++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

มทร.ธัญบุรีเผยงานวิจัยอัจฉริยะกำจัดสาหร่ายพิษ

คณะนักวิจัย มทร.ธัญบุรี เผยผลงานวิจัยการกำจัดสาหร่ายพิษในแหล่งน้ำสาธารณะ นำเครื่องอัลตราโซนิคกำจัดสาหร่ายตัวการก่อโรคตับอักเสบ - มะเร็งตับ น้ำมีคุณภาพดีขึ้น

ผศ.ดร.สิริแข พงษ์สวัสดิ์ พร้อมทีมวิจัย


การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความ ต้องการของร่างกาย เป็นสิ่งที่ทำให้มีสุขภาพดีได้ทางหนึ่ง แต่ถ้าน้ำที่เราดื่มเข้าไปไม่สะอาดอย่างที่คิด ก็อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะน้ำที่มีสารแขวนลอยหรือสิ่งปนเปื้อนอย่างสาหร่ายมีพิษ เมื่อคนหรือสัตว์ดื่มเข้าไป ก็ส่งผลอันตรายต่อตับได้โดยตรง นอกจากสุขภาพไม่ดีแล้ว ยังทำให้ย่ำแย่ลงไปอีก

ผศ.ดร.สิริแข พงษ์สวัสดิ์ พร้อมคณะวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยถึงวิธีการการกำจัดสาหร่ายพิษในแหล่งน้ำว่า ทางทีมวิจัยสนใจศึกษาถึงสาหร่ายมีพิษตามแหล่งน้ำสาธารณะ และประสิทธิภาพของเครื่องอัลตราโซนิคในการกำจัดสาหร่ายพิษเป็นสำคัญ

ทีมวิจัย ได้ลงพื้นที่ศึกษาที่แหล่งน้ำในสวนสาธารณะท่าดินแดง โดยลงรายละเอียดศึกษาทั้งชนิด ปริมาณ ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของสาหร่ายมีพิษ และสาหร่ายชนิดอื่นๆ อีกทั้งศึกษาคุณภาพน้ำทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่เกี่ยวข้องอันจะนำมาสู่การป้องกันและแก้ไข ปัญหามลพิษของแหล่งน้ำ อีกด้วย

"แรก เริ่มเราต้องทำความรู้จักกับสาหร่ายพิษก่อน ซึ่งในที่นี้ คือ สาหร่ายพิษ Microcystis spp. ซึ่งเป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่สร้างสารพิษไมโครซิสติน อันเป็นสารที่มีผลต่อตับ ก่อให้เกิดตับอักเสบ และเร่งการเกิดมะเร็งของตับ นอกจากจะเกิดกับคนแล้ว พิษของสาหร่ายชนิดนี้ยังมีผลโดยตรงต่อสัตว์น้ำหรือสัตว์บกที่ไปบริโภคน้ำที่ มีสาหร่ายชนิดนี้อยู่" ผศ.ดร.สิริแข กล่าว

สถานที่เก็บตัวอย่างน้ำ จากสวนสาธารณะท่าดินแดง


แหล่งน้ำที่ติดตั้งเครื่องอัลตราโซนิคแล้ว 2 เดือน


ในกระบวนการทดสอบ ทีมนักวิจัยได้ใช้บริเวณสวนสาธารณะท่าดินแดง โดยในการทดสอบได้ทำการศึกษาชนิดและปริมาณสาหร่าย Microcystis spp. และสาหร่ายชนิดอื่นๆบริเวณสวนสาธารณะท่าดินแดง ทำการเก็บตัวอย่างจำนวน 13 ครั้ง ตั้งแต่ไม่ได้ติดตั้งเครื่องอัลตราโซนิคในครั้งที่1 และเริ่มติดตั้งเครื่องอัลตราโซนิคตั้งแต่ครั้งที่ 2 ถึง 13 โดยเก็บตัวอย่างเป็นเวลากว่า 4 เดือน ในปีที่ผ่านมา

"ปรากฏ ว่าเราพบแพลงก์ตอนพืชทั้งหมด 5 ดิวิชั่น 41 สปีชีส์ และพบสาหร่ายที่สร้างสารพิษได้ทั้งหมด 7 ชนิด คือ Cylindrospermopsis phillippinensis, C. raciborskii, Microcystis aeruginosa, Planktolyngbya limnetica, Oscillatoria limosa, Oscillatoria tenuis และ Phormidium sp.1 และยังพบสาหร่ายชนิดMicrocystis aeruginosa ที่เป็นชนิดเด่น" นักวิจัยอธิบาย

ทีมวิจัยอธิบายต่ออีกว่า เมื่อติดตั้งเครื่องอัลตราโซนิคที่แหล่งน้ำแล้วพบว่า จำนวนเซลล์สาหร่ายพิษมีค่าลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน จนกระทั่งไม่พบสาหร่ายชนิดนี้เลยในการเก็บตัวอย่าง 2 ครั้งสุดท้าย โดยพบว่ามีการเจริญแทนที่กันโดยสาหร่ายชนิดอื่นๆที่ไม่ได้สร้างพิษ และเป็นสาหร่ายที่มักพบในน้ำคุณภาพปานกลาง จึงแสดงให้เห็นว่าน้ำมีคุณภาพดีขึ้น

ทีมวิจัยกำลังเก็บตัวอย่างน้ำ
ดร.สิริแข เล่าอีกว่า เครื่องอัลตราโซนิคมีประสิทธิภาพที่สามารถกำจัดสาหร่ายพิษได้ โดยใช้หลักการทำงานของคลื่นความถี่จากเครื่องอัลตราโซนิคแผ่ขยายเข้าไปทำลาย เซลล์สาหร่ายให้แตกและตายไปในที่สุด ซึ่งจากผลการวิจัยนี้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำจัดสาหร่ายพิษในแหล่งน้ำซึ่งมีบริเวณพื้นที่ ที่กว้างขึ้นต่อไป

ความสำเร็จของงานวิจัยครั้งนี้ ถือได้เป็นองค์ความรู้ต้นแบบที่ใช้ในการศึกษา จำแนก และวิเคราะห์คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำที่ใกล้ชิดชุมชน และสามารถนำไปศึกษาแหล่งน้ำอื่นๆได้ในวงกว้างมากขึ้น ทั้งยังสามารถต่อยอดถึงวิธีการในการกำจัดสาหร่ายพิษด้วย ในการนี้ทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนเครื่องอัลตราโซนิคจากกรมช่างโยธาทหาร อากาศ กองทัพอากาศ และบริษัท O.K.D Environment Co.,Ltd และCS Global Trade Co.,Ltd

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น