++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เวทีนโยบาย:เยาวชน: พลังป้องกันอุบัติเหตุที่ยั่งยืน

โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 28 กันยายน 2552 15:01 น.
แนวทางสร้างความยั่งยืนในการป้องกันอุบัติเหตุจราจรนอกจากต้องการคำมั่น
สัญญาทางการเมืองของผู้กุมอำนาจรัฐในการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ
และชุมชนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระดับพื้นที่แล้ว
ยังขาดเสียซึ่งพลังเยาวชนในการสานสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ถาวรมั่นคงไม่ได้

เนื่องด้วยเยาวชนเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างอุบัติเหตุ
เพราะทั่วทุกมุมโลกรวมถึงประเทศไทยมีเยาวชนเป็นกลุ่มผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
จากอุบัติเหตุทางท้องถนนสูงสุด
ดังนั้นการดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันอุบัติเหตุที่พวกเขาเป็นต้นเหตุ
ก่อและตกเป็นเหยื่อจึงสำคัญยิ่งยวด

ภายใต้โครงสร้างสังคมไทยในปี 2551
ที่มีสัดส่วนประชากรเด็กและเยาวชนประมาณ 24.7
ล้านคนตามการประเมินของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น
ถ้าสามารถดึงเยาวชนช่วงวัย 18-24 ปีที่มีราวร้อยละ 29.7
มาเป็นหุ้นส่วนสำคัญ (Key Partner) ในการป้องกันอุบัติเหตุได้
สถิติสูญเสียชีวิตบาดเจ็บนับหมื่นรายแสนราย
และเสียหายทางเศรษฐกิจปีละหลายแสนล้านบาทก็จะลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ
แม้นไม่ถึงขั้นหมดไป
แต่ก็เรียวแคบเข้าใกล้ศูนย์ที่เป็นความฝันสูงสุดร่วมกันของสังคมได้

ไม่ใช่เพราะเยาวชนเป็นกลุ่มหลักที่ทั้งก่ออุบัติเหตุและตกเป็นเหยื่อ
ในเวลาเดียวกัน หากช่วงวัยเปลี่ยนผ่านจากเยาวชนไปสู่ผู้ใหญ่เช่นนี้มีพลังรังสรรค์สังคมใหญ่
หลวงในทุกมิติ อีกทั้งเจตจำนงก็แรงกล้า ทุ่มเทเสียสละ
ศรัทธาในอุดมการณ์หนักแน่น
จนสามารถรื้อถอนโครงสร้างสังคมที่ฝังรากลึกได้ถ้าร่วมพลังกันจำนวนมากเพียง
พอขนาดก่อเกิดมวลวิกฤต (Critical Mass)
ซึ่งทั้งสังคมทุกช่วงวัยที่เหลือจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางเดียวกันกับ
กลุ่มเยาวชนผู้นำความเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุด

ถึงแม้นว่าในทางปฏิบัติเยาวชนจะขาดทักษะการบริหารจัดการเพื่อความ
ยั่งยืนก็ตามที ทว่าถ้าได้ประสบการณ์ของผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ระดับชาติ
และระดับโลก ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม
จนถึงสถาบันศาสนาและสื่อมวลชนที่ถักทอเป็น
'พลังเครือข่ายเพื่อถนนปลอดภัย' ประคับประคอง
แต่ละก้าวย่างของเยาวชนก็จะมั่นคงไม่หลงทิศผิดทาง

กระทั่งในภาพรวมอุบัติเหตุท้องถนนที่เป็นปัจจัยคุกคามคุณภาพชีวิตคน
ไทยและเป็นความกังวลหวาดกลัวของสังคมไทยเหนือกว่าอาชญากรรมและไข้หวัด
2009 นี้จะค่อยๆ มลายไป พร้อมๆ
กับการลดลงอย่างต่อเนื่องของตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลร้อยละ
2.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)
และความสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ของประเทศชาติอันประเมินค่ามิได้

นัย นี้ภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิตเยาวชนจึงผสานเป็นเนื้อเดียวกับสภาวะสังคมไทย
ที่ล่อแหลมจากวิกฤตอุบัติเหตุ
เพราะต่างต้องการกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อคลี่คลายแก้ไขไปพร้อมๆ กัน

เพราะหากปรารถนาให้เยาวชนมีพัฒนาการเต็มตามศักยภาพภายใต้สังคมที่มี
สวัสดิภาพความปลอดภัย
ลำพังความตั้งใจมุ่งหมายลดจำนวนอุบัติเหตุของภาครัฐคงไม่เพียงพอ
เพราะถึงที่สุดแล้วความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเปิดกว้างให้ทุกภาค
ส่วนเข้ามามีส่วนร่วม (Participation)
ในการแก้ไขวิกฤตที่เกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเขาเอง
นับแต่การให้ข้อมูลแก่ประชาชน รับฟังความคิดเห็นประชาชน
การมีส่วนร่วมกันแก้ปัญหา และพัฒนาข้อตกลงร่วมกัน
ดังข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากการร่วมคิดร่วมสร้างร่วมสะท้อนปัญหาในการ
สัมมนาอุบัติเหตุระดับชาติ เรื่องอุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ 9
โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเยาวชนผู้เป็นพลังยั่งยืนในการป้องกันอุบัติเหตุ

อันกอปรด้วยการร่วมกันผลักดันหลักสูตรความปลอดภัยทางถนนที่มีผู้
เรียนเป็นศูนย์กลางอันสามารถนำไปประยุกต์ใช้และจัดการเรียนการสอนในสถาน
ศึกษาของภาครัฐ เอกชน และที่กำกับดูแลโดยท้องถิ่น
ส่งเสริมการเรียนรู้ขับขี่ปลอดภัยในกลุ่มเยาวชนที่ใช้รถจักรยานยนต์
พัฒนากระบวนการคุณภาพการออกใบอนุญาตขับขี่ของกลุ่มเยาวชน
ตลอดจนผลักดันมาตรฐานการผลิตและใช้รถจักรยานยนต์ที่ปลอดภัย เช่น
บังคับสวมหมวกนิรภัย ลดความเร็ว และกำหนดทางวิ่งที่ปลอดภัย

ไม่ใช่แค่ปลูกจิตสำนึกและให้ความรู้ที่นำไปปฏิบัติได้จริงแก่เยาวชน
แต่ข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ยังกระตุกชุมชนและรัฐบาลให้เข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย
โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
การแก้ไขจุดเสี่ยง/จุดอันตราย (Black Spot) ในชุมชน
การจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันแก้ไขอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาระบบวิศวกรรมจราจรที่สร้างความปลอดภัยแก่ผู้ขับขี่
และที่สำคัญขับเคลื่อนมาตรการทางกฎหมายด้านการมีส่วนรับผิดชอบและการลงโทษ
ผู้ให้บริการที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อเกิดความเสียหายจากเมาแล้ว
ขับ

เนื่องจากสุราเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่ทำเยาวชนบาดเจ็บล้มตายหลายพัน
หลายหมื่นรายภายใต้พฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ นานา นับแต่การผิดกฎจราจรเบาๆ
อย่างการไม่สวมหมวกนิรภัย การซ้อนสาม การขับขี่ย้อนศร
การขับขี่ข้ามช่องทาง การขับขี่เร็วแรง
จนถึงนักหนารุนแรงเข้าข่ายอาชญากรรม อาทิ
การรวมกลุ่มก้อนกันขับขี่ของเด็กแว้น-สกอยส์
กระทั่งถึงขว้างปาหินใส่รถสวนทางทั้งเพื่อชิงทรัพย์ สะใจ ระบายอารมณ์
และอื่นๆ ที่คาดคำนวณไม่ถึงถ้าใช้กรอบจริยธรรมทางสังคมไปวิเคราะห์

ถึงกระนั้น
ในพฤติกรรมเบี่ยงเบนครรลองคลองธรรมของเยาวชนไทยที่มีอยู่ไม่น้อยนี้
ก็ยังมีจุดร่วมสำคัญหนึ่ง
คือเป็นอัตลักษณ์ตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นจากแรงกดดันบีบคั้นของครอบครัว
ชุมชน สังคม ที่ห่างเหินแหว่งวิ่นขาดความอบอุ่นจนกระชากเยาวชนหลุดเข้าสู่โลกมืดอาชญากร
กอปรกับได้ครอบครองรถจักรยานยนต์เพื่อขับขี่ไปโรงเรียนตั้งแต่อายุยังไม่ถึง
เกณฑ์ทำใบอนุญาต
อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากระบบขนส่งมวลชนและรถรับส่งนักเรียนขาดมาตรฐาน
ปริมาณ และความปลอดภัย

ภาย ใต้โครงสร้างสังคมที่สั่งสมความบิดเบี้ยวมานาน รถจักรยานยนต์
'พาหนะ' ขับขี่ไปเรียนหนังสือของเยาวชนจึงกลับกลายเป็น 'พาหะ'
นำอันตรายร้ายแรงมาสู่ชีวิตตนเองและผู้อื่นที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันกับพวกเขา
ด้วยคิดว่าการขับขี่เร็ว แรง คือหนทางสร้างอัตลักษณ์และการยอมรับนับถือ

ฉะนั้น ในการบำบัดพฤติกรรมเบี่ยงเบนของเยาวชนเหล่านี้จึงต้องกระทำเชิงลึกระดับโครง
สร้างและวัฒนธรรมไทยควบคู่ไปด้วย
ไม่ใช่มุ่งเป้าไปที่ความรุนแรงทางกายภาพที่เกิดจากเยาวชนเพียงถ่ายเดียว
ด้วยการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของเยาวชนที่ถูกสังคมติดฉลากเลวร้ายเหล่านี้ไม่
ได้อยู่ดีๆ ผุดโผล่จากผืนแผ่นดินหรือร่วงหล่นจากฟากฟ้า
หากทว่ามีรากฐานครอบครัว ชุมชน สังคม
ที่ร้าวรานรองรับและผลักดันจนพฤติกรรมพวกเขาขัดกับคุณสมบัติเยาวชนที่พึง
ประสงค์ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ จริยธรรม
คุณธรรม และพฤติกรรมความรับผิดชอบตามวัย

เมื่อเวียนมาถึงวันเยาวชนแห่งชาติที่มีขึ้นทุกวันที่ 20
กันยายนของทุกปี
ที่สืบเนื่องจากการประกาศปีเยาวชนสากลขององค์การสหประชาชาติ
จึงน่าจะเป็นจังหวะดีในการร่วมกันสรรสร้างเยาวชนที่สังคมพึงประสงค์
โดยเฉพาะการเคารพกฎจราจรและสิทธิในชีวิตผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่น

ยิ่งบวกแรงกระตุ้นภาคการเมืองที่กำหนดให้อุบัติเหตุเป็นวาระแห่งชาติ
การมีชุมชนต้นแบบนำร่องความสำเร็จ และแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.
2552-2555 ที่วางรากฐานอยู่บน 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้ง 1)
การปรับนโยบายให้เป็นนโยบายเร่งด่วนระดับชาติ (Urgent National Agenda)
2) การสร้างเสถียรภาพในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน 3) การทำแผนนิติบัญญัติ
4) การป้องกันแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนในส่วนกลาง 5)
การป้องกันแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนในภูมิภาคและท้องถิ่น และ 6) วิจัย
พัฒนา และติดตามประเมินผลด้านความปลอดภัยทางถนน
ความน่าจะเป็นในการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นได้แม้ในเยาวชนที่ถูกประทับตรา
ว่าเป็นชนชายขอบเลวร้าย

ภาย ใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของเยาวชน
วิกฤตและวาระแห่งชาติด้านอุบัติเหตุที่เรียกร้องการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้
มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนจักคลี่คลายลดทอนความรุนแรงลงได้
ด้วยช่วงวัยหนุ่มสาว 15-25 ปีนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์
ขอเพียงเปิดกว้างให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมและลงมือทำเท่านั้นก็เพียงพอที่
จะป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างยั่งยืน

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น