สัปดาห์นี้มีคำตัดสินคดีสำคัญของบ้านของเมืองทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ โดยเรื่องของคำพิพากษานั้น
เมื่อออกมาแล้วจะถูกใจไม่ถูกใจสังคม ไม่ใช่ประการสำคัญ
หากแต่สิ่งสำคัญคือเราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแสดงความเคารพในคำตัดสินของศาล
เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าต่อไป ในการเป็นหลักให้กับบ้านเมืองได้
ส่วนสิ่งที่สังคมจะได้จากคำพิพากษาไปในขณะเดียวกัน ก็คือ
บรรทัดฐานในการยึดปฏิบัติว่า
สิ่งใดเป็นการกระทำความผิดอันขัดต่อหลักกฎหมาย
และควรจะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นมาอีกประการที่สองก็คือสังคมจะได้พบ
ช่องโหว่ของกฎหมายที่จะอันไปสู่กระบวนการปรับปรุงข้อกฎหมายให้มีประสิทธิภาพ
เพียงพอที่จะเป็นกรอบให้กับสังคม
ปิดทางไม่ให้คนชั่วเข้ามาใช้ช่องโหว่นั้นๆ
ในการหากินกับบ้านกับเมืองได้อีกต่อไป
ประเด็นหลังนี้ ผู้เขียนต้องขอบคุณ อาจารย์สัก กอแสงเรียง
อดีตโฆษก คตส. ที่ท่านได้ให้ปัญญากับผู้เขียน
ระหว่างการให้สัมภาษณ์ผ่านรายงานนิวส์อาวน์ ทางช่อง ASTV
เมื่อครั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ท่านมีคำพิพากษาคดีกล้ายางพารา
โดยผู้เขียนมีคำถามที่เกิดขึ้นวนเวียนในใจไม่ต่างจากประชาชนทั่วไป
ว่า เราจะเอาผิดนักการเมืองขี้ฉ้อที่ร่วมกันผลักดันนโยบายที่ผิดกฎหมายผ่านการ
ออกเป็นมติคณะรัฐบาลได้อย่างไรโดยที่จะไม่ให้นักการเมืองขี้ฉ้อเหล่านั้น
เอาข้อแก้ตัวเรื่องความไม่รู้ ไม่แน่ใจในข้อกฎหมาย
ความเร่งรีบในการพิจารณา การนำเรื่องเข้า ครม.ในวาระจร เพื่อจะอ้างว่า
คณะรัฐมนตรีมีเวลาพิจารณาข้อมูลน้อย
อันนำไปสู่การยินยอมยกมืออนุมัติโครงการใดโครงการหนึ่งไปแบบส่งๆ
เพราะอาจจะมั่นใจว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว
ผู้ยกมือก็ไม่ต้องตกเป็นผู้รับผิดชอบต่อการอนุมัติโครงการนั้น
แม้โครงการดังกล่าวจะไปสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในภายหลัง
ตัวอย่าง คดีความที่ออกมาในช่วงนี้
อันส่งผลให้คณะรัฐมนตรีที่ร่วมออกมติ ครม. แม้ว่าท้ายที่สุด
มตินั้นจะถูกตัดสินว่าขัดกฎหมาย แต่ผู้อนุมัติทั้งหมดกลับไม่ต้องรับผิด
เนื่องจากศาลฟังพยานหลักฐานได้ว่า การลงมติดังกล่าวเป็นมติในวาระจร
มีเวลาพิจารณาจำกัด
และครม.กระทำตามธรรมปฏิบัติในการอนุมัติหลักการโครงการนั้นๆ
โดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ข้อดีที่ชี้ให้สังคมได้เห็นว่า
ถึงเวลาที่เราจะต้องไปตั้งคำถามเอากับความรัดกุมในเนื้อหาของกฎหมายที่ใช้
อยู่ในวันนี้เสียทีว่า
มีเนื้อหาที่เท่าทันกับพฤติกรรมของนักการเมืองในปัจจุบันหรือไม่
และอาจจะต้องหาวิธีในการปรับแก้กฎหมายนั้นๆ
ให้รัดกุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก
เพราะหากกฎหมายในปัจจุบันยังขาดน้ำหนักที่จะเรียกหาความรับผิดชอบจากนักการ
เมือง ทั้งที่พวกเขาได้รับโอกาสให้เข้าไปเป็นตัวแทนประชาชน
เข้าไปบริหารบ้านเมือง
และตัดสินใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน บ้านเมือง
และทรัพยากรจำนวนมหาศาล
เสนาบดีเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบที่สูงตามอำนาจที่ได้รับในมือ
ด้วย อันจะเป็นการอุดช่องว่างไม่ให้ 'การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย'
กลับมาหลอกหลอนสังคมไทยได้ไม่รู้จบ
จึงอาจกล่าวได้ว่า การรอดพ้นคดีของ ครม.ผู้อนุมัติกล้ายางก็ดี
ผู้ร่วมออกนโยบายหวยบนดินก็ดี ในท้ายที่สุด
ปรากฏการณ์เหล่านี้จะได้ช่วยผลักดันให้สังคมมองหาช่องทางปฏิรูปกฎหมายให้
เท่าทันนักการเมืองมากขึ้น
ส่วนสาระสำคัญ อันสมควรที่จะหยิบมาชื่นชม
และชี้บรรทัดฐานของสังคมประการถัดไป คือ
ข้อวินิจฉัยของศาลท่านต่อกรณีคดีสลากพิเศษ เลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว
เรื่องที่ท่านให้น้ำหนักกับข้อทักท้วงของสังคมว่าจะเป็นหลักฐานชั้นดีที่ชี้
ให้ว่า จำเลยมีความตั้งใจจะละเมิดกฎหมายมากน้อยเพียงใด
กรณีของคดีหวยบนดินนั้น ศาลท่านยกข้อทักท้วงของ ส.ว.คำนวณ ชโลปถัมภ์
มาประกอบการวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า
นายคำนวณ ชโลปถัมภ์
ประธานคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา (ในขณะนั้น)
ได้ทำความเห็นท้วงติงในประเด็นข้อกฎหมาย
ซึ่งเห็นว่าต้องแก้ไขแนวทางการออกสลากไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมาย
หรือแก้ไขกฎหมายรองรับโครงการ แต่จำเลยที่ 31 (นายสมใจนึก เองตระกูล
ในฐานะปลัดกระทรวงคลังและประธานบอร์ดกองสลากในขณะนั้น) และจำเลยที่42
(นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีตผู้อำนวยการกองสลาก)
กลับไม่ดำเนินการให้ถูกต้องเสียก่อน แต่ยังฝืนเสนอให้มีการออกสลาก
และทำความตกลงกับธนาคารออมสินขอเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 20,000 ล้านบาท ทำ
ให้เห็นว่าจำเลยย่อมรู้อยู่แล้วว่าการออกสลากอาจมีปัญหา
และสุ่มเสี่ยงที่รัฐจะเสียหายในระบบการคลัง
จึงถือเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
หรือแม้แต่คำชี้มูล ของ ป.ป.ช.ในคดีที่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช
ออกมติครม.ให้ร่วมลงนามขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร
ตอนหนึ่งอ้างถึงหลักฐานที่ได้มีการทักท้วงรัฐบาลว่า
มติครม.ที่ออกมาจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เช่น หลักฐานจาก
- หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับที่ 4242 วันที่ 10 มิถุนายน 2551
หน้า 4 ได้ตีพิมพ์บทความพิเศษ เกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร
ของศาสตราจารย์ ดร.สมปอง สุจริตกุล มีข้อความตอนหนึ่งว่า
'ไทยจึงไม่สมควรเปลี่ยนท่าทีหรือยอมรับอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาท
พระวิหารซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบในระดับรัฐบาลและประชามติ'
- วันที่ 16 มิถุนายน 2551 นายประพันธ์ คูณมี
ปราศรัยที่เวทีกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อเวลา 22.00 น.
และมีการถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เอเอสทีวี ว่า
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาในการที่
จะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
แต่ไม่เคยเปิดเผยข้อเท็จจริงให้พี่น้องทราบเลยเราจะต้องใช้สิทธิของเราตาม
กฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ต่อไปนี้ถ้ารัฐบาลจะไปเซ็นสัญญาใดๆ
กับประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศใดๆ
ในโลกอันมีผลเป็นการกระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศแล้วคณะรัฐมนตรี
จะต้องนำข้อมูลนั้นมาให้ประชาชนทราบ
และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้
- หรือแม้แต่การส่งหนังสือเตือนจากกองเขตแดน
กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ที่มีบันทึกลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 เสนอ
สืบเนื่องจาก บันทึกสำนักงานรัฐมนตรี วันที่ 15 พฤษภาคม 2551 สรุปว่า
ไม่ว่าจะขึ้นทะเบียนแบบเดิมหรือขึ้นเฉพาะตัวปราสาท การออกมาตรการ
รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งใน 2 กรณี
ล้วนต้องดำเนินการในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิด้วยทั้งสิ้น
หากไทยยอมรับข้อเสนอก็ถือว่าไทยเปลี่ยนท่าทีไปจากเดิม
เพราะฝ่ายไทยยืนยันโดยเข้มแข็งมาโดยตลอดว่าไทยกับกัมพูชาต้องตกลงเรื่องการ
บริหารจัดการร่วมให้ได้ก่อนขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
นอกจากนั้น
หากไทยยอมรับแนวทางดังกล่าวก็อาจมีผลกระทบต่อท่าทีและน้ำหนักข้อต่อรองในการ
เจรจาของฝ่ายไทยเรื่องเขตแดนและการบริหารจัดการร่วมในบริเวณพื้นที่ทับซ้อน
ในอนาคตเป็นอย่างมาก และนายนพดล ปัทมะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บันทึกรับทราบเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม
2551
ซึ่งรายการหลัง นายนพดล
จะอ้างว่าเป็นหลักฐานจากฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับพรรคเพื่อไทย
และรัฐบาลในเวลานั้นก็ไม่เห็นจะถูกต้องนัก
เพราะเป็นข้อทักท้วงที่ได้จากหน่วยงานของกระทรวงการต่างประเทศที่ขึ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
คือ นายนพดล อยู่ในเวลานั้นด้วย ฉะนั้น เมื่อมองในแง่นี้
การชี้มูลที่นำข้อทักท้วงจากสาธารณชนมาประกอบการวินิจฉัยของศาล
และป.ป.ช.ทั้งสองกรณีนี้
น่าจะพอเรียกสตินักการเมืองที่บ้าอำนาจให้หันมาฟังเสียงสังคม
และคนรอบข้างได้บ้าง ในอนาคต
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9520000115638
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น