พระอินทร์นั้นท่านมีหลายชื่อ เช่น ท้าวสักกะ ท้าวสหัสนัย ท้าวสุชัมบดี ท้าววาสพ ท้าวมฆวาน เป็นต้น แต่ชื่อพระอินทร์มีคนรู้จักมากว่าชื่ออื่น ท่านครอง ๒ ชั้นฟ้า คือ สวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ และสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา ตามตำนานกล่าวไว้ว่าพระอินทร์นั้นตัวเขียว เคยถามท่านผู้รู้ว่าทำไมพระอินทร์จึงตัวเขียว ได้รับคำอธิบายว่าที่มีสีเขียวนั้น เขียวด้วยแสงแห่งแก้วที่ชื่อว่าวชิระ ไม่ใช่เขียวในเนื้อในหนัง
อนึ่ง ในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์นั้นสมบูรณ์ด้วยสมบัติอย่างมโหฬาร เช่น มีวิมานชื่อ เวชยันตปราสาท อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์มีแท่นทิพย์ ชื่อว่า บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ มีลักษณะพิเศษ
คือเวลาพระอินทร์ประทับนั่งก็จะยุบลง เวลาเสด็จลุกขึ้นก็จะฟูขึ้น มีสภาพอ่อนนุ่มนิ่ม แต่พอมีเหตุอะไรเกิดขึ้นแท่นทิพย์นี้ก็จะแข็งดุจศิลาขึ้นมาทันที ดังคำที่ว่า “ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจ” นอกจากนี้ยังมีต้นไม้วิเศษประจำชั้นดาวดึงษ์ มีชื่อว่า ปาริฉัตร หรือ ปาริชาติ ก็เรียก มีสระโบกขรณีชื่อ สุนันทา มีสวนสวรรค์ชื่อ จิตรลดา มีศาลาสำหรับฟังธรรม เรียกว่า เทวธรรมสภา มีเทวดาที่มีความสารถในเชิงช่างชื่อว่า วิษณุกรรมเทพบุตร และยังมีเทวดาที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง คือ เอราวัณเทพบุตร ปรกติก็เป็นเทวดา แต่เมื่อพระอินทร์กับเทพผู้เป็นสหายจะประพาสอุทยานสวรรค์ เทวดาองค์นี้ก็จะแปลงร่างเป็นช้างชื่อว่า เอราวัณ พอกลับจากอุทยานสวรรค์ก็จะคืนร่างเป็นเทพบุตรตามเดิม
สำหรับมเหสีของพระอินทร์นั้นมี ๔ นางด้วยกันคือ นางสุธรรมา นางสุจิตรา นางสุนันทา และนางสุชาดา ก็แลในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์นั้นล้วนแต่มีสิ่งสวยสดงดงามทั้งสิ้น รูปก็งาม เสียงก็ไพเราะ กลิ่นก็หอมหวนชวนอารมณ์ สมกับพระบาลีที่ว่า สุนฺทรานิ อคฺคานิ อตฺถาติ สคฺโค สถานที่ที่มีอารมณ์อันเลิศ เรียกว่า สวรรค์ อนึ่งสวรรค์นั้น สำหรับเป็นที่ต้อนรับเฉพาะคนทำความดีเท่านั้น ส่วนคนทำความชั่วอยู่ไม่ได้ ดังมีธรรมภาษิตรับรองเป็นหลักฐานว่า สุนฺทเรน กมฺเมน คมิตพฺโพ สคฺโค สถานที่ที่คนทำควาดีพึงไป เรียกว่า สวรรค์
ก็พระอินทร์พร้อมด้วยสหายได้ทำความดีอะไรเล่า จึงได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ทราบชีวิตเบื้องหลังของท่านเหล่านั้น จึงจะขอพาท่านลงไปยังแดนดินถิ่นมนุษย์ ณ บ้านอจลคาม แคล้นมคธ เพื่อไปทำความรู้จักกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่ชื่อ มฆมาณพ ท่านผู้นี้มีคุณธรรมสูง คือสามารถรักษาวัตตบทไว้ได้ถึง ๗ ประการ และรักษาไว้ได้ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว เขารักษาไว้ได้ตลอดชีวิตทีเดียว ธรรม ๗ ประการนั้นคือ
๑. เลี้ยงมารดาบิดา
๒. เคารพอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่
๓. มีวาจาไพเราะอ่อนหวาน
๔. ไม่พูดส่อเสียด
๕. ไม่ตระหนี่
๖. มีวาจาสัตย์
๗. ไม่โกรธ
เธอมีภรรยา ๔ คนด้วยกันคือ ๑.นางสุธรรมา ๒.นางสุจิตรา ๓.นางสุนันทา ๔. นางสุชาดา ขอให้ท่านสังเกตดูว่า ชื่อนางทั้ง ๔ นี้ ตรงกันทั้งภาคสวรรค์และภาคมนุษย์ นอกจากนี้ นายมฆมาณพยังเป็นนักพัฒนาชอบความสะอาด สวยงามมีระเบียบ ทั้งยังเที่ยวแนะนำชาวบ้านให้ช่วยทำความสะอาด อย่าเที่ยวทิ้งเที่ยวสาดให้อุจาดนัยตา และว่า “ถ้าบ้านเมืองสะอาด คนในชาติก็อยู่เป็นสุข” น่าชมความคิดของนายมฆมาณพอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเขียนสุภาษิตติดไว้ตามต้นไม้ ในที่สาธารณะซึ่งล้วนแต่เป็นคติสอนใจทั้งสิ้น เช่น เตือนคนใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายว่า “ใครจะช่วยตัวเราก็เปล่าดาย อย่ามักง่ายเงินทองของสำคัญ” เตือนคนขับรถว่า “ความคะนองคือความพินาศ ความประมาทคือความตาย” ซึ่งล้วนแต่เป็นคติสอนใจทั้งสิ้น เนื่องจากท่านผู้นี้มีนิสัยเป็นนักเสียสละชอบความก้าวหน้ารักประเทศชาติศาสนาเป็นชีวิตจิตใจดังนั้น เขาจึงลงมือสร้างถนนเริ่มต้นจากบ้านอจลคามมุ่งสู่มคธรัฐ โดยมิได้รับสินจ้างรางวัลจากใคร ๆ ทั้งสิ้น เขาทำงานเพื่องาน ทำดีเพื่อความด
ต่อมาก็มีคนมาร่วมงานกับเขาด้วยรวมทั้งหมดเป็น ๓๓ คน ตอนนี้ก็บังเอิญเกิดมารมาผจญอันเนื่องมาจากความริษยาของนายอำเภอ ซึ่งเกรงว่าเขาจะทำงานเกินหน้า จึงแนะให้เขาเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่นแทน เช่น ต้มเหล้าเถื่อน เป็นต้น เมื่อพวกเขาไม่ปฏิบัติตามก็โกรธ ไป ทูลพระราชาโดยกล่าวหาว่าเขากับพรรคพวกเป็นกบฏถูกรับสั่งประหารชีวิตด้วยวิธี ให้ช้างเหยียบ แต่ด้วยอำนาจเมตตาพวกเขาจึงปลอดภัยภายหลังความจริงทั้งหลายก็ปรากฏ จึงทำให้นายอำเภอถูกถอดยศ มฆมาณพได้เป็นนายอำเภอแทนพร้อมทั้งได้รับพระราชทานช้างเชือกนั้นด้วย นี่แหละเข้าตำราที่ท่านว่า “นายมฆมาณพนอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น นายอำเภอทำเข็ญ ก็วินาศสันติ”
ด้วยหัวใจที่รักความก้าวหน้า รักชาติบ้านเมือง เขาจึงพร้อมใจกันสร้างศาลาริมทางขึ้นมาหลังหนึ่งสำหรับคนไปมาจะได้พักพาอาศัย ศาลาหลังนี้มีความสวยงามมาก เพราะได้นายช่างที่มีจิตเป็นกุศล แม้ช้างเชือกนั้นก็ได้พลีกำลังช่วยงานนี้มาโดยตลอดด้วยจิตยินดี ศาลาหลังนี้มีชื่อว่า ศาลาสุธรรมา เพราะความฉลาดของนางสุธรรมา ถึงแม้ว่าจะถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมในงานนี้ แต่ด้วยปฏิภาณไหวพริบนางก็หาอุบายจนได้สร้างช่อฟ้าทั้งมีชื่อปรากฏด้วยว่า ศาลาสุธรรมา นอกจากนี้ นาย มฆมาณพยังได้ปลูกต้นทองหลางเอาไว้ที่ใกล้กับศาลาหลังนั้นด้วย และนำแผ่นหินก้อนใหญ่มาวางไว้ที่โคนต้นทองหลางสำหรับคนไปมาจะได้อาศัยนั่ง พัก
กล่าวถึงนางสุนันทา กับนางสุจิตรา ก็ไม่ยอมน้อยหน้านางสุธรรมาเหมือนกันจึงได้สร้างสระน้ำและส่วนดอกไม้ไว้ใกล้ ๆ กับศาลาหลังนั้นเช่นกัน ส่วนนางสุชาดาหาได้สร้างอะไรกับเขาไม่เพราะประมาทเข้าใจผิดคิดไปว่า ตัวมีรูปสวยเป็นภรรยาของนายมฆมาณพด้วย ยังแถมเกี่ยวกับเป็นเครือญาติกันอีกด้วย ดังนั้น เมื่อสามีทำบุญตัวเธอก็ต้องได้บุญด้วย นี่นับว่าเธอเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะบุญนั้นใครทำใครได้ เหมือนกับอาหารที่เรารับประทาน ใครรับประทานคนนั้นก็อิ่ม จะมาอิ่มแทนกันไม่ได้ ฉะนั้น ด้วยความเข้าใจผิดนางจึงไม่ประสงค์จะทำบุญอะไร ๆ ทั้งนั้น แม้สามีจะเคี่ยวเข็ญอย่างไรนางก็เฉยเมยไม่สนใจใยดีอะไรทั้งสิ้น
ทีนี้เราจะได้ทราบกันว่าคนทำดีกับคนที่ไม่ทำความดีนั้นอนาคตจะเป็นอย่างไรเริ่มต้นด้วยนายมฆมาณพผู้ซึ่งสร้งแต่ความดีมาโดยตลอด มีบำเพ็ญวัตบท ๗ ประการเป็นต้น เมื่อตายแล้วจึงไปเกิดเป็นพระอินทร์อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ อานิสงส์ที่สร้างศาลาเป็นเหตุให้ได้เวชยันตปราสาท อานิสงส์ที่ปลูกต้นทองหลางเป็นเหตุให้ได้ต้นไม้ปาริชาติ อานิสงส์ที่วางแผ่นหินเอาไว้ที่โคนต้นทองหลางเป็นเหตุให้ได้แท่นทิพย์บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ส่วนนายช่างที่สร้างศาลาด้วยจิตเป็นกุศล ก็ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรที่ชื่อว่าวิษณุกรรม สหายทั้ง ๓๒ คน ก็ขึ้นไปเกิดเป็นเทพบุตรโดยถ้วนทั่วกันและมีวิมานอยู่องค์ละหลัง ๆ ด้วยอานิสงส์ที่ได้ร่วมกันสร้างศาลา
เรื่องนี้มีข้อที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่สร้างอะไรที่รวมกันเป็นคณะ ครั้นเมื่อได้สวรรค์วิมานก็ได้กันคนละหลังโดยที่ไม่ต้องไปอยู่รวมกัน ซึ่งมีตัวอย่างดังที่กล่าวมานี้ สระโบกขรณีสวรรค์ก็เกิดขึ้นเป็นคู่บารมีของนางสุนันทา สวนสวรรค์ชื่อจิตรลดาก็เกิดขึ้นคู่บารมีของนางสุจิตรา
ส่วนนางสุชาดาหญิงผู้เลอโฉมหาได้ไปเกิดในสวรรค์เหมือนผู้อื่นไม่ กลับไปเกิดเป็นนางนกยาง ทั้งนี้ เพราะความหลงติดอยู่ในความสวยงามของตัวเอง เรื่องนี้ท่านทั้งหลายต้องระวัง อย่าไปหลงติดในสิ่งต่าง ๆ เพราะเดี่ยวจะต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานอย่างนางสุชาดา หลักฐานอันเป็นพุทธภาษิตก็มีอยู่ว่า “โมเหน ติรจฺฉานโยนิ” ผู้ที่มีโมหะควาลุ่มหลง จะต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน
เมื่อพระอินทร์ได้สอดส่งทิพยเนตรตรวจดูสมบัติ ก็ปรากฏว่าบริบูรณ์ดีทุกอย่างหากขาดแต่นางแก้วสุชาดาซึ่งไปเกิดในกำเนิดนกยาง พระองค์จึงเสด็จลงไปประทานอุบายให้นางรักษาศีล ๕ และด้วยอานิสงส์ศีล ๕ ที่นางรักษาอย่างเคร่งครัดนี่เองผลสุดท้ายนางก็ได้ไปบังเกิดเป็นมเหสีของพระอินทร์สมความปรารถนา
ท่านทั้งหลาย การที่นายมฆมาณพได้บรรลึงความเป็นผู้ประเสริฐกว่าเทพยดาทั้งหลายก็เพราะอาศัยอความไม่ประมาท ด้วยว่าบัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญความไม่ประมาท แต่กลับติเตียนความประมาทในกาลทุกเมื่อ ซึ่งตรงกับพระบาลีพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นตั้งไว้ข้างต้นนั้นแล้ว
ท่านสาธุชนทั้งหลาย เรื่องของพระอินทร์นับว่มีสาระตลอดทั้งเรื่อง ถ้าจะเปรียบก็เหมือนสิงโตน้ำตาลซึ่มีความหวานตลอดทั้งตัว ไม่ว่าจะแต่ที่หัวหางกลางตัวหวานทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์จากเรื่อนี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้ใช้โยนิโสมนสิการ คือพิจารณาด้วยอุบายอันแยบคาย เห็นตัวอย่างไหนดีก็นำไปปฏิบัติ เห็นตัวอย่างไหนไม่ดีก็อย่านำไปปฏิบัติ อุปมาเหมือนกับรับประทานปลาเราก็เลือกรับประทานแต่เนื้อปลา ส่วนก้างปลาขี้ปลาเราก็ทิ้งไปเสีย การฟังเทศน์ด้วยวิธีนี้แหละที่น่ายกย่องว่าได้บุญมาก
สำหรับในเรื่องนี้ตัวอย่างที่ดีเด่นก็เห็นจะได้แก่นายมฆมาณพ ไม่ว่าจะเป็นในด้านครองเรือน การครองรัก เธอก็ครองกันมาด้วยความเรียบร้อย ทั้ง ๆ ที่มีภรรยาถึง ๔ คน ทั้งนี้ ก็เพราะต่างมีคุณธรรมประจำใจ รู้จักหน้าที่ของตัว ในด้านการปฏิบัติพัฒนาทั้งภายในบ้าน นอกบ้านและสาธารณะสถาน สนใจทำความสะอาดอยู่เป็นนิตย์ข้อนี้ชาวไทยควรถือเป็นตัวอย่าง ควรคิดไว้เสมอ ๆ ว่า บ้านเมือง จะสะอาดก็เพราะคนในชาติช่วยกันพัฒนา ว่าถึงน้ำใจก็ควรยกให้ช้างที่ช่วยเหลือนายช่างสร้างศาลา อานิสงส์ที่มีน้ำใจเป็นเหตุให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ มีชื่อว่าเอราวัณเทพบุตร ดูซิเป็นสัตว์เดียรัจฉานแท้ ๆ ยังมีน้ำใจ ก็ท่านเล่าเป็นมนุษย์จะไปยอมแพ้แก่ช้างกระนั้นหรือ ดังนั้น ท่านจักต้องฝึกฝนตนให้เป็นคนมีน้ำใจอยู่เสมอ
เมื่อสมัยที่กรุงเทพยังมีรถราง เด็กหนุ่มคนหนึ่งเห็นคนชราถือของพรุงพะรังขึ้นมาบนรถจึงลุกขึ้นให้ชายชรานั่ง เมื่อถึงเวลาลงจากรถเขาก็ช่วยหิ้วของตามส่งถึงบ้านชายชราซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ตัวเขาเองก็อยู่บ้านในซอยใกล้ ๆ กันนั่นเอง และต่อมาเด็กหนุ่มผู้มีน้ำใจผู้นี้ก็เป็นบุตรบุญธรรมชองชายชรา และได้ครองสมบัติเป็นจำนวนมากในกาลต่อมา เพราะสองตายายไม่มีลูกหลานที่จะสืบตระกูล จากเรื่องทำนองนี้ทำให้นึกถึงสุภาษิตบทหนึ่งว่า “น้ำบ่อน้ำคลองก็ยังเป็นรองน้ำใจ น้ำที่ไหน ๆ ก็สู้น้ำใจไม่ได้” โปรดจำไว้ว่า น้ำใจเป็นน้ำที่มีฤทธิ์
ตัวอย่างดี ๆ ในเรื่องนี้ยังมีอีกมาก ยกมาแสดงพอเป็นตัวอย่าง ที่นี้มากล่าวถึงนางสุชาดาบ้าง นางนี้แม้ในตอนต้นเธอจะหลงผิดไปบ้างตามวิสัยของปุถุชนที่ว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้ผิด บรรพชิตยังรู้เผลอ” แต่ถึงกระนั้นในตอนสุดท้ายเธอยังกลับตัวได้ จึงนับว่าน่าสรรเสริญอยู่
ฉะนั้น ท่านที่ยังหลงทำอะไรผิด ๆ อยู่จงได้คิดว่า ยังไม่สายเกินไปในการกลับตัว จงถือคติที่ว่า “ความผิดพลาดเป็นของมนุษย์ แต่มนุษย์ที่ดีต้องรู้จักกลับตัว”
ท่านทั้งหลาย ยอดปรารถนาของมนุษย์เราอยู่ที่ความสุข แต่ความสุขจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยการปฏิบัติธรรม อยู่เฉย ๆ ความสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้ เหมือนเสือนอนอ้าปากอยู่ เนื้อจะวิ่งเข้าปากเสือนั้นเหลือวิสัย เสือจะต้องไปจับเนื้อกินเอง ฉันใดฉันนั้น ความสุขที่จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะอาศัยการปฏิบัติของผู้นั้นเอง ด้วยเหตุนี้ เราจึงมาปฏิบัติธรรมกันเถิด แล้วความสุขที่เป็นยอดปรารถนาก็จะพลันสำเร็จสมประสงค์ทุกประการ ดังเทศนาที่ได้แสดงมา ด้วยประการฉะนี้.
(ที่มา: วิชาเทศนา, พระพุทธวรญาณ (มงคล วิโรจโน ป.ธ. ๕, ค.บ., พธ.ด.กิตติมศักดิ์) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร แสดง ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๔ (ภาคเช้า)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น