++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2554

ทำบุญง่าย ๆ ตามภาษาคน (ไม่ค่อย) มีเวลา

ทำบุญง่าย ๆ ตามภาษาคน (ไม่ค่อย) มีเวลา
โดย.....ติกฺขปญฺโญ

จุลสาร “แสงธรรม” ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน จ.ขอนแก่น
ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑๕ มิถุนายน – ธันวาคม ๒๕๔๕


พูดถึงเวลาถ้าเราจะทำบุญ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง การตักบาตรพระ หรือ เข้าวัดทำบุญ เป็นส่วนมาก แต่ถ้าหากว่าเราไม่ค่อยมีเวลาตักบาตรพระหรือเข้าวัดทำบุญ ก็เลยเสียโอกาสในการ สะสมบุญของเรา

วันนี้จึงมีเรื่องมาเล่าให้ทุก ๆ คนได้อ่านพิจารณากัน เผื่อจะได้แง่มุมใหม่ ๆ ในการสร้างบุญสร้างกุศลสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเวลา หรือ มีเวลาทำเป็นปกติอยู่แล้ว แต่มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ได้อ่าน เพื่อจะได้เข้าใจว่า ถ้าเราทำอย่างที่บอกต่อไปนี้ เราจะได้อะไรบ้าง

เชื่อว่าที่บ้านของทุกคนจะต้องมีหิ้งพระบูชาหรือโต๊ะหมู่บูชา แต่ถ้าไม่มีให้หารูปพระมาติดไว้ที่ผนังบ้านก็ได้ จากนั้นให้เราหาขัน หรือกระปุกออมสิน หรือบาตรพระพลาสติก (ที่ร้านสังฆทานจะมีขาย เป็นบาตรพลาสติกเจาะรูเหมือนกระปุกออมสิน)

ทุกวันให้เราทุกคนสละเวลาเพียงวันละประมาณ ๒๐–๓๐ นาที สวดมนต์ไหว้พระ เวลาไหนก็ได้ที่เราว่าง เราสบายใจ เช้า สาย บ่าย เย็น หรือก่อนนอนก็ได้

โดยเริ่มสวดจากบท

อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อภิปูชะยามิ
อิมินา สักกาเรนะ ธัมมัง อภิปูชะยามิ
อิมินา สักกาเรนะ สังฆัง อภิปูชะยามิ

อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)

สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ (กราบ)

ต่อไปก็ตั้ง

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

ระหว่างที่ตั้งนะโม ก็ให้เราเอาเงินมาจบไว้ที่มือจะกี่บาทก็ได้ ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท หรือจะมากกว่านั้นก็ได้ตามศรัทธา

จากนั้นก็เริ่มสวด

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ต่อจากนั้นก็เริ่มสวด

บทพระพุทธคุณ (อิติปิ โส ภะคะวา ฯลฯ)

บทพระธรรมคุณ (สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ฯลฯ)

บทพระสังฆคุณ (สุปะฎิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ฯลฯ)

ถ้ามีเวลา ให้สวดบท

พาหุง มหากา ฯลฯ

จบแล้วให้กลับมาสวด

พระพุทธคุณ บทเดียว ๙ จบ หรือเท่าอายุบวกหนึ่ง

ถ้าไม่มีเวลา ให้กลับมาสวดบท

พระพุทธคุณ บทเดียว ๙ จบ หรือเท่าอายุบวกหนึ่ง

ต่อจากนั้น ตั้งสมาธิจิตสักระยะหนึ่ง แล้วอธิษฐานจิต

อธิษฐานจิตเสร็จ เอาเงินที่เราจบไว้ที่มือใส่เข้าไปในภาชนะที่เตรียมไว้ที่หิ้งพระหรือที่โต๊ะหมู่

เสร็จแล้วแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลทุกครั้ง ทำอย่างนี้ทุกวันอย่าให้ขาด

ถามว่าเราจะได้อะไรจากการปฏิบัติอย่างนี้ ?

๑. ถามว่า ขณะที่เราสวดมนต์อยู่นั้นเราสวดมนต์บูชาใคร ?

ตอบ เราสวดมนต์บูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขณะที่สวด จิตเราก็น้อมอยู่กับคุณพระรัตนตรัย ขณะนั้นจิตเรามี พุทธานุสสติ. ธัมมานุสสติ, สังฆานุสสติ ได้แล้วกรรมฐาน ๓ กอง

๒. ขณะที่สวดมนต์อยู่นั้น เราสวดมนต์ด้วยจิตที่มีอาการสำรวม มีความตั้งใจในการสวด

ถามว่า อาการที่จิตสำรวม มีความตั้งใจในการสวดนั้น เป็นอาการของอะไร ?

ตอบว่า เป็นอาการของสมาธิ ได้แล้วสมาธิเบื้องต้น

๓. ขณะที่สวดมนต์ด้วยจิตที่มีอาการสำรวม มีความตั้งใจ จิตของเราก็คอยนึกถึงระวังไม่ให้หลงลืมในบทสวด

ถามว่า อาการที่คอยนึกถึง ระวังไม่ให้หลงลืมในบทสวดนั้นเป็นอาการของอะไร ?

ตอบ เป็นอาการของสติ ได้ฝึกสติในการสวดมนต์ไปในตัว

๔. ขณะที่เราสวดมนต์เสร็จตั้งจิตเป็นสมาธิอธิษฐานจิต เอาเงินที่จบใส่ลงไปในภาชนะที่ได้เตรียมไว้เป็น ทานบารมี อธิษฐานบารมี ซึ่งก็วกมาเข้าเรื่องของบารมี ๓๐ ทัศ

บารมี แปลว่าอะไร ความดีที่ควรบำเพ็ญ ซึ่งประกอบด้วย

๑. ทานบารมี
๒. ศีลบารมี
๓. เนกขัมมะบารมี
๔. ปัญญาบารมี
๕. วิริยะบารมี
๖. ขันติบารมี
๗. สัจจะบารมี
๘. อธิษฐานบารมี
๙. เมตตาบารมี
๑๐. อุเบกขาบารมี

ถ้าจะถามว่า การที่เราสวดมนต์เพียงไม่กี่นาทีตรงนี้ เราจะได้บารมีอะไรบ้าง ?

ตอบ
๑. ขณะที่เราสวดมนต์เสร็จ เราทำทาน คือ เอาเงินที่จบใส่ในขัน ฯลฯ เป็น ทานบารมี

๒. ขณะที่เราสวดมนต์อยู่ในขณะนั้น เราไม่ได้ทำบาปกรรมกับใคร มีศีลอยู่ในขณะที่สวดเป็น ศีลบารมี

๓. ขณะที่เราสวดมนต์อยู่ จิตเราปราศจากนิวรณ์มารบกวนใจ ถือว่าเป็นการบวชใจเป็น เนกขัมมะบารมี

๔. ถ้าจะถามว่า การที่เราสวดมนต์ไหว้พระ เราทำด้วยความงมงายหรือไม่ ? ตอบ ไม่ ทำด้วยศรัทธา ทำด้วยปัญญาที่เห็นว่ามันเป็นประโยชน์ ช่วยฝึกจิตฝึกใจให้เกิดสติมีสมาธิเป็น ปัญญาบารมี

๕. ถ้าเราไม่มีความเพียร เราก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเพียรเป็น วิริยะบารมี

๖. มีความเพียรแล้ว ไม่มีความอดทน ความเพียรก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความอดทน ความอดทนเป็น ขันติบารมี

๗. มีความเพียรมีความอดทนแล้ว แต่ขาดสัจจะในการกระทำ หมายถึง ความจริงใจ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีความจริงใจในการประพฤติปฏิบัติ ความจริงใจเป็น สัจจะบารมี

๘. เมื่อเราสวดมนต์เสร็จทำสมาธิ ตั้งจิตอธิษฐาน การอธิษฐานเป็น อธิษฐานบารมี

๙. ใส่บาตรเสร็จก็ต้องแผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศล การแผ่เมตตาเป็น เมตตาบารมี

๑๐. ขณะที่แผ่เมตตา เราก็ต้องทำใจให้เป็นเมตตาไม่มีประมาณในสัตว์ทั้งหลาย ทำใจให้เป็นพรหมวิหาร อุเบกขา วางเฉย อโหสิกรรมกับบุคคลที่เราได้เคย ล่วงเกินกันมา ไม่โกรธใคร ไม่เกลียดใคร ไม่ชอบใคร ไม่ชังใคร ทำใจให้นิ่ง ทำจิตให้สงบเย็น วางจิตให้เป็นอุเบกขาเป็น อุเบกขาบารมี (คืออุเบกขาที่ทรงด้วยพรหมวิหาร)

เห็นไหมครับ เพียงแค่เราสวดมนต์เพียงไม่กี่นาทีต่อวัน เราก็ได้บารมีครบถ้วน และสิ่งเหล่านี้เองก็จะ สะสมในใจของเราทีละเล็กละน้อย เหมือนเราเก็บเงินวันละบาท ๑๐ วันก็ได้ ๑๐ บาท แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร เราก็จะไม่ได้อะไรเลย แล้วเงินที่เราหยอดทุกวันที่ได้จากการสวดมนต์ ก็เหมือนกับเราได้ใส่บาตรทุกวัน โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน

เมื่อมีโอกาสเข้าวัด เราก็เอาเงินนั้นแหละไปทำบุญ หยอดตู้บริจาค ซื้อของถวายพระสงฆ์ ได้ซองผ้าป่ามา ก็เอาเงินที่เราสวดนั้นแหละใส่เข้าไปในซองผ้าป่า หากมีการสร้างพระ สร้างหนังสือธรรมะหรืออะไรต่าง ๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์ ก็เอาเงินที่เราหยอดทุกวันนั้นแหละไปทำบุญ ได้อานิสงส์มาก

แล้วจิตของเราก็จะติดอยู่กับกุศลทุกวัน เมื่อถึงเวลามันก็จะรวมเข้าในจิตของเราเป็นหนึ่งเดียว

มีหลายคนที่แนะนำให้ไปทำ ปรากฏว่า ทำแล้วจิตมีสมาธิมากขึ้น มีสติดีขึ้น จากคนที่ใจร้อน ก็ทำให้จิตใจมีอารมณ์เยือกเย็นขึ้น จะคิดทำอะไรก็รู้สึกว่าคล่องตัวมีคนช่วยเหลือ

ก็ฝากไว้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับ คนที่ไม่ค่อยมีเวลาทำบุญตักบาตรพระ หรือ เข้าวัด ถ้าท่านเห็นว่ามีประโยชน์ ก็พยายามเจริญศรัทธาให้มาก

ปฏิบัติให้ได้ทุกวัน แล้วท่านจะเห็นผลได้ในไม่ช้าอย่างแน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น