++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สสจ.นครพนม แจ้งสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดนครพนม




              นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ในช่วงต้นปี ๒๕๕๕ จนถึงปัจจุบัน โรคไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาด ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้รับรายงานผู้ป่วยโรค ไข้เลือดออกรวม จำนวนทั้งสิ้น ๑๐๕ ราย คิดเป็นอัตราป่วย ๑๕.๐๖ ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต
            พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยพบเพศชาย ๕๔ ราย เพศหญิง ๕๑ ราย อัตราส่วนเพศชาย ต่อเพศหญิง เท่ากับ ๑.๐๖ : ๑
            กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ ๑๕ – ๒๔ ปี จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ ๒๗ ราย รองลงมาคือ กลุ่มอายุ ๑๐ – ๑๔ ปี,๕ – ๙ ปี, ๒๕ – ๓๔ ปีตามลำดับ
            อาชีพที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือนักเรียน จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ ๗๑ ราย รองลงมาคือ อาชีพในปกครอง อาชีพเกษตร และอาชีพรับจ้าง จำนวนผู้ป่วยเท่ากับ ๑๔, ๑๑, ๕ ราย ตามลำดับ
            พบผู้ป่วยสูงสุดในเดือน มิถุนายนจำนวนผู้ป่วย เท่ากับ ๕๐ ราย จำนวนผู้ป่วยเดือนนี้( กรกฎาคม ) น้อยกว่าเดือนที่แล้ว (มิถุนายน) จำนวนผู้ป่วยเดือนนี้ ( กรกฎาคม ) เท่ากับ ๑ ราย ส่วนเดือนที่แล้ว (มิถุนายน ) เท่ากับ ๕๐ ราย โดยมีรายงานผู้ป่วยเดือน มกราคม ๐ ราย กุมภาพันธ์ ๑ ราย มีนาคม ๖ ราย เมษายน ๙ ราย พฤษภาคม ๓๘ ราย มิถุนายน ๕๐ ราย กรกฎาคม ๑ ราย
             พบผู้ป่วยในเขตเทศบาลเท่ากับ ๖ ราย ในเขตองค์การบริหารตำบลเท่ากับ ๙๙ ราย และไม่ทราบเขต เท่ากับ ๐ ราย พบผู้ป่วยในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลมากกว่าในเขตเทศบาล โดยจำนวนผู้ป่วยในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล เท่ากับร้อยละ ๙๔.๒๙ ส่วนผู้ป่วยในเขตเทศบาล เท่ากับร้อยละ ๕.๗๑
             ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลทั่วไป เท่ากับ ๗ ราย โรงพยาบาลชุมชน เท่ากับ ๙๗ ราย สถานีอนามัย เท่ากับ ๑ ราย
             อำเภอที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคืออำเภอศรีสงคราม อัตราป่วยเท่ากับ ๓๔.๑๑ ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคืออำเภอนาแก , อำเภอธาตุพนม และอำเภอโพนสวรรค์
             สำหรับวิธีการป้องกันยุงลาย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ขอแจ้งแนวทางการปฏิบัติดังนี้          
             การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ และเคมี
             ๑. ด้านกายภาพ เช่น การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น กะลา กระป๋อง ขวดน้ำ ยางรถยนต์ ฯลฯ ควรคว่ำไม่ให้มีน้ำขัง
             ๒. ด้านชีวภาพ เช่น การปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลากัด
             ๓. ด้านเคมี เช่น การใส่ทรายที่มีฟอส แต่การใส่ควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ ทรายจะสามารถฆ่าลูกน้ำภายใน ๒-๓ ชั่วโมง ยกเว้นตัวโม่ง และคงฤทธิ์ได้นาน ๓ เดือน
             การรักษาโรคไข้เลือดออก
           การรักษาเป็นเพียงการประคับประคองอย่างใกล้ชิดโดยการเฝ้าระวังภาวะช็อค และเลือดออก และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสม การดูแลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มีแนวทางการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนี้
             ๑. ให้ยาลดไข้, เช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้คือ พาราเซนตามอล ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกร็ดเลือดผิดปกติ และระคายกระเพาะอาหาร
             ๒. ถ้าไข้สูง หรือทานยาแล้วไข้ไม่ลดภายใน๒-๓วัน รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้ที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อตรวจดูว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่
             ๓. ติดตามดูอาการใกล้ชิด ถ้ามีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
             ๔. ตรวจนับจำนวนเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะเพื่อใช้พิจารณาปริมาณการให้สารน้ำชดเชย หากพบว่าอาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที.


ข่าวลำดับที่ ๕๔ ลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
(กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น