++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2550

ภูมิปัญญาเกษตรผสมผสานสู่วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง : นายเหรียญ เจียมทอง

พื้นที่การเกษตรในจังหวัดบุรีรัมย์ ดินส่วนใหญ่เป็นดินทราย มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ต่ำ มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ บริเวณที่ลาดชันมีการกัดเซาะและกัดกร่อนสูง ค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 4.4-5.5 ในฤดูฝน ส่วนใหญ่เกษตรกรใช้พื้นที่ในการปลูกข้าว ซึ่งให้ผลผลิตต่ำ ส่วนที่เหลือถูกทิ้งให้เป็นแปลงป่าละเมาะ หรือป่าปลูกหรือบางแห่งมีการปลูกไม้ยืนต้นให้เห็นอยู่ทั่วไป

ปัญหาความจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำและคุณสมบัติของดิน ทำให้ นายเหรียญ เจียมทอง สมัครเข้าเป็นหมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน และได้นำพื้นที่ของตนเองเข้าร่วมในโครงการปรับปรุงบำรุงดินของสถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์

โดยการริเริ่มการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการทำปุ๋ยหมักใช้เอง การปลูกปุ๋ยพืชสด เช่น ถั่วพุ่มดำและถั่วเขียวไถกลบก่อนลงมือปลูกงาดำขายเป็นรายได้เสริมนอกเหนือไปจากการทำไร่มันสำปะหลัง ไร่ปอ และไร่อ้อย ซึ่งยิ่งทำการเกษตรมายาวนานวันเท่าไร ก็สังเกตเห็นว่าดินที่ผ่านการปลูกพืชในบริเวณนั้น หน้าดินเป็นดินแข็ง แน่นทึบ ไม่อุ้มน้ำ



ในปี 2546 จึงได้เริ่มปลูกแฝกตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินบุรีรัมย์ ซึ่งได้แนะนำเกี่ยวกับหญ้าแฝกมีระบบรากที่ลึก ทนต่อความแห้งแล้งได้ดีและสามารถหยั่งรากลึกทะลุชั้นดินแข็งไปได้ทั้งจะช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุยดีขึ้นได้ ซึ่งปรากฏว่าในปี 2547 มีฝนทิ้งช่วงที่ยาวนานเกือบ 6 เดือน และหญ้าแฝกที่ปลูกไว้ไม่เจริญเติบโตและตายไปบางส่วน หากแต่บริเวณโคนกอหญ้าแฝกที่รอดชีวิต กลับพบว่าดินร่วนและชุ่มชื้นมากกว่าเมื่อเทียบกับบริเวณที่ไม่มีหญ้าแฝกปกคลุม

บนพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ ปัจจุบันได้หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน คือ นาข้าวหอมมะลิ 16ไ ร่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา และปลูกผักสวนครัวและไม้ผลบนขอบบ่อขนาด 2 ไร่ ปลูกปอเทือง 10 ไร่ และปลูกงาดำ 10 ไร่

ลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีโดยการผลิตปุ๋ยหมักจากสารเร่ง พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน ผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากสารเร่ง พด.2 ปลูกพืชปุ๋ยสด ปรับปรุงบำรุงดิน เช่น ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ตลอดจนใช้หญ้าแฝกเป็นพืชนำร่องในการฟื้นฟูดิน ที่ผ่านการปลูกอ้อยมาอย่างยาวนานจำนวน 22 ไร่




จากการศึกษาทดลองจนเห็นว่า ดินได้รับการฟื้นฟูตามแนวทางที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่บุคคลทั่วไปและได้เผยแพร่ความรู้แก่ชุมชน ประยุกต์ใช้ความรู้จนเป็นผู้นำอาชีพด้านการเกษตรและใช้พื้นที่ของตัวเอง ในการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชนในปัจจุบันอีกด้วย โดยได้จัดตั้งกองทุนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยหมักชีวภาพขนาดกำลังผลิต 300 ตันต่อปี และปุ๋นอินทรีย์น้ำ ขนาดกำลังผลิต 33,000 ลิตรต่อปีพร้อมทั้งสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ดินประจำอำเภอ จำนวน 12 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ทุกตำบลฝยอำเภอคูเมือง จ.บุรีรัมย์ มีสามชิกรวม 600 ราย




นายเหรียญ เจียมทอง
หมอดินอาสาดีเด่นชนะเลิศ กรมพัฒนาที่ดิน ปี 2548
24 หมู่ 2 ตำบลคูเมือง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์

ที่มา ; ภูมิปัญญาเกษตรอินทรีย์ตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง โดย กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กันยายน 2549

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น