++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สธ.ร้อยเอ็ด เตือนระวัง ! การระบาดของโรคมือเท้าปาก



by พิมลสิริ มณีฉาย งานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด
สาธารณสุขร้อยเอ็ด แจ้งเตือนสถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา และศูนย์เด็กเล็ก เฝ้าระวังโรคมือเท้าปากระบาดในเด็ก

นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคมือเท้าปาก จังหวัดร้อยเอ็ด มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน เพราะสภาพอากาศทำให้เชื้อระบาดได้ง่ายรวดเร็ว จากสถิติตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๕ถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากรวมทั้งจังหวัด จำนวน ๑๕๖ ราย คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากร ๑๑.๙๑ อัตราการป่วยยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อายุ ๑ – ๒ ปี (ร้อยละ ๕๒.๔๘ ) รองลงมา คือ อายุ ๓-๔ ปี (ร้อยละ ๓๒.๖๗) และอายุมากกว่า ๕ ปี (ร้อยละ ๑๑.๘๘) ๕ อำเภอที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ เกษตรวิสัย ๓๗ ราย ธวัชบุรี ๒๐ ราย หนองพอก ๑๔ ราย เสลภูมิ ๑๔ ราย โพนทอง ๑๒ ราย พนมไพร ๑๑ ตามลำดับ

จึงได้แจ้งเตือนไปยัง สถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา และศูนย์เด็กเล็ก ให้มีการเฝ้าระวังการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคมือเท้าปากนี้ ส่วนใหญ่จะแพร่ระบาดในศูนย์เด็กเล็ก ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค คือ การเล่นคลุกคลีกับเด็กที่ป่วย การเล่นของเล่นร่วมกัน และการใช้แก้วน้ำและผ้าเช็ดมือร่วมกัน

นายแพทย์สุระ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า ช่วงอายุที่เกิดการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้บ่อยที่สุด คือ เด็กอายุต่ำกว่า ๑๐ ขวบ โดยเฉพาะเด็กเล็ก อายุระหว่าง ๒ สัปดาห์ถึง ๓ ปี อาการของโรค ไข้สูง เจ็บคอ ปวดศีรษะ มีตุ่มน้ำใสหรือแผลที่มือเท้าคอในปาก (อาจพบที่บริเวณก้นร่วมด้วย) ในเด็กเล็กจะไม่กินนมไม่กินอาหาร แนวทางการป้องกันโรคมือเท้าปาก คือ การหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ (direct contact) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกิดการระบาด สำหรับการป้องกันโรคนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลย คือ เรื่องของสุขอนามัยของประชาชน กล่าวคือ ให้ประชาชนมุ่งเน้นที่ความสะอาดของร่างกายล้างมือให้สะอาดภายหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้งและก่อนรับประทานอาหาร ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า การล้างมือให้สะอาด และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ของเล่นเด็ก ล้วนเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคทั้งสิ้น

ในสถานที่ดูแลเด็ก อาทิเช่น สถานเลี้ยงเด็กอ่อน เด็กเล็ก ควรเน้นวิธีกำจัดอุจจาระให้ถูกต้อง และเน้นการล้างมือให้สะอาด เนื่องจาก ไวรัสพวกนี้แพร่กระจาย โดยการสัมผัสอุจจาระของผู้ป่วย

และ เมื่อเด็กมีตุ่มใสขึ้นที่ปาก มือ หรือ เท้า ขอให้นึกถึงโรคนี้ และต้องพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและแยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับเด็กอื่นประมาณ ๒ สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อด้วยเช่นกัน.

พิมลสิริ มณีฉาย ภาพ/ข่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น