++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ระหว่างการรู้สึกกับการคิด

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 18 ตุลาคม 2552 12:55 น.
ฉบับที่แล้วผมเขียนเรื่อง "ทักษะการคิด" และให้ความเห็นว่าที่จริงแล้ว
คนไทยเราเป็นคนช่างคิดไม่แพ้ชาติอื่น แต่ทำไมเด็กๆ
ของเราจึงไม่ค่อยจะใช้ความคิด คำว่า "คิด" นั้น ภาษาฝรั่งคือ "Think"
เวลาคนไทยได้รับคำถามว่า "คิดอย่างไร" เรามักจะนิ่ง ผมเห็นว่า
หากเราถามใหม่ว่า "รู้สึกอย่างไร" เราก็จะได้รับคำตอบ เพราะคนไทยเรามักจะ
"รู้สึก"

ผมเคยเขียนว่า

รู้สึก 3 ครั้ง = คิด 1 ครั้ง

คิด 3 ครั้ง = ไตร่ตรอง

ไตร่ตรอง = การกระทำ 1 ครั้ง

การรู้สึกกับการคิดนั้นต่างกัน คือ Heart กับ Head
การรู้สึกเป็นเรื่องของอารมณ์ที่ยังไม่ได้สอบทาน ส่วนการคิด คือ
ความรู้สึกที่สอบทานแล้ว มีการพิจารณาแล้ว ดังนั้นผมจึงบอกว่า คิด 1
ครั้งจะต้องมีการสอบทานความรู้สึกอย่างน้อย 3 ครั้ง

การคิดมักมีเหตุผลประกอบเสมอ
แต่จะว่าความรู้สึกไม่มีเหตุผลเสียเลยก็ไม่ได้
เพราะหลายครั้งที่ความรู้สึกของคนเราเกิดจากประสบการณ์
ความรู้สึกนั้นหากมีประสบการณ์รองรับอย่างพอเพียง
ก็เป็นหลักที่ดีในการตัดสินใจได้ แม้ยังหาเหตุผลไม่ได้ก็ตาม

เมื่อนำเรื่องความรู้สึกและความคิดมาเชื่อมโยงกับคุณค่าต่างๆ เช่น
ความรัก ความเมตตา ความกล้าหาญ แล้วก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น

ความรักชาติเป็นความรู้สึกหรือความคิด
ผมเห็นว่าความรักชาตินั้นเป็นความรู้สึกมากกว่าความคิด
เพราะมีคนซึ่งใช้ความคิดประเมินการเข้าร่วมสงครามดูแล้วก็ไม่ยอมรับใช้ชาติ
ก็มีพวกรักชาติมักไม่ใช้ความคิดอะไรมาก

ส่วนความรักของหนุ่มสาวนั้น ต่างไปจากความรักของแม่หรือไม่
มีกระบวนการคิดหรือเปล่า หลายคนเห็นว่า
ความรักกับสัญชาตญาณนั้นใกล้กันมาก
และอะไรที่ใกล้เคียงกับสัญชาตญาณก็เป็นแรงสะท้อนจิตใต้สำนึกซึ่งลึกกว่าความ
รู้สึก คือ ไม่รู้สึกก็เกิดพฤติกรรมขึ้นได้

เราไม่ควรพูดแต่ว่า เด็กๆ ควรคิดเป็น ก่อนจะคิด
เด็กจะต้องรู้จักเป็นเสียก่อน ถ้าเราถามเด็กบ่อยๆ ว่า "รู้สึกอย่างไร"
แทนที่จะถามว่า "คิดอย่างไร" หรือ "มีความเห็นอย่างไร" จะดีกว่า
เพราะเราทุกคนต่างรู้สึกได้ด้วยกันทั้งนั้น

คนเราจะต้องหาดุลยภาพระหว่างความรู้สึกกับความคิดให้ได้ เด็กๆ
เองมีปัญญาและประสบการณ์น้อย ความรู้สึกใช้มากๆ ไม่เป็นไร
ขอให้นึกว่าก่อนจะตัดสินใจทำอะไรลงไปให้คิดเสียก่อน มีสูตรง่ายๆ ว่า
รู้สึก 3 ครั้ง คือ การคิด 1 ครั้ง หาไม่แล้ว รู้สึกอะไรก็ทำไปเลย
ย่อมถือว่ามีการใช้เพียงความรู้สึก ยังไม่ได้ใช้ความคิด

ผู้ใหญ่สอนให้เราคิดก่อนทำ ตอนเราเด็กๆ
เราใช้ความรู้สึกค่อนข้างมาก รู้สึกแล้วทำเลย
ต่อไปนี้เราคงช่วยกันแนะให้เกิดกระบวนการที่ต้องทำให้ความรู้สึกยาวขึ้น
หรือมีการสอบทานความรู้สึกก่อนเพื่อจะได้มีการแปรเปลี่ยนความรู้สึกให้เป็น
ความคิด โดยเฉพาะความรู้สึกต่อคุณค่าที่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรมและจริยธรรม

กระบวนการที่ทำให้ความรู้สึกยาวขึ้นนี้ก็คือ
กระบวนการความคิดนั่นเอง
ความรู้สึกครั้งแรกอาจเกิดขึ้นเพราะเราขาดข้อมูลที่สำคัญไป ตอนเด็กๆ
ผมเป็นคนกลัวผีมาก เห็นอะไรตะคุ่มๆ ก็พาลมองเป็นผีไปหมด
ถ้าเราเพ่งพินิจให้ดี ก็จะรู้ว่าไม่ใช่
หลายครั้งที่เรารู้สึกไม่ดีต่อเพื่อน เพราะเราเข้าใจเพื่อนผิดไป
การเข้าใจหมายถึง การใช้เหตุผลซึ่งต้องใช้เวลา
ดังนั้นการรู้สึกให้ยาวขึ้น คือ รู้สึก 3 ครั้ง
แทนที่จะเป็นครั้งเดียวก็จะก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างมาก
ความคิดของคนเราจะเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ได้
ก็ต้องเกิดจากความรู้สึกเสียก่อน แต่ไม่ใช่ความรู้สึกที่ขาดการกลั่นกรอง

ถ้าเรารู้สึกให้ยาวขึ้น ภายใต้ความรู้สึกที่ยาวขึ้นนั้น
คงจะมีองค์ประกอบเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ยิ่งมีปัจจัยมากขึ้น
ความรู้สึกเดิมก็จะปรับเปลี่ยนไป จึงมีการสอนว่าให้ใช้วิธี CAF หมายถึง
Consider all Factors ก็จะช่วยให้เห็นภาพรวม
จากภาพรวมเราก็สามารถมีความคิดรวบยอดได้

สิ่งเหล่านี้ฝึกฝนได้จนในที่สุด
ความรู้สึกกับความคิดก็จะซ้อนกันเป็นกระบวนการเดียวกันได้
เมื่อใดเรารู้สึก เมื่อนั้นเราเริ่มมีความคิด เหตุผลกับอารมณ์ที่ปะปนกัน
แล้วก็จะมีการกลั่นกรองออกมาเอง
นักเขียนนวนิยายส่วนมากจะใช้เหตุผลผสมกับอารมณ์
ผูกเรื่องราวเสมือนจริงให้เราอ่านจนเรานึกว่าเป็นเรื่องจริง
อย่างที่เล่ากันว่า ตอน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเรื่องสี่แผ่นดิน
ตอนแม่พลอยท้องนั้น ผู้อ่านถึงกับส่งมะม่วงเปรี้ยวๆ
ไปที่โรงพิมพ์สยามรัฐทีเดียว จินตนาการ คือ ความรู้สึกผสมความคิด
ดังนั้นไอน์สไตน์จึงบอกว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้"

จินตนาการนี้คือ ความรู้สึกที่พัฒนาเป็นความคิดที่เป็นระบบ
และมีความกว้างไกล ล้ำลึก การคิดถึงคนคนหนึ่ง คือ ความรู้สึก
แต่ถ้าเราคิดว่า เขาจะคิดถึงเราหรือเปล่า นั่นเป็นความคิดระดับต้นๆ แล้ว
หากเราคิดต่อไปว่า
แล้วเราจะทำอย่างไรจึงให้เกิดความสัมพันธ์ที่สนิทสนมมากกว่านี้
ก็เป็นความคิดสูงขึ้นไปอีก

จินตนาการของคนอย่างไอน์สไตน์มาจากฐานความรู้เดิม
ไม่ได้เกิดจากความว่างเปล่า
ดังนั้นการแสวงหาความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาระดับความรู้สึกให้เป็น
ความคิดหรือเป็นจินตนาการที่ส่งผลมีพลังสูง

โดยสรุปแล้ว เราคงต้องมีความพอดี เพราะใครก็ตามที่ใช้แต่ความคิด
100% ปราศจากความรู้สึกก็คงเป็นคนที่กระด้างไม่น่ารัก
ไม่อบอุ่นเมื่ออยู่ใกล้

แต่หากใครมีแต่ความรู้สึก หรือใช้ความรู้สึกอย่างเดียว
ไม่ใช้ความคิดเลย ก็คงเป็นคนที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้

สู้เป็นเพื่อนคู่คิดยามยากดีกว่า มิตรในยามยากต้องรักเรา
และร่วมกันคิดหาทางแก้ปัญหาเมื่อมีภัยมา

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000123780

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น