++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความผิดพลาดของแผนที่

โดย ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล 4 พฤศจิกายน 2553 11:41 น.


ข้าพเจ้าขอถือโอกาสย้ำอีกครั้งถึงความผิดพลาดของแผนที่ที่กัมพูชานำมาใช้ประกอบเอกสาร แผนที่ฉบับนี้ทำขึ้นโดยกรรมการฝรั่งเศสในคณะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศสโดยไทยมิได้มีส่วนร่วม แผนที่ดังกล่าวมีความผิดพลาดอย่างมหันต์เนื่องจากเส้นเขตแดนคลาดเคลื่อนจากข้อตกลงในสนธิสัญญาซึ่งระบุว่าสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขต ทั้งนี้ ได้มีผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ 3 ท่านในคดีปราสาทพระวิหารได้ชี้ให้เห็นความไม่ถูกต้องของแผนที่ไว้อย่างละเอียดถึง 46 หน้าในคำพิพากษาแย้ง (พ.ศ. 2505) ข้าพเจ้าขออธิบายเพิ่มเติมว่า คำพิพากษาแย้งมิใช่เป็นเพียง ‘ความเห็น’ ตามที่หลายท่านเข้าใจ แต่เป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาซึ่งมีผลผูกพันคู่กรณี

ในประวัติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังไม่มีประเทศหนึ่งประเทศใดได้ดินแดนของอีกประเทศโดยทำแผนที่ผิด รุกล้ำเข้าไปในดินแดนของอีกฝ่ายโดยลากเส้นตามใจชอบ กรณีแรกน่าจะเป็นประเทศกัมพูชาซึ่งใช้แผนที่ที่รู้ดีอยู่แล้วว่ามีเส้นเขตแดนที่ผิดพลาดเป็นเครื่องกำหนดเขตแดน แผนที่ฉบับดังกล่าวทำขึ้นโดย พ.อ.แบร์นาร์ด (ฝรั่งเศส) ร.อ.ทริกซิแอร์ (ฝรั่งเศส) และ ร.อ.อุ่ม (เขมร) ซึ่งลากเส้นเขตแดนตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงสันปันน้ำซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตที่แท้จริงตามอนุสัญญา ค.ศ.1904 และสนธิสัญญาและพิธีสาร ค.ศ.1907


แผนที่แสดงภาพรวมที่ตั้งปราสาทพระวิหาร เปรียบเทียบแนวเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ของฝรั่งเศสที่ผิดพลาด (Line 1) กับเส้นเขตแดนที่ยึดสันปันน้ำตามหลักสากล (Line 2)

นอกจากนั้น MOU พ.ศ.2543 ยังใช้เอกสารอ้างอิงถึง 3 ฉบับคือ (1) อนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1904 (2) สนธิสัญญาและพิธีสาร ค.ศ.1907 และ (3) แผนที่ผนวก 1 มาตราส่วน 1:200,000 แผนที่ดังกล่าวเป็นที่ปรากฏอย่างชัดเจนมาช้านานกว่า 50 ปีแล้วว่าผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก ประเทศไทยได้อ้างอิงเอกสารหลักฐานของศาสตราจารย์ สเกร์เมอร์ฮอร์น พยานผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันแผนที่เมืองเดล์ฟ ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากผลจากการสำรวจของนายอัคเคอร์มานน์ รายงานผู้เชี่ยวชาญที่ไทยได้ยื่นต่อศาลฯ แสดงว่า เส้นเขตแดนในแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาได้ถูกกำหนดขึ้นโดยมิได้เป็นไปตามเส้นสันปันน้ำตามที่กำหนดไว้ในบทนิยามแห่งความตกลงที่ไทยกับฝรั่งเศสได้กระทำขึ้นเมื่อ ค.ศ.1904 และมีการยืนยันในปี 1907 ฉะนั้น เส้นเขตแดนที่ปรากฏในแผนที่ผนวก 1 จึงผิดพลาดโดยสิ้นเชิง

ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ทุกครั้งที่ฝรั่งเศส (ในอดีต) หรือกัมพูชา ถือโอกาสเสนอแผนที่ที่ผิดพลาดแทรกเข้ามาเป็นเอกสารลำดับที่ 3 ใน MOU 2543 2544 และ TOR 2546 รวมทั้งในแถลงการณ์ร่วม พ.ศ.2551 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเอกสารที่มิชอบ ไทยจำเป็นต้องทักท้วงหรือตั้งข้อสังเกตไว้

แผนที่ที่ผิดพลาดย่อมใช้ไม่ได้และไม่มีผล แต่กัมพูชาก็หยิบยื่นหรือยัดเยียดให้ไทยเช่นเดียวกับที่ฝรั่งเศสได้กระทำเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ไทยชอบที่จะตั้งข้อสังเกตและคัดค้านอย่างชัดเจน มิใช่เกรงใจหรือเกรงกลัว ไม่กล่าวถึงซึ่งหมายถึงการยอมรับโดยดุษณี

อนึ่ง ในการเจรจาสองฝ่ายหรือทวิภาคี คู่เจรจามีหน้าที่พูด มิใช่ฝ่ายหนึ่งพูดแต่อีกฝ่ายรับฟังสถานเดียว โดยเฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบถึงอธิปไตยของประเทศชาติซึ่งมีความสำคัญสูงสุด การไม่โต้แย้งจะนำมาซึ่งกฎหมายปิดปากเช่นในอดีต และครั้งนี้ไทยจะต้องอัปยศยิ่งกว่าเพราะมิได้ถูกปิดปากโดยฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ แต่ถูกปิดปากโดยอดีตประเทศราชของไทยเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น