ถ้า "วินทร์ เลียววาริณ"
คือนักเขียนในดวงใจของนักศึกษาในยุคก่อนย้อนไป 10 ปี
เชื่อว่านักอ่านวัยรุ่นนักศึกษาวันนี้ต้องมี "นิ้วกลม"
เป็นไอดอลในการเขียนหนังสือเช่นกัน ซึ่งผลงานแนวทดลองของ "นิ้วกลม" หรือ
"พี่เอ๋ - สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์" กระตุกไอเดีย
กระตุ้นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนไม่น้อย
นักเขียนหนุ่มเคยบอกว่าในชีวิตคนที่มีความอยาก
ไม่ว่าจะอยากเดินทาง อยากทำหนังสั้น อยากไปญี่ปุ่น ฯลฯนั้น
แท้จริงแล้วเราไม่ควร "อยาก" แต่เราควร "ทำ" ถ้าอยากเป็นเชฟควรทำอาหาร
ถ้าอยากเป็นผู้กำกับควรเริ่มทำหนัง หรือถ้าอยากเป็นนักเขียน
ก็ควรเขียนหนังสือ
ครั้งนี้ "Life on Campus" จึงชวนนักเขียนขวัญใจวัยรุ่น กระดิกหัว
ตัว และนิ้ว เพื่อบิ๊วอารมณ์ให้นักศึกษาผู้ใฝ่ผันอยากเป็นเขียนหนังสือ
หรือคนที่เริ่มขีดเขียนให้มีไฟขึ้นบ้าง ไม่แน่สิ่งที่ปรากฏต่อไปนี้
อาจจะช่วยให้คุณปิ๊งอะไรบ้างก็ได้...
นักเขียนอย่าง นิ้วกลม ได้แรงบันดาลใจมากมายมาจากไหน?
ครั้งหนึ่งพี่เอ๋เคยอธิบายที่มาของชื่อ "นิ้วกลม" ไว้ในนิตยสาร a
day ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์อยู่ว่า
เพราะหน้าตาของนิ้วเท้าทั้งสิบที่ซ่อนตัวอย่างมิดชิดในรองเท้า
หน้าตาอัปลักษณ์ ปลายกลมมน เล็บสั้น ค่อนไปทางนิ้วตุ๊กแกมากกว่านิ้วคน
ใครเห็นเป็นต้องหัวเราะเยาะ ล้อเลียน จนรู้สึกเป็นปมด้อย
ด้วยความสงสารนิ้วเหล่านั้นเขาจึงพลิกปมด้อยให้เด่นขึ้น
เชิดชูนิ้วปลายมนกลมให้เป็นนามปากกาไปเสีย
เขาบอกด้วยตัวหนังสืออารมณ์ดีว่าจริงๆ มันไม่ควรเรียกว่า "นามปากกา"
แต่น่าจะเรียกว่า "นามนิ้ว" มากกว่า เรียกว่าประสบการณ์สร้างแรงบันดาลใจ
และมุมมองคือจุดกำเนิดความคิดสร้างสรรค์
"ผมเริ่มอ่านหนังสือตอน ที่โตแล้ว เริ่มเรียนมหา'ลัย
อ่านจากหนังสือที่รายละเอียดน้อยๆ ก่อนอย่างวรรณกรรมเยาวชน
เรื่องจินตนาการไม่รู้จบ
เป็นหนังสือที่ผมอ่านแล้วแทบจะไม่นอนเพราะวางไม่ลง
ทีนี้ก็ชอบแล้วก็อ่านอีก อ่านทุกประเภทอย่างบ้าคลั่ง ตอนนั้นพี่วินทร์
เลียววาริณ คือนักเขียนที่ผมตามอ่านงานตลอด
ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคลังไอเดียของผม พออ่านมากเข้าเราก็อยากเขียน
ดูทีวีน้อยลง และคิดว่าเราสื่อสารได้ในอีกแบบหนึ่ง
คือสื่อสารผ่านความเงียบและตัวหนังสือ ตอนนั้นคิดอะไรได้ก็เขียนเก็บไว้
ทำหนังสือทำมือด้วย กระทั่งได้ทำงานกับอะเดย์"
ไม่เพียงแต่นักอ่านเท่านั้นที่บอกว่าได้แรงบันดาลใจจากงานของพี่เอ๋
แม้แต่นักเขียนด้วยกันเองหลายคนบอกว่าได้รับกำลังใจไปหลายกระบุง
จากคอลัมน์ประจำที่เขารับผิดชอบในหนังสือเล่มต่างๆ
หรือจากหนังสือเล่มที่ความเฟี้ยวปรากฏออกมาอย่างโดดเด่นผ่านหน้าปกและวลี
สั้นๆ แม้จะมีบ้างที่พูดว่า บางคอลัมน์ต้องสูดยาดมไปอ่านไป
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราพลาดมันไม่ได้แม้บรรทัดเดียว
เหตุผลข้างต้นคงพอจะเข้าใจอะไรได้เล็กน้อยว่า แรงบันดาลใจของนิ้วกลม
เกิดได้จากทุกสิ่งรอบตัว ขึ้นอยู่ที่ว่าจะมองสิ่งเหล่านั้นอย่างไร
ถ้าเราตีความว่าการเขียนเป็นการสื่อสาร
เราจะเรียนรู้การสื่อสารจากทางอื่นด้วยต้องลองพลิกแพลง เช่น
บางคนอาจใช้บทภาพยนตร์มาเขียนนิยาย หรือศึกษาจากตลกค่าเฟ่
เป็นการหยิบยืมรูปแบบการสื่อสารประเภทอื่นมาใช้ในงานเขียน
ตามหาแนวของตัวเองอย่างไร และคิดว่าคนเราจะหาแนวของตัวเองได้อย่างไร?
ถ้า ถามชอบเขียนงานแนวไหน? นิ้วกลมส่ายปลายนิ้วไปมาและบอกว่า
ตอบไม่ได้เหมือนกัน รู้แต่ว่าชอบเขียนอะไรสนุกๆ
ชอบเขียนอะไรที่ตัวเองรู้สึกว่าสนุกก่อน แต่ถ้ามีน้องๆ
มาถามว่าเราจะค้นหาความชอบได้อย่างไร คำตอบสั้นๆ คือ
"ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง" เพราะ
"ตัวตนที่เป็นจริงที่สุดของคนเขียนจะปรากฏขึ้นบนหน้ากระดาษที่ไม่มีผู้อ่าน"
เริ่มต้นง่ายๆ ที่ไดอารี่ เพราะเมื่อเขียนในสิ่งที่คิดว่าไม่มีคนอ่าน
ข้อความเหล่านั้นจะเป็นตัวเรามากที่สุดเป็นสิ่งที่ซื่อสัตย์ที่สุด
"เรา จะหยาบโลน เศร้ามากแค่ไหนก็ได้ เป็นคนโหด รุนแรง หรือฮา
ก็ปล่อยมันออกมา
ผมว่าบางครั้งสิ่งที่เราเขียนอาจกลายเป็นวัตถุดิบในงานได้อีก
ถ้าไม่โกหกตัวเองจะรู้ว่าชอบอะไร แค่นั่งลงและเขียนอะไรที่อยากเขียน
นั่นก็เป็นความชอบแล้ว แต่ปัญหาคือค้นหาตัวเองไม่เจอ
นั่นเพราะหาไม่ถูกจุด สมมติว่า เราชอบกินข้าวหมูแดง
แต่มองไปที่ร้านผัดไทเพราะเห็นว่าขายดีมากก็ตัดสินใจว่าจะขายผัดไท ทั้งๆ
ที่ชอบข้าวหมูแดง ฉะนั้นถ้ายืนยันในความชอบของตัวเองก็ทำข้าวหมูแดงก่อน
ถ้าเบื่อแบบนี้แล้วไปทำผัดไทดูก็ได้" พี่เอ๋ เปรียบเทียบ
อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ยังไม่มีความชอบเป็นของตัวเองก็เหมือนคนที่
ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบกินอะไรก็ต้องลองชิมให้หมด ก๋วยเตี๋ยว ผัดไท
ข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ ฯลฯ กินให้เยอะๆ
แล้วสุดท้ายก็จะรู้ว่าในบรรดาทั้งหมดนี้ สิ่งใดที่สนใจเป็นพิเศษ
แล้วก็ตั้งเป้าไปที่สิ่งนั้น ชิมมันบ่อยๆ แล้วก็จะเริ่มปรุงมันอร่อยขึ้น
นิ้วกลมเคยเจอทางตันบ้างไหมในงานเขียน?
หลายคนอาจจะมีวันที่ครีเอทีฟตีบตัน
แต่สำหรับคนที่ผ่านทั้งงานก๊อปปี้ไรท์เตอร์
คลุกอยู่ในวงการสถาปนิกและโฆษณา ยิ้มมุมปากอย่างภาคภูมิ(เล็กน้อย)
พร้อมบอกว่า "บ่เคย" ผลจากการเก็บออมไอเดีย
ทำให้นิ้วกลมมีคลังความคิดสร้างสรรค์มากพอจะเก็บสิ่งละอันพันละน้อยไว้เพื่อ
เป็นวัตถุดิบในงานแต่ชิ้นได้
อีกทั้งหนังสือที่อยู่รอบตัวคือแรงบันดาลใจชั้นดี
ซึ่งถ้าหากเรามองให้เป็น และการเติมข้อมูลเรื่อยๆ จะทำให้เราไม่มีวันตัน
"ใช้ ไอเดียก็เหมือนกับเวลาใช้เงิน ถ้าเราไม่ระวัง
วันหนึ่งตังค์หมด เราก็จะกลุ้มใจไม่มีอะไรกินข้าว ไอเดียก็เหมือนกัน
ต้องมีการออม ถ้าเรามีสมุดออมทรัพย์แล้วเราก็น่าจะมีสมุดออมไอเดีย
ผมจะแบ่งสมุดเป็นหน้า หรือเป็นเล่ม แบ่งไว้เลยว่า
จะเขียนอะไรในเล่มไหนบ้าง คิดอะไรได้จด เพราะเมื่อถึงเวลานึกไม่ออก
เราก็สามารถเอาสิ่งที่ออมไว้มาเป็นวัตถุดิบในงานเขียนได้" นิ้วกลม อธิบาย
เมื่อไม่เคยตัน แล้วคนอย่างนิ้วกลม
มีบางเวลาที่พลังในตัวห่อเหี่ยวไหม? และจัดการกับอารมณ์ตัวเองยังไง?
"เคย มีคนอ่านงานผมและบอกว่าผมให้แรงบันดาลใจเขา
อ่านงานผมแล้วรู้สึกมีพลัง แต่มีบางเวลาที่เราดรอปนะ รู้สึกไม่ไหวแล้ว
ผู้ชายเวลาห่อเหี่ยวจะต่างจากผู้หญิง
คือถ้าเศร้าจะตรงไปหาเพื่อนและพูดระบาย แล้วก็รู้สึกดีขึ้น
แต่ผู้ชายไม่เหมือนกัน นิ้วกลมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ที่จะเก็บตัวอยู่ในห้อง
อย่างมากก็ดื่มแต่จะไม่ฟูมฟาย
สิ่งหนึ่งที่ทำให้นิ้วกลมทุเลาความหายหดหู่ได้ บ่อยครั้งคือการเขียน
เป็นการระบายความอัดอั้น
และบางทีคนที่ให้กำลังคนอื่นตลอดก็ต้องการกำลังใจเหมือนกัน
อย่างน้อยเราก็ได้รับจากคนรอบข้าง" พี่เอ๋ สรุป
ฝากอะไรถึงน้องๆ นักศึกษา หรือคนที่คิดอยากเขียนหนังสือ?
"เรา อาจจะตั้งเป้าหมายว่าอยากเขียนงานให้คนอายุ 20-30 ชอบ
หรืออ่านงานพี่ๆ มาแล้วชอบอยากเขียนให้ได้อย่างนั้น บอกได้เลยว่าอาจจะยาก
แต่เราควรสะท้อนสิ่งที่เราเป็นได้ดีที่สุด มั่นใจได้เลยว่า ถ้าเราชอบ
งานนั้นมีคุณค่าแล้ว
แล้วก็อยากจะบอกว่าสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักเขียนมีลู่ทางและแรงบันดาลใจใน
การเขียนหนังสือ แล้วจะพบว่ามันเป็นงานที่มีคุณค่าและศิลปะมาก
สำหรับคนอยากเขียนหรือกำลังจะเขียนอะไรก็ตาม อย่าเขียนงานให้คนอื่นชอบ
ต้องเขียนงานที่ตัวเองชอบก่อน"
การทำให้ คนอื่นชื่นชอบงานของเรามันยาก แต่หากไม่โกหกตัวเอง
และให้คุณค่าในงาน สิ่งนั้นจะเป็นบทบันทึกช่วงวัยของเราได้ดี อย่าคิดเยอะ
เพราะหากมัวแต่คิดก็ติดอุปสรรคจนอาจไม่ได้ทำ ลงมือทำอย่างไม่คาดหวัง
ความคิดสร้างสรรค์ก็จะค่อยๆ มา
เมื่อว่าจบ นิ้วกลมทั้งห้า ก็โบกมือลา...
http://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9520000121034
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น