++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

อนาลโยวาทะ หลวงปู่ขาว อนาลโย

อนาลโยวาทะ
จัดพิมพ์เป็นธรรมทาน โดย อวย-ส่งศรี เกตุสิงห์
เพื่อความสุขปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๘

คำนำ

พระ อาจารย์ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู
เป็นผู้ที่ได้รับความยกย่องทั่วไปว่าเป็นเอกผู้หนึ่งในกระบวนพระกรรมฐานสมัย
นี้ โดยเฉพาะเทศน์ของท่านเป็นที่จับใจของคนหมู่มากในด้านเนื้อหาสาระทางธรรม
สำนวนโวหารและความเด็ดเดี่ยวเฉียบขาด ข้อนี้ปรากฏจากความนิยมในหนังสือ
"อนาลโยวาท" ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมและได้จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในงานพระราชทานเพลิง
เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗ ด้วยความร่วมมือของผู้ศรัทธาร่วมกัน
หนังสือหลายหมื่นเล่มยังเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย

ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๒๘ ผู้เขียนและ ม.ร.ว. ส่งศรี เกตุสิงห์
มีความศรัทธาอยากจะเผยแพร่ธรรมะของท่านอาจารย์ขาวให้กระจายออกไปอีกในหมู่
เพื่อนพุทธศาสนิก
แต่จะพิมพ์ตามฉบับที่แจกในงานพระราชทานเพลิงศพก็ไม่มีกำลังพอ
จึงแยกเอาแต่บางตอนที่เป็นข้อสั้น ๆ ออกมาพิมพ์ได้ ๔๒
ตอนเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้ที่สนใจ

ถ้าหากคณะศรัทธาคณะใดประสงค์จะพิมพ์หนังสือนี้อีกเพื่อเผยแพร่ธรรมะ
ผู้เขียนก็อนุโมทนาด้วย และเต็มใจอนุญาต
ขอเพียงแจ้งให้ทราบความประสงค์ก่อนเท่านั้น

บุญกุศลใดๆ ซึ่งเกิดจากการพิมพ์หนังสือเล่มนี้
เราทั้งสองขออุทิศให้แก่บุรพชนทั่วไป
และแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายตลอดจนเพื่อร่วมโลกด้วย


อวย-ส่งศรี เกตุสิงห์
๑๖ ซอยพระราชครู ถนนพหลโยธิน
กทม. ๑๐๔๐๐, โทร. ๒๗๙๙๖๔๖

อนาลโยวาทะ
ธรรมโอวาทของพระอาจารย์ขาว อนาลโย


๑. พระพุทธเจ้าว่าเราเป็นผู้แนะนำสั่งสอนทาง ทางออกจากโลกก็ดี
ทางไปสวรรค์ก็ดี ทางไปนิพพานก็ดี
เราตถาคตเป็นผู้แนะนำสั่งสอนให้เท่านั้นแหละ ตนนั่นแหละ
พวกอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายต้องทำเอาเอง แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระสาวกทั้งหลายก็ทำเอาเองทั้งนั้น ตนและทำให้ตน
ตนจะออกจากโลกก็แม่นตนตั้งอกตั้งใจทำใส่ตน
ตนจะติดอยู่ในโลกก็แม่นใจของตนมาอยากไป เพราะหลงตนหลงตัว

๒. ธรรมทั้งหลาย จะทำดีทำกุศลก็ใจนี่แหละเป็นผู้ถึงก่อน เป็นผู้ถึงพร้อม
จะทำบาปอกุศลก็ใจนี่แหละ จะผ่องแผ้วแจ่มใสเบิกบานก็ใจนี่แหละ
จะเศร้าหมองขุ่นมัว ก็ใจนี่แหละ
ใจเศร้าหมองขุ่นมัวแล้วก็ไม่มีความสุขอยู่ในโลก
จะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข ครั้นใจผ่องแผ้วละก็ พระพุทธเจ้าท่านว่า
มนะสาเจปนะสันเนนะ บุคคลผู้มีใจผ่องแผ้วดีแล้ว แม้จะพูดอยู่ก็มีความสุข
แม้จะทำอยู่ก็มีความสุข ตโตนะ สุขะมัธเนวติ อยู่ที่ไหนๆ ก็มีความสุข
มีความสุขเหมือนเงาเทียมตนไป

๓. ทุกข์เป็นของจริงอันประเสริฐ มันมาจากไหน ค้นขึ้นไปซิ
เห็นแต่ว่ามาจากโง่นั่นแหละ ดวงจิตเป็นผู้โง่ มันจึงต้องเป็น
ต้องเดือนร้อน มันจึงใคร่ มันจึงปรารถนา มันจึงอยากเป็นนั่นเป็นนี่
มันไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่เพราะเกลียด เพราะชัง มันชังมันก็ไม่อยากเป็น
แล้วก็หาของมาแก้ไข หาคิดอีหยังมาทา หนังเหี่ยวก็เอามาทา ลอกหนังออก
มันได้กี่วัน มันก็เหี่ยวอย่างเก่า

๔. อวิชชา (เป็นเหตุ) ให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ท่านว่าให้ดับความโง่อันเดียวเท่านั้น
ผลดับหมด เพราะธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ ธรรมทั้งหลาย ดีก็ดี ชั่วก็ดี
ไหลมาแต่เหตุ คือความโง่ ความไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นตัวเป็นตน
ก็ได้รับผลเป็นสุข เป็นทุกข์สืบไป ท่านเรียกว่า วัฏฏะ การวน
วนไม่มีที่สิ้นสุด

๕. จิตเมื่อทำความชั่วไว้แล้วมันก็ไม่ลืม
ใครไม่ต้องการสักคนหมดทั้งนั้นความชั่วบาปกรรม ให้คิดดู
นักโทษเขาลักเขาปล้นสะดมแล้ว
เขาก็หลบหนีไปซ่อนอยู่ตามป่าตามเขาตามถ้ำตามดง
เพราะเขาไม่ปรารถนาจะให้พวกตำรวจไปจับเขา อันนั้นมันก็ไม่พ้นดอก บาปน่ะ

๖. นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
อายตนะเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ เห็นรูปมากระทบตา เกิดวิญญาณขึ้นที่นี่
เสียงมากระทบหู เกิดวิญญาณขึ้นที่นี่อีก (ถ้า) รูปดี ก็เกิดความยินดี
ชอบใจ เป็นสุขเสทนา อยากได้ (ถ้า) รูปไม่ดี เกลียดชัง เกิดทุกขเวทนา
ไม่อยากได้ ก็เป็นทุกขเวทนาขึ้น ตัณหาเกิดขึ้น เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
ยึดมั่นถือมั่นว่าขันธ์ของตน ตัวของกู กูไปอยู่ที่โน่น ก็ไปอยู่ที่นี่
กูเป็นพระ กูเป็นเณร เมื่อมีอุปาทาน ก็เป็นเหตุให้อยาก เป็นเหตุให้เกิดภพ
คือกามเทพ รูปภพ อรูปภพ เกิดภพแล้วเป็นเหตุให้เกิดชาติ
เกิดชาติเป็นเหตุให้เกิดชรา มรณะ เกิดโสกะ ประเทวะ ทุกขโทมนัสอุปายาส
ความคับแค้นอัดอั้นตันใจอยู่ในสังขารจักร นี่แหละ (ถ้า)
ดับความโง่อันเดียวเท่านั้นแหละ ผลไม่มี ดับเหตุแล้ว ผลก็ดับไปตามกัน

๗. กุลบุตรผู้รักษาศีล ถึงพร้อมด้วยศีลบริบูรณ์แล้ว ย่อมมีความสุข
แม้จะเข้าไปคบหาษมาคมกับบริษัทใดๆ ก็ตาม บริษัทกษัตริย์ก็ตาม
บริษัทคหบดีก็ตาม บริษัทสมณพราหมณ์ก็ตาม เป็นผู้องอาจกล้าหาญ
ไม่มีความครั่นคร้ามต่อผู้คน เพราะคิดว่าเราบริสุทธิ์ดีแล้ว
ถึงไม่มีความรู้ก็ตาม
ไม่คิดกลัวว่าคนอื่นเขาจะมาโทษเราว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้
ไม่คิดอย่างนั้น ไม่กลัว แล้วก็เป็นที่รักของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
เป็นที่รักแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยกัน คนผู้มีศีลดีแล้วย่อมใจเย็น
จิตมันหยั่งเข้าไปถึงกัน

๘. พระพุทธเจ้าว่าธรรมะไม่อยู่ที่อื่น อยู่ที่สกนธ์กายของทุกคน
ดูจิตใจของตนนี้ให้มันเห็นความจริงของมัน พระพุทธเจ้าว่า
สกนธ์กายของเรานี้มันเป็นทุกข์ สกนธ์กายนี้ไม่เที่ยง
ก้อนอันนี้ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์
มันอยากจะเป็นไปอย่างใด ก็เป็นไปตามธรรมชาติของมัน กิริยาของมัน
มันไม่ฟังคำเรา อยากแก่ มันก็แก่ไป อยากเจ็บ มันก็เจ็บไป อยากตาย
มันก็ตายไป ธรรมเหล่านี้ไม่ใช่ของใคร ให้พิจารณาดูให้เห็นเป็นก้อนธรรม
มันไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครทั้งนั้น มันเป็นทุกข์ มันเป็นอนิจจัง
มันเป็นอนัตตา ตกอยู่ในไตรลักษณ์ เป็นผู้หญิง ผู้ชายก็สมมติทั้งนั้น

๙. ให้พากันตั้งใจ วันหนึ่งๆ เราจะนั่งภาวนา นั่งภาวนาก็ให้นั่งขัดสมาธิ
ตั้งกายตรง ดำรงสติ อย่าปล่อยใจ ให้ตั้งสติอยู่กับใจ
ให้เอาพุทโธเป็นอารมณ์ ทีแรกว่า "พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ,
พุทโธ ธัมโม สังโฆ" สามหนแล้ว จึงเอาแต่พุทโธอันเดียว ทำงานอะไรอยู่ก็ได้
พระพุทธเจ้าท่านบอกทำได้ทุกอิริยาบถ ได้ทั้งสี่อิริยาบถ ยืนก็ได้
เดินก็ได้ นั่งก็ได้ นอนก็ได้หมด นอนไม่เป็นท่าดอก เอนลงไปเดี๋ยวก็
"เอาสักงีบเถอะ" เดินนั่นแหละดี นั่งกับยืนก็ได้ ได้ทั้งสี่อิริยาบถ
พากันทำเอา ความมีอัตตภาพ นี่มันเป็นทรัพย์ภายนอก เงินทองแก้วแหวน
บ้านช่องเรือนชานต่างๆ ที่หามาได้ ก็เป็นทรัพย์ภายนอก
ติดตามเราไปไม่ได้ดอก เมื่อตายแล้วก็ทิ้งไว้ กายอันนี้เมื่อตายแล้ว
ก็นอนทับถมแผ่นดินอยู่ไม่มีผู้ใดเก็บ

๑๐. ถ้ามีสติกำหนดเข้ามา จะรู้ทุกเวลาว่าจิตของเรามีราคะไหม
หรือหายแล้วไม่มี ก็จะรู้จำเพาะตนนี้ ดูโทสะ มีอยู่หรือหายโทสะแล้ว
ดูโมหะ ความโง่เขลาความหลง ยังมีอยู่ก็จะรู้
หรือจิตของเรามันหายโทสะหายโมหะแล้วก็จะรู้
พระพุทธองค์จึงให้พิจารณาเข้ามาให้เห็น เห็นอันนี้เรียกว่าเห็นธรรม
จิตของตนเป็นอย่างไร จิตของตนเป็นกุศล มีเมตตา
มีวิหารธรรมเป็นเครื่องอยู่ หรือมันยังมีราคะ โทสะ โมหะ
ครอบงำอยู่ก็จะรู้ แล้วจะได้แก้ไขตัวมัน รีบปลดเปลื้องออกไป
รีบเร่งทำความเพียร ขับไล่สิ่งที่เศร้าหมอง คือ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ
ออกไป ให้มันเบาบางไป ออกจากขันธสันดาน
ดวงจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องทำให้คนบริสุทธิ์ ทำให้คนมีสิริ มีโภคทรัพย์
ก็เพราะคนเป็นผู้ทำความดี มีศีล
ศีลที่บริบูรณ์แล้วย่อมเป็นที่มาแห่งโภคทรัพย์

๑๑. ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นว่าขันธ์ของตน
ว่าตัวของกู กูไปอยู่ที่โน่น กูไปอยู่ที่นี่ กูเป็นพระ กูเป็นเณร อุปาทาน
เมื่อมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ก็เป็นเหตุให้อยากนั่นแหละ
เป็นเหตุให้เกิดภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เกิดภพแล้วเป็นเหตุให้เกิดชาติ
เกิดชาติ ก็เป็นเหตุให้เกิดชรา มรณะ เกิดโสกปริเทวทุกข โทมนัสสุปายาสา
ความคับแค้นอัดอั้นตันใจ อยู่ในสังสารจักร นี่แล
ตับความโง่อันเดียวเท่านั้นและ ผลไม่มี ตับเหตุแล้ว ผลก็ดับไปตามกัน ผล
(ที่กล่าวนี้) คือได้รับความทุกข์ ความสุขไม่มี (ดับ)
คือดับอวิชชาความโง่ นั่นแหละตัวเหตุตัวปัจจัย

๑๒. เราอย่าหมั่นขยันแต่ทำบาป ให้ขยันแต่ทำดี ทำความบริสุทธิ์
ทำบุญทำกุศลนี้ ให้หมั่นทางนี้ บาปด่ากัน บาปมันขึ้นมาหน้าแดง เรานี้เฮ็ด
(ทำ) บาป คือขยันแท้ ไปขยันใส่บาป ครั้นรู้จักว่าบาปก็บ่ขยันแล้ว
จึงว่าให้กลัวบาป คำเถียงกันด่ากัน ทะเลาะวิวาทเบียดเบียนกัน เป็นบาป
อย่าไปขันใส่มัน ให้หลีกไปไกล ให้เอาใจเว้น อย่าเอาใจใส่
ครั้นเว้นแล้วมันก็บ่มีความเดือดร้อน ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม
เราบ่ว่าใส่เขาดอก เขาติฉินนินทาเขาก็ว่าใส่เขาเอง ปากของเขาก็อยู่ที่เขา
หูเขามันก็อยู่ที่เขา

๑๓. อัตตภาพเป็นของกลาง ไม่ใช่ของใครทั้งหมด ก้อนใครก้อนเรา
เป็นของได้มาอันบริสุทธิ์ เกิดมาชาตินี้ก็เป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์
พ้นจากใบ้บ้าบอดหนวก เสียจริต
มีร่างกายตาหูจมูกลิ้นกายใจสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว เราก็ควรพากันพิจารณาว่า
เราเกิดมาชาตินี้ได้สมบัติอันสมบูรณ์แล้ว เราต้องเอามันทำประโยชน์เสีย
เอากะในเสีย อย่าไปปล่อยให้มันแก่ขึ้นตายขึ้นซื่อๆ
สมบัติอันนี้เป็นแต่ภายนอกเอานำมันเสีย เอาทรัพย์ภายใน เอาอริยทรัพย์
ทรัพย์อันติดตามตนไปได้ ทรัพย์สมบัติที่เราแสวงหาอยู่ในชาตินี้
ได้เป็นมหาเศรษฐีได้เป็นอิหยังก็ตาม เป็นของกลางหมด
เป็นทรัพย์ภายนอกที่เราได้อาศัยมันชั่วชีวิตนี้เท่านั้น
ครั้นขาดลมหายใจแล้ว สมบัตินี้ก็เป็นสมบัติของโลก
อัตตภาพร่างกายนี้ก็เป็นสมบัติของโลก มันเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ

๑๔. ประโยชน์ตนคือทำความเพียร คือทำจิตให้สงบ เป็นสมาธิ
จิตมันดีแล้วให้มันสงบเป็นสมาธิ ครั้นมันเป็นสมาธิแล้ว
ทำให้มันแน่วแน่มีอารมณ์อันเดียวแล้ว ก็จิตนั่นแหละ
มันจะเป็นดวงปัญญาขึ้นมา มันจะส่องแสง มันมีกระแสจิตพุ่งออกมา
พิจารณากายอีก ซ้ำอีก มันก็จะเห็นชัด ครั้นมันสงบแล้ว
พระพุทธเจ้าก็ให้พิจารณาสัจของจริงทั้งสี่ สัจธรรมของจริง
ของจริงของดีพระพุทธเจ้า ของพระสาวกผู้ได้ยินได้ฟังแล้วเห็นจริงอย่างนั้น
จริงอย่างไร ดีอย่างไร ดีเพราะว่าเหมือนดังพระสาวก
ท่านทั้งหลายเบื้องต้นก็เป็นปุถุชนนี่แหละ
เมื่อได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า พิจารณาตามเห็นตาม
เห็นแล้วเกิดนิพพิทาในเบญจขันธ์ว่า มันไม่ใช่ของเรา เป็นเพียงของใช้
ไม่ใช่ของเรา นี่แหละเห็นจริงชัดแล้ว ก็ละถอนปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่น
ทำให้ปุถุชนเป็นพระอริยเจ้าได้ จึงว่าของจริง

๑๕. ตัณหาว่าความใคร่ ความใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจ มันเป็นตัณหา
ครั้นดิ้นรนอยากมาได้แล้วก็อยากเป็น ทีนี้มันเป็นตัณหาขึ้น
อยากเป็นคืออย่าง (อยาก ?) เป็นอินทร์เป็นพรหม เป็นจักรพรรดิ
เป็นเศรษฐีคหบดี อยากเป็นเพราะตัณหา มีตัณหาสาม ความใคร่เรียกว่ากามตัณหา
ความดิ้นรนอยากได้เป็นภวตัณหา วิภวตัณหาคือความไม่อยากเป็น ไม่อยากมี
เหมือนผมหงอก ฟันหัก ร่างกายหดเหี่ยวตามืดตามัว ความแก่ไม่อยากเป็น
อารมณ์ที่ไม่ชอบก็ไม่อยากพบไม่อยากเห็น ไม่อยากเป็น นี่เรียกว่าวิภวตัณหา
มีความขัดเคือง ตัณหานี่เป็นเหตุให้จิตใจเกิดทุกข์ เพราะเหตุฉะนั้น
พระพุทธเจ้าจึงให้พิจารณาให้เห็นทุกข์เสียก่อน อันใดเป็นทุกข์
อัตตภาพรางกายทั้งหมดทั้งก้อนนี้เป็นทุกข์ ทุกข์มาจากความเกิด

๑๖. ธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ อะไรเป็นตัวเหตุ ตัวเหตุคืออวิชชา
ความโง่นั่นแหละมันไหลมา อะไรเป็นอวิชชา จิตโง่นั่นแหละเป็นอวิชชา
อะไรเป็นสนิมของอวิชชา มันนั่นแหละเป็นสนิมของมันเอง เหมือนกันกับเหล็ก
เหมือนกันกับดาบและมีด ครั้นไม่ลับมันอยู่นานๆ ใครเอามาใส่ สนิมน่ะ
มันก็เกิดขึ้นของมันเอง มันขนเอามาเอง
หมักหมมทำให้เกิดสนิมจนว่าจิตดำจิตมืดน่ะ มันเองแหละเป็นสนิมของมัน
เมื่อทำสนิมให้มันออกจากดวงจิตนี่แล้ว จิตตัง ทันตัง สุขสวะหัง
ให้เป็นผู้หมั่นพยายามหัดทรมานสั่งสอนมัน อย่าไปปล่อยตามใจมัน (ให้)
มีความรู้เท่ามัน อย่าไปตามใจมัน หัดให้มันอยู่ในอำนาจของสติ สติควบคุม
ขัดไปขัดมามันก็ขาวหรอก จิตผ่องแผ้วดีแล้ว
จะพูดอยู่ก็ตามมีความสุขทั้งนั้น จะทำการทำงานอยู่ก็มีความสุขทั้งนั้น

๑๗. ธรรมทั้งหลายก็อยู่ที่นี่แหละ อยู่ที่สกนธ์กายของเรา
ไม่ต้องไปหาเอาที่อื่นดอก มีครบบริบูรณ์หมด สติปัฏฐานทั้งสี่ก็แม่น
เราควรทำเอา ท่านให้พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต ให้พิจารณาธรรม ๔
อย่าง แล้วพิจารณาอันใดอันหนึ่งเท่านั้นแหละ ไม่เอาหมดทุกอย่างดอก
สัมมัปปธานสี่ ก็มี เพียนละบาป ให้เพียรบำเพ็ญบุญ สัมมัปปธานสี่ มีว่า
ปหานปธาน ประหารบาป ละบาป บาปปรากฏขึ้นที่จิตนี่แหละไม่เกิดจากที่อื่น
เพราะจิตไปรวบรวมอารมณ์เอาภายนอก อารมณ์ภายนอกก็หมายเอาห้าอย่าง
รูปเสียงกลิ่นรส เครื่องสัมผัส มันไปรวบรวมเอามาปรุงมาคิด พิจารณากาย
มันก็ไปถูกเวทนานั่นแหละ ครั้นจะพิจารณาจิตมันก็ไปถูกธรรม
จิตมันเกิดขึ้นกับใจเรียกว่าธรรมารมณ์ สี่อย่างนี้ ธรรมารมณ์ก็ไม่ใช่อื่น
คืออดีตที่ล่วงมาแล้วไปนึกเอามา ดีชั่วอย่างไรก็นึกเอามา
มาหมักหมมที่ใจนี้ อนาคตยังไม่มาถึงก็เหนี่ยวเอามา
เอามาเต็มอยู่ในปัจจุบันนี้ เรียกว่าธรรมารมณ์

๑๘. คนจะก้าวล่วงทุกข์ได้เพราะวิริยะความเพียร เพียรทำทุกสิ่งทุกอย่าง
ความดีความงามทุกสิ่งทุกอย่างควรทำความเพียร ชื่อว่าคนไม่ประมาท
ผู้ที่ข้ามมหานรกพ้นสมมติได้ก็เพราะไม่เป็นผู้ประมาทในคุณงามความดี
ทางบุญทางกุศล คนประมาทมันมักทำบาปทำกรรมใส่ตน
คนประมาทชีวิตจะยาวร้อยปีก็ตาม ก็เหมือนกันกับคนตายแล้ว คนไม่ประมาทชีวิต
เขาจะเป็นอยู่วันเดียวก็ยังดีกว่าผู้ประมาทเป็นอยู่ร้อยปี
นั่นประเสริฐกว่า

๑๙. ความทุกข์มันเกิดจากความอยากความใคร่ ภวตัณหาความอยากได้
อยากเป็นอยากมี อยากกอบโกยเอา อยากได้มาเป็นของตัว อยากเป็นเศรษฐีคหบดี
อยากเป็นราชามหากษัตริย์ เรียกว่าภว ความอยากเป็นอยากมี
ความไม่พอใจเหมือนอย่างความแก่หง่อมแห่งชีวิต ความเปลี่ยนแปลงแห่งชีวิต
ความมีหนังหดเ******่ยวเป็นเกลียว ผมหงอกฟันหัก อันนี้ไม่พอใจ เสียใจ
อยากให้มันเป็นหนุ่มตึงอยู่เหมือนเก่า ผมหงอกมันก็เอายาดำๆ มาย้อม
แล้วมันก็ป่งขึ้นอีก มันก็ขายหน้าล่ะ มันก็ดำอยู่ปลายนั่น โคน ๆ มันก็ขาว
มันก็ขายหน้าอีก แล้วก็ไม่พอใจ นี่เรียกว่า วิภวตัณหา
ตัณหาสามอย่างนี้แหละเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

๒๐. (ซ้ำกับข้อ ๑๔)

๒๑. ความทุกขกายเป็นสัตวทุกข์ มีอยู่เป็นสิ่งธรรมดา
ให้เราตั้งสติอบรมจิตใจของเราอย่าให้มันไปยึดถือร่างกาย
ถ้าแม้นมันไม่ยึดถือแล้ว ก็จะอบรมจิตใจของเราให้มันสบาย
หายใจไม่สบายนี่มันทุกข์หลาย
มันทุกข์ก็เพราะยึดเอาอารมณ์นั่นแหละเข้ามายึดถือ อารมณ์ทั้งหลาย
อารมณ์ที่พอใจ มันก็ยึดเข้ามา อารมณ์ที่ไม่พอใจมันก็ยึดเข้ามา
ยึดเข้ามาแล้วก็มาเผาใจ ไม่พอใจก็เป็นเหตุให้คับแค้นใจ อารมณ์ที่พอใจนั้น
เมื่อมันพลัดพรากไปก็ใจถูกเผาอีก เป็นเหตุให้โศกเศร้าอาลัยอาวรณ์ถึงกัน
สิ่งที่พลัดพรากเป็นวัตถุภายนอกก็ตามหรือแม้ญาติมิตรก็ตาม
พลัดพรากจากไปมันก็เป็นทุกข์ ก็เพราะไม่รู้เท่าอารมณ์
พระพุทธเจ้าว่าของเก่า ของพวกนี้เคยมีมาตั้งแต่เก่า
ไม่ใช่จะมีมาเดี๋ยวนี้ เราเกิดมาชาตินี้จึงมาพบปะกันในชาตินี้
สิ่งที่พอใจก็ดี ไม่พอใจก็ดี พบปะอยู่ทุกภพทุกชาติ

๒๒. เวลาล่วงไป ชีวิตของเราก็ล่วงไป ล่วงไปหาความตาย
มนุษย์เป็นสัตว์อันสูงสุด อันนี้เป็นเพราะเราได้สมบัติอันดีมา
ปุพเพกะตะปุญญะตา บุญกุศลคุณงามความดีเราได้สร้างมาหลายภพหลายชาติแล้ว
เราอย่าไปเข้าใจว่าเราเกิดมาชาติเดียวนี้
ตั้งแต่เราเทียวตายเทียวเกิดมานี่นับกัปนับกัลป์อนันตชาติไม่ได้
แล้วจะว่าเหมือนกันได้อย่างไรล่ะ เมื่อเราเกิดมาก็มีแต่วิญญาณเท่านั้น
พอปฏิสนธิก็เอาเลือดเอาเนื้อพ่อแม่มาแบ่งให้
ได้อัตตภาพออกมาแม้กระนั้นก็ไม่มีสัตว์มาเกิด ต้องอาศัยจุติวิญญาณ

๒๓. มีใจนั่นแหละเป็นใหญ่ มีใจนั่นแหละเป็นหัวหน้า
มีใจนั่นแหละประเสริฐสุด สิ่งทั้งหลาย บาปก็ดี บุญก็ดี สำเร็จแล้วด้วยใจ
มนะนี่แหละแปลว่าใจ ครั้นใจไม่ดี มนสา เจ ปทุฏเฐนะ ใจไม่ดี ใจเศร้าหมอง
ใจขุ่นมัว ลุอำนาจแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วใจเศร้าหมอง
แม้คนนั้นจะพูดอยู่ก็ตาม จะทำการงานด้วยกายอยู่ก็ตาม
ความทุกข์นั้นเพราะจิตเศร้าหมอง จิตไม่ดีแล้ว
ความทุกข์นั้นย่อมติดตามผู้นั้นไป
เหมือนกันกับล้ออันตามรอยเท้าโคไปอย่างนั้น นะสา เจ ปสันเนนะ
ครั้นจิตผ่องใส จิตผุดผ่อง จิตไม่เศร้าหมองแล้ว
แม้นจะพูดอยู่ก็ตามจะทำการงานอยู่ก็ตาม จะไปที่ไหนก็ตาม
ความสุขย่อมติดตามเหมือนเงาเทียมตนคนไปอย่างนั้น

๒๔. กุศลกรรมทั้งหลายมีสติเป็นเค้าเป็นมูล ครั้นมีสติแล้ว
กุศลธรรมทั้งหลายก็เกิดขึ้น ก็มีแต่ทำความดีทุกสิ่งทุกอย่าง
รู้แล้วอย่างนี้ก็ให้พากันหัดสติ มันผิดก็ให้รู้ เราจะทำด้วยกาย
ก็ให้ระลึกนึกได้เสียก่อน เราจะพูดก็ให้ระลึกนึกได้เสียก่อน
จะคิดก็ให้ระลึกนึกได้เสียก่อน มันถูกเราจึงพูด มันถูกเราจึงทำ
มันถูกเราจึงคิดนึก

๒๕. ความไม่ไปร่วม ความไม่มาร่วม ความไม่ประชุมร่วมกับสิ่งที่ชอบใจ
อันนี้เป็นทุกข์ บุคคลปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นสมหวังก็เป็นทุกข์
อันนี้มันมาจากไหน เราได้รับผลอย่างนี้มาจากไหน มันเกิดมาจากความอยาก
เรียกว่ากามตัณหา ความใคร่
ความพอใจในรูปในสิ่งที่มีวิญญาณและสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ ความใคร่ ความพอใจ
ทุกข์มันเกิดจากความอยาก ความใคร่

๒๖. อันหนึ่งสมถะ อันหนึ่งวิปัสสนา มันถูกกับจริตอันใด
การภาวนามันสบายก็ให้เอาอันนั้น ถ้ามันถูกกับจริต
จิตก็สงบสบายไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น จิตรวมอยู่ นั่นแหละมันถูกนิสัย
ครั้นมันไม่ถูกนิสัยแล้ว นึกพุทโธหรืออันใดมันก็ฟุ้งซ่าน หายใจยาก
หายใจฝืดเคือง หมายความว่ามันไม่ถูกจริตของตน อันใดมันถูกจริตมันก็สบายใจ
ใจสว่าง จิตไม่ฟุ้งซ่าน เบื้องต้น ใครเอาอันใดก็เอาอันนั้นเสียก่อน
พิจารณาอาการสามสิบสอง นี่เรียกว่าวิปัสสนา เรียกว่าค้นคว้า

๒๗. คนฉลาดต้องรีบเร่งศึกษาธรรม ท่านทั้งหลายเป็นนักศึกษา
ศึกษาทางโลกมากแล้ว มาศึกษาธรรมะเสียบ้างเป็นการดี ถูกต้อง ขั้นแรกคือศีล
ศีลห้านั่นแหละพอแล้ว ถือให้มันดี ๆ ให้มั่นคง ให้บริสุทธิ์ พอแล้ว
ท่านว่าให้ถือตามฐานะ พวกท่านเป็นนักศึกษา ศีลห้าก็ดีแล้ว
ถ้าใครถือศีลแปดก็ยิ่งดี ถ้าทำได้ ศีลเป็นเครื่องระงับสงบกายวาจา
กายวาจาสงบ จิตก็สงบ เมื่อจิตสงบก็ตั้งมั่น เกิดเป็นสมาธิ จิตมีอำนาจ
มีกำลัง เมื่อจิตตั้งมั่นแท้แล้ว อยากรู้อะไรก็รู้ได้ เกิดปัญญาเห็นแจ้ง
เมื่อมีปัญญาแล้วก็ไม่หลงอะไรอีกต่อไป

๒๘. จิตเดิมมันเป็นของสว่าง เป็นของเลื่อมประภัสสร
แต่อาศัยอาคันตุกกิเลสมันจะเข้ามาปกคลุมรัดรึงให้ขุ่นมัวเร่าร้อน
อาคันตุกกิเลสก็ไม่อื่นไม่ไกลดอก มันไม่พ้นนิวรณธรรมทั้งห้า กามฉันทะ
พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา นี่แหละ
เมื่ออารมณ์เหล่านี้ไม่เข้าครอบงำแล้ว จิตนี้มันก็อ่อน
จิตสว่างไสวควรแก่การงาน การงานที่พิจารณา มันเป็นแสงสว่างขึ้น
นิวรณ์นี้มันมาปกคลุมหุ้มห่อให้จิตเศร้าหมองขุ่นมัวมืดดำ
เมื่อถีนมิทธะความง่วงเข้าครอบงำ ให้มองดูดวงดาว มองขึ้นไปดูอากาศ
หรือไม่ยังงั้นก็ให้นึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
หรือคุณความดีของเราอย่างหนึ่งที่ได้บำเพ็ญมา
เมื่อระลึกถึงแล้วมันมีความดีใจที่ได้ทำมา มันก็จะหายง่วงเหงาหาวนอน

๒๙. ไปอยู่ที่ใดนั่นมันจะตายเสีย เราตั้งใจแล้วเราตั้งสัตย์อธิษฐานแล้ว
ยังไงมันก็จะให้เป็นชาติสุดท้ายในชาตินี้ การเกิดของเรานี่
เป็นหรือไม่เป็นก็ตาม เราจะทำความเพียรอยู่นั่นแหละ
มันจะตายก็เทียวไปเทียวมาอยู่นี่
ทำมันอยู่นั่นแหละจนตายถ้ายังไม่พ้นทุกข์ ก้อนนี้ก้อนตาย
เกิดมาก็มาพากันตายเสีย แบกทุกข์ยู่อย่างเรานี่ เข้าป่าเข้าดงไปซื่อๆ
เกิดมามีแต่ตายเท่านั้นแหละ เราไม่ประมาท ได้ตั้งใจทำคุณงามความดีแล้ว
ตายมันจะไปทุกข์รึ อย่าทำบาปทำชั่ว อย่าเห็นแก่ปากแก่ท้อง
อย่าเห็นแก่หลับแก่นอน เราสร้างความดีใส่ตนไว้ ความทุกข์ยากลำบากบ่มี
ความสบายใจก็แม่นเราสร้างให้ตน

๓๐. มีพี่ชายกับน้องชายสองคน คนน้องศึกษาเล่าเรียน
พี่ชายบวชแล้วก็เข้าป่าเข้าดงไปเป็นพระกรรมฐาน ธุดงค์ไปอยู่ตามป่าตามดง
พี่ชายได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว กลับมาหาน้องชาย
น้องชายก็อวดว่าเราเรียนพระไตรปิฎกแล้ว ใครจะได้บุญมากกว่ากัน
พี่ชายบอกว่าพี่ชายได้บุญมากกว่า น้องชายก็บอกว่าตัวเองได้บุญมากกว่า
เถียงกันอยู่อย่างนั้น ในที่สุดก็พากันไปหาพระพุทธเจ้าที่เชตวัน
พระพุทธเจ้าเล็งเห็นด้วยญาณแล้วว่า พี่ชายทำกรรมฐานได้บุญมากกว่า
แต่เพื่อให้คนทั้งสองได้เข้าใจด้วยตัวเอง
จึงทรงทำอิทธิปาฏิหาริย์ให้มีน้ำท่วมเต็มไปหมด พระพุทธเจ้าถามว่า
มาตามทางเห็นอะไร ตอบว่าเห็นแต่น้ำ น้องชายน้ำท่วมแค่เอว
แต่พี่ชายท่วมแค่หลังตีนบางแห่งพี่ชายท่วมแค่หน้าแข้ง
แต่น้องชายท่วมมิดหัวเลย นี่ก็เห็นแล้วว่าใครมีบุญมากกว่ากัน
ใครได้รับอานิสงส์มากกว่ากัน

๓๑. คนตายตายไปแล้ว เราอยู่ก็ตาย มันจะกลัวตายไปทำไม
ความตายมาถึงละหวั่นไหว พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้หวั่นไหว
ได้ความสรรเสริญก็ดีใจ แต่มันไม่เที่ยง
ความนินทาติเตียนก็มีในโลกนี้มีแต่มันไม่เที่ยง ลาภเกิดขึ้นก็มีในโลก
แต่มันก็เสื่อมไป ความสรรเสริญเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป
ความสุขเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป ความนินทาเกิดขึ้นก็เสื่อมไป
สิ่งไหนล่ะจะเอามาเป็นสาระแก่นสาร เราจะไปยึดไปถือทำไม ปล่อยวางให้หมด
ทำจิตให้เป็นอารมณ์เดียว ให้เป็นพุทโธๆ พุทโธคือผู้รู้ ให้ใจเราเบิกบาน
อย่าให้ใจเราเศร้าหมอง ครั้นใจเราเศร้าหมอง
ต้องชำระสะสางให้ใจเราเบิกบานอย่าให้ขุ่นมัว ให้ดูใจของตนนี่
เราจะได้บุญที่สุดก็เพราะจิตสงบวิเวก

๓๒. ละบาปอกุศล สัพพะ ปาปัสสะ อะกะระณัง
เพียรละบาปทั้งหลายทั้งปวงในสันดาน กุสะลัสสูปะสัมปะทา
ตั้งใจทำความดีตลอดไตรมาสสามเดือนให้บริบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง
อันนี้แหละพระพุทธเจ้าว่า ทำกุศลให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ฝึกฝนใจของตน สั่งสอนใจของตน
อย่าไปเพ่งโทษคนอื่น ให้เพ่งดูตน คนอื่นเขาดีก็ดีเขา เขาชั่วก็ชั่วเขา
จิตใจของเราเป็นอย่างไร มัวแต่เพ่งโทษคนอื่นอยู่ มัวดูคนอื่นอยู่
มันเป็นบาปเป็นกรรม ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง

๓๓. เราจะรบข้าศึก อาวะของเราพร้อมหมดแล้วแต่เราไม่ตั้งใจทำ
จะปลูกบ้านปลูกเรือนก็ไม่ปลูก หาของมาพร้อมหมดแล้ว
แล้วก็ตั้งอยู่นั่นแหละให้ชำรุดทรุดโทรมเสีย ทิ้งไว้ซื่อๆ
ไม้ก็ดีไม่มีประโยชน์ เราตั้งไว้ก็ไม่มีประโยชน์ ต้องอาศัยทำ
ให้พากันทำอิริยาบถ ยืนเดินนั่งนอน พระเจ้าทั้งห้า
ไม่ได้ห้ามเป็นพระเจ้าทั้งห้า นิสัยจริตของเรามันถูกกับอะไร จะ
พุทโธพุทโธ ธัมโมธัมโม หรือสังโฆสังโฆ หรือผมขนเล็บฟันหนัง
เอาอย่างหนึ่งๆ มันถูกอันไหน มันถูกจริต มันก็สงบ จิตสงบขึ้น
จิตไม่ฟุ้งซ่าน หมายความว่ามันถูก เราบริกรรมว่า พุทโธ-พุทโธ-พุทโธ
แล้วจิตเบิกบาน จิตเยือกเย็น จิตเร่าเริง อันนี้หมายความว่ามันถูกกับจริต
มันถูกก็เอาอันนั้นแหละ บริกรรมไป พุทโธ-พุทโธ เรียกว่า สมถะ

๓๔. เวทนา, ร่างกายมันเป็นธรรมดา มันเป็นรังของโรค
เป็นก้อนโรคตั้งแต่ไหนแต่ไรมา มันเป็นอย่างไรก็ไม่มีความหวั่นไหว
พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายก็ไม่มีความหวั่นไหวเวลามันจะเป็นไป
ร่างกายแล้วแต่มันจะเป็นไปตามเรื่องของมัน หน้าที่ของเขา ทุกขังอยู่นั่น
เวทนาอยู่นั่น เกิดเวทนาก็ให้ฝึกหัดพิจารณาโลกธรรม
รูปอันนี้เราได้มาดีแล้ว เมื่อมันชำรุดทรุดโทรมไป
พระพุทธเจ้าก็ไม่มีความหวั่นไหวต่อมัน มันจะเสื่อมลาภ
ให้มันเสื่อมไปตามวิสัย ใจเราไม่เสื่อม ความนินทามันก็ลมปาก
ครั้นรู้เท่าแล้วจิตไม่กระวนกระวาย จิตไม่มาเกี่ยวข้องกับร่างกายแล้ว
มันก็สุขเท่านั้นแหละ
ความทุกข์การเกิดขึ้นถ้ารู้เท่าแล้วจิตก็ไม่หวั่นไหว

๓๕. เรื่องภาวนามันสำคัญ อบรมบ่มอินทรีย์ อบรมกายนี่แหละ
อบรมใจของตนนี้แหละ มันยากอยู่ครั้นอบรมได้แล้วไม่มีความเดือดร้อน
ใจเยือกเย็น ใจสบาย ไม่มีความหวั่นไหว อวิชชาคือใจ
ใจดวงเดียวนั่นเรียกว่าอวิชชา คือมันไม่รู้ต่อสิ่งทั้งปวง
ไม่รู้ในกองสังขาร แล้วหลงยึด ชอบเข้าก็หลงยึด ไม่ชอบก็ยึดเข้ามาเผาตน
มันไม่รู้จึงหวั่นไหว พวกเราพากันฝึกหัดใจของตนให้ดี
พระพุทธเจ้าว่าธรรมทั้งหลายมีมีใจเป็นหัวหน้า มีใจถึงพร้อม มีใจเป็นใหญ่
มีใจประเสริฐสุด ถ้าไม่ทรมานไม่ฝึกไม่อบรม อันนี้มันก็ทำพิษ
เผาอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน มันเป็นเพราะใจนี่แหละ ใจไม่ดี ใจไม่รู้เท่า
ใจโง่ มะนะสา เจ ปะทุฏเฐนะ ใจอันมีโทษประทุษร้ายร้ายมันอยู่แล้ว
เพราะราคะ โทสะ โมหะ ประทุษร้ายอยู่ ไปที่ไหนก็ไม่มีความสุขสบาย
มีแต่ความเดือดร้อนเผาผลาญ

๓๖. อาการสามสิบสองนี้ มี ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, กระดูก,
เยื่อในกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, พังผืด, ไต, ปอด, ไส้ใหญ่, ไส้น้อย,
อาหารใหม่, อาหารเก่า, เยื่อในสมอง, ศีรษะ เป็นต้นหมู่นี้เป็นคนละอย่าง
มันไม่ใช่คน พระพุทธเจ้าท่านว่า มันไม่ใช่คนนะ อีกอย่าง พระพุทธเจ้าว่า
ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกัน เรียกว่ารูป รูปใหญ่ มหาภูตรูป
สิ่งที่อาศัยธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ เวทนา ความเสวยอารมณ์
สุขทุกข์ก็ดี สัญญา ความจำหมายโน่นหมานี่ จำโน่นจำนี่ จิตเจตสิก
คือความคิดความอ่าน ความปรุงขึ้นที่จิต คือ วิญญาณ สังขาร
ความรู้ทางอายตนทั้ง ๖ อันนี้เราว่า รูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์,
สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์ เรียกว่าขันธ์ ไม่มีคนไม่มีสัตว์
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัว ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์
วิญญาณเป็นความรู้เท่านั้น รู้กันอยู่นี่แหละ ค้นไปค้นมาอยู่นั่น
มองดูคนอยู่ไหน

๓๗. เรื่องทำความเพียรถ้าดีแล้วก็ไม่เหลือวิสัย ความจะพ้นทุกข์มันมีน้อย
มีอยู่ในอัตตภาพนี้แหละ ไม่ได้อยู่ที่อื่น จิตว่างเท่านั้นแหละว่างโม้ด
ทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ตัวของตน
มันไม่ยึดมันก็พ้นทุกข์ มันก็มีสุข จิตอบรมดีแล้ว มันก็บริสุทธิ์ผุดผ่อง
จิตเป็นเลื่อมประภัสสร จึงเป็นชัดว่าดีแล้ว จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง
จิตฝึกดีแล้วนั้นนำเอาความสุขมาให้ไม่มีที่สิ้นสุด
นี่เรามันตามืดตามัวตาบอดตาขุ่น ตามัว มันไม่เห็นหนทาง มันก็งมไปๆ
ตกหลุมเสีย งูเห่ามันอยู่ในหลุมนั่น ตกลงไปงูเห่ากัดตาย จงตั้งใจพิจารณา
ธาตุก้อนอันนี้แหละพิจารณาเข้า เป็นธาตุหรือ หรือสัตว์ หรือคน
ก้อนนี้แหละหลอกลวงเรา กัดเรา ไม่มีความสุข เพราะเหตุนั้น
หัวใจมันจึงขุ่นมัว เมื่อมันรู้เท่ามันปล่อยมันวางแล้ว
นั่นแหละจิตมันจึงจะลืมตาได้เห็นแต่ความสว่าง

๓๘. เราจะไปเกิดในที่ดีมันยากแล้ว บุญมันบ่ถึงเขา เราต้องทำเอา
เกิดเป็นมนุษย์เป็นสัตว์อันสูงสุด ก็เป็นเพราะ ปุพเพกะตะปุญญะตา
บุญหนหลังมาติดตามตนให้เกิดเป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์
ครั้นเป็นผู้สมบูรณ์แล้วก็ อัตตะสัมมาปะณิธิ ให้ตั้งตนอยู่ในที่ชอบ
อย่าไปตั้งตนอยู่ในที่ชั่ว รักษาศีล ให้ทาน หัดทำสมาธิอย่าให้ขาด
ศีลห้ารักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ศีลแปดให้รักษา ให้พากันภาวนาอยู่
สมาธิมันไม่มีที่อื่น ให้นั่งภาวนา พุทโธๆ ไม่ต้องร้องให้มันแรงดอก
ให้มันอยู่ในใจซื่อๆ ดอก การภาวนาก็เป็นอริยทรัพย์ภายใน
มันจะติดตามไปทุกภพทุกชาติ ติดไปสวรรค์ ลงมามนุษย์
มาตกอยู่ในที่มั่งคั่งสมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ยากไม่จน ทรัพย์อันนี้ติดตามไป
บ่มีสูญหายดอก ตามไปจนสิ้นภพสิ้นชาติ

๓๙. มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้ประมาณในภัตต์ เรียกว่า ภัตตาหารความเสวย
สิ่งที่ควรรับประทานจึงรับประทาน สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
สิ่งที่จะไม่ทำให้เสื่อม บริโภคเข้าไปแล้ว มันทำให้เกิดความเจริญ
เกิดความสุขอย่างนี้แหละจึงควรบริโภคเข้าไป
สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
ถ้าบริโภคเข้าไปแล้วทำให้ร่างกายชำรุดทรุดโทรม หรือทำให้ร่างกายลำบาก
อันนี้ไม่ควรบริโภค เรียกว่า มัตตัญญุตา จ ภัตตสมิง อาหารหมายเอาอารมณ์
ไม่เอาอาหารที่เราบริโภคเข้าไปก็ถูก อาหารอารมณ์นั้นไม่ควรบริโภคสักอย่าง
ควรบริโภคเข้าไปแต่ธรรมารมณ์คือธรรม

๔๐. เรื่องทุกขสัจจ์นี้ให้มันรู้ พิจารณามันทั้งนอกทั้งใน
หรือจะออกพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อาการสามสิบสองน่ะ กระจายออกทุกๆ
ส่วนแล้ว มันเหลือเป็นคนไหม บ่มีคนแล้ว กำหนดออกไปๆ จนเหลืออายตนะของมัน
บัญญัติ ความสมมุติ สมมติคือขันธ์ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์
สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปขันธ์ก็คือธาตุสี่ประชุมกันเป็นรูปขันธ์
ถ้ามีรูปก็มีเวทนาเกิดขึ้น ต่อไปสัมผัสมันต่อกันเกิดขึ้น
พระพุทธเจ้าไม่บอกให้พิจารณาไปอื่น ให้พิจารณาที่นี่
หมดก้อนของเราของเขานี่แหละแม่นก้อนธรรม อย่าไปหาที่อื่น
อย่าไปพิจารณาที่อื่น มันไปยึดไปสร้างไปเสีย
มันจะเป็นเหตุให้เจ้าของติดอยู่ ให้พิจารณาอันนี้
ทางจะไปพระนิพพานมีเท่านี้แหละ

๔๑. พุทโธคือผู้รู้ รู้ว่าใจตนบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ใจบริสุทธิ์ก็ศีลบริสุทธิ์ ตัวเป็นผู้ดำเนิน ศีลเป็นประธาน
ผู้ใดทำบาปทำกรรม ทำให้ใจของตนเศร้าหมอง หาโทษใส่ตน
นักปราชญ์ว่าคนโง่คนยาก มันเกิดจากตน ตนบริสุทธิ์ คนดีอยู่
ไปเอาความเศร้าหมองเอาความร้ายมาใส่ตน เข้ามาเผาตน ตนเผาตน ก็แม่นใจเผาใจ
แล้วก็แล้วกันไป อดีตล่วงไปแล้ว มันล่วงมาแล้ว
อย่าไปเอามาเป็นอารมณ์ให้ใจเศร้าหมองทำไม อนาคตยังมาไม่ถึง อย่าไปคิดมัน
ให้มันมาเจอก่อนจึงคิด ให้พิจารณาปัจจุบัน
พิจารณาให้เห็นว่ามันไม่พ้นความตายแล้ว รีบทำบำเพ็ญภาวนา ให้ศีล ให้สมาธิ
ให้ปัญญาเกิดขึ้น ความชั่วที่เก็บมาให้มันเผาจิต ต้องเปิดออกปัดออก
เอาแต่ความดีเข้ามาสู่ดวงจิตดวงใจของตน ให้ใจเบิกบานใจร่าเริง
ให้ใจกว้างอย่าให้ใจแคบ

๔๒. กรรมจำแนกสัตว์ให้ดีชั่วต่างๆ กัน มันเป็นเพราะกรรม
พระพุทะเจ้าท่านไม่พยากรณ์ว่าตายแล้วสูญหรือตายแล้วเกิดอีก
พระพุทธเจ้าท่านไม่พยากรณ์ว่าสัตว์นี้มันจะเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก
ถ้ามันยังทำกรรมอยู่ก็ต้องได้รับผลกรรมทั้งกรรมดีกรรมชั่ว
มันต้องได้รับผลตอบแทน ครั้นทำแล้วจะไม่ได้รับผลตอบแทนนั้นไม่มี คิดดู
เหมือนเขามายืมปัจจัยของเราไปยืมแล้วเขาก็ต้องตอบแทน
ครั้นไม่ตอบแทนก็ต้องเป็นถ้อยเป็นความกัน ทำแต่ความเดือดร้อน
เขาจะต้องตอบแทนทุกสิ่งทุกอย่าง คิดดูเหมือนพวกเราเหมือนกัน
ทำกรรมกันอยู่ผู้นั้นก็ต้องตอบแทนเรา ทำดีผลดีก็ตอบแทน
ทำชั่วผลร้ายก็ตอบแทนเราให้ได้รับความลำบาก มันตอบแทนกันอยู่อย่างนั้น
เพราะเหตุนั้นพวกเราควรทำให้เป็นกุศล ควรรักษาศีลให้สมบูรณ์
ศีลสมบูรณ์แล้วเราก็ทำสมาธิต่อไป มันจะมีความสงบสงัด มันจะรวม
มันขัดข้องก็ที่อาการของศีลของเราอย่างใดอย่างหนึ่ง
มันผิดพลาดมันขัดข้องมันจึงไม่รวม ที่เขาปลูกบ้านปลูกช่อง
เขาก็ต้องปราบที่เสียก่อนจึงปลูกลงไป
อันนี้ฉันใดก็ดีถ้าพวกเรารักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้วเหมือนปราบพื้นที่
จิตมันจึงไม่มีความเดือดร้อน จิตมันจะรวมอยู่เพราะมันเย็นมันราบรื่นดี
มันเรียบไม่มีลุ่มดอน


คัดลอกจาก คุณ new ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=352

ที่มา http://board.palungjit.com/f4/อนาลโยวาทะ-หลวงปู่ขาว-อนาลโย-211143.html

โดยคุณ jinny95

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น