++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

เวทีนโยบาย:ปีใหม่นี้ก็เช่นทุกปีที่ถนนปนเปื้อนมัจจุราชดื่มแล้วขับ-ขับเร็ว

เวทีนโยบาย:ปีใหม่นี้ก็เช่นทุกปีที่ถนนปนเปื้อนมัจจุราชดื่มแล้วขับ-ขับเร็ว
โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 27 ธันวาคม 2553 16:12 น.
เช่นทุกๆ ปีที่เทศกาลปีใหม่ยวดยานมหาศาลจะออกเดินทางจากเมืองหลวงมุ่งสู่ต่างจังหวัด อันมีปลายทางเป็นทั้งเมืองท่องเที่ยวและภูมิลำเนาบ้านเกิด และเช่นทุกๆ ปีที่อัตราการบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนจะทอดยาวเป็นเงาตามตัวตามปริมาณรถราที่ วิ่งกันขวักไขว่แน่นขนัด ซึ่งจำนวนหนึ่งในผู้กุมพวงมาลัยหรือคันเร่งเหล่านั้นคือผู้เมาแล้วขับและขับ ด้วยความเร็วสูง

เมื่อสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ทั้งสากลและ ไทยไม่พ้น ‘ดื่มแล้วขับ’ และ ‘ขับเร็ว’ อันเนื่องมาจากต่างคนต่างเร่งรีบเดินทางไปเฉลิมฉลองทั้งเล็กและใหญ่ในหมู่ เพื่อนๆ คนรัก และครอบครัว อัตราการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลเปลี่ยนปฏิทินจึงสูงกว่าเวลาธรรมดาถึง 2 เท่า โดยเฉลี่ยระหว่างปี 2551-2553 ในช่วงปกติจะมีอุบัติเหตุเฉลี่ยแค่วันละ 232 ครั้ง ผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 30 คน ขณะที่ช่วงเทศกาลปีใหม่กลับมีอุบัติเหตุเฉลี่ยถึงวันละ 563 ครั้ง ผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 53 คน

จนกล่าวได้ว่าช่วงเทศกาลปีใหม่ทำให้ชีวิตผู้สัญจรบนท้องถนนเปราะบาง ขึ้นเสี่ยงขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นถนนในเขตชนบท เมือง หรือทางหลวงแผ่นดิน ล้วนปนเปื้อนไปด้วย ‘มัจจุราชดื่มแล้วขับ-ขับเร็ว’ ที่พร้อมจะประสบอุบัติเหตุเองและก่ออุบัติเหตุแก่คนอื่น โดยช่วงนี้ของทุกๆ ปีจะมีทั้งผู้โดยสารและผู้ขับขี่ที่ขับขี่ระมัดระวัง ไม่คึกคะนอง ต้องสังเวยชีวิตเป็น ‘เหยื่อเมาแล้วขับ-ขับเร็ว’ ไปไม่น้อย นอกเหนือไปจากผู้ขี่รถจักรยานยนต์ที่ดื่มแล้วขับและไม่สวมหมวกนิรภัยที่มัก ตายไปลำพังหรือเป็นคู่

สถานการณ์เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา อุบัติเหตุจึงเกิดกับรถจักรยานยนต์ถึงร้อยละ 82 และมีสาเหตุจากเมาสุราขณะขับรถเป็นอันดับหนึ่งถึงร้อยละ 40 และขับรถเร็วเป็นอันดับสองกว่าร้อยละ 20

ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าปกติถึง 4 เท่าหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้พังพินาศสังคมไทยเรื่อยมา ดังข้อมูลจากการเฝ้าระวังผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนที่รักษาในโรงพยาบาล ที่พบว่าผู้บาดเจ็บมีความสัมพันธ์กับการดื่มสุราถึงร้อยละ 20 และเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 35-40 ในช่วงเทศกาล โดยกลุ่มเยาวชนอายุน้อยกว่า 15 ปีที่ประสบอุบัติเหตุมีการดื่มสุราถึงร้อยละ 6 ซึ่งแน่นอนว่าเยาวชนกลุ่มนี้ต้องฉลองปีใหม่ด้วยการดื่ม และจำนวนมากอาจวาดลวดลายคึกคะนองขี่มอเตอร์ไซค์

นั่นทำให้การไม่ประสบผลสำเร็จในการลดมัจจุราชดื่มแล้วขับไม่แตก ต่างจากควบคุมมัจจุราชความเร็วที่ล้มเหลว เพราะเพียงปี 2552 ผู้ฝ่าฝืนความเร็ว 195,569 คนที่ถูกจับได้ยังยืนยันว่าจะขับรถเร็วกว่ากฎหมายกำหนดต่อไปเป็นส่วนใหญ่ ไม่ตระหนักว่าอุบัติเหตุจากความเร็วบนทางหลวงทุกๆ 10 ครั้งจะมีคนตายอย่างน้อย 1 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 8 คน ตลอดจนไม่ยี่หระกับบทลงโทษและชีวิตผู้ร่วมใช้ถนนคนอื่นๆ เช่นเดียวกันกับกลุ่มดื่มแล้วขับ ยิ่งเทศกาลปีใหม่ด้วยแล้วจุดหมายของการเฉลิมฉลองยิ่งสำคัญ ขาไปขับเร็ว ขากลับทั้งเร็วและเมา จำนวนไม่น้อยจึงไม่มีโอกาสไปถึงซึ่งจุดหมาย

เช่นนี้เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงเดินทางช่วงเทศกาล กระนั้นถ้าไม่อาจหลีกเลี่ยงการเดินทางห้วงยามนี้ได้เพราะต้องกลับภูมิลำเนา ถิ่นเกิด และรื่นเริงสังสรรค์ท่องเที่ยวกับครอบครัวเพื่อนมิตร นอกจากระดับส่วนตนที่ต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาทคึกคะนอง เป็นสำคัญแล้ว ก็ต้องตรวจสภาพความพร้อมของรถส่วนตัว โดยเฉพาะระบบเบรก ยาง และระบบบังคับเลี้ยว ที่เป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ เมื่อผ่านพื้นที่สูงชันและไกล และอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัย ถังดับเพลิง

สภาพความพร้อมของร่างกาย ก่อนขับขี่ก็ต้องไม่ดื่มเด็ดขาด พักผ่อนเพียงพอ จะได้ไม่หลับใน อ่อนล้า จนตัดสินใจช้า ต้องมีสติเสมอ สนใจสภาพแวดล้อมบนถนนมากกว่าภายในรถ เพราะผู้ร่วมทางอาจทำให้เสียสมาธิได้ ด้านผู้อยู่ในรถก็ควรหมั่นสังเกตอาการผู้ขับรถ ถ้าพบสัญญาณเหยียบเบรกบ่อยๆ นั่งนิ่งนานๆ หาวบ่อยๆ ควรหยุดพักหรือเปลี่ยนคนขับ เพราะเสียสมาธิ วูบ หรือหลับในแค่ 3-4 วินาทีขณะขับที่ความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถก็จะปราศจากการควบคุมไปไกลกว่า 100 เมตรแล้ว

รวมทั้งวางแผนการเดินทาง ตรวจสอบเส้นทางปลอดภัย เพราะการไม่ชำนาญเส้นทางทำให้ตัดสินใจผิดพลาด โดยเฉพาะการใช้ความเร็วและเกียร์ที่ไม่เหมาะสมขณะผ่านภูเขาลาดชันโค้งแคบคด เคี้ยว เผื่อเวลาให้เพียงพอ ไม่เร่งรีบเกินไป ไม่ขับตัดหน้ากระชั้นชิด แซงผิดกฎหมาย จี้ติดรถคันหน้า ให้สัญญาณปรับเปลี่ยนทิศทางหรือความเร็วเนิ่นๆ และควรเลือกเดินทางกลางวันเพราะทัศนวิสัยดีกว่า

ทว่าที่ต้องทำเข้มข้นกว่าระดับปัจเจกที่ใช้แนวทางการขับรถเชิง ป้องกันอุบัติเหตุตามคำแนะนำการขับรถช่วงเทศกาลปีใหม่คือการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเคร่งครัดของภาครัฐทั้งในส่วนการขับเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดและการ ดื่มแล้วขับ ด้วยทั้งสองสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทางถนนนี้มีกฎหมายรองรับและให้อำนาจ เจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจจับ ปรับ และลงโทษอยู่แล้ว รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายที่จะลดจำนวนครั้งของการเกิด อุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ (Admit) ระหว่าง 7 วันอันตราย 29 ธันวาคม 2553-4 มกราคม 2554 ลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คือเหลืออุบัติเหตุแค่ 3,357 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 330 คน และผู้บาดเจ็บ 3,636 คน

พรุ่งนี้วันเริ่มต้น 7 วันอันตรายจึงเป็นการพิสูจน์ชัดว่าปีใหม่นี้จะเหมือนเช่นทุกๆ ปีหรือไม่ที่ถนนทุกสายยังคงปนเปื้อน (contaminate) มัจจุราชดื่มแล้วขับ-ขับเร็ว

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น