++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2557

มีวิธีหนึ่งที่เงินสามารถให้ความสุขอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

พระไพศาล วิสาโล ได้กล่าวไว้ว่า

" มีวิธีหนึ่งที่เงินสามารถให้ความสุขอย่างรวดเร็วและยั่งยืน (อย่างน้อยก็นานกว่าการเที่ยวห้าง) นั่นคือ บริจาคเงินให้แก่คนจนหรือผู้ทุกข์ยาก"
นักวิทยาศาสตร์สังคม/นักจิตวิทยา ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเงินและความสุขมานานหลายทศวรรษ และมีข้อสรุปชัดเจนว่า เงินสามารถซื้อความสุขได้จริง แต่น้อยกว่าที่ผู้คนคาดหวัง ความสัมพันธ์ระหว่างเงินและความสุขนั้นมีค่าไปในทิศทางเดียวกันแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น

จริง ๆ แล้วเงินซื้อความสุขได้ แต่ความสุขอยู่ได้ไม่นานต่างหาก ไม่เช่นนั้นเราคงไม่เสียเงินซื้อของใหม่ๆ เข้าบ้านอยู่เรื่อย ๆ ทุกเดือน ๆ ที่ต้องเป็นเช่นนี้เพราะคนส่วนมากไม่ทราบความจริงทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความสุข อะไรนำมาซึ่งความสุข และอะไรรักษามันไว้ในคงอยู่

เงินเป็นโอกาสของความสุขแต่ก็มีหลายคนเสียโอกาสนั้นไปเพราะใช้เงินไม่ถูกทาง มาดู 3 เคล็ดลับของการใช้เงินเพื่อยืดอายุความสุขออกไปกัน...

? หลักข้อที่ 1 ใช้เงินซื้อประสบการณ์ แทนที่จะซื้อข้าวของ

นั่นหมายถึงการไปดูคอนเสิร์ต ไปเที่ยวสวนสนุก พักผ่อนตากอากาศ ให้มากขึ้น (โดยเฉพาะไปกับครอบครัวและเพื่อนที่รู้ใจ) แต่ลดการซื้อโทรศัพท์ เสื้อผ้า นาฬิกา กระเป๋าใหม่ ฯลฯ ให้น้อยลง

มีการสอบถามว่าอะไรทำให้ชาวอเมริกันมีความสุข 57% ของผู้ตอบบอกว่ามีความสุขมากกว่าจากประสบการณ์เมื่อเทียบกับการได้ของใหม่ ๆ

ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? หลักทางจิตวิทยาง่าย ๆ ที่ควรรู้

ประการแรก คือ ของที่เราได้มาทุกชนิด เราจะเกิดความเคยชินในเวลาไม่นานนัก

แต่สำหรับประสบการณ์ โอกาสจะเกิดความเคยชินได้ช้ากว่า ความสุขจากประสบการณ์จะค้างในใจเรานานกว่า ประสบการณ์มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ๆ จากการคิดถึงมัน เพราะมันสามารถให้ “ความหมายใหม่ ๆ" แก่เราได้ ต่างจากของในมือที่มีแต่จะเก่าลง ๆ

ประการที่สอง ประสบการณ์ยังมีภูมิคุ้มกันต่อการเปรียบเทียบมากกว่าสิ่งของ

เช่น เราอาจเปรียบเทียบโทรศัพท์ที่เรามีกับโทรศัพท์รุ่นใหม่ แต่เราคงไม่เปรียบเทียบฮันนีมูน หรือ การเดินทางไปพักผ่อนที่บาหลี หรือ การวิ่งมาราธอนครั้งแรกกับประสบการณ์อื่น ๆ เพราะแต่ละเหตุการณ์มีความจำเพาะของตัวเอง ยากต่อการเปรียบเทียบ ซึ่งเรารู้ดีกว่าการเปรียบเทียบมักนำมาซึ่งความไม่พึงพอใจเสมอ ๆ

ประการที่สาม เวลาที่เราซื้อของมาแล้วว่า เรามักจะสงสัยเสมอ ว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ถูกไหม ต่างจากประสบการณ์

นักวิจัยให้สอบถามคนจำนวน 142 คน ให้ลองนึกถึงการซื้อของหรือประสบการณ์ที่มีมูลค่าอย่างน้อย 50 เหรียญ คนที่คิดถึงการซื้อสิ่งของมักจะรู้สึกกังวลใจมากกว่าว่าที่ตัดสินใจซื้อไปถูกต้องไหมและมีความพึงพอใจน้อยกว่า คนที่ซื้อประสบการณ์

ประการที่สี่ ประสบการณ์ส่วนมาก มักเกี่ยวกับสังคม (คือมีคนอื่นร่วมด้วย) และโดยทั่วไปประสบการณ์ทางสังคมมักทำให้ผู้คนมีความสุข

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างประสบการณ์และสิ่งของอาจไม่เด่นชัด เช่น หากเราซื้อ CD มา และมีประสบการณ์การฟังเพลงอย่างมีความสุขนานหลายชั่วโมง เราจะได้ความพึงพอใจมากกว่าการมองว่าเราซื้อ CD ซึ่งเป็นวัตถุ อันนี้เกี่ยวข้องกับวิธีการมอง

? หลักข้อที่ 2 ใช้เงินเพื่อผู้อื่น แทนที่จะใช้เพื่อตัวเอง

นักวิจัยได้สอบถามให้ผู้คน ให้คะแนนความสุข และรายงานว่าใช้เงินไปเพื่ออะไรบ้างในแต่ละเดือนใน 4 หมวด

1. ค่าใช้จ่าย บิล ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ 2. ซื้อของขวัญให้ตัวเอง 3. ซื้อของขวัญให้คนอื่น 4. บริจาคให้การกุศล 2 หมวดแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง 2 หมวดหลังเป็นเพื่อผู้อื่น

ผลพบว่าการใช้เงินเพื่อตนเอง ไม่มีความสัมพันธ์กับระดับความสุข (ใช้เงินมาก ไม่ได้สุขมากขึ้นมากเท่าใดนัก) แต่เมื่อใช้เงินเพื่อผู้อื่นมากขึ้นจะมีความสุขมากขึ้น และเมื่อย้อนคิดถึงประสบการณ์นั้นจะรู้สึกมีความสุขกว่า และสามารถย้อนคิดถึงได้บ่อย ๆ เรียกว่า เป็นความสุขที่คงทนกว่า

พระไพศาล วิสาโล ได้กล่าวไว้ว่า

" มีวิธีหนึ่งที่เงินสามารถให้ความสุขอย่างรวดเร็วและยั่งยืน (อย่างน้อยก็นานกว่าการเที่ยวห้าง) นั่นคือ บริจาคเงินให้แก่คนจนหรือผู้ทุกข์ยาก"

? หลักข้อที่ 3 ใช้เงินซื้อความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ หลาย ๆ ครั้ง ดีกว่าใช้เงินทีเดียวครั้งละมาก ๆ

ไม่ว่าคุณจะซื้อประสบการณ์หรือข้าวของ สุดท้ายแล้วเราก็จะคุ้นชินกับมันอยู่ดี เพียงแต่ช้าเร็วต่างกัน เมื่อพูดถึงความสุขแล้ว นักวิจัยพบว่าความถี่ชนะความเข้มข้นเสมอ

? สูตรความสุขยกกำลัง 3

และถ้าเรานำเอาข้อ 1, 2 และ 3 มารวมกัน ก็จะได้สูตรของความสุขมากขึ้น คือ นั่นคือการใช้เงินซื้อประสบการณ์ เพื่อผู้อื่นหรือทำร่วมกับผู้อื่นและทำบ่อย ๆ แต่ไม่ต้องมากในแต่ละครั้ง อันนี้ต้องลองคิดหาวิธีดูนะครับ ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ?

? ไม่มีเงินก็สุขได้นะ

แล้วถ้าเราไม่มีเงินล่ะ จะทำยังไงดี? เราก็ยังสามารถทำตามหลัก 1, 2 และ 3 ได้เช่นกันครับ ตัวอย่างเช่น การทำงานจิตอาสา เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดี ซึ่งเป็นการทำเพื่อผู้อื่นในตัวอยู่แล้ว และหากทำบ่อย ๆ เช่น เดือนละครั้ง ก็จะช่วยให้มีความสุขที่ยั่งยืน โดยไม่ต้องเสียเงินด้วย

ความสุขประเทศไทย
รู้จัก 8 เส้นทางแห่งความสุข ที่
www.happinessisthailand.com

? อ้างอิง

Happiness for Sale: Do Experiential Purchases Make Consumers Happier than Material Purchases? Journal of Consumer Research (2009) 36: 188-198

Spending money on others promotes happiness. Science. (2008) 319:1687-8

The relative relativity of material and experiential purchases. Journal of Personality and Social Psychology (2010) 98:146-59

To Do or to Have? That Is the Question. Journal of Personality and Social Psychology (2003) 85:1193-202

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น