++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

สพฐ.ประกาศ 4 “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ปี 2554

สพฐ.ประกาศการคัด เลือก “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ปี 2554 ภาคละหนึ่งคนรวม 4 คน พร้อมเข้ารับรางวัลเชิดชูเกียรติจากนายกรัฐมนตรี ในวันครู 16 ม.ค.นี้

วันนี้ (13 ม.ค.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดมอบรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ในโครงการ “ตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู” ในครั้งแรกเมื่อปี 2550 เพื่อเป็นกายกย่องให้ครู มีความเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ ทั้งปฏิบัติตนและปฏิบัติงานเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมและสร้างค่านิยมให้ สังคมยอมรับ และเพื่อผลักดันให้ครูมีกระบวนทัศน์ใหม่ ใฝ่รู้ และรู้คิดได้อย่างรวดเร็ว ดำเนินงานประสบความสำเร็จและพัฒนาการศึกษาของประเทศในสภาพของชุมชน สังคมที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม มีความยากลำบาก มีภัยคุกคามทางสังคม ความมั่นคงของชาติ ซึ่งได้มอบให้กับ “ครูจูหลิง ปงกันมูล” เป็นรายแรก ในปี 2550 เป็นต้นมา

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับในปี 2554 นี้ สพฐ.ได้ดำเนินการคัดเลือกข้าราชการครู หรือผู้ทำหน้าที่ครู ทั้งภาคราชการ และเอกชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีชุมชนและสังคมที่มีความแตกต่างทาง ภาษาและวัฒนธรรม มีปัญหาภัยสังคมหรือความมั่นคงของประเทศ มีความเสี่ยง ต่อการปฏิบัติงานและเป็นผู้ทุ่มเท เสียสละเพื่อช่วยเหลือดูแลนักเรียนอย่างต่อเนื่อง จนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์ในระดับประเทศภาคละหนึ่งคนรวมทั้งหมด 4 คน ได้แก่

ภาคเหนือ น.ส.สุพิทยา เตมียกะลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสล่าเจียงตอง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ภาคใต้ นายศรัทธา ห้องทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อ.กาบัง จ.ยะลา

ภาคกลาง นางสิริยุพา ศกุนตะเสถียร ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานารี เขตธนบุรี กทม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางศิริพร หมั่นงาน ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านวังอ้ายคง อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ

“มีครูจำนวนมากมายที่มีความศรัทธาในวิชาชีพ มีความอดทนและรับผิดชอบ มีความเสียสละ และที่สำคัญคือมีความรัก ความเมตตา และปรารถนาดีต่อลูกศิษย์ ดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม แบ่งครึ่งชีวิตให้กับตนเองและสังคม เป็นต้นแบบที่ดีของสังคม รวมทั้งสร้างค่านิยมให้สังคม อันเป็นที่เรียกขานในสังคมว่า การเป็นครูด้วย “จิตวิญญาณครู” สพฐ.ขอเป็นกำลังใจ และพร้อมที่จะดูแลให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งจะร่วมก้าวไปข้างหน้ากับเพื่อนครูทั่วประเทศในการทุ่มเทปฏิบัติ หน้าที่เพื่อประเทศชาติต่อไป” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

นายชินภัทร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ สพฐ.ยังได้จัดโครงการ “ครูดีในดวงใจ” ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2554 ขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ “ครูดีในดวงใจ” ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แบ่งเป็นระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวนทั้งสิ้น 744 คน และ “ครูดีในดวงใจ” ระดับ สพฐ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาละ 1 คน และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 1 คน จำนวนทั้งสิ้น 186 คน ซึ่งสรรหาและคัดเลือกครูสายงานการสอน ผู้เป็นที่ศรัทธายกย่องยอมรับของนักเรียน เพื่อนครูและสังคมว่าเป็นแบบอย่างของผู้มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู และได้ทุ่มเทเสียสละเพื่อช่วยเหลือดูแลนักเรียนอย่างต่อเนื่องจนเกิดผลงาน เป็นที่ประจักษ์ โดยรางวัล “ครูดีในดวงใจ” ประจำปี พ.ศ.2554 ระดับ สพฐ. จำนวน 186 คนนี้ จะเข้ารับรางวัล เข็มทองคำเชิดชูเกียรติ “ครูดีในดวงใจ” ประจำปี 2554 โล่รางวัล และเกียรติบัตร จาก นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในวันครูที่ 16 ม.ค.นี้ ณ หอประชุมคุรุสภา ศธ.

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล “ยอดครูผู้มีอุดมการณ์” ในโครงการ “ตามรอยเกียรติยศครูผู้มีอุดมการณ์และจิตวิญญาณครู”ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2554 ประกอบด้วย

ภาคเหนือ น.ส.สุพิทยา เตมียกะลิน ผอ.ร.ร.บ้านสล่าเจียง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นั้น เป็นชาวจังหวัดลำปาง บรรจุครั้งแรกที่โรงเรียนบ้านสุดห้วยนา อ.แม่สะเรียง เมื่อปี พ.ศ.2534 และย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ที่โรงเรียนบ้านสล่าเจียงตอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบัน โรงเรียนตั้งอยู่ในป่าลึกกลางหุบเขา ติดแนวชายแดนพม่า เด็กนักเรียนเป็นชาวเขาเผ่าไทยใหญ่และกะเหรี่ยงใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสาร มีเด็กนักเรียนทั้งหมด 160 คน เป็นนักเรียนพักนอนประจำ 113 คน การเดินทางใช้วิธีการเดินเท้าอย่างเดียว เป็นผู้ที่อุทิศตนและทุ่มเทเพื่อพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กชาวเขา ส่งเสริมให้เด็กชาวเขาได้มีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ไม่ย่อท้อแม้จะประสบปัญหาอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเชื้อชาติ ความแตกต่างทางด้านภาษาและวัฒนธรรม แต่ก็ทุ่มเทพัฒนาโรงเรียนจนเป็นที่ศรัทธา ยกย่อง ยอมรับ จากเด็กนักเรียน ชุมชน บุคคลต่างๆทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้ได้รับการบริจาคและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น บริจาคเงินซื้อที่ดินสร้างอาคารเรียน อาคารพักนอน ฯลฯ ผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งสองรอบ อยู่ในระดับดี และดีมาก หลักการบริหารงาน ผอ.จะใช้วิธีการยึดหลักการกระจายอำนาจ

ภาคใต้ นายศรัทธา ห้องทอง ผอ.ร.ร.บ้านคลองน้ำใส อ.กาบัง จ.ยะลา โดยโรงเรียนตั้งอยู่บนไหล่เขา ทำให้ประสบปัญหาการพังทลายของดินเป็นบางช่วง พื้นที่โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) เมื่อปี 2550 โรงเรียนถูกลอบวางเพลิงจากโจรผู้ก่อการร้าย แต่ชุมชนก็สามารถช่วยกันดับไฟได้ทัน ปัจจุบันโรงเรียนและชุมชนได้ร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ขึ้น จนทางการประกาศให้เป็นหมู่บ้านเข้มแข็ง แต่โรงเรียนก็ยังต้องมีฐานของหน่วยทหารตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนจำนวน 1 หมวดปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยของเด็กนักเรียนและครู เด็กนักเรียน และชุมชนเป็นชาวมุสลิม 100% แต่ ผอ.และครูส่วนหนึ่งนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกัน และจัดกิจกรรมต่างๆระหว่างวิถีพุทธและมุสลิมได้อย่างดีไม่มีปัญหา จนได้รับการยกย่องให้เป็นโรงเรียนคุณธรรมต้นแบบ ผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับ ดีมาก

ภาคกลาง นางสิริยุพา ศกุนตะเสถียร ผอ.ร.ร.ศึกษา นารี เขตธนบุรี กทม. ซึ่ง ร.ร.ศึกษานารีเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่มีปัญหานักเรียนยากจนมาก จากการบริหารงานโรงเรียนต่างๆที่ผ่านมา ทั้งโรงเรียนถาวรานุกูล จังหวัดสมุทรสงคราม โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม และโรงเรียนศึกษานารี แต่ละโรงเรียนจะประสบปัญหาต่างๆ มากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาแรงงานต่างด้าว ปัญหาความขาดแคลนอาคารสถานที่ แต่ก็ทุ่มเทเสียสละทั้งแรงกายและแรงใจ เข้าหามวลชนจัดหาทุนสร้างอาคารเรียนได้จนประสบความสำเร็จ และพัฒนาโรงเรียนจนโรงเรียนศึกษานารีได้รับรางวัลต่างๆหลายรางวัล รวมทั้งโรงเรียนรางวัลพระราชทานขนาดใหญ่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางศิริพร หมั่นงาน ครู ชำนาญการพิเศษ ร.ร.บ้านวังอ้ายคง อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ซึ่งถือเป็น เป็นครูผู้หญิงคนแรกของโรงเรียน การเดินทางเมื่อปี พ.ศ. 2523 การเดินทางต้องเดินทางด้วยเท้า มีการระบาดของโรคไข้มาลาเรียและไข้เลือดออก ชุมชนเป็นคนภูเขา (ชาติพันธุ์ญัฮกุร) เรียกตนเองว่า “ชาวบน” หรือ “คนดง” ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงได้เริ่มศึกษาและทำโครงการวิจัยภาษาและวัฒนธรรมของชาวญัฮกุรขึ้นมา ถือเป็นแบบเรียนภาษาท้องถิ่นญัฮกุร เป็นเล่มแรกของโลก ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล มีการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน (เด็กญัฮกุร) ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ให้สามารถเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ จนได้รับรางวัลครูดีเด่นด้านการพัฒนาเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ผ่านภาษา แม่ (ญัฮกุร) นำมาซึ่งความเชื่อถือ ศรัทธายกย่องยอมรับจากเด็กนักเรียน ชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งเป็นสถานที่ศึกษาดูงานและเผยแพร่ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น