++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2552

FW: คนยากไร้กับหนูตาย

ท่านจุลลกเศรษฐี ในเมืองพาราณสี
เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมเป็นบัณฑิตที่รู้จักปรากฏการณ์ต่าง ๆ
วันหนึ่งจุลลกเศรษฐีไปเฝ้าพระราชา ระหว่างทางเห็นหนูตายตัวหนึ่ง
เขามองดูท้องฟ้าแล้วกล่าวว่า บุคคลผู้มีปัญหา
อาจเอาหนูตายตัวนี้ไปเป็นทุนเลี้ยงลูกเมียได้

ชายผู้ยากไร้คนหนึ่งชื่อ จูฬันเตวาสิก ได้ยินท่านเศรษฐีพูดเช่นนั้น
ก็คิดว่า ท่านเศรษฐีไม่รู้จริงคงไม่พูด
จึงเอาหนูตายตัวนั้นไปขายคนเลี้ยงแมวได้ทรัพย์มากากนิกหนึ่ง (กากนิก
เป็นมาตราเงินอินเดียในสมัยนั้นที่มีค่าน้อยที่สุด เทียบมาตราเงินไทย 1
สตางค์)

จากนั้นก็นำทรัพย์หนึ่งกากนิกนั้นไปซื้อน้ำอ้อยงบ
(น้ำอ้อยที่เคี่ยวแล้วทำเป็นแผ่นสะดวกกับการพกพา)
แล้วเอาหม้อใบหนึ่งตักน้ำ ไปยืนคอยพวกช่างดอกไม้กลับจากป้า
ให้ชิ้นน้ำอ้อยและให้ดื่มน้ำคนละกระบวย
พวกช่างดอกไม้ก็ให้ดอกไม้คนละกำมือแก่เขา

จูฬันเตวาสิกเอาดอกไม้ไปขายได้เงินกลับมามากขึ้น
ก็นำเงินนั้นไปซื้อน้ำอ้อยงบและไปยืนคอยพวกช่างดอกไม้เช่นเดิม
ทำเช่นนี้จนเขามีเงินถึง 8 กหาปณะ (4 บาทเท่ากับ 1 กหาปณะ)

วันหนึ่ง ฝนตก พายุหนัก
กิ่งไม้แห้งบ้างสดบ้างถูกพายุพัดลงมาเป็นอันมากในพระราชอุทยาน
คนเฝ้าอุทยานไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี จูฬันเตวาสิกจึงรีบไปบอกคนเฝ้าว่า
ถ้าจะให้ใบไม้กิ่งไม้เหล่านั้นแก่เขา เขาจะขนออกไปให้หมด
คนเฝ้าสวนดีใจรีบบอกให้เขามาขนไปในทันที

ด้วยความดีใจ จูฬันเตวาสิกรีบกลับไปที่สนามเด็กเล่น ให้น้ำอ้อยแก่เด็ก ๆ
แล้วขอแรงให้ช่วยขนกิ่งไม้จนหมดภายในเวลาไม่นาน
กิ่งไม้จำนวนมากกองอยู่ที่หน้าประตูพระราชอุทยาน
ก็พอดีกับช่างหม้อหลวงที่มาเที่ยวหาฟืน เพื่อเผาภาชนะดินของหลวงพบเข้า
จึงขอซื้อกิ่งไม้เหล่านั้น

จากการขายไม้ ชายยากจนอย่างจูฬันเตวาสิกมีทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 16
กหาปณะแล้ว เมื่อมีทรัพย์มากขึ้น เขาจึงคิดอะไรได้อย่างหนึ่ง
ด้วยการตั้งตุ่มน้ำไว้ไม่ไกลจากประตูเมือง เพื่อให้บริการคนหาบหญ้า 500
คน เหล่านคนหาบหญ้าพอใจในบริการที่มีน้ำใจของเขา จึงเอ่ยปากว่า
หากต้องการให้พวกตนช่วยอะไร ขอให้บอกได้เลย

นอกจากคนหาบหญ้าแล้ว จูฬันเตวาสิกยังได้ผูกมิตรกับคนมากหน้าหลายตา
ทำให้เขามีเพื่อนมากมาย วันหนึ่ง เพื่อนดีคนหนึ่งก็มาบอกข่าวแก่เขาว่า
พรุ่งนี้จะมีพ่อค้าม้านำม้า 500 ตัวมายังนครแห่งนี้
จูฬันเตวาสิกจึงไปพบคนหาบหญ้า และขอซื้อหญ้าเตรียมเอาไว้

วันรุ่งขึ้น พ่อค้าม้านำม้า 500 ตัวมาถึง ! ก็พบว่าม
ีเพียงจูฬันเตวาสิกที่มีหญ้าขาย เขาได้กำไรจากการขายหญ้าในครั้งนี้ 1,000
กหาปณะ

โอกาสต่อมา ก็มีเพื่อนมาแจ้งข่าวแก่เขาว่า
มีพ่อค้านำเรือสำเภาขนาดใหญ่มาจอดเทียบท่า จูฬันเตวาสิกไม่รอช้า
รีบไปขอเหมาสินค้าทั้งลำเรือเอาไว้
เมื่อพ่อค้ารายอื่นมาถึงจึงต้องมาซื้อสินค้าจากเขา
สุดท้ายเขาได้ทรัพย์มาเป็นจำนวนถึง 200,000 กหาปณะ

เมื่อได้ทรัพย์เป็นจำนวนมากเช่นนี้ เขาก็เกิดความคิดว่า
"เราควรเป็นคนกตัญญู นำทรัพย์ที่ได้ไปตอบแทนท่านเศรษฐี"

เร็วเท่าใจคิด จูฬันเตวาสิกถือทรัพย์ 100,000
กหาปณะไปมอบให้เศรษฐีเพื่อเป็นการ ตอบแทน พอท่านเศรษฐีทราบเรื่องทั้งหมด
เห็นในสติปัญญา และความเฉลียวฉลาด จึงยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย
และเมื่อเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว
จูฬันเตวาสิกก็ได้เป็นเศรษฐีแห่งเมืองนั้นสืบต่อมา

นิทาน เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า การเชื่อฟังท่านผู้รู้
ไม่ดูเบาต่อคำสั่งสอน พยายามปฏิบัติตาม และทำอย่างมีปัญญา
ใคร่ครวญพิจารณาให้ดี มีความคิดรอบคอบ
และเมื่อได้ทรัพย์มาแล้วก็ระลึกถึงผู้มีพระคุณ
บุคคลผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้ ย่อมไม่ตกต่ำ
มีแต่จะตั้งตนได้และเจริญรุ่งเรือง ความรู้ ความประพฤติ
และการงานที่ดีย่อมเป็นที่พึ่งพิงของบุคคลได้ดีกว่าสิ่งอื่น
ดังภาษิตที่ว่า "ไม่มีมิตรใดเสมอได้ด้วยวิชชา"

ชะตากรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยั่งถึงได้
แต่ความเพียรพยายามเป็นสิ่งที่เรารู้ได้และอยู่ในอำนาจของเรา
การทำความเพียรให้เป็นหน้าที่ของเรา การให้ผลเป็นหน้าที่ของกรรม

เมื่อ หวังความสำเร็จผล ก็ต้องรู้จักรอคอย และควรคอยอย่างสงบ
ไม่ใช่กระวนกระวายใจ อะไรที่ควรได้ ย่อมได้มาเองโดยผลแห่งกรรม
หรือความเพียรชอบนั้นแล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น