โดย ตราชู สมิหลา 23 พฤศจิกายน 2553 18:26 น.
การยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้กู้เงินไม่ควรรุกไล่จนลูกหนี้สิ้นเนื้อประดาตัว เรื่องดังกล่าวไม่ได้เอ่ยอย่างเลื่อนลอย มีตัวอย่าง ได้แก่ ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในหลายๆ ประเทศ กล่าวคือ เมื่อประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินหรือจากเจ้าหนี้เกิดสภาวะไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ในประเทศเหล่านั้นได้แต่ยึดอสังหาริมทรัพย์ (บ้าน-ที่ดิน) ที่จำนองเป็นประกันเหล่านั้นไป อาจขายทอดตลาดหรือชำระหนี้โดยวิธีใดก็ได้ สถาบันการเงินได้เงินเท่าไหร่ก็ถือว่ายุติ ไม่บังคับเอาทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกหนี้ (ผู้กู้) ได้อีก ลูกหนี้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ แตกต่างจากประเทศไทย
เหตุใดประเทศไทยจึงมิได้ถือหลักการเช่นนี้ ประเทศไทยนั้น เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินจะให้ผู้กู้ยืม (ลูกหนี้) ทำสัญญาจำนองอสังหาริมทรัพย์แล้วยังมีสัญญาพ่วงท้ายด้วยว่า หากยึดทรัพย์ที่จำนองเอาหลุดเป็นสิทธิหรือขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ซึ่งหมายถึงต้นเงินบวกดอกเบี้ยที่คิดแล้วค่อนข้างโหด เจ้าหนี้ยังยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้
ปัจจุบันฝากเงินธนาคารผู้ฝากได้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละประมาณ 1 บาทต่อปีเท่านั้น แต่สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ได้เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 แถมสถาบันการเงินยังคิดดอกเบี้ยทบต้นได้อีกด้วยในบางกรณี สมมุติให้ลองคำนวณดูว่า กู้ยืมเงิน 1 ล้านบาทดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 15 ต่อปี คิดเหนาะๆ ดอกเบี้ยปีละ 150,000 บาทเข้าไปแล้ว หากกู้ยืม 2 ล้านบาท 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่อปีปาเข้าไปเท่าไหร่ ลำพังรายได้ประจำ ค่าจ้าง เงินเดือน หรือการทำธุรกิจอะไรจะได้กำไรมากมาย ทั้งผู้กู้มีโอกาสขาดทุนหรือประสบภาวะวิกฤต ฯลฯ และอย่าลืมว่าดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้คิดกับลูกหนี้นั้น แม้ลูกหนี้ (ผู้กู้) ป่วย นอนหลับ เป็นอัมพาต ตกงาน หรือแม้แต่ตาย ฯลฯ ดอกเบี้ยไม่มีวันหยุด มันเดินทุกวินาทีทุกลมหายใจเข้าออกเชียว เป็นเรื่องที่ต้องสังวรให้มากๆ ว่าเผลอไม่ได้เลย
หากลูกหนี้ตกงาน หรือถูกลดเงินเดือนหรือทำการค้าขาดทุน ป่วย ตาย ฯลฯ และเป็นการผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้เขาไม่ดูว่าผิดนัดเพราะอะไร ไม่ดูว่าจงใจหรือเจตนาหรือไม่ เจ้าหนี้ก็จะปรับดอกเบี้ย (ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย) และเบี้ยปรับ ฯลฯ ให้ขึ้นไปอีกเป็นการลงโทษ ความจริงเรื่องผิดนัดทั้งหลายควรจะให้โอกาสลูกหนี้ชี้แจงบ้างว่ามีเหตุสมควรหรือไม่ ไม่ใช่คิดแต่จะเอาไม้บรรทัดมาวัดแค่เพียงว่า ชำระหนี้ครบถ้วนหรือผิดนัดหรือไม่เท่านั้น ในปัจจุบันสถาบันการเงินอาจมีการผ่อนปรนบ้างโดยให้ลูกหนี้ (ผู้กู้) ปรับโครงสร้างหนี้บ้าง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอีกมาก หากกฎเกณฑ์มีการผ่อนผันเมตตาธรรมให้มากขึ้นก็จะมีผลให้มนุษย์อยู่ร่วมกันปกติสุขมากขึ้น เว้นแต่ลูกหนี้ที่มีพฤติกรรมไม่ดีๆ เท่านั้น
นอกจากนี้วิธีการบังคับคดี โดยเอาอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ที่จำนองออกขายทอดตลาด ยังมีวิธีการที่น่าเกลียดมากมาย เช่น ขายในราคาต่ำมากๆ ไม่ยอมให้ลูกหนี้หาคนมาซื้อทรัพย์เอง แต่ขายพวกเจ้าหนี้ราคาต่ำๆ ฯลฯ วิธีการขายทอดตลาดทรัพย์ลูกหนี้ที่ไม่ค่อยโปร่งใสฉ้อฉลเหล่านั้น ถือเป็นบาปกรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเจ้าหนี้ได้เงินไม่พอกับต้นเงินบวกดอกเบี้ยที่แพงสุดๆ แล้ว ยังบังคับคดีเอาทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกหนี้อีก จนบางครั้งลูกหนี้สิ้นเนื้อประดาตัวหรือล้มละลายไปก็มากมายถึงกับคิดสั้นไปก็มีหลายคน ซึ่งเคยเห็นจากสื่อสารมวลชนเมื่อหลายๆ ปีมาแล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องเจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายก็ใคร่ขอความเมตตาศาลว่าลูกหนี้ที่ยังมีทรัพย์สิน ลูกหนี้ที่เป็นลูกจ้างยังมีเงินเดือน ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ หรือข้าราชการ ฯลฯ คนเหล่านั้นมีเงินเดือนก็ไม่ควรให้ล้มละลาย
ความจริงเคยทราบว่า เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ธนาคารหรือสถาบันการเงินเคยประสบเคราะห์กรรม เนื่องจากธนาคารหรือสถาบันการเงินไปรับจำนองที่ดินที่มีปัญหา เช่น ไม่สมราคา หรือเป็นที่ป่าสงวน ที่สาธารณะ ฯลฯ ที่โดนคนของตนกับผู้กู้ยืมเล่นกลฉ้อฉล เมื่อไม่มีการชำระเงินกู้ยืมโดยเจตนาอยู่แล้วหรือโดยเหตุใดก็ตาม เมื่อเจ้าหนี้ฟ้องศาลและขอบังคับคดี เอาอสังหาริมทรัพย์-ที่จำนองออกขายทอดตลาดก็ประสบปัญหาเช่นที่กล่าว คือไม่คุ้มราคาอย่างยิ่งหรือเป็นที่ป่าสงวน ที่สาธารณะย่อมบังคับคดีไม่ได้ ฯลฯ ธนาคารหรือสถาบันการเงินจึงประสบเคราะห์กรรม หรือล้มละลาย ฯลฯ เหตุเกิดเช่นนี้ในภายหลังก็ทราบกันว่า มีการฉ้อฉลกันในระดับชาติเป็นขบวนการนั่นเอง จึงเป็นบทเรียนให้ระวัง
ปัจจุบันเหตุการณ์เช่นนั้นคงไม่เกิดแก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอีกแล้ว ทั้งปัจจุบันสามารถตรวจสอบอสังหาริมทรัพย์ที่นำมาจำนองได้ค่อนข้างถูกต้องตามความเป็นจริงมากกว่าเมื่อ 15-30 ปีก่อน สำนักงานที่ดินมีข้อมูลค่อนข้างทันสมัยเชื่อมโยงเกี่ยวกับที่ดินให้ตรวจสอบได้ทั่วประเทศ
เมื่อการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะจำนองค่อนข้างถูกต้องตามความจริงและสามารถประเมินราคาได้ค่อนข้างถูกต้องแล้ว ดังนั้น การที่ลูกหนี้ขอกู้ยืมเงินและมีอสังหาริมทรัพย์มาจำนองเป็นประกัน จึงน่าจะเพียงพอแก่การดังกล่าว เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ เจ้าหนี้นำทรัพย์ที่จำนองขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้หรือให้หลุดเป็นสิทธิแก่เจ้าหนี้แล้ว จะพอหรือไม่พอแก่หนี้ก็ต้องถือว่ายุติ ไม่มีการบังคับคดีเอาทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีก
เช่นเดียวกับที่เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาหรือต่างประเทศที่กระทำต่อลูกหนี้จำนองของตนดังที่เกริ่นกล่าวแต่ต้นแล้ว
และสำหรับประเทศไทย ก็มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 733 บัญญัติไว้เช่นนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่ธนาคาร สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้มักจะเขียนสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองให้ยกเว้นมาตรา 733 ดังกล่าวในทำนองว่า หากเอาทรัพย์ที่จำนองหลุดเป็นสิทธิหรือออกขายทอดตลาดแล้วไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้สามารถบังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีกจนคุ้มต้นเงินและดอกเบี้ย ซึ่งบางครั้งดอกเบี้ยมากมายเกินต้นเงินก็มี และเจ้าหนี้มักจะยืดเวลาการฟ้องหรือบังคับคดีให้ยาวหลายๆ ปี เพื่อจะได้ดอกเบี้ยมากขึ้นเรื่อยๆตามเวลาที่ยืดออก จนทำให้ลูกหนี้ล้มละลาย ฯลฯ
เรื่องดอกเบี้ย ปัจจุบันสถาบันการเงินให้ดอกเบี้ยเงินฝากแก่ผู้ฝากเงินในอัตราร้อยละไม่เกิน 1 ต่อปี มีผู้รู้-นักวิชาการคุณธรรมมากมายเสนอว่าสถาบันการเงินควรคิดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอีกเพียงร้อยละ 3-4 ต่อปี ก็เป็นการเพียงพอแก่การประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินแล้ว สถาบันการเงินไม่ควรคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมถึงอัตราร้อยละเกิน 6 ต่อปี
เนื่องจากกฎหมาย สัญญาไม่เป็นธรรม ไม่อาจนำมาใช้กับสถาบันการเงินให้เป็นผลด้วยจึงต้องใช้ช่องทางอื่น
และเมื่อไม่นานมานี้ ได้ข่าวเรื่องน่ายินดีจากสื่อสารมวลชนต่างๆ ว่า กระทรวงยุติธรรมทราบถึงความไม่ยุติธรรมของการบังคับคดี-ที่บังคับทรัพย์ที่จำนองแล้วยังบังคับคดีเอาทรัพย์อื่นของลูกหนี้อีกไม่สิ้นสุดนั้น โดยจะให้มีการแก้ไขกฎหมาย โดยเพิ่มในเรื่องการบังคับคดี ในทำนองว่า เมื่อบังคับจำนองขายทอดตลาด ฯลฯ แล้วได้เท่าไรก็ให้ถือว่า เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้อีก เป็นต้น
หรือจะเพิ่มเติมกฎหมายในมาตรา 733 วรรค 2 ในทำนองว่า หากเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ทำสัญญาใดหรือมีข้อยกเว้นใดๆ ของวรรค 1 ให้ข้อสัญญานั้นเป็นโมฆะ ใช้บังคับแก่ลูกหนี้ไม่ได้ เป็นต้น
อยากให้กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง รัฐสภา หรือองค์กรต่างๆ เป็นเจ้าภาพแก้ไขอย่างอื่นด้วย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 เป็นว่าห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้นก็ให้ส่วนของดอกเบี้ยเป็นโมฆะ ทั้งนี้ เพราะกฎหมายเดิมให้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้นถือว่าสูงเกินไปแล้วสำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทย
ไม่ควรลืมกฎหมายที่สำคัญ และหากคิดว่าเมตตาธรรมค้ำจุนโลก ไม่ควรออกกฎหมายไม่เป็นธรรมแก่สังคม โดยขณะนี้เหมาะสมแก่เวลา ซึ่งสมควรยกเลิกพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 เสียทีไม่ให้สถาบันการเงินต่างๆ คิดดอกเบี้ยสูงๆ จนเกินไปเพื่อให้ลูกหนี้เพื่อนร่วมโลกสามารถมีชีวิตอยู่กับเจ้าหนี้ได้ตามควรในราชอาณาจักรไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น