++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

บีโอไอ:ธุรกิจหนังสือกับความท้าทายในยุคดิจิตอล

โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ 28 พฤศจิกายน 2553 15:08 น.


ธุรกิจสำนักพิมพ์นับเป็นอุตสาหกรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์ เป็นการจัดทำและกระจายเนื้อหาทางวรรณกรรมหรือสารสนเทศไปสู่สาธารณะ ซึ่งแต่เดิมจะเผยแพร่ผ่านสื่อที่เป็นกระดาษเป็นหลัก แต่ปัจจุบันได้เผยแพร่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด

การจำหน่ายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ความจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยในต่างประเทศเริ่มจาก Audio book ซึ่งเป็นการอ่านออกเสียงให้ฟัง เริ่มมีการจำหน่ายตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 แต่เริ่มได้รับความนิยมอย่างมากนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา โดยได้รับความนิยมอย่างมากจากบุคคลที่ตาบอดหรือสายตาไม่ดี เดิมการจำหน่าย Audio book จะอยู่ในรูปแผ่นซีดีหรือเทปคาสเซท แต่ปัจจุบันได้เน้นจำหน่ายผ่านการดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ตเนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

ต่อมาเริ่มมีความนิยมใน e-Book ในรูปแบบ CD-ROM เดิมได้รับความนิยมสำหรับหนังสือประเภทปทานุกรมหรือดิกชันนารี เนื่องจากง่ายต่อการค้นหาข้อมูลในคอมพิวเตอร์ แต่ปัจจุบันได้ขยายความนิยมเป็นหนังสือทั่วไป เนื่องจากมีการจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับอ่าน e-Book เช่น อุปกรณ์ iPad ของบริษัทแอปเปิล หรืออุปกรณ์ Kindle ของบริษัทอเมซอน ฯลฯ โดยผู้อ่านสามารถไปดาวน์โหลดหนังสือได้จากเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์

กรณีของบริษัทแอปเปิล จะเก็บค่าคอมมิชชันจากการขายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไปยังอุปกรณ์ iPad ในอัตราร้อยละ 30 ของราคาขาย ขณะที่ Kindle Store ของเว็บ Amazon เดิมได้เสนอส่วนแบ่งร้อยละ 30 ของราคาจำหน่าย แก่สำนักพิมพ์ แต่ล่าสุด Kindle Store ได้ประกาศจะเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แก่สำนักพิมพ์เป็นร้อยละ 70 นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2553 เป็นต้นไป หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ คือ ต้องขายลิขสิทธิ์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ครบถ้วนและในภูมิภาคต่างๆ ที่ตนเองมีลิขสิทธิ์อยู่ให้ครบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม สำหรับการจำหน่ายหนังสือในรูปแบบดิจิตอล จะส่งผลดีหลายประการ ได้แก่

ประการแรก ทำให้มีหนังสือซึ่งมีเนื้อหาหลากหลายมากขึ้น โดยเดิมแม้มีผู้เขียนส่งเรื่องไปยังสำนักพิมพ์จำนวนมากเพื่อขอตีพิมพ์ แต่สำนักพิมพ์มักจะตอบปฏิเสธแม้จะเห็นว่าหนังสือเล่มนั้นๆ มีคุณภาพก็ตาม เนื่องจากคาดว่าจะมีผู้ซื้อหนังสือจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น หากดำเนินการตีพิมพ์แล้ว จะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน แต่หากเป็นหนังสือในระบบดิจิตอลแล้ว ต้นทุนจะคงที่ (Fixed Cost) และราคาต่ำมาก ทำให้สำนักพิมพ์สามารถเสนอขายหนังสือให้แก่ผู้บริโภคได้หลากหลายมากขึ้น

ประการที่สอง นักเขียนจะได้รับส่วนแบ่งจากการขายหนังสือเพิ่มขึ้น โดยปกติแล้วในสหรัฐฯ จะให้ส่วนแบ่งแก่นักเขียนร้อยละ 10 ของราคาปกหนังสือกระดาษ ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 – 25 สำหรับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเขียนบางคนที่ยังไม่พอใจกับส่วนแบ่งดังกล่าว โดยเห็นว่าส่วนแบ่งน่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 เนื่องจากหนังสือในรูปแบบนี้จะทำให้สำนักพิมพ์สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรักษาหนังสือ ค่าใช้จ่ายในด้านจัดส่งหนังสือ ฯลฯ

ปัจจุบันมีแนวโน้มใหม่ คือ นักเขียนที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Philip Roth, Orhan Pamuk, Martin Amis, John Updike, Stephen Covey ฯลฯ จะขายหนังสือในรูปแบบดิจิตอลโดยตรงไปยังผู้อ่านผ่าน Kindle Store ของเว็บ Amazon โดยไม่ผ่านสำนักพิมพ์

แนวโน้มข้างต้นก่อให้เกิดการขัดแย้งระหว่างสำนักพิมพ์และนักเขียน โดยสำนักพิมพ์ Random House ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ได้แจ้งต่อตัวแทนของนักเขียนเมื่อเดือนธันวาคม 2552 ว่าตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ครอบคลุมถึงหนังสือในรูปแบบดิจิตอลด้วย แม้ว่าสัญญาที่ทำกับนักเขียนในอดีตก่อนมีเทคโนโลยีหนังสือรูปแบบนี้ ไม่ได้กล่าวถึงลิขสิทธิ์หนังสือรูปแบบนี้แต่อย่างใด



การกล่าวอ้างของสำนักพิมพ์ Random House ข้างต้น ได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่บรรดานักเขียนเป็นอย่างมาก ดังนั้น สมาคมนักเขียนจึงได้ออกแถลงการณ์ว่า สำนักพิมพ์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เฉพาะที่ระบุในสัญญาเท่านั้น โดยผู้เขียนยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในส่วนที่ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญา พร้อมกับหยิบยกคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2544 ที่ยกฟ้องคดีที่สำนักพิมพ์ Random House ฟ้องร้องสำนักพิมพ์ Rosetta Books ที่ละเมิดโดยนำนวนิยายของนาย Kurt Vonnegut และนาย William Styron ซึ่งตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในรูปหนังสือธรรมดา มาตีพิมพ์ในรูปแบบหนังสือดิจิตอล

อย่างไรก็ดี คุณริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้เคยให้ทัศนะว่า สำนักพิมพ์อย่าไปหวั่นเกรงกับกระแสเทคโนโลยีใหม่ ต้องนำวิกฤตมาเป็นโอกาส โดยต้องพยายามศึกษาทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งมีหลายสำนักพิมพ์ที่เติบโตมาจากเว็บไซต์ และมีฐานลูกค้าเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์หลายพันรายต่อวัน

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น