ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ม.ขอนแก่น รุกช่วยเหลือผู้ปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ นำงานวิจัยเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิ ลดต้นทุนผลิต ทั้งหาตลาดรองรับตามโครงการ HOD ส่งข้าวหอมมะลิคุณภาพบรรจุถุงถึงบ้านในรั้วม.ขอนแก่น และเขตเทศบาลนครขอนแก่น ชี้ตลาดตอบรับสูง แค่ 4 เดือนยอดขายล้นกว่า 4 ตันแล้ว ส่งผลดีต่อกลไกตลาดข้าวหอมมะลิมีเสถียรภาพ เล็งขยายผลสู่รั้วมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เบื้องต้นที่เล็งจัดจำหน่ายมช. และมอ.
ผศ.ดร.วีรพัฒน์ เศรษฐ์สมบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ยังประสบปัญหาด้านการแปรรูปและราคาผลผลิตข้าวหอมมะลิตกต่ำในบางปี โดยนำงานวิจัยจากภาควิชาอุตสาหการ มาสร้างประโยชน์เพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิ
แม้ว่าข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาร้องไห้ จะเป็นข้าวหอมชั้นดีในตลาดโลก แต่บางปีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิก็ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตออกมาก เกษตรกรที่เร่งเก็บเกี่ยวส่วนใหญ่ไม่มีลานตาก ต้องรีบขายให้กับพ่อค้าคนกลาง ความชื้นข้าวสูง มักถูกกดราคารับซื้อ บางปีชาวนาต้องยอมขายข้าวเปลือกหอมมะลิในราคาขาดทุน
ขณะเดียวกันในแง่กระบวนการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร เกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มโรงสีหรือผู้ประกอบการขนาดเล็ก มีเครื่องจักรโรงสีข้าวที่ใช้เทคโนโลยีเก่า เกิดการสูญเสียในกระบวนการแปรรูป ค่าไฟฟ้าสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสารบรรจุถุงสูงไปด้วย
ภาควิชาวิศวอุตสาหการ จึงเข้าไปช่วยเหลือสร้างประโยชน์จากงานวิจัย สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ตามนโยบาย 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรม (1 Province 1 Agro-product) มาขยายผลกับกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ประกอบด้วยสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด , สหกรณ์การเกษตรสุวรรณภูมิ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรปทุมรัตน์ จำกัด นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากผลงานวิจัย ไปประยุกต์ในการสีข้าว ลดการสูญเสียลงให้มากที่สุด
พร้อมกับหาตลาดรองรับที่ร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และจัดส่งข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงจากทุ่งกุลาร้องไห้ ตามโครงการ HOD : Hommali Rice On Delivery หรือจัดส่งข้าวหอมมะลิบรรจุถุงขนาด 5 และ 1กิโลกรัม ใช้บุคลากรนักศึกษาที่มีกว่า 300 คนที่ว่างจากการเรียนหรือหลังเลิกเรียน มาจัดส่งข้าวหอมมะลิถึงมือผู้บริโภคในมหาวิทยาลัยขอนแก่นและพื้นที่ใกล้ เคียง โดยจำหน่ายในราคาถุงละ 220 บาท และ 45 บาทตามลำดับ
หัวหน้าภาควิชาอุตสาหการ กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จดีมาก ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เฉพาะยอดจำหน่ายผ่านบริการส่งถึงบ้านเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 400-500 ถึง หรือยอดขายมากกว่าเดือนละ 2,000 กิโลกรัม รวมยอดขายถึงปัจจุบันมากกว่า 4 ตันแล้ว ทั้งยอดจำหน่ายมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกเดือน
ผลดีจากโครงการดังกล่าว เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ ทั้งมีตลาดรองรับที่แน่นอน ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงในด้านราคาข้าวหอมมะลิ ให้กับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
“กระแสตอบรับโครงการดังกล่าวดีมาก ภาควิชาอุตสาหการ ได้ขยายพื้นที่จัดส่งให้ครอบคลุมทั้งเขตเทศบาลนครขอนแก่น รองรับความต้องการและระบายผลผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพได้มากขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขยายโครงการจัดส่งข้าวหอมมะลิบรรจุถุง ไปยังจังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนตั้งอยู่”ผศ.ดร.วีร พัฒน์ กล่าวและว่า
จากการประสานงานเบื้องต้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะขยายการจัดส่งข้าวหอมมะลิคุณภาพทุ่งกุลาร้อง ไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีบุคลากรนักศึกษาที่พร้อมดำเนินการ และพร้อมขยายผลไปยังมหาวิทยาลัยอื่นทั่วประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น