บทคัดย่อ
( ABSTRACT )
นางสาววิลาสินี วัฒนาวงศ์ดอน | ภาควิชานิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น |
การศึกษาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ ( Macroinvertebrate ) ในบึงหนองเอียดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 และวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2540 พบสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ 2 ไฟลัม 5 อันดับ 11 วงศ์ 13 ชนิด และ 2 ไฟลัม 6 อันดับ 8 วงศ์ 8 ชนิด ตามลำดับ โดยพบมวนน้ำ ( O.Hemiptera ) เป็นจำนวนมากที่สุด และที่พบเป็นจำนวนมากรองลงมา คือ กุ้ง ( O.Decapoda ) จากการเก็บตัวอย่าง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่บริเวณตะกอนดิน ไม่พบว่ามีสัตว์ชนิดใดอาศัยอยู่ ทั้งนี้เพราะบริเวณตะกอนดิน ประกอบด้วย เศษเน่าเปื่อยของซากพืช เป้นจำนวนมาก จึงทำให้อัตราการย่อยสลายสูง ไม่เหมาะสมต่อการ อยู่อาศัยของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่
จากการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของน้ำ จากบึงหนองเอียด พบว่าน้ำมีคุณภาพที่ไม่ค่อยดีนัก เนื่องมาจากอิทธิพลของสารอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ภายในบึงเอง และการเจือปนของสารดังกล่าว น่าจะมาจากซากผักตบชวา และพืชน้ำอื่นๆในบึง มากกว่าปัจจัยภายนอก เพราะบริเวณโดยรอบ ของบึง จะมีแนวของต้นธูปฤาษีขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ช่วยกันไม่ให้หน้าดิน และตะกอนไหลลงสู่บึงได้
ขอขอบพระคุณ ผศ.เพ็ญประภา เพชระบูรณิน อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน ที่ให้คำแนะนำต่างๆ อันเป็นประโยชน์
ขอขอบพระคุณ ผศ.ดร.นฤมล แสงประดับ อาจารย์ที่ปรึกษาร่วมโครงงาน ที่ให้คำแนะนำ ตลอดจนความช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน
ขอขอบพระคุณ ผศ.เอก วัฒนา ที่ให้ความกรุณาช่วยเหลือในการออกภาคสนาม
ขอขอบคุณเพื่อนๆ และน้องๆ หลายท่านที่ให้ความช่วยเหลือในการศึกษาครั้งนี้
วิลาสินี วัฒนาวงศ์ดอน
ความสำคัญและที่มาของปัญหา
บึงหนองเอียดเป็นบึงที่ตั้งอยู่ในเขต มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ มีความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 3 เมตร มีประชากรปลาอาศัยอยู่จำนวน 3 ชนิด คือ ปลาช่อน ปลากัด ปละปลาสลิด พบแพลงตอนพืช 5 ชนิด แพลงตอนสัตว์ 9 ชนิด ( รุ่งเพชรและคณะ, 2535 ) มีนก 31 ชนิด 22 วงศ์ เป็นนกประจะถิ่น 19 ชนิด 16 วงศ์ และเป็นนกอพยพ 17 ชนิด 13 วงศ์ ( วัฒนาชัย, 2536 ) แต่ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับ คุณภาพน้ำ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ ( Macroinvertebrate )
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ ในระบบนิเวศน้ำจืดที่สามารถมองเห็น ด้วยตาเปล่า ซึ่งมีทั้งพวกแมลง หนอน หอย และ Crustracean ต่างๆ ซึ่งสัตว์พวกนี้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่แตกต่างกัน เช่น Deposit feeders, Filter feeders, Shredders, Grazers และ Predators ดังนั้นสัตว์พวกนี้ จึงมีบทบาทอยู่หลายระดับของการกินอาหาร ( Tropical level ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สัตว์พวกนี้มีความสำคัญในฐานะ เป็นอาหารของปลาในแหล่งน้ำ สัตว์เหล่านี้บางชนิดมีความไวต่อ การเปลียนแปลงของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารมลพิษที่ปนเปื้อนในน้ำ สารมลพิษบางตัวยากต่อการวิเคราะห์และตรวจหาด้วยวิธีทางเคมี แต่สามารถใช้สัตว์พวกนี้ เป็นดัชนีชีวภาพ ที่บ่งชี้สภาวะการณ์ของสาร มลพิษ (นันทนา, 2536 ) รวมทั้งสามารถใช้บ่งชี้คุณภาพของ แหล่งน้ำๆได้ เช่น ตัวอ่อนของแมลงชีปะขาวในวงศ์ Heptageniidae จะพบในแหล่งน้ำที่สะอาดมากเท่านั้น แต่แมลงชีปะขาวในวงศ์ Baetidae จะมีความทนทานต่อมลพิษในแหล่งน้ำได้สูง และตัวอ่อนของ Baetis thermicus จะมีความทนทาน ต่อมลพิษทางน้ำที่เกิดจากการปนเปื้อนของ โลหะหนัก ( Heliovaara และ Vaisane, 1993) ส่วนแมลงหนอนปลอกน้ำ ( O. Trichoptera ) ตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ ที่มีอุณหภูมิต่ำ และมีปริมาณออกซิเจนละลายอยู่สูง ถ้าหากว่ามีปริมาณออกซิเจนละลายอยู่ต่ำ ตัวอ่อนบางชนิดของแมลงหนอนปลอกน้ำ จะแสดงลักษณะพิเศษบางอย่าง คือ จะเพิ่มอัตราการเคลื่อนไหวของเหงือก เพื่อให้รับออกซิเจนได้มากขึ้น ( Wiliams และ Feltmate, 1992 ) Gullan และ Cranston ( 1994 ) ได้กล่าวว่า Stoneflie ( O.Plecoptera ) ก็จะมีความไวต่อการปนเปื้อนของมลภาวะ และการลดปริมาณของออกซิเจนในแหล่งน้ำ และตัวอ่อนของ Stoneflie จะลดจำนวนลง ถ้าหากอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นจากปกติ จะเห็นได้ว่า สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่เหล่านี้ สามารถบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมบีเวณนั้นได้
การศึกษาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ในบึงหนองเอียดนี้ จะทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานด้าน ความหลากชนิดของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ รวมทั้งได้ข้อมูลคุณสมบัติทางกายภาพ และทางเคมีของแหล่งน้ำที่สัตว์เหล่านั้น อาศัยอยู่ด้วย เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน ในการจัดการระบบนิเวศ ในบึงหนองเอียดที่เหมาะสมต่อไป
1. เพื่อศึกษาชนิดและจำนวนของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ ในบึงหนองเอียด
2.เพื่อศึกษาข้อมูลทางกายภาพและทางเคมีของแหล่งน้ำที่สัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่
1.ศึกษาชนิดและจำนวนของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่
2.ศึกษาคุณลักษณะทางกายภาพของแหล่งน้ำซึ่งได้แก่
2.1 ของแข็งแขวนลอย ( Total suspended solid)
2.2 อุณหภูมิ (Temperature)
2.3 ชนิดของตะกอนก้นแหล่งน้ำ ( Sediment Type )
2.4 การส่องผ่านของแสงลงสู่แหล่งน้ำ ( Transparency )
2.5 การวัดความลึกเฉลี่ยของแหล่งน้ำ
3.ศึกษาคุณลักษณะทางเคมีของน้ำ ดังนี้คือ
3.1 ปริมาณออกซิเจนละลายน้ำ ( Dissolved oxygen : DO )
3.2 ความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี ( Biochemical oxygen demand : BOD )
3.3 ความเป็นกรด-ด่าง pH
3.4 ความเป็นด่าง ( Total alkalinity )
3.5 แอมโมเนีย-ไนโตรเจน ( NH3-N )
3.6 ความเค็ม ( Salinity )
3.7 การนำไฟฟ้า ( Conductivity )
1. ทราบความหลากหลายและจำนวนของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ในบึงหนองเอียด
2. ทราบถึงคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของแหล่งน้ำที่สัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่
3. สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการศึกษานิเวศวิทยาของบึงหนองเอียดต่อไป
สถานที่ทำการศึกษา
บึงหนองเอียดเป็นบึงที่ตั้งอยู่ในเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 2.10 เมตร พื้นที่ทางทิศตะวันออกติดกับรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทิศตะวันตกติดถนนภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทิศใต้ติดถนนมะลิวัลย์ และทิศเหนือติดกับบริเวณที่กำลังมีการก่อสร้างศูนย์ประชุม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ( ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้ว คืออาคารในภาพข้างล่างนี้ )
1.การศึกษาชนิดและจำนวนของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ในบึงหนองเอียด
1.1 การกำหนดจุดเก็บตัวอย่าง โดยทำการเลือกบริเวณที่จะเก็บตัวอย่างทั้งหมด 2 จุดด้วยกัน ได้แก่ บริเวณที่มีผักตบชวากับบริเวณที่มีธูปฤาษี และเขตกลางน้ำที่ไม่มีพืชปกคลุม
1.2 วิธีการเก็บตัวอย่าง ในบริเวณที่มีผักตบชวาและธูปฤาษี จะใช้สวิงช้อนเอาสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามรากพืช และพวกที่ลอยตัวอยู่ผิวน้ำ ภายในเวลา 1 นาที โดยทำการเก็บตัวอย่าง จุดละ 3 ซ้ำ
บริเวณที่ไม่มี พืชน้ำปกคลุม ทำการเก็บตะกอนดิน และตัวอย่างโดยใช้ Ekman Grab ขนาดพื้นที่ 0.0134 ตารางเมตร หย่อนลงไปจากเรือ เพื่อตักเอาสัตว์หน้าดิน โดยจะทำการเก็บตัวอย่างจำนวน 6 ซ้ำ
1.3 นำตัวอย่างที่เก็บได้ใส่ในถุงพลาสติก แล้วเติม 70% alcohol ลงไปพร้อมทั้งเขียนรายละเอียดของตัวอย่างให้ชัดเจน ก่อนนำมาแยก และศึกษาทางด้านอนุกรมวิธาน ในห้องปฏิบัติการชีววิทยาน้ำจืด ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
2. การศึกษาคุณลักษณะทางเคมีและทางกายภาพของน้ำในบึงหนองเอียด
2.1 การศึกษาคุณลักษณะทางเคมีของน้ำ การเก็บตัวอย่างน้ำจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Dom Sampler โดยเก็บตัวอย่างน้ำที่ระดับความลึก 1 เมตร โดยทำการเก็บตัวอย่างน้ำ จำนวน 6 ซ้ำ นำไปวิเคราะห์หาค่า B.O.D, Alkalinity,NH3-N, salinity ที่ห้องปฏิบัติการเรือนสิ่งแวดล้อม ภาควิชานิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สำหรับคุณลักษณะทางเคมีและทางกายภาพบางประการ ซึ่งได้แก่ DO, pH, Conductivity, ToTal suspended solid, TRansparency และอุณหภูมิของน้ำ จะทำการตรวจวัดในภาคสนาม
2.2 การศึกษาคุณลักษณะทางกายภาพของแหล่งน้ำซึ่งได้แก่
2.2.1 การศึกษาชนิดของตะกอนก้นแหล่งน้ำ ( Sediment Type ) ทำการสุ่มเก็บตะกอนทั้งหมดจำนวน 6 จุด แล้วนำมาจำแนกองคประกอบของอนุภาคของก้นแหล่งน้ำ ว่าประกอบด้วยทราย ( Sand ) ดินโคลน ( Silt ) และดินเหนียว ( Clay ) ชนิดละกี่เปอร์เซ็นต์
2.2.2การวัดความลึกของน้ำ โดยกำหนดแนวในการวัดความลึก 2 แนวด้วยกันคือ แนวเหนือ-ใต้ และแนว ตะวันออก-ตะวันตก ในการวัดความลึกนั้น จะทำได้เฉพาะบริเวณที่ไม่มีพืชปกคลุม
การวัดความลึกในแนวเหนือ-ใต้นั้น จะกำหนดเส้นที่จะทำการวัดความลึกมา 3 เส้นด้วยกัน แล้วในแต่ละเส้นก็จะทำการวัดความลึกทั้งหมด 10 จุดด้วยกัน ส่วนในแนวตะวันออก-ตะวันตก ก็ทำเช่นเดียวกัน
การศึกษาทั้งหมดนี้กระทำระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2539 - เดือน มกราคม 2540 โดยทำการเก็บตัวอย่าง 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 และในวันที่ 28 มกราคม 2540
3.การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
หาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนค่าเฉลี่ย ของข้อมูลคุณลักษณะทางกายภาพและเคมีของน้ำ รวมทั้งข้อมูลจำนวนชนิด ( Total taxa richness ) และจำนวนตัว ( Total number of individuals ) ของสัตว์ไม่มกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ ที่ได้จากการเก็บตัวอย่าง ถ้าข้อมูลมีการกระจายแบบไม่ปกติ จะแปลงข้อมูลให้เป็น log(x+1) หรือ log(x) ก่อนการเปรียบเทียบข้อมูลดังกล่าวโดยใช้ t-test ทดสอบ
การศึกษาเบื้องต้นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ บริเวณบึงหนองเอียด มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 และในวันที่ 28 มกราคม 2540 สรุปผลได้ดังนี้
1. จากการวิเคราะห์คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีบางประการของน้ำ จากบึงหนองเอียด พบว่า ค่า pH ,NH3-N, salinity และ Transparency ของทั้งสองเดือนไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนค่า BOD, DO Total alkalinity, Conductivity, Total suspended solid ของเดือนมกราคมจะมีค่าสูงกว่าเดือนพฤศจิกายน ยกเว้นอุณหภูมิของน้ำ เดือนมกราคมจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า
2. การจำแนกชนิดของตะกอนก้นแหล่งน้ำ พบว่าประกอบด้วยทราย 48% ดินโคลน 46.52% และดินเหนียว 5.46 %
3. การเก็บตัวอย่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ บริเวณตะกอนดิน ไม่พบว่ามีสัตว์ชนิดใดอาศัยอยู่
4. การเก็บตัวอย่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ จากบริเวณที่เป็นผักตบชวาและธูปฤาษี ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนมกราคม พบสัตว์ที่ทำการศึกษาจำนวน 5 อันดับ 11 วงศ์ 13 ชนิด และ 6 วงศ์ 8 อันดับ 8 ชนิด ตามลำดับ โดยพบมวนน้ำ ( O.Hemiptera ) เป็นจำนวนมากที่สุด ลแสิ่งมีชีวิตที่พบรองลงมา คือ กุ้ง ( O.Decapoda )
5. เมื่อเปรียบเทียบชนิดของสัตว์ที่ทำการศึกษา ในสองเดิอนแล้วพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนจำนวนตัวของสัตว์ที่ทำการศึกษา เดือนพฤศจิกายน จะมีจำนวนตัวมากกว่า
6. เมื่อเปรียบเทียบค่า Species diversity index พบว่า เดือนมกราคม มีค่าสูงกว่า แสดงว่า มีความหลากหลายของสัตว์เหล่านี้มากกว่า
ชื่อ นางสาว วิลาสินี วัฒนาวงศ์ดอน
เกิด วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517
การศึกษา ระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ โรงเรียนสุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา
ระดับอุดมศึกษา ภาควิชานิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ติดต่อขอข้อมูลฉบับสมบูรณ์ของงานชิ้นนี้ได้ที่ ภาควิชานิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น