++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ความสำเร็จที่อยู่บนกองปัญหาของจีน

โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน 21 ตุลาคม 2552 14:58 น.
การฉลองครบรอบ 60 ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีน แสดงถึงความสำเร็จในหลายด้าน
ซึ่งก็ได้มีการเขียนบทความและวิพากษ์วิจารณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม
2552 ขณะเดียวกันก็มีการชี้ให้เห็นความผิดพลาดของจีนในประวัติศาสตร์ 3
เหตุการณ์ คือ นโยบายต่างประเทศก้าวกระโดด การปฏิวัติวัฒนธรรม
และกรณีเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ดังที่ได้วิพากษ์วิจารณ์ไปแล้วเมื่อวันที่
7 ตุลาคม 2552 บทความนี้จะพยายามวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นท่ามกลางความสำเร็จของจีน
และอาจจะขยายตัวต่อไปในอนาคต
ทั้งหมดนี้คือการพยายามฉายภาพให้เกิดดุลยภาพโดยวิเคราะห์อย่างวัตถุวิสัย

สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการบริหารโดยรัฐบาล
แต่องค์กรที่สำคัญที่สุดที่เป็นเสาหลักคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน
พรรคจะเป็นผู้กำหนดตัวผู้บริหาร กำหนดนโยบายหลัก
โดยจรรโลงไว้ซึ่งอุดมการณ์สังคมนิยม
กำหนดแนวทางและการควบคุมกลไกการบริหาร
ทั้งในส่วนของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐในระบบการบริหารทั่วประเทศ
ในแง่หนึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนมีลักษณะเป็น party-state หรือรัฐ-พรรค
กล่าวคือ รัฐเกิดขึ้นโดยอิงพรรค ที่สำคัญคือพรรคคอมมิวนิสต์มีสมาชิกถึง
76 ล้านคน มีอำนาจและบทบาทอย่างมหาศาล
บุคคลที่เป็นคนสำคัญในฝ่ายรัฐบาลจะเป็นสมาชิกระดับสูงของพรรค

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงไม่อิสระปลอดจากพรรค
เท่ากับเป็นกลไกทำหน้าที่ตามนโยบายของพรรค ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด
แต่ประเด็นก็คือในรูปแบบดังกล่าวนี้จะไม่มีทางมีความคิดหรือนโยบายที่แตก
ต่างไปจากอุดมการณ์และนโยบายที่กำหนดโดยกลไกของพรรค
โอกาสของการที่จะพัฒนาระบบพรรคการเมืองที่เป็นระบบหลายพรรค
เพื่อให้มีทางเลือกของนโยบายจึงเกิดขึ้นไม่ได้
เพราะทุกอย่างประดังอยู่ที่พรรคเดียว ถือได้ว่าเป็นระบบพรรคเดียวโดยแท้
ซึ่งสามารถตอบสนองปัญหาหลักๆ ในทางความมั่นคงและเศรษฐกิจได้
แต่ไม่สามารถจะตอบสนองต่อการเมืองที่เป็นพหุนิยม (pluralism)

ประเด็นการผูกขาดอำนาจของพรรค
ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งพรรคกลายเป็นผู้กุมอำนาจทั้งหมด แต่ที่สำคัญคือ
จากประวัติการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน
รวมทั้งการต่อสู้ของกองทัพปลดปล่อยประชาชน
ทำให้กองกำลังขึ้นอยู่กับพรรคมากกว่าเป็นกองกำลังของรัฐ
ทั้งนี้เนื่องจากพรรคและรัฐไม่ได้แยกออกจากกัน
ในส่วนนี้นั้นทำให้เกิดความลำบากในการแยกแยะองค์กรที่เป็นกองทหารซึ่ง
ต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาล
เพราะทหารจะขึ้นอยู่กับพรรคตามที่ประธานเหมา เจ๋อตุง เคยกล่าวว่า
"อำนาจการเมืองมาจากปากกระบอกปืน แต่พรรคจะเป็นคนควบคุมปืน"

เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงไม่สามารถจะเป็นรัฐบาลที่มีความคิดที่
อิสระจากแนวทางของพรรค นอกจากอำนาจอันล้นหลามของพรรคแล้ว
พรรคยังมีกิจกรรมของพรรคเอง
ผู้เขียนเคยไปพักโรงแรมในกรุงปักกิ่งซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเจ้าของ
ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนมีลักษณะเป็นทั้งพรรคและเป็นทั้งองค์กร
ที่สามารถมีรัฐวิสาหกิจได้
การแยกแยะโครงสร้างและหน้าที่ในรูปแบบของการบริหารสมัยใหม่จึงเกิดขึ้นได้
ยาก นี่อาจถือว่าเป็นปัญหาหลักของระบบการเมืองและการบริหารของจีน

ในแง่การปกครองบริหารนั้นยังมีปัญหาเรื่องรัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑล
ซึ่งยากที่จะควบคุมได้เด็ดขาด ตัวอย่างก็คือ ในข้อตกลง FTA
หรือการค้าเสรีนั้น
แม้จะมีการตกลงระหว่างรัฐบาลกลางปักกิ่งกับรัฐบาลอีกประเทศหนึ่ง
แต่มณฑลบางมณฑลก็เก็บภาษี VAT โดยอ้างว่าเป็นนโยบายและเป็นกฎของมณฑล
และที่สำคัญกว่านั้นมีอยู่ 3
มณฑลที่ยังเป็นปัญหาในเรื่องการควบคุมเกี่ยวกับความมั่นคง

มณฑลหนึ่ง คือ ไต้หวันอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยสิ้นเชิง
อีกสองมณฑลคือทิเบตและซินเจียงก็ยังไม่สามารถจะควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ
ปัญหาในเรื่องการควบคุมทางการเมืองและการปกครองบริหารจึงเป็นปัญหาที่คาราคา
ซังอยู่ และจากความใหญ่โตของจีนซึ่งมีกว่า 30
มณฑลนั้นทำให้ความอิสระในการปกครองตนเองจึงหลีกเลี่ยงได้ยากเนื่องจากควบคุม
ไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีเขตปกครองพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งก็เกิดจากความจำเป็น
และเหตุผลเฉพาะ

ปัญหาประการต่อมา คือ ปัญหาเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้นทุกระดับตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับล่าง
ในระหว่างเหตุการณ์เทียนอันเหมินนั้นได้มีการกล่าวหาผู้นำจีนระดับสูงว่า
เกี่ยวพันกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง นายจ้าว จื่อหยาง
ทำผิดพลาดในแง่การประกาศว่าจะทำการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง
เพราะนโยบายเช่นนั้นย่อมกระทบกับผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้อยู่ในอำนาจขณะ
นั้น การฉ้อราษฎร์บังหลวงมีทุกระดับและยากที่จะปราบปรามแม้จะมีมาตรการที่รุนแรง
ก็ตาม

ในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางสังคมนั้น
ประชาชนคนจีนมีสิทธิเสรีภาพส่วนตัว (personal liberties)
แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างหนักระหว่างเมืองใหญ่ๆ และชนบท
รวมทั้งระหว่างมณฑลที่เป็นมณฑลฝั่งทะเลกับที่อยู่เหนือขึ้นไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศตะวันตก
ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวนี้ทำให้เกิดรูปแบบการดำรงชีพที่ต่างกันอย่าง
มากระหว่างเมืองกับชนบท
เขตบางเขตในจีนเป็นที่ต้องห้ามสำหรับการย้ายถิ่นเพื่ออยู่อาศัยเช่น
เสิ่นเจิ้น เป็นต้น
เพราะไม่ใช่เขตที่คนจีนเข้าไปได้อย่างเสรีเพื่อทำมาหากินที่นั่น
ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

อย่างไรก็ตาม
ก็มีความพยายามที่จะเพิ่มรายได้ให้กับชนบทและผู้ยากจน
แต่ช่องว่างมีทีท่าว่าจะถอยห่างออกไปมากขึ้น
และที่สำคัญชนชั้นกลางที่มีเส้นสายโยงใยกับพรรคและบุตรหลานของข้าราชการชั้น
สูงที่มีการศึกษาดีกว่าคนทั่วไป
ได้เข้าประกอบธุรกิจจนกลายเป็นชนชั้นใหม่ที่มีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบาย
สุรุ่ยสุร่าย คนเหล่านี้ไม่สนใจที่จะเรียกร้องสิทธิทางการเมืองเพราะได้ประโยชน์จากระบบ
ที่เป็นอยู่อย่างเต็มที่

ปัญหาอีกปัญหาหนึ่งก็คือปัญหาเรื่องการที่ประชาชนถูกรังแกโดยเจ้า
หน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะในที่ห่างไกลจากเมืองหลวงคดีความที่อยู่ในศาลดำเนินไปอย่างล่าช้า
กระบวนการยุติธรรมของจีนไม่เข้าขั้นระดับสากล ที่สำคัญคือ
ผู้พิพากษาหรือตุลาการจำนวนไม่น้อยเป็นสมาชิกชั้นสูงของพรรค
ซึ่งหลายคนไม่มีการศึกษามาทางวิชานิติศาสตร์

นอกจากนั้นการรับสินบนก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ประชาชนจำนวนไม่น้อยหมดที่พึ่งและหมดศรัทธาในกระบวนการยุติธรรม
หลายคนใช้วิธีการอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงโดยตรงเพราะไม่สามารถจะพึ่ง
ศาลได้ สภาพของสังคมจึงอยู่ในสภาพความเหลื่อมล้ำและขาดความยุติธรรมทางสังคม
ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์สมัยเหมา เจ๋อตุง
ได้พยายามแก้ไขได้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม
ตามที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ในทางเศรษฐกิจจีนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถจะผลิตสินค้าทุกประเภท
ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และข่าวสารข้อมูล ความที่เป็นประเทศใหญ่เท่ากับ 30
กว่าประเทศ การค้าขายระหว่างมณฑลจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ความจำเป็นในการพึ่งพาการส่งออกมีเพียงประมาณ 30%
ทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีตลาดภายในที่
ใหญ่มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนย่อมต้องอาศัยการแก้
ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางการเมืองและการปกครองบริหารตามที่กล่าวมาเบื้อง
ต้น

ในแง่ของจิตวิญญาณ จีนโบราณเคยมีลัทธิขงจื้อเป็นฐาน
ต่อมาก็มีลัทธิสังคมนิยม
มาในปัจจุบันลัทธิความเชื่อทั้งสองมีความสำคัญน้อยลง
ประชาชนเริ่มเคว้งคว้าง คนรุ่นใหม่จมปลักอยู่กับวัตถุนิยม บริโภคนิยม
และเงินตรานิยม คนจำนวนไม่น้อยพยายามหาสิ่งยึดเหนี่ยว
อันเห็นได้จากขบวนการฟาหลุนกงซึ่งมีสมาชิกกว่า 100 ล้านคน
นอกจากนี้ยังมีการฟื้นฟูศาสนาพุทธ
โบสถ์คริสตจักรที่ถูกต้องอย่างเป็นทางการมีกว่า 2,000 แห่ง
และมีการแปลงสถานที่ให้เป็นโบสถ์เป็นจำนวนมาก
ความเคว้งคว้างในจิตวิญญาณและศาสนาก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งของจีน

แต่เรื่องที่น่ายินดีก็คือ
ค่านิยมเดิมที่ต้องการมีแต่ลูกชายกำลังเริ่มแปรเปลี่ยน
ขณะเดียวกันนโยบายมีลูกคนเดียวก็เริ่มจะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะในปี 2050
จีนจะมีผู้สูงอายุกว่า 450 ล้านคน เท่ากับ 1
คนครึ่งต้องทำงานเลี้ยงดูผู้สูงอายุหนึ่งคน
ทำให้ต้องมีการพิจารณาแก้ไขการวางแผนครอบครัวอย่างเร่งด่วน

ทั้ง หลายทั้งปวงดังกล่าวก็คือปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น
รวมทั้งที่สืบทอดกันมา ความสำเร็จที่น่าชื่นชมจากการฉลองครบครอง 60
ปีของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเรื่องที่น่ายินดี
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางความสำเร็จดังกล่าวก็เจือปนไปด้วยปัญหาต่างๆ
เป็นการพิสูจน์ว่าประเทศไม่ว่าใหญ่หรือเล็กต่างก็มีปัญหาทั้งสิ้น
เพียงแต่สัดส่วนและขนาดของความรุนแรงจะมากน้อยต่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น