++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เปิดเส้นทางปฏิบัติการ NASA สำรวจเมฆ กินพื้นที่ 12 ประเทศ

เปิดเส้นทางปฏิบัติการ NASA สำรวจเมฆ กินพื้นที่ 12 ประเทศ กว้างไกลถึงทะเลจีนใต้ แต่ มะกัน ขออนุญาตแค่ สิงคโปร์ - กัมพูชา ขณะที่ หน่วยงานด้านความมั่นคง แฉ สิงคโปร์-กัมพูชา ไม่อนุญาตให้บินเหนือพื้นดิน แต่ กต.อ้างคำสหรัฐ อนุมัตแล้วทั้งสองประเทศ หวั่น ดึงข้อมูลใช้ทางการทหาร /สำรวจทรัพยากร / กระทบการเมืองระดับภูมิภาค

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะมีมติไม่อนุมัตให้ NASA ใช้สนามบินอู่ตะเภา เป็นฐานปฏิบัติการสำรวจก้อนเมฆ ตามโครงการ SEAC4RS จนทำให้ NASA ต้องยกเลิกภารกิจดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดแผนงานไว้ แต่ ครม.วันที่ 26 มิ.ย. 55 ระบุชัดเจนให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อเปิดสมัยประชุมในเดือนสิงหาคม แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคนในรัฐบาลออกมาอธิบายรายละเอียดทั้งหมดของโครงการให้ประชาชนได้เข้าใจถึงผลดีทางวิทยาศาสตร์และผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในด้านความมั่นคง และ การต่างประเทศ

เพจสายตรงภาคสนาม ซึ่งเกาะติดเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ขอนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจจากเอกสาร “แผนงานการศึกษาโครงการ SEAC4RS ที่มีการสรุปรายละเอียดไว้ ตั้งแต่ช่วงแรกที่คิดจะใช้สนามบินสุราษฎร์ธานีเป็นฐานปฎิบัติการ แต่สุดท้ายมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังเป็นสนามบินอู่ตะเภา อย่างไรก็ตามไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเส้นทางการบินสำรวจที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในภารกิจนี้แต่อย่างใด

ในเวปไซด์ http://espo.nasa.gov...29SEP2010-1.pdf/ของ NASA มีการเผยแพร่เอกสารแผนงานการศึกษาโครงการดังกล่าวรวม 34 หน้า มีรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินโครงการทั้งหมด ตั้งแต่วัตถุประสงค์ ไปจนถึงประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ที่จะได้จากการทดลองครั้งนี้

ที่น่าสนใจคือ หน้าที่ 23 ซึ่งในขณะนั้นมีการระบุถึงการใช้สนามบินสุราษฎร์ธานีเป็นฐานปฏิบัติการในการบินสำรวจ โดยกำหนดพื้นที่ที่ต้องขออนุญาตรวม 12 ประเทศ และ อีก 17 น่านฟ้า ซึ่งเครื่องบินที่จะสำรวจต้องใช้ชั่วโมงบินถึง 154 ชั่วโมงบิน เพื่อปฏิบัติภารกิจนี้ให้สำเร็จ แบ่งเป็น 10 ชั่วโมงของการบินทอดสอบ 24 ชั่วโมงสำหรับการแวะเปลี่ยนเครื่องในการบินในแต่ละทิศทาง และ 96 ชั่วโมงสำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะแบ่งเป็น 12 เที่ยวบิน เที่ยวบินละ 8 ชั่วโมง โดยใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 40-45 วันในช่วงเดือนกันยายน - สิงหาคม

นอกจากนี้ยังมีการอธิบายถึงแผนที่ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ประเทศไทยไปถึงบังคลาเทศ โดยมีการแบ่งเป็นวงกลมชั้นในและชั้นนอก ซึ่งในเอกสารมีการระบุถึงระยะทางการบินว่า สามารถบินจากฐานปฏิบัติการไปยังเส้นขอบของวงกลมชั้นในไปกลับภายใน 6 ชั่วโมง ส่วนวงกลมชั้นนอกจะใช้เวลาเดินทางรวม 8 ชั่วโมง

ในเอกสารหน้าที่ 24 ยังมีแผนที่กำหนดความสำคัญของน่านฟ้าใน 12 ประเทศซึ่งจำเป็นต่อการทดลองในโครงการนี้ ประกอบด้วย บังคลาเทศ กัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว พม่า เนปาล ฟิลลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยแลนด์ และ เวียดนาม โดยในตารางกำหนดความสำคัญของการบิน เหนือพื้นดินและเหนือทะเลอาณาเขตที่ต้องทำการสำรวจเอาไว้อย่างละเอียด มีการจัดลำดับความสำคัญไว้ดังนี้ คือ ไม่จำเป็น ได้ก็ดี สำคัญ และสำคัญมากที่สุด

บังคลาเทศ Dhaka มีความสำคัญทั้งเหนือทะเลอาณาเขตและเหนือแผ่นดิน กัมพูชา Phnom Penh เหนือทะเลอาณาเขต ไม่จำเป็น ส่วน เหนือพื้นดิน ได้ก็ดี อินเดีย กำหนด 3 จุด คือ Chennai , Kolkata , Colombo ระบุว่า เหนือทะเลอาณาเขตของทั้งหมดอยู่ในระดับสำคัญมากที่สุด ส่วนเหนือพื้นดินสำคัญเฉพาะ Kolkata

อินโดนีเซีย Jakarta , Ujung Pandang โดย Jakarta ถูกจัดลำดับว่ามีความสำคัญเฉพาะเหนือทะเลอาณาเขตส่วนอื่นได้ก็ดี ลาว Vieentiane ระบุไว้ว่า เหนือทะเลอาณาเขต ไม่จำเป็น ส่วนเหนือพื้นดินได้ก็ดี มาเลเซีย Kuala Lumper เหนือทะเลอาณาเขต สำคัญมากที่สุด เหนือพื้นดิน ได้ก็ดี Kota Kinabalu ทั้งเหนือทะเลอาณาเขตและเหนือพื้นดินได้ก็ดี

พม่า Yangon ได้ก็ดีทั้งเหนือทะเลอาณาเขตและเหนือพืี้นดิน ส่วน เนปาล Kathmandu สำคัญเฉพาะเหนือพื้นดิน ฟิลิปปินส์ Manila เหนือทะเลอาณาเขตสำคัญมากที่สุด เหนือพื้นดินได้ก็ดี สิงคโปร์ เหนือทะเลอาณาเขตสำคัญที่สุด เหนือพื้นดิน ได้ก็ดี ประเทศไทย Bangkok สำคัญมากที่สุดทั้ง เหนือทะเลอาณาเขตและเหนือพื้นดิน สำหรับ เวียดนาม Ho Chi Minh เหนือทะเลอาณาเขต สำคัญมากที่สุด ส่วนเหนือพื้นดิน ได้ก็ดี และ Hanoi ระบุสถานะไว้ว่าได้ก็ดี ทั้ง เหนือทะเลอาณาเขตและ เหนือพื้นดิน


ทั้งนี้เพจสายตรงภาคสนามยังได้ตรวจสอบในสไลด์โครงการที่เผยแพร่ผ่านเวปไซด์ http://espo.nasa.gov/missions/sites/default/files/documents/seac4rs_sci_meet/feb_2012/01WednesdayAfternoon/Reid_SurfaceMeasurements.pptx ของ NASA ซึ่งระบุเดือนที่จัดทำคือ เดือนกุมภาพันธ์ 2012 ก็ยังพบว่าหน้าที่ 15 ยังมีแผนที่กำหนดเส้นทางการบินชุดเดียวกับที่เผยแพร่ไว้ในแผนงานการศึกษาโครงการ หน้าที่ 24 เอาไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงฐานปฏิบัติการจากสนามบินสุราษฎร์ธานีเป็นสนามบินอู่ตะเภาแล้วก็ตาม เพียงแต่ในสไลด์ชุดดังกล่าว ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ 12 ประเทศ ที่ต้องทำการอนุญาตที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นเท่านั้น

จากข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับข้อท้วงติงของ นายพรชาด บุนนาค ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ ในการประชุมร่วมหน่วยงานไทยด้านความมั่นคง ด้านวิชาการ เพื่อพิจารณาข้อเสนอ NASA เมื่อวันที่ 27 มกราคม 55 ที่กล่าวไว้ว่า “ฝ่ายสหรัฐฯควรทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่เกี่ยวข้องภายในภูมิภาค โดยเฉพาะจีนกับอินเดียซึ่งเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ เนื่องจากขอบเขตการบินไปถึงบังคลาเทศ และเนปาล รวมถึงทะเลจีนใต้ด้วย อีกทั้งยังเห็นว่าฝ่ายสหรัฐฯควรมีเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับความเห็นชอบของประเทศเพื่อนบ้านด้วย”

อย่างไรก็ตามเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศลงวันที่ 4 มิ.ย.55 ที่นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ลงนามโดย นายสุรพงษ์โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ กลับระบุพื้นที่ปฏิบัติโครงการว่าจะทำการบินเหนือพื้่นที่ของไทย สิงคโปร์ และกัมพูชาและเหนือน่านน้ำสากลที่อยู่ภายใต้การควบคุมทางอากาศของไทย สิงคโปร์ และกัมพูชา ซึ่งได้รับคำยินยอมจาก สิงคโปร์ และ กัมพูชาแล้ว และระบุว่า สหรัฐฯได้บรรยายสรุปให้ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ในภูมิภาครับทราบถึงโครงการโดยไม่มีประเทศใดคัดค้าน

เพจสายตรงภาคสนาม ได้รับคำยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงในหน่วยงานด้านความมั่นคง ว่า ทั้งกัมพูชาและสิงคโปร์ ไม่ยินยอมให้การสำรวจครั้งนี้บินเหนือพื้นที่ของทั้งสองประเทศตามที่มีการกล่าว อ้างแต่อย่างใด โดยอนุญาตให้บินเหนือทะเลอาณาเขตเท่านั้น มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่ให้บินได้ทั้งเหนือทะเลอาณาเขตและเหนือพื้นดิน แม้จะมีการระบุว่าจะมีการเสนอแผนการบินต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบินของไทย รวมทั้งปฏิบัติตามข้อจำกัดที่กำหนดสำหรับการบินอย่างเคร่งครัด แต่ฝ่ายความมั่นคงยังมีข้อห่วงใยว่าการทำวิจัยครั้งนี้อาจมีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางด้านการทหาร การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และที่สำคัญคือ อาจเกิดปัญหาเรื่องการเมืองระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าด้วย

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ ผบ.สส. ทำหนังสือถึงเลขาธิการ ครม.ลงวันที่ 25 มิ.ย.55 ก่อนที่จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในครม.วันที่ 26 มิ.ย.55 มีเนื้อหาว่า "ในหลักการเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่การดำเนินการควรศึกษารายละเอียดของโครงการ SEAC4RS และ กฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดขอบเขตและมาตรการควบคุมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านเทคโนโลยี สังคมจิตวิทยา ความมั่นคง และมิตรประเทศ รวมทั้งกำกับดูแล การปฏิบัติให้เกิดความโปร่งใส สามารถชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชนและนานาประเทศได้

หมายเหตุ : คำอธิบายภาพประกอบสองภาพแรกเป็นการเปรียบเทียบแผนที่ในแผนงานโครงการหน้า 24 เปรียบเทียบกับแผนที่ในสไลด์หน้า 15 ซึ่งพบว่าเป็นชุดเดียวกัน

ส่วนภาพด้านล่างเป็นแผนที่จากแผนงานโครงการหน้า 23 ที่มีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางบินสำรวจที่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจาก 12 ประเทศ และรายชื่อประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมถึงลำดับความสำคัญของแต่ละพื้นที่เพื่อให้การสำรวจบรรลุเป้าหมาย

ข้อมูลอ้างอิง ลิงค์ แผนงานศึกษาโครงการ http://espo.nasa.gov...29SEP2010-1.pdf/
ลิงค์ สไลด์โครงการ SEAC4RShttp://espo.nasa.gov/missions/sites/default/files/documents/seac4rs_sci_meet/feb_2012/01WednesdayAfternoon/Reid_SurfaceMeasurements.pptx/////////

ที่มา https://www.facebook.com/SaiTrongPhakSanam

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น