++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โรคซึมเศร้า

ปวดหัว …. ปวดหลัง … เบื่ออาหาร … อ่อนเพลีย … นอนไม่หลับ …
คุณเคยมีอาการเหล่านี้ไหม ถ้ามี คุณอาจจะแปลกใจ ถ้าจะบอกว่าคุณอาจเป็นโรคซึมเศร้าก็ได้

ปวดหัวเกี่ยวอะไรกับซึมเศร้า? ไอ้ประเภทปวดหัวตอนปลายเดือน แต่พอต้นเดือนก็ไปปวดในผับในคาเฟ่ (อย่าเกินตีสองนะ) คงไม่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าแน่ แต่ถ้าปวดอยู่บ่อยๆ นอกจากปวดหัวแล้วเดี๋ยวก็ปวดโน่น ปวดนี่ เป็นๆ หายๆ อยู่เรื่อย นี่อาจจะเริ่มเกี่ยวก็ได้

จากการวิจัยเราพบว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะไวต่อการรับรู้อาการปวดต่างๆ มากกว่าในภาวะปกติ นอกจากนั้น ภาวะตึงเครียดทางจิตใจจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวได้ง่าย เลยพาลจะตึงเนื้อตึงตัว ปวดเมื่อยจนต้องนึกถึงนวดแผนไทยไปโน่น

อาการปวดเมื่อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เหล่านี้ ทำให้นึกถึงโรคซึมเศร้า แต่ลำพังแค่นี้ยังไม่พอครับ

คุณยังต้องมีอาการที่จัดว่าเป็นหัวใจของโรคซึมเศร้า คือ อาการซึมเศร้า หรือเบื่อหน่ายไปหมด ยิ่งถ้าเป็นนาน 2-3 อาทิตย์แล้วก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นโอกาสที่จะเป็นก็ยิ่งมากขึ้น

ลักษณะอาการของโรคซึมเศร้าบางครั้งก็คล้ายๆ กับตุ๊กตาที่ถ่านกำลังจะหมด อะไรๆ ก็ช้าไปหมด บางครั้งก็พาลหยุดเอาเสียเฉยๆ ยังงั้นแหละ ในคนที่เป็นโรคซึมเศร้าพลังชีวิตของเขาจะตกลงมาก งานการกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ต้องฝืนใจทำให้แต่ละวันผ่านพ้นไป บางทีตื่นเช้ามานึกไม่อยากไปทำงานก็นนอนต่อมันไปซะเฉยๆ ยังงั้นแหละ ทั้งๆ ที่เดิมมีแต่คนชมว่าขยัน เป็นคนรับผิดชอบดี พอไปทำงานก็เอาแต่นั่งซึมกะทือ จนเพื่อนๆ เป็นห่วง ครั้นจะชวนไปเที่ยวให้รีแลกซ์บ้างเจ้าตัวก็ไม่ยอมไปไหนเลย

พอเจ้าถ่านไฟ (เก่าๆ) มันตก ความเชื่อมั่นในตนเองที่เคยมีเต็มเปี่ยมก็พลอยหดหายไปด้วย จากเดิมที่เป็นหนุ่มน้อยหน้าเชิด นึกว่าข้าเป็นเลิศในปฐพี ก็กลับกลายเป็นหนุ่มใหญ่คอตกไปในบัดดล (ขนาดนั้นเชียว) จะทำอะไรก็ลังเลใจไปหมด คนไข้ของผมคนหนึ่งจากเดิมที่เคยเป็นช้างเท้าหน้าในบ้าน พอป่วยเป็นโรคนี้เข้า เวลาขับรถ แม้แต่จะเลี้ยวช้างก็ยังต้องหันหน้าไปถามภรรยาว่า “คุณๆ ผมจะเลี้ยวตรงนี้ดีไหม?” บ้างก็เก็บเรื่องที่ผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในอดีตมาคิดไปหมด ยิ่งคิดยิ่งรูสึกว่าตัวเองแย่ ช่วงนี้บางคนพอมีเรื่องมากระทบก็อาจถึงกับคิดไม่อยากอยู่
ข่าวการฆ่าตัวตายตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่เราอ่านเจอบ่อยๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นมาจากโรคซึมเศร้านี่แหละ เพราะฉะนั้นการเป็นโรคนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่จะรักษาก็ได้ไม่รักษาก็ได้

ปัญหาคือบางครั้งเจ้าตัวเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ที่เขารู้คือเบื่อไปหมด เซ็งที่ทำงาน ปวดหัวเพราะมีเรื่องเครียดหลายเรื่อง คนรอบข้างก็ไม่รู้ เห็นแต่ว่าเขาเปลี่ยนไป ไม่ค่อยพูดกับใคร หงุดหงิดง่าย มีคนเปรียบเทียบไว้ดีทีเดียวว่าโรคซึมเศร้าเนี่ย บางครั้งก็เหมือนกับส้นรองเท้าที่มันค่อยๆ สึกไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้สึกอะไร พอได้เปลี่ยนรองเท้าใหม่ถึงรู้ว่าโธ่เอ๋ย ที่ผ่านๆ มาเราทนใส่คู่เดิมอยู่ได้ยังไงตั้งนาน

คนไข้ของผมหลายคนบอกว่าไม่รู้ว่าเมื่อก่อนคิดแต่ว่าตนเองแย่ มองอะไรก็แย่ไปหมดได้ยังไง เหมือนกับใส่แว่นสีชาไว้ พอถอดแว่นออกมา ฟ้าก็แจ้งจางปางเลย คนรอบข้างก็พลอยแฮปปี้ไปด้วย

โรคนี้มีผลกระทบต่อคนรอบข้างมากกว่าโรคทางกายมาก คนที่เป็นแม่บ้านจะหงุดหงิด ตีลูก ดุว่าลูกบ่อยขึ้น หรือไม่ก็ไม่สนใจงานบ้านเอาซะเลย คนที่เป็นพ่อบ้านก็อาจไม่ไปทำงาน ถูกเพ่งเล็ง ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้ก็อาจตกงานเอาได้ง่ายๆ ครอบครัวพลอยเดือดร้อนกันไปด้วย

ลองมาดูตัวเลขทางสถิติหน่อยไหมครับ จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่าผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจระดับประเทศมีถึง 44 พันล้านเหรียญต่อปีทีเดียว ซึ่งนอกจากตัวเลขนี้นอกจากเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถประกอบภาระกิจต่างๆ ได้ องค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2020 ประชากรโลกจะมีการสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจจากภาวะซึมเศร้าจสูงเป็นอันดับ 2 รองจากเพียงโรคหลอดเลือดหัวใจเท่านั้น

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า ถ้าสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคซึมเศร้าก็ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาดูครับ ถ้าสงสัยว่าเพื่อนๆ หรือญาติๆ เป็นก็ควรจะชักชวนเขาไปพบแพทย์ ไปตรวจไปปรึกษากันก่อน ใช่ไม่ใช่ค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง อย่าปล่อยทิ้งไว้ ไม่คุ้มกัน เดี๋ยวนี้เราพบว่าถ้ายิ่งรักษาเร็วยิ่งหายเร็ว
โรคซึมเศร้า เป็นแล้วหายเองได้ไหม ตอบว่าได้เหมือนกัน ถ้าคุณเป็นน้อยๆ ถ้าเป็นมากยังไงๆ ก็ไม่หายเอง เพราะแสดงว่ามีการเปลี่ยนแปลงในสมองแล้ว โดยเจ้าสารสื่อนำประสาทที่ชื่อซีโรโตนินลดต่ำลงมาก รวมไปถึงสารอื่นๆ อีกบางตัวด้วย ภาวะที่ขาดสมดุลของสารเคมีต่างๆ เหล่านี้ทำให้ระบบการทำงานของสมองรวนเรไป เรียกว่าเซลล์สมองคุยกันไม่รู้เรื่อง เกิดเป็นอาการต่างๆ ตามมา ยาที่แพทย์ให้จะไปช่วยปรับให้สารต่างๆ อยู่ในสมดุลใหม่ เซลล์ต่างๆ คุยกันเข้าใจเหมือนเดิม อาการก็ลดลง

การรักษาด้วยยาเป็นการรักษาหลักของโรคนี้ ยังไงก็ตามแม้ว่ายาจะลดอาการได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราปรับตัวต่อปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น เวลาเราพบจิตแพทย์นั้น สิ่งที่เราจะได้มากกว่าการรักษาด้วยยาคือแนวคิดในการแก้ไขปัญหา ที่จิตแพทย์คุยกับเรานานๆ ก็เพื่อหาดูว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน แล้วอะไรกันแน่ที่ทำให้คุณเครียด คนอื่นเขาอาจเจอปัญหาอย่างคุณแต่ก็ไม่เห็นเครียดมากอย่างนี้ คุณมีวิธีการปรับตัวกับปัญหาอย่างไร โดยหลักการก็คือเป็นการพูดคุยเพื่อทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น เรียกว่าเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าจุดอ่อนของเราอยู่ตรงไหน จนกว่าจะเกิดปัญหาขึ้นนั่นแหละ

ก่อนจบ อยากจะเล่าสู่กันฟังเล่นๆ ว่าโรคนี้เจอค่อนข้างบ่อย ประมาณกันว่าใน 100 คนมีคนเป็นสัก 5 คนได้ คนที่เคยป่วยด้วยโรคนี้ที่เราอาจรู้จักอย่างเช่น วินเซนต์ แวนโก๊ะ วินสตัน เชอร์ชิลล์ หรืออับราฮัม ลินคอล์น เป็นต้น ช่วงที่ซึมเศร้าลินคอล์นเขากล่าวว่า “ถ้าผมแบ่งความรู้สึกที่ผมมีอยู่ตอนนี้ให้คนทั่วโลกคนละเท่าๆ กันได้ ก็คงจะไม่มีใครที่มีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสสักคนเลย” แต่เขาก็หายกลับมาต่อสู้จนเป็นประธานาธิบดีคนที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา !!
เกณฑ์การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
ก. มีอาการต่อไปนี้ 5 อาการหรือมากกว่า (และต้องมีข้อ 1หรือ 2 อย่างน้อยหนึ่งข้อ) นาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป และต้องมีอาการเหล่านี้อยู่เกือบตลอดเวลา แทบทุกวัน ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ เป็นเพียงแค่วันสองวันหายไปแล้วกลับมาเป็นใหม่

- มีอารมณ์ซึมเศร้า (ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
- ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก หรือเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
- นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
- กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเชื่องช้าลง
- อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
- รู้สึกตนเองไร้ค่า
- สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
- คิดเรื่องการตาย คิดอยากตาย

ข. อาการเหล่านี้ทำให้มีปัญหาในด้านต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น