครงการดีเด่นของ อบต.กลางดง ที่ดำเนินการโดยใช้เงินกองทุน คือ โครงการดูแลเยี่ยมบ้านผู้พิการ โครงการนี้ เจ้าของโครงการคือ ชมรมผู้สูงอายุตำบลกลางดงและอาสาสมัครในพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้พิการทุพพลภาพในพื้นที่ตำบลกลางดงกว่า 50 คน เมื่ออนุมัติโครงการแล้ว อสม.ก็จะประสานงานกับ อบต.และสถานีอนามัยในพื้นที่ จัดทำทะเบียน ออกเยี่ยมเยียนทุกสัปดาห์ตามความเหมาะสม จัดซื้อชุดของเยี่ยม มีการให้ความรู้ พูดคุย กระตุ้นจิตใจผู้พิการแจ่มใสขึ้น พร้อมบันทึกข้อมูลการตรวจเยี่ยม แล้วทำการประเมินผลจากการดำเนินการ พร้อมกับสรุปปัญหา อุปสรรค และหาแนวทางแก้ไข
สิ่งขับเคลื่อนที่มีผลต่อความสำเร็จ คือ การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมของนายก อบต. จนได้รับรางวัลการบริหารงานที่ดี 4 ปีซ้อนจากปี 2546 ถึง 2549 แบะการมีส่วนร่วมของประชาชน ทุกภาคส่วน ที่เกิดจากความศรัทธาที่มีต่อตัวนายก อบต. ที่มีคนนับถือมาก มีแนวความคิดกว้าง และมีประสบการณ์ในการบริหารงานที่ดี รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์โครงการ มุ่งเน้นการทำความเข้าใจกับชุมชน มีการบอกข่าวผ่านหอกระจายข่าว กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการกองทุนฯ รวมไปถึงการทำหนังสือเชิญ และจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ
กลางดงบริหารงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล คือ เป็นธรรม ประหยัด โปร่งใส มีประสิทธิภาพ โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการตามความคิดของประชาชนเอง ยิ่งถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ ก็จะสนับสนุนมากขึ้น เช่นเดียวกับโครงการเกี่ยวกับผู้พิการนี้ เมื่อเห็นว่ามีประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ ก็จะสนับสนุนและให้ความสำคัญ เพราะเชื่อว่า โครงการนี้สามารถสร้างขวัญกำลังใจให้ทุกคนในชุมชน อยู่ร่วมกันอย่างมีคุณค่าได้
และนี่คือ เรื่องเล่าจากชาวกลางดงในยุคมิลเลเนี่ยม
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ดุจเดือน เขียวเหลือง
สุดารัตน์ ไชยประสิทธิ์
วพบ.อุตรดิตถ์
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น