++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

เวทีนโยบาย:7 วันอันตรายกับความตายที่ไม่เปลี่ยนแปลงของ 358 ศพ

กล่าวตามตรง 358 ศพที่เซ่นสังเวยชีวิตช่วงเทศกาลปีใหม่ในห้วง 7 วันอันตราย 29 ธันวาคม 2553-4 มกราคม 2554 ไม่มีนัยสำคัญนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ด้วยเสมือนสังคมไทยจะ ‘ยอมรับได้’ ไปแล้วที่ทุกๆ ปีใหม่จะต้องมียอดคนตายจากอุบัติเหตุทางถนนราวๆ นี้

ปีใหม่นี้พฤติกรรมเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่อุบัติเหตุตามสถิติศูนย์ อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ก็ยังคงเป็นเมาแล้วขับสูงสุดถึงร้อยละ 41.24 รองลงมาคือขับเร็วร้อยละ 20.42 สอดคล้องกับข้อมูลของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ระบุว่าผู้เสียชีวิต 419 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสมที่ตายหลังจาก 24 ชั่วโมงแล้ว ที่ทราบข้อมูลการดื่มแอลกอฮอล์ 238 คน ในจำนวนนี้มากถึงร้อยละ 51 เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46 ในช่วงปีใหม่ที่แล้ว

ทั้งนี้แม้ปีใหม่นี้จะตั้งด่านตรวจรถยนต์ได้มหาศาลถึง 5,077,256 คัน เพิ่มขึ้นจากปีใหม่ที่แล้วร้อยละ 10.68 ในจำนวนนี้มีการดำเนินคดีถึง 591,286 ราย หรือร้อยละ 31.5 โดยเพิ่มขึ้นในทุกคดีที่เป็นความเสี่ยงหลัก ทั้งการดำเนินคดีกับผู้ไม่สวมหมวกนิรภัย 181,937 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.5 การกวดขันรถจักรยานยนต์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่มีกระจกมองหลัง ไม่มีไฟหน้า-ท้าย 56,246 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.5 ทว่าถึงที่สุดแล้วก็ไม่อาจลดความสูญเสียลงได้ โดยเฉพาะจากเมาแล้วขับ

การจับกุมดำเนินคดีเมาแล้วขับลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 10 เหลือแค่ 10,397 ราย หรือเฉลี่ยช่วง 7 วันอันตรายมีการตรวจและดำเนินคดีเพียง 135 ราย/จังหวัด หรือ 20 คดี/วัน/จังหวัด เท่านั้น ทั้งๆ ที่จริงแล้วช่วงเทศกาลควรจะเข้มงวดกวดขันเมาแล้วขับกว่าช่วงปกติด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้ ความไม่สัมพันธ์กันของการบังคับใช้กฎหมายเมาแล้วขับกับจำนวนผู้ดื่มเครื่อง ดื่มแอลกอฮอล์เฉลิมฉลองปีใหม่จึงเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้การระดมความ ร่วมมือและทรัพยากรจากทุกฝ่ายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงร้อยละ 5 ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะถึงจะลดจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุลงได้ร้อยละ 1.05 หรือ 37 ครั้ง เหลือ 3,497 ครั้ง การบาดเจ็บต้องรับไว้ในโรงพยาบาล (Admit) ลดลงร้อยละ 2 หรือ 77 คน เหลือ 3,750 คนได้ก็ตาม แต่จำนวนผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 11 ศพ หรือร้อยละ 3.17 ยอดรวมเพิ่มเป็น 358 ศพ

ผลลัพธ์ 358 ศพตลอด 7 วันระวังอันตรายภายใต้บรรยากาศการบังคับใช้กฎหมายที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.5 จึงสะท้อนความล้มเหลวของภาครัฐในการกำกับกฎหมายเมาแล้วขับ เท่าๆ กับการรณรงค์สาธารณะเมาไม่ขับ-ดื่มไม่ขับที่ไม่สัมฤทธิผลของสังคมไทย เพราะไม่เพียงผลสำรวจประชาชน 10,464 คนใน 17 จังหวัดภาคกลางเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมูลนิธิไทยโรดส์จะพบว่าร้อยละ 22 มีทัศนะเห็นด้วยกับการดื่มสุราแต่ยังครองสติได้ ก็น่าจะขับรถได้ และร้อยละ 16 ระบุว่าตนเองมีพฤติกรรมดื่มแล้วขับอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เท่านั้น ทว่าการบังคับใช้กฎหมายของรัฐยังไม่ทำให้ผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ตระหนักว่าตนเองมีโอกาสถูกเรียกตรวจได้ทุกเมื่อด้วย

ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม ‘ซ้ำซาก’ ให้มีประสิทธิภาพนั้นต้องการความต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ ‘สองมาตรฐาน’ และไม่อาจทำได้ในชั่วข้ามคืน รวมทั้งต้องออกแบบจุดตรวจ-จุดสกัดให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงในช่วงเวลาต่างๆ โดยเฉพาะช่วงกลางคืนที่คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 2 ใน 3 และต้องเข้าถึงถนนในชุมชน-ท้องถิ่นที่มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากด้วย เพราะผลการศึกษาในต่างประเทศระบุชัดว่าจุดตรวจแบบสุ่มมีประสิทธิผลกว่าการ ตั้งประจำจุดถึงร้อยละ 30

ดังนั้น ในการคลี่คลายความตายที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของ 358 ศพตลอด 7 วันอันตราย ทางศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เสนอแนวทางปฏิบัติว่า

1) บังคับใช้กฎหมายต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพราะทุกๆ วันเป็นวันอันตาย คนไทยตาย 25 คน/วันทั้งจากพฤติกรรมเสี่ยงตนเองและถูกคนเมาแล้วขับชนตาย จึงต้องเพิ่มทรัพยากรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น อุปกรณ์การตรวจเมา อุปกรณ์การตั้งจุดตรวจ รวมทั้งค่าตอบแทนที่เพียงพอ

2) ลดค่าใช้จ่ายจุดที่ไม่ส่งผลต่อความปลอดภัยทางถนนกรณีงบประมาณจำกัด เช่น การลดจำนวนจุดบริการที่ไม่ส่งผลต่อการลดพฤติกรรมเสี่ยง เพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3) เพิ่มมาตรการสังคม ความสำเร็จหลายพื้นที่เกิดจากการมีมาตรการสังคมมาหนุนเสริมการบังคับใช้ กฎหมาย เช่น ข้อตกลงชุมชนเรื่องเมาแล้วขับ ซึ่งให้ผลดีกว่าการใช้กฎหมายถ่ายเดียว

4) เพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะประเด็นที่ทำให้สังคมตระหนักว่าตำรวจบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้าง ‘ความปลอดภัย’ ไม่ใช่ ‘จับ-ปรับ’ อย่างเดียว

5) วิเคราะห์ข้อมูลรอบด้าน และออกแบบการบังคับใช้ให้ตรงจุดตรงเวลาและตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เพิ่มการกวดขันเมาแล้วขับ หมวกนิรภัย 100% และที่สำคัญมีข้อมูลการ ‘กระทำความผิดซ้ำ’ เพราะจะกำหนดบทลงโทษผู้กระทำผิดได้เหมาะสม

6) ใช้ข้อมูลเพื่อติดตามกำกับอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทราบผลงานการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละ จังหวัด ถ้าข้อมูลชี้ว่าจังหวัดนั้นมีอัตราการตายจากเมาแล้วขับ แต่ไม่มีการตรวจจับดำเนินคดีเมาแล้วขับ ก็ต้องหามาตรการกำกับที่ตอบโจทย์พื้นที่มากขึ้น

เพื่อทุกชีวีบริสุทธิ์บนท้องถนนจะเดินทางปลอดภัยทั้งปี ไม่มีชะตากรรมเลวร้ายเช่น 358 ศพที่ไม่อาจสวัสดีปีใหม่ต่อไปได้ จะต้องทำให้ ‘ทุกวันปลอดภัย’ ด้วยถ่องแท้ถนนทุกสายในทุกๆ วันนี้นั้นอันตรายมากเพราะยังปนเปื้อนมัจจุราชดื่มแล้วขับกับขับเร็ว

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น