++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ภูมิคุ้มกันที่หมอต้องเตรียม (Immunity doctors need)

ภูมิคุ้มกันที่หมอต้องเตรียม (Immunity doctors need)

การดูแลรักษาสุขภาพเป็นงานที่ไม่มีวันจบ ไม่มีเวลาราชการ ไม่มีวันหยุด และเป็นงานของทุกๆคน ทุกชีวิต ธรรมชาติได้สร้างชีวิตมาพร้อมกับศักยภาพในการเยียวยาตนเอง ดูแลตนเอง รับรู้ตนเอง รวมทั้งปัญญาในการทำให้ตนเองมีความสุขอยู่แล้ว ขึ้นกับว่าเราจะใช้หรือไม่ใช้หรือไม่เท่านั้น แต่ด้วยความซับซ้อนของชีวิต ทำให้ชีวิตมีเนื้อหา ความรู้มากมายในการทำงานเป็นปกติ จึงมีคนบางคนที่ทุ่มเทเวลา กำลังกาย กำลังใจ ศึกษาให้ลึกซึ้งถ่องแท้ให้มากที่สุด เท่าที่พอจะมีเรี่ยวมีแรงทำ เพื่อหวังว่าจะได้ดูแลรักษาสุขภาพไม่เพียงเฉพาะของตนเอง แต่ของผู้อื่นด้วย เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า "บุคลากรทางการแพทย์"

สิ่งหนึ่งที่ผู้ที่ "เข้าวงการ" จะต้องตระหนักก็หนีไม่พ้นสัจธรรมข้างต้น ที่ว่า "การดูแลสุขภาพเป็นงานที่ไม่มีวันจบ" นั่นคืองานนี้เป็นงาน full-time 24/7 และ 365 วันต่อปี และการดูแลสุขภาพแค่ลำพังตนเองก็มีหลากหลายมิติอยู่แล้ว เพราะชีวิตนั้นมีความเป็นองค์รวม ครั้นจะไปดูแลคนอื่นด้วย ก็เป็นความกล้าหาญและทะเยอทะยานระดับหนึ่งทีเดียว ในการที่จะทำให้ได้สมบูรณ์ ณ ที่นี้จึงขอเรียบเรียงการตระเตรียมอะไรบางอย่างเอาไว้สู้กับศึกที่ไม่มีวันชนะ (ถาวร) นี้ เอาไว้เป็นภูมิคุัมกันในการทำงาน คือการเตรียมกาย เตรียมความคิด และเตรียมใจ (Hand Head and Heart)

การเตรียมกาย (Hand)

ร่างกายต้องแข็งแรง งานดูแลสุขภาพเป็นงานที่ใช้พลังงานเยอะ ไม่เพียงแค่กำลังกล้ามเนื้อ แต่หมายถึง fitness as a whole คือ ต้องการความแข็งแรงทั้งหมด ความแข็งแรงจะเป็นเพดานบ่งชี้ว่าเราจะทำอะไร "มากที่สุด" แค่ไหน เป็นต้นทุนที่ชัดเจน ถ้าหมดเค้า หมดตัว เมื่อไร ก็จบแค่นั้น ที่สุดแล้ว เราจะมีอะไร เราจะเป็นอะไร เราสามารถจะทำอะไร ทุนรอนที่เราจะต้องใช้ก็อยู่แค่นี้คือ "สุขภาวะของร่างกายของเรา" ประเด็นสำคัญก็คือ การดูแลสุขภาพคนอื่นที่จะดึงเวลาไปเยอะมาก จนถ้าเราจัดสรรไม่ดี เราจะไม่เหลือเวลาดูแลสุขภาพตนเอง ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่เราตระหนัก (สังเกตจากความยาวรอบเอวของ professionals นี้หลายๆท่าน รวมทั้งอัตราการหายใจหลังจากเดินขึ้นบันไดแค่ชั้นหรือสองชั้น)
อาชีพนี้ต้องใช้ทักษะสูง การดูแลสุขภาพตนเองอาจจะไม่เห็นประเด็นนี้มากนัก แต่พอเรามีหน้าที่ดูแลสุขภาพคนอื่น จะพบว่าการประคับประคอง ดูแล รักษา ร่างกายของคนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่ยากทีเดียว มีสิ่งที่ต้องระมัดระวังที่เราอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญตอนเราทำกับตนเองมากนัก แต่ไม่สามารถที่จะละเลยได้เมื่อเราต้องไปทำกับร่างกายคนอื่น แต่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ "หัตถการทางการแพทย์" เป็นอีกมิติหนึ่งที่คนธรรมดาๆนอกอาชีพจะไม่ทราบเลยว่าเป็นเรื่องราวอะไรกัน ทุกๆหัตถการมีความเสี่ยง มีอันตราย และทำให้ต้องมีข้อบ่งชี้ชัดเจนในความจำเป็นที่จะทำ รวมทั้งมีข้อบ่งชี้ชัดเจนใน "ข้อห้ามที่ไม่ควรจะทำ" ทักษะไม่เกิดขึ้นโดยวิธีลัด มีวิธีเดียวในการเพิ่มทักษะ คือ "ทำเยอะๆ" และนำมาทบทวน ปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ

การเตรียมความคิด (Head)

ความรู้ต้องแน่น ต้องถูกต้อง knowledge เป็น competency หรือสมรรถภาพที่สำคัญมาก เพราะกิจกรรมทุกอย่างก็ขึ้นกับว่าพวกเราจะตอบสนองกับปัญหาที่เจอได้อย่างไร ดังนั้นการมีสติ และมีสัมมาทิฏฐิว่าเราพึงทราบเรื่องอะไรบ้าง และทราบลึกซึ้งแค่ไหน มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำงาน คนในอาชีพนี้ต้องหมั่นตรวจตรา hard drive and memory ของตัวเองให้ดี ว่าเรามีของที่จำเป็นต้องมี สามารถหยิบนำมาใช้ในเวลาอันเหมาะสมตลอดเวลาหรือไม่
ต้องมีทักษะในการใช้วิจารณญาณ พอมีข้อแรกไปแล้ว จะเจอความจริงอีกประการคือ "เราไม่เคยทราบทุกสิ่งทุกอย่างมาก่อนว่าสุดท้ายแล้วต้องทำอะไร" ได้เลย โชคดีที่ในความเป็นจริงก็คือ "เราไม่ต้อง" เพราะเราสามารถจะใช้ต้นทุนที่เรามีอยู่เดิม นำมาคิด วิเคราะห์ และสรุปออกมาเป็นสิ่งที่ควรกระทำได้เกือบทุกเรื่อง เกือบ ๑๐๐ %

การเตรียมใจ (Heart)

รู้จักรัก และมีความรัก หากว่าร่างกายเปรียบเสมือนเครื่องยนต์กลไก หัวใจคือพลังงาน คือเชื้อเพลิงขับเคลื่อน อารมณ์ความรู้สึกมีอิทธิพลสูงมากต่อสิ่งที่เราทำ เป็นบุคลากรทางการแพทย์จะพบว่าถ้าเรามีความรัก และสามารถจะใช้ความรักเป็น เราจะเดินทางไปข้างหน้าได้ดีขึ้น เพราะว่างานนี้มันหนักมาก หนักทั้งกาย และหนักใจยิ่งกว่า ถ้าเราไม่มีอะไรพิเศษมาผลักดัน ด้วยความเหน็ดเหนื่อยทางกายต่องานที่มี เราจะเกิดความท้อแท้ และถดถอยในที่สุด
มีชีวิตที่มีความหมาย มนุษย์ยังมีศักยภาพพิเศษที่สุดอีกประการหนึ่งคือ เราไม่เพียงอยู่เพื่ออยู่รอด ไม่เพียงอยู่เพื่อจะอยู่ร่วมกัน แต่มนุษย์ยังสามารถที่ "อยู่อย่างมีความหมาย" ได้อีกระดับหนึ่ง นั่นคือเราจะไม่ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตนเอง (อยู่รอด) เพื่อคนรอบข้างที่เรารู้จัก (อยู่ร่วม) แต่มนุษย์ด้วยปัญญาทั้งหมด เราสามารถที่จะก้าวข้ามความต้องการพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทั่วๆไป และมองเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของตัวเรากับทุกๆสิ่งทุกๆอย่างรอบข้าง เมื่อเราเห็นความสัมพันธ์ (interconnectedness) เหล่านี้ชัดเท่าไหร่ เราจะยิ่งสามารถขยายขอบเขตความรักของเราได้กว้างขวางลึกซึ้งขึ้นเท่านั้น

เมื่อระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง

เป็นสัจธรรมข้อหนึ่งคือ มีเกิด ตั้งอยู่ ก็ต้องมีสิ้นสุด ดับไป สูญสลาย ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นไม่ว่าจะตระเตรียมอย่างไร ก็จะไม่สามารถคงอยู่ได้ถาวร สิ่งที่เราทำได้คือการตระเตรียมปัจจัย "ภายใน" ให้ head hand heart ของเราดีที่สุดเท่านั้น แต่เราจะเจอกับ "ปัจจัยภายนอก" ที่นอกเหนือความควบคุมของเราเข้ามาคุกคาม และสามารถรุนแรงได้ถึงกับพังทลายภูมิคุ้มกันของเราลงไป

เหมือนกับโรคเอดส์ โรคมะเร็ง ที่จู่โจมทำลายด่านภูมิคุ้มกันของมนุษย์ กลายเป็นโรคร้ายที่เมื่อเป็นแล้ว การแพทย์แทบจะทรุดซวนเซไป เพราะมันจู่โจมที่ราก ที่ฐาน ของชีวิต อย่างในภาพยนต์ Spiderman ตอนหนึ่ง ที่ตัวร้ายประกาศว่า "จู่โจมชั้นสูงนั้น ต้องทำลายที่หัวใจ" เมื่อทำลายหัวใจได้ ที่เหลือก็เป็นเพียงซากที่ไร้จิตวิญญาณ หรือถูกครอบงำด้วยอำนาจมืด อำนาจด้านต่ำของชีวิตแทน ทุกวันนี้ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ปัจจัยภายนอกที่คุกคามโดยตรงต่อ "หัวใจแห่งความเป็นแพทย์" ทวีความรุนแรงมากขึ้น แทบจะเป็น organized crime หรือการจัดตั้งคนมาทำลายอย่างตั้งอกตั้งใจเลยก็ว่าได้

มะเร็งหัวใจของแพทย์

หัวใจเป็นอวัยวะที่พิศดาร พิเศษ ในบรรดาอวัยวะทั้งหมดหัวใจเป็นอวัยวะที่มี "ภูมิคุ้มกัน" โดยลักษณะของตัวมันเองที่จะไม่เป็นมะเร็ง แต่ในที่นี้ จะหมายถึง heart คือ กำลังใจ ความรัก สังคมอาจจะไม่ตระหนักว่าสิ่งใดๆก็ตามที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงาน "รักงาน" นี้น้อยลง จะมีผลกระทบต่องานทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความล้มเหลวในความรักต่องาน ก็มีเหตุไม่ต่างจากความล้มเหลวในความรักทั่วๆไปของชาย/หญิง แต่อย่างใด

หมดรักคือไม่เห็นคุณค่า
หมดรักคือไม่ซื่อสัตย์
หมดรักคือดูถูกเหยียดหยาม
หมดรักเพราะไปมีรักใหม่กับผู้อื่น
หมดรักเพราะกลายเป็นเกลียดชัง
หมดรักเพราะชินชา
หมดรักเพราะไม่รับรู้ความรู้สึกของอีกฝ่าย

คนอาจจะคิดว่างานทางการแพทย์ เป็นงานทางวิทยาศาสตร์ ทางกลไกการทำงานของร่างกาย แต่ที่จริงแล้ว งานการดูแลผู้คนนั้น "ต้องอาศัยความรัก" เป็นพื้นฐาน เป็นสุนทรียศาสตร์ เป็นสังคมศาสตร์ ปัจจัยใดๆที่ทำให้ความสุนทรีย์นี้หายไปจากชีวิตแพทย์ พยาบาล เมื่อนั้นคนที่อยู่เบื้องหน้าก็จะเป็นเพียงวัตถุ สิ่งของ ที่ความสัมพันธ์ก็จะดำเนินไปตามนั้น

มะเร็งหัวใจระยะสุดท้ายของแพทย์

มนุษย์ไม่ได้อยู่เพียงเพื่ออยู่รอด หรือเพื่อความรักเท่านั้น แต่ยังสามารถจะอยู่อย่างมีความหมายได้ด้วย เราทำสิ่งที่ยากๆ เหน็ดเหนื่อย ใช้เวลายาวนาน ผลลัพธ์ก็อาจจะไม่ได้ทันใจ ได้ดีตามที่คาดหวัง แต่เรายังคงทำบางสิ่งบางอย่างได้ เพราะสิ่งนั้น หรือการกระทำนั้นทำให้ "ชีวิตของเรามีความหมาย" ปัจจัยในสังคมทุกวันนี้ เริ่มมีที่คุกคามต่อ "งานที่มีความหมาย" ของแพทย์ไปทีละน้อย และมากขึ้นเรื่อยๆ

หมดความหมายเพราะทำเพืยงเพื่อวัตถุ สิ่งของ เงิน เช่น เสือกไปเรียกคนไข้ว่าลูกค้า
หมดความหมายเพราะไม่มีคนเห็นความหมาย มนุษย์เป็นสัตว์สังคม สิ่งแรกที่แสวงหาคือการ "ถูกเห็น" "เห็นคุณค่า"
หมดความหมายเพราะขาดคุณธรรม ทำไปเพื่อกอบโกย เพื่อตนเอง เพื่อการอยู่รอด
หมดความหมายเพราะขาดปัญญา ใช้ชีวิตโดยไม่นำเอาประสบการณ์มาเสริมต้นทุนปัญญา อยู่ในสังคมที่ไม่เทิดทูนปัญญา แต่เทิดทูนความชั่ว ความเลว ความกักขฬะกเฬวราก อันเป็นอารมณ์ขั้นต่ำของชีวิต
หมดความหมายเพราะไม่เชื่อในการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์อีกต่อไป เอาตนเองเป็นใหญ่

ในสังคมปัจจุบันมีเหตุปัจจัยมากมายที่ทำให้ "ชีวิตหมดความหมาย" ไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็น direct threat การคุกคามโดยตรงต่อทุกๆวิชาชีพที่ต้องใช้ธรรม ใช้ปัญญา ใช้คุณธรรม ใช้การเสียสละ เป็นต้นทุนในการทำงาน

เรากำลังทำอะไรกัน?

สกล สิงหะ

เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๑๘ นาที

วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะเมีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น