++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รายงานพิเศษ : เป้าหมายสุดท้ายของ "แกนนำเสื้อแดง" คงไม่ใช่แค่ปลด "ประธานองคมนตรี"!!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 ตุลาคม 2552 18:47 น.


อมรรัตน์ ล้อถิรธร.....รายงาน

แกนนำคน เสื้อแดง เริ่มรุกคืบสถาบันที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์
มากขึ้นเรื่อยๆ จากก่อนหน้านี้ที่ปราศรัยเรียกร้องกดดันให้ "พล.อ.เปรม
ติณสูลานนท์" ประธานองคมนตรี และองคมนตรีบางท่านลาออก โดยอ้างว่า
อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.บ้าง ไม่เป็นกลางทางการเมืองบ้าง
ล่าสุด ผุดไอเดียใหม่ คราวนี้เล่นแรงถึงขั้นจี้ให้มีการแก้
รธน.หมวดพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เพื่อปิดทางไม่ให้ประธานองคมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้
ขณะที่หลายฝ่ายในสังคม มองว่า เจตนาของแกนนำเสื้อแดง
หาใช่แค่ต้องการดิสเครดิต พล.อ.เปรม แต่น่าจะหวังผล "กระทบชิ่ง" สถาบัน
หรืออาจเป็นส่วนหนึ่งของการ "ล้มสถาบัน" มากกว่า

คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ

คงไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย ที่จู่ๆ แกนนำคนเสื้อแดง
(นายวีระ มุสิกพงศ์-นายจตุพร พรหมพันธุ์-นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ)
ก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องและท้าทายให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์
ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
โดยไม่ต้องการให้ประธานองคมนตรี ซึ่งก็คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สามารถ
เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ เพราะคนเสื้อแดงไม่ไว้วางใจ พล.อ.เปรม
โดยอ้างว่า พล.อ.เปรม เลือกข้างทางการเมือง
และไม่อยู่ในฐานะที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศได้อีกต่อไป

ทั้งนี้
รธน.หมวดพระมหากษัตริย์ที่ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
มีอยู่ 3 มาตรา คือ มาตรา 18 บัญญัติว่า
เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่สามารถประทับอยู่ในราชอาณาจักร
หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม
จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ มาตรา 19 บัญญัติว่า
ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา
18 หรือในกรณีพระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น
ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่ง
ซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา
เพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว
ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ... และมาตรา 20
บัญญัติว่า ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา
18 หรือ 19 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

แกนนำคนเสื้อแดง และ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อย่าง นายจตุพร
พรหมพันธุ์ ประกาศด้วยว่า หาก พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป
นอกจากจะต้องนำ รธน.2540 กลับมาใช้แทน รธน.2550 แล้ว
ยังจะต้องแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์
ไม่ให้ประธานองคมนตรีสามารถรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้
และต้องกำหนดว่า ผู้ที่จะรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น
จะต้องเป็นองค์รัชทายาทเท่านั้น

แม้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายที่แกนนำคนเสื้อแดงต้องการแก้
รธน.เพื่อลดความสำคัญ หรือดิสเครดิต พล.อ.เปรม
เพราะตั้งแต่กลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนไหวสร้างความปั่นป่วนให้บ้านเมือง
ก็ปราศรัยโจมตี พล.อ.เปรม มาตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่การเรียกร้องให้แก้
รธน.หมวดพระมหากษัตริย์ครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า
นอกจากจะเป็นเกมการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงที่ต้องการกระทบชิ่งไปยังสถาบันพระ
มหากษัตริย์แล้ว
ยังสะท้อนพฤติกรรมของกลุ่มเสื้อแดงที่มีการปราศรัยจาบจ้วงดูหมิ่นสถาบันมา
หลายต่อหลายครั้ง ว่า
เป้าหมายที่แท้จริงของคนกลุ่มนี้อาจไม่ใช่แค่ต้องการปิดช่องไม่ให้ประธาน
องคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
แต่ยังอาจหวังผลถึงขั้นต้องการดิสเครดิต หรือล้มสถาบันด้วยหรือไม่?

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
2550 พูดถึงพฤติกรรมของแกนนำเสื้อแดงที่ต้องการแก้
รธน.หมวดพระมหากษัตริย์
เพื่อไม่ให้ประธานองคมนตรีมีสิทธิเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ว่า
แกนนำคนเสื้อแดงอาจไม่ได้ต้องการแก้ รธน.มาตราดังกล่าวจริง
แต่น่าจะต้องการพูดกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่า
เพราะรู้ว่าทรงชราภาพและทรงพระประชวร

"ผมคิด ว่าเขาคงไม่ได้มีเจตนาจะแก้ รธน.อย่างแท้จริง
ผมคิดว่าเขาต้องการที่จะกระแทกกระทั้น
หรือต้องการที่จะเลือกที่จะพูดเกี่ยวกับสถาบันมหากษัตริย์
เพราะเขาก็รู้อยู่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชราภาพ และทรงประชวร
ก็หาเรื่องพูดขึ้นมาว่า ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น
ใครจะเป็นคนสำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็หาเรื่อง พูดให้คนคิด
(ถาม-อ.คิดว่าจะเกิดปัญหามั้ย
เพราะเขาบอกว่าถ้าเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล เขาจะแก้แน่นอน
ไม่ใช่แค่เอา รธน.ปี 40 มาใช้ แต่จะแก้หมวดนี้ด้วย?)
ใครยกบ้านเมืองให้กับเขาเหรอ คนเราบางทีมันก็จองหอง คิดว่า
การที่เราชนะการเลือกตั้งนี่ เราทำได้ทุกอย่างในโลกอย่างนั้นเหรอ
การที่เราชนะการเลือกตั้งโดยที่ประชาชนเลือก ก็เพราะเหตุผลต่างๆ นานา
แต่ละคนเลือกเพราะคนนี้เคยมีบุญคุณ เลือกเพราะคนนี้เคยแจกเงิน
เลือกเพราะคนนี้เคยสัญญาเรื่องไหน พอเรารวมกันชนะ
เราจะบอกว่าเราทำอะไรก็ได้ในโลกนี้เนี่ย คุณคิดว่ามันใช่มั้ยล่ะ
มันไม่น่าจะใช่ แล้วก็ไม่มีคน 60 ล้านคนเนี่ย ที่จะงอมืองอเท้า
ปล่อยให้คนอยากจะทำอะไรก็ได้ เพราะมาจากการเลือกตั้ง
เพราะผ่านชนะการเลือกตั้ง จะทำอะไรก็ได้ อย่าเข้าใจว่า
การชนะการเลือกตั้งคือระบอบประชาธิปไตย เพราะระบอบประชาธิปไตย คือ
ระบอบที่เลือกตั้งเพื่อให้ได้ตัวแทนจากประชาชน และเมื่อได้ตัวแทนแล้ว
ตัวแทนต้องทำตามความต้องการของประชาชน
เราไม่ได้เลือกตั้งเพื่อยกบ้านเมืองให้กับตัวแทน
แต่ต้องทำตามความต้องการของประชาชน และประการที่ 3
ประโยชน์ต้องเป็นของประชาชน มันมีอยู่ 3 ส่วน
ประชาธิปไตยแค่ตัวแทนมาจาการเลือกตั้งหรือชนะการเลือกตั้ง
ถ้าคุณคิดว่าทำได้ทุกอย่าง แค่นี้ก็จองหอง
และแค่นี้ก็เป็นเผด็จการเรียบร้อยแล้ว ยังไม่ทันเลือกตั้งชนะเลย
มันก็สะท้อนหลายอย่าง"

ด้านนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา และ 1
ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับ
การพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา
พูดถึงกรณีที่แกนนำเสื้อแดงเรียกร้องให้แก้ รธน.หมวดพระมหากษัตริย์
เพื่อไม่ให้ประธานองคมนตรีสามารถเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้
พร้อมเสนอให้ตั้งองค์รัชทายาทเป็นผู้สำเร็จราชการแทนว่า โดยหลักการแล้ว
ไม่สามารถตั้งองค์รัชทายาทเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้
เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน นายวรินทร์ ยังชี้ด้วยว่า
จุดมุ่งหมายของผู้ที่กำลังเคลื่อนไหวเรื่องนี้
น่าจะเป็นเพราะไม่ต้องการสถาบันกษัตริย์มากกว่า

"จริงๆ แล้วในระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเนี่ย
ลักษณะของการจะทำ หลักการก็คือ The King can do no wrong นะ
เราจะต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ ทีนี้มันจะแยกเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่เป็นงานของรัฐบาล ส่วนที่เป็นงานของนิติบัญญัติ
ส่วนที่เป็นงานของตุลาการ ก็จะมีเจ้าภาพอยู่แล้ว
ทีนี้งานบางส่วนที่มันคาบเกี่ยวระหว่างสถาบันกับองค์กรอื่นๆ
ทั้งหมดเนี่ยจะต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการ ตรงนี้มันไม่มีไง
มันเว้นว่างตรงนี้ เพราะฉะนั้นยังไงมันก็ต้องมีอยู่ แต่ปัญหาว่า
เป้าหมายของการขอแก้เนี่ย เป้าหมายคือให้กระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
นั่นคือเป้าหมาย จริงๆ แล้วหลักการมันไม่มีหรอกที่อ้างมาน่ะ
แต่หลักการประชาธิปไตยมันเป็นอย่างนี้"

"(ถาม-ทำไมถึงมองว่าต้องการให้กระทบสถาบันพระมหากษัตริย์?)
เป้าหมายคือไม่เอาเจ้าไง คือ กลุ่มนี้ไม่เอาเจ้า ผมเรียนนิดหนึ่งว่า
ถ้าจะลงรายละเอียดนิดหนึ่งเนี่ย
คงต้องดูว่าคนกลุ่มนี้ที่กำลังเคลื่อนกลุ่มนี้ เขาทำอะไรไว้ในเขมรในลาว
ลักษณะก็คือการทำให้ประชาชนเนี่ยแบ่งแยก
แบ่งแยกเสร็จแล้วเนี่ยก็ทำให้มีการล้มสถาบัน ปรากฏการณ์ ณ
วันนี้มันทำให้คนไทยแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย และสร้างเงื่อนไข
ท้ายที่สุดก็จะไปสู่กระบวนการตรงนั้น ทีนี้การล้มสถาบันโดยตรงเนี่ย
สำหรับประเทศไทยจะลำบากตรงที่ว่าความแน่นแฟ้นของประชาชนกับสถาบันเนี่ยยัง
อยู่ ฉะนั้นสิ่งที่เรียก ภาษาโบราณคือ "ตีวัวกระทบคราด" ก็คือ ชิ่งๆ ไป
ไปเข้าทางองคมนตรี (ถาม-แสดงว่าที่เขาบอกว่า เราไม่ไว้วางใจ พล.อ.เปรม
เพราะเลือกข้างทางการเมือง ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศได้
และบอกว่า ควรให้องค์รัชทายาทเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ก็ฟังไม่ได้?)
มันไม่ได้ ตรงนี้จะตั้งองค์รัชทายาทมาทำหน้าที่องคมนตรีไม่ได้ ผิดหลักการ
และที่สำคัญที่สุดคือ องค์รัชทายาทเนี่ยเป็นส่วนหนึ่งของสถาบัน"

ด้านนายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส. ว.สงขลา และ 1
ในคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
มองว่า การเคลื่อนไหวให้แก้ รธน.หมวดพระมหากษัตริย์ของแกนนำเสื้อแดง
ถือเป็นการก้าวล่วงสถาบัน ซึ่งไม่บังควรอย่างยิ่ง
และอาจเป็นเกมก้าวแรกของคนกลุ่มนี้ในการรุกคืบสถาบัน
แต่เพียงแค่ก้าวแรกที่กลุ่มนี้เสนอออกมา ก็ไม่ถูกหลักของการออกกฎหมายแล้ว

"ผม คิดว่าเป็นการก้าวล่วงถึงสถาบันมากเกินไปมากเกินเหตุ
เป็นความพยายามที่จะค่อยๆ ขยับเข้าไปหรือจะก้าวล่วงเข้าไปถึงสถาบัน
ผมคิดว่าเป็นการไม่บังควรเป็นอย่างยิ่ง เดี๋ยวอีกหน่อยได้ตรงนี้
แล้วก็จะไปเรื่องประเด็นอื่นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ก็ค่อนข้างจะไม่เห็นด้วยต่อการเคลื่อนไหวในส่วนนี้
และเราพอจะอ่านเกมออกว่านี่เป็นการย่างก้าวแรกเพื่อไปสู่ก้าวอื่นๆ ต่อไป
แต่เมื่อย่างก้าวแรกแล้วไปบอกว่า อยากให้แก้เพราะไม่อยากให้ พล.อ.เปรม
เพราะไม่พอใจ พล.อ.เปรม ผมคิดว่าเป็นก้าวแรกที่
เพียงแต่เริ่มจะก้าวก็ไม่ถูกหลักอยู่แล้ว เพราะ
พล.อ.เปรมไม่ใช่คนที่จะอยู่กัลปาวสาน เป็นช่วงเวลาหนึ่ง แต่การแก้
รธน.เพราะไม่พอใจคนใดคนหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง จะต้องไปแก้กฎหมายแก้
รธน.ผมคิดว่ามันไม่น่าจะถูกต้อง มันต้องเอาหลักการ เอาประเด็นสำคัญๆ
เอาเนื้อหาสาระมาเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า"

ด้าน อ.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล แห่ง คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงกรณีที่แกนนำเสื้อแดงเรียกร้องให้แก้
รธน.หมวดพระมหากษัตริย์เพื่อไม่ให้ประธานองคมนตรีสามารถเป็นผู้สำเร็จราชการ
แทนพระองค์ได้ว่า
การเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวของแกนนำเสื้อแดงนอกจากจะเป็นสร้างเงื่อนไขใหม่
ขึ้นมาเพื่อเป็นเกมทางการเมืองแล้ว
แกนนำเสื้อแดงยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมากเกี่ยวกับการทำหน้าที่
ขององคมนตรีและการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

"ประเด็น เรื่ององคมนตรีเนี่ย
ผมว่าทางกลุ่มเสื้อแดงเข้าใจผิดอย่างมาก
พระมหากษัตริย์นั้นทรงอยู่เหนือทางการเมือง
และไม่ได้เกี่ยวข้องใดใดกับทางการเมือง
แม้แต่ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ก็ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่จะให้คุณให้โทษใดใดทางการเมือง
เพราะเป็นตำแหน่งรักษาการแทนประมุขของประเทศเท่านั้นเอง หน้าที่หลักๆ
ตามที่ระบุใน รธน.ก็คือ
ก็ต้องลงนามในร่างกฎหมายก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ส่วนเรื่องอื่นๆ มันก็คงจะเป็นไปได้ยาก เช่น เรื่องของการประกาศสงคราม
แต่ทุกอย่างก็ต้องมีองค์กรซึ่งเป็นตัวแทนของอำนาจอธิปไตยของแต่ละองค์กรรับ
ผิดชอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรบริหาร องค์กรนิติบัญญัติ
หรือองค์กรตุลาการ
เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ต้องทำงานในตำแหน่งผู้
สำเร็จราชการไปตามหน้าที่และไปตามขอบเขตของกฎหมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามขอบเขตของ
รธน.ไม่สามารถที่จะให้คุณให้โทษใดใดทางการเมืองหรือแก่พรรคการเมืองใดพรรค
การเมืองหนึ่ง หรือบุคคลซึ่งเป็นนักการเมืองผู้ใดผู้หนึ่งได้"

"ซึ่งประเด็นตรงนี้ไม่ได้เป็นประเด็นอะไรที่จะมีสาระสำคัญอะไรที่จะ
ต้องมานั่งแก้มาตราที่ 20 นี้ ผมไม่เห็นประเด็น
การเสนอที่จะแก้แม้กระทั่งมาตราใดมาตราหนึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นหมวดพระมหา
กษัตริย์เองเนี่ย มันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะมีทั้งกระแสที่หนุนให้แก้
และเสนอให้ไม่แก้ไข ยิ่งเสนอในประเด็นที่ละเอียดอ่อน และความจำเป็นน้อย
ก็ดูราวประหนึ่งว่าทางฝ่ายเสื้อแดงเองเนี่ยไม่ได้คิดที่จะแก้ไข
รธน.เพื่อให้การแก้ไข รธน.นั้นมันนำไปสู่ทางออกใดใดทางการเมือง
แต่เป็นเหมือนกับการสร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมา
...คำถามที่ควรจะต้องถามกลับไปกับทางกลุ่มคนเสื้อแดงก็คือ
จำเป็นอะไรถ้าหากไม่แก้ คงทุกตัวอักษรในหมวดพระมหากษัตริย์ไว้เนี่ย
จะมีผลใดใดต่อภาวะสะดุดทางการเมืองหรือเปล่า
หรือทำให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอนหรือประชาชนไม่ได้รับความเสมอภาค
มั้ย"

เมื่อถามว่า คิดอย่างไรกรณีที่แกนนำเสื้อแดง(นายจตุพร พรหมพันธ์
เป็น ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยด้วย) ประกาศว่า
ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล จะไม่เพียงนำ รธน.2540
กลับมาใช้เท่านั้น แต่จะแก้หมวดพระมหากษัตริย์ด้วย อ.อนันต์ บอกว่า
ถ้าประมวลพฤติกรรมของคนเสื้อแดงที่ขึ้นเวทีปราศรัยด้วยถ้อยคำที่หมิ่นพระบรม
เดชานุภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็สะท้อนชัดเจนว่า คนกลุ่มนี้มีเป้าหมายอะไร
และต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร

"จริงๆ แล้วมันก็สะท้อนว่าเขาคงรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ซึ่งผมไม่สามารถที่จะล่วงรู้ได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร
แต่ถ้าเราปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งหมดที่เขาปล่อยให้บุคคลคนแล้วคนเล่าขึ้นไป
บนเวทีของทางกลุ่มเสื้อแดง แสดงถ้อยคำที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ หรือพฤติกรรมที่เขาทำ
การยื่นฎีกาเพื่อพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณที่รู้อยู่ว่าผิดกฎหมาย
ลักษณะแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์เลย
อย่างกรณีของฎีกาเสื้อแดงก็เหมือนกัน ผมคิดว่ามือกฎหมายของเขา
อย่าว่าแต่มือกฎหมายเลย แม้กระทั่งคนอื่นก็รู้ว่ามันผิดกฎหมาย
แต่ก็ยังคงเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา
และถ้าเกิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน ใช้พระราชอำนาจอภัยโทษ
ก็เท่ากับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่เหนืออำนาจตุลาการ ซึ่งเป็น 1
ในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอำนาจที่ประชาชนเป็นเจ้าของ
ภาวะแบบนี้มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง
และนำไปสู่ความล่มสลายของประชาธิปไตยในประเทศไทย
ผมคิดว่าเขามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเขาต้องการอะไร
และเขาต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร และตราบเท่าที่ไม่บรรลุเป้าหมาย
เขาก็คงเคลื่อนไหวและกระทำการต่อไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาเสนอก็ไม่ได้ เรียกว่าไม่ได้ผิดความคาดหมาย
แต่ก็ประหลาดใจตรงที่ว่าเขาค่อนข้างอาจหาญ
และไม่ได้ดูใจของประชาราษฎรทั้งแผ่นดินเลย"

อ.อนันต์
ยังให้ข้อคิดเตือนสติคนไทยที่ยังคิดผิด-หลงผิดอยู่ด้วยว่า
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ
ลงจากห้องที่ประทับรักษาพระวรกาย
เพื่อไปสักการะพระรูปของพระราชบิดา-พระราชมารดา และพระบรมรูปรัชกาลที่ 5
ทั้งที่พระองค์ทรงพระประชวรอย่างหนักนั้น ไม่เพียงสะท้อนว่า
พระองค์ทรงเป็นห่วงประเทศและประชาชนมากกว่าห่วงพระชนม์ชีพของพระองค์เอง
แต่การเสด็จฯ ลงมาของพระองค์ยังสามารถบำรุงขวัญของประชาชนและสยบข่าวลือที่มีมาก่อนหน้า
และสร้างความเสียหายให้ตลาดหุ้นของไทยได้เป็นอย่างดี เมื่อ
คนไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงห่วงประเทศและประชาชนมากถึงเพียงนี้
แล้วทุกคนจะไม่ช่วยกันปกป้องและรักษาพระองค์ไว้หรือ?
สำหรับใครที่คิดผิดทำผิด อยากให้กลับใจ
ขอให้มองทุกอย่างให้รอบคอบก่อนจะทำอะไร เพราะบางที
การทำอะไรด้วยมิจฉาทิฐิ หรือคลั่งไคล้ในอุดมการณ์อย่างบ้าคลั่ง
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางประการ
โดยวาดฝันว่าปลายทางจะกลายเป็นฮีโร่นั้น หากทำสำเร็จแล้วจะมีความหมายอะไร
ถ้าเราต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญไป
แล้วฮีโร่จะยังคงภาคภูมิใจที่ได้ยืนอยู่บนซากปรักหักพังและความเสียหายของ
ประเทศชาติอย่างนั้นหรือ?

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000129715

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น