เรียบเรียงโดย วรุณวาร สว่างโสภากุล
ตำบลคานหามมีประวัติยามไกลย้อนไปถึงสมัยอยุธยา เจ้าเมืองพระองค์หนึ่งโปรดให้นำหญิงงามเข้าวัง ขบวนของหญิงงามเดินทางด้วยเท้ามาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งต้องหยุดพัก เพราะหญิงงามนางนั้นเหนื่อยยิ่งนัก ทหารกลัวไปไม่ทันแล้วจะถูกลงโทษจึงทำแคร่หามหญิงงามนั้น ออกเดินทางลัดทุ่งนาต่อไป หมู่บ้านแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านคานหาม
ทุกวันนี้ ชื่อคานหามก็ยังคงอยู่ แต่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก หญิงสาวชาวคานหามไม่ต้องเดินเท้าหรือนั่งแคร่ลัดทุ่งนาอีกต่อไปแล้ว เพราะสภาพพื้นที่ราบลุ่มของตำบลคานหามที่เคยเป็นทุ่งนา บัดนี้ กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม, หอพักคนงานและบ้านจัดสรร จนแทบไม่เหลือสภาพสังคมแบบเกษตรกรรมให้เห็นอีกแล้ว วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนเป็นวิถีแบบสังคมเมือง ไม่ต้องออกแรงทำนา กินดีอยู่สบายขึ้นจากการขายที่นาไปสร้างโรงงาน ชาวคานหามเลยเป็นโรคที่เกิดจาก "ความสบายเกินไป" เช่น โรคเบาหวาน , ความดันโลหิตสูงและโรคมะเร็งฯ
จำนวนประชากรตามสำมะโนครัวของตำบลคานหาม มี 5,800 กว่าคน แต่คนนอกที่เข้าๆออกๆ มาทำงานก่อสร้างและโรงงาน มีอีกเป็นแสน คนเหล่านี้ไม่มีสิทธิเข้ารับบริการของกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ที่นี่
ประวัติของกองทุนฯ คานหาม ย้อนอดีตไปไม่ไกลเท่าประวัติตำบล เดือนสิงหาคม ปี 2549 อดีตนายก อบต. หญิงเหล็ก ผู้ดำรงตำแหน่งมาหลายสมัย ตกลงนำ อบต. คานหามเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นของ สปสช. ด้วยคุณวันดี มุสิกฤษ นายกหญิงคนนี้ เคยเป็นแม่ค้าในตลาด เคยยากจนและลำบากมาก่อน จึงรู้ดีว่า ถ้าประชาชนไม่มีหลักประกันอะไรเลยในชีวิต บั้นปลายจะลำบาก
กองทุนฯ ของ อบต. คานหามเริ่มต้นด้วยการนำหน่วยงานแนวร่วม มาพบปะพูดคุย ร่วมตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ คิด วางแผน และทำร่วมกัน แนวร่วมเหล่านี้ก็มิใช่ใครอื่น เป็น อบต. สถานีอนามัย และ หน่วยงานภาคประชาชนนั่นเอง
แต่เนื่องจาก ช่วงนั้นใกล้จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว คณะกรรมการกองทุนฯ เกรงว่า จะต้องคืนเงินงบประมาณโครงการที่ได้จาก สปสช. 37.50 บาทต่อคน และจาก อบต.คานหามอีก 20% ของเงิน สปสช. คณะกรรมการฯ จึงให้สถานีอนามัยเป็นผู้เขียนโครงการมานำเสนอ โดยมีเป้าหมายที่ทุกคนเห็นร่วมกัน คือ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี
ด้วยความที่คณะกรรมการยังเข้าใจไม่กระจ่างเกี่ยวกับการใช้เงินกองทุนฯ แม้จะสอบถามไปยังเขตและจังหวัดแล้ว คณะกรรมการจึงตัดสินใจเริ่มต้นทีละน้อย โดยทำเพียง 3 โครงการในปีแรก และเน้นที่การสร้างบุคลากรเป็นหลัก
โครงการแรก คือ โครงการสร้างแกนนำในการดูแลสุขภาพ ในโครงการนี้ แกนนำ อสม. ได้รับการฝึกอบรมให้สามารถตรวจสุขภาพเบื้องต้นได้ เช่น วัดความดัน ตรวจเบาหวานและให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพแก่ประชาชน แนวคิดนี้ เป็นการให้ประชาชนดูแลสุขภาพกันเอง ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะ อสม.รู้จักคุ้นเคยกับคนในพื้นที่ จึงพูดคุยอย่างเป็นกันเอง และรู้รายละเอียดกับรู้ปัญหาบางอย่างที่หมอหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่รู้ การดูแลซึ่งกันและกันแบบนี้ ช่วยสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน
โครงการที่สอง เป็นโครงการดูแลสุขภาพกายใจผู้สูงอายุ แต่เนื่องจากผู้สูงอายุมีมาก โครงการนี้จึงยังต้องได้รับการพัฒนาให้ครอบคลุมและทั่วถึงกว่านี้
โครงการที่สาม ชื่อโครงการต่อยอดนวดแผนไทย จัดทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากขึ้น และช่วยสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน
การดำเนินงานของกองทุนฯ นอกจากจะช่วยดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้หันมาร่วมมือกัน ยังช่วยให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเองได้ดีขึ้น อีกทั้งตื่นตัวเรื่องของสุขภาพมากขึ้น หลายคนบอกว่า ถ้าไม่มีใครมาตรวจให้ ก็คงไม่รู้ว่า ตนเองป่วย กว่าจะรู้ก็คงอาการหนักแล้ว
"...คนจนก็มี จนก็จนจริงๆ เงินทองก็ไม่มี เวลาเจ็บป่วยค่าเดินทางก็เยอะ ไปมาก็ลำบาก เราต้องช่วยกันดูแลกันไม่ให้เจ็บป่วยเป็นดีที่สุด " อสม.คนหนึ่งเล่าถึงแนวความคิดของการส่งเสริมสุขภาพ
ทุกวันนี้ อบต.คานหามและคณะกรรมการกองทุนฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการและกองทุนต่อไป ถ้าดูโครงการที่วางแผนไว้ สำหรับปีงบประมาณหน้าทั้ง 11 โครงการ จะเห็นได้ว่า ล้วนมาจากความต้องการและเสียงสะท้อนของประชาชนจากการทำประชาคมในพื้นที่ทั้งสิ้น
แม้ว่าวันนี้ ชาวบ้านอาจยังไม่รู้ว่า กองทุนฯ คืออะไร ู้ปฏิบัติงานอาจยังไม่เข้าใจกองทุน 100% แต่ที่แน่ๆ พวกเขารู้ว่า โครงการของกองทุนฯ ทำให้ตัวเองมีสุข ทั้งสุขกายและสุขใจ อันจะเห็นได้จากคำสัมภาษณ์ของคุณสมใจ ผู้ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชนคนหนึ่ง
"มันมีความสุข แต่ก่อนเราไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไรด้วยซ้ำ เหมือนกับว่าเราทำไปตามหน้าที่ แต่เดี๋ยวนี้เมื่อเขาเห็นเราลงไปเยี่ยม ลงไปตรวจสุขภาพตามความรู้ที่เรามี เรารู้สึกได้เลยว่า เขามีความสุข เราเองก็มีความสุขมากๆครับ มันบอกไม่ถูก"
เมื่อถึงวันที่ทุดคนเข้าใจและวันที่กองทุนฯ คานหามพัฒนาการให้บริการได้อย่างทั่วถึง เมื่อนั้น ชาวคานหามคงได้รับรู้สัญญาณของความเจ็บป่วยล่วงหน้าและป้องกันได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้ป่วยหนัก จนถูกหามไปโรงพยาบาลอีกต่อไป
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
เสน่ห์ ขุนแก้ว
วิทยาลัยเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขกาญจนาภิเษก นนทบุรี
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น