ปีนี้ ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความหลากหลายมาก โดยเฉพาะผลงานของ “ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ” ที่มีสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นเจ้าภาพ ที่ดึงเอากลุ่มผู้กำกับฯ มาทำ “หนังสั้น” ในโครงใหญ่ถึง 2 เรื่องคือ “ร้อยดวงใจให้พ่อ” และ “ 9มหัศจรรย์ องค์ราชัน พลังแผ่นดิน”
ขณะที่ “นิทรรศการภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ” โดยกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงคมนาคม และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มีทั้งหนังในแนวดรามา , แอ็กชัน และมิวสิคัลที่จะฉายภาพยนตร์ผ่านม่านน้ำ บริเวณท่าพระจันทร์
เนื่องในโอกาสแห่งวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 83 พรรษา และทรงครองสิริราชสมบัติครบ 64 ปี จึงเป็นมหามงคลพิเศษของปวงชนชาวไทยที่จะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวเพื่อแสดงความจงรักภักดีแด่ “ในหลวง” พระผู้เป็นมหาชนกแห่งแผ่นดิน”
ตามโครงการสร้าง “ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติฯ” ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมนี้ เริ่มวันแรกคือวันนี้ 29 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2553 โดยภาพยนตร์ทั้ง3 เรื่องจะจัดฉายให้ชมฟรี วันละ 1 รอบ ณ โรงภาพยนตร์เอสเอฟ ซีเนม่า ชั้น 7 เซ็นทรัลเวิลด์ ภาพยนตร์ตามโครงการนี้แบ่งเป็น 3 เรื่อง คือ ร้อยดวงใจให้พ่อ , 9 มหัศจรรย์ องค์ราชัน พลังแผ่นดิน , และ ปิดทองหลังพระ ตอน ความฝันอันสูงสุด
ร้อยดวงใจให้พ่อ
ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติเรื่อง “ร้อยดวงใจให้พ่อ” นี้ เป็นฝีมือการกำกับของศิลปินศิลปาธร โดยหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นผู้อำนวยการสร้าง ภาพยนตร์เรื่องนี้จะประกอบด้วย “หนังสั้น” 3 เรื่อง โดย นนทรีย์ นิมิบุตร (เรื่อง “เกษตร...ตะกอน”), พิมพกา โตวีระ (เรื่อง “สุดสะแนน”), อาทิตย์ อัสสรัตน์ (เรื่อง “เพลงชาติไทย”) และแอนิเมชัน 1 เรื่องที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ “รักที่ยิ่งใหญ่” โดยศิริศักดิ์ คชพัชรินทร์ และ พรรณปพร ศรีสุมานันท์ จากสมาคมผู้ประกอบแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกของไทย
ปีนี้ “อุ๋ย” นนทรีย์ นิมิบุตร นอกจากจะกำกับหนังสั้นให้แก่ สศร. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) แล้ว เขายังได้กำกับภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติให้แก่ “นิทรรศการภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ” เรื่อง “เหรียญของพ่อ” ให้แก่รัฐบาลอีกด้วย
“ เกษตร … ตะกอน มันเป็นการล้อคำ โดยสาระของเรื่องเรากล่าวถึงความก้าวหน้าทางการเกษตรของไทย ซึ่งหลายครั้งมันไม่สามารถที่จะก้าวเจริญไปข้างหน้าได้ เพราะว่าบางทีเกษตรกรก็ไม่ยอมฟังเรื่องวิวัฒนาการสมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้า คำว่า ตะกอน มันก็เหมือนการตกตะกอนนั่นแหละ คือนองก้นอยู่ไม่ไปไหน” นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับสาขาภาพยนตร์ รางวัลศิลปาธร ประจำปี พ.ศ. 2551 กล่าวต่อทีมสกู๊ปพิเศษ
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้นำข้อคิดจากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 10 ข้อเพื่อให้เป็นโจทย์ในการทำงานของเหล่าผู้กำกับฯ ในครั้งนี้
“สิ่งที่ในหลวงบอกว่า เราควรจะรับฟังความเห็นของกันและกัน มันเหมาะกับเรื่อง “ทานตะวันดอกหนึ่ง” จากหนังสือรวมเรื่องสั้นกึ่งศตวรรษของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ผมประทับใจกับเรื่องสั้นเรื่องนี้มาก มันพูดถึงเรื่องที่คนไม่รับฟังกัน หลงงมงายในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ผมว่ามันเข้ากับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมก็เลยนำเรื่องนี้มาทำเป็นหนังสั้น”
“อุ๋ย” นนทรีย์ นิมิบุตร เลี่ยงที่จะใช้ “ดารา” ในหนังสั้นเรื่องนี้ เขาจงใจที่จะใช้คนธรรมดาเพื่อให้เข้ากับหนังที่เขาตั้งใจในการนำเสนอ
“ อย่างพระเอกของเรื่องหน้าตาเขาก็ธรรมดา เป็นเกษตรกรได้ หรืออย่างเกษตรอำเภอ หน้าตาเขาก็มีความเป็นคนต่างจังหวัด แล้วไม่ต้องเล่นเก่งอะไรมากมาย ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นการแสดง อยากให้คนดูรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นจริงนะ” นนทรีย์กล่าว
ภาพยนตร์เรื่อง “ร้อยดวงใจให้พ่อ” ยังมีหนังสั้นเรื่อง “เพลงชาติไทย” ของ “จุ๊ก” อาทิตย์ อัสสรัตน์ เป็นอีกหนึ่งเรื่องย่อยในโครงใหญ่ เขาคือเจ้าของรางวัลศิลปาธรปี พ.ศ. 2553 สาขาภาพยนตร์ เคยผ่านการกำกับหนังเรื่อง “ วันเดอร์ฟูลทาวน์” มาแล้ว
“ข้อดีก็คือทาง สศร. คือเขาให้ความอิสระในการเลือก และเล่าเรื่องตามสไตล์ของผู้กำกับแต่ละคนเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เนื้อหาในหนังเรื่องนั้นๆ ต้องได้รับแรงบันดาลใจจากคำสอนของในหลวง”
หนังของเขาพยายามที่จะสื่อถึงความสุขของคนธรรมดาตัวเล็กๆ ในสังคมไทยที่ไม่เคยมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในหลวงเหมือนเขา และเหมือนคนอีกเป็นจำนวนมากในสังคมนี้ ทว่า พระองค์ท่านทรงเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่รอบตัวของพวกเราเสมอ
“สำหรับผมแล้ว ในหลวงมีความสำคัญต่อชีวิตของพวกเรา อาจจะไม่ได้เป็นที่คำสอน แต่พระองค์ท่านเป็นสัญลักษณ์ของความดี ความถูกต้องในสังคมไทย คล้ายๆ กับว่าพระองค์ท่านเป็นความดีที่รายล้อมอยู่รอบตัวเราเสมอ เป็นแสงอาทิตย์ที่ให้ความอบอุ่น เป็นลม เป็นอากาศที่ดับความทุกข์ร้อนแก่ปวงชนชาวไทย ผมเลือกที่จะนำเสนอในมุมมองแบบนี้ เรื่องเพลงชาติไทยของผมดูเผินๆ อาจจะไม่เกี่ยวกับคำสอนของในหลวงเท่าไหร่” อาทิตย์ อัสสรัตน์ กล่าวต่อทีมสกู๊ปพิเศษ
หนังสั้นเรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวละคร 3 ตัว อันประกอบด้วย แม่บ้าน, ยาม และ เจ้าของอพาร์ตเมนต์เก่าๆ ในกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง เจ้าของสั่งให้พนักงานไปทำความสะอาดห้องห้องหนึ่งซึ่งปิดตายไว้นานแล้ว โดยสั่งว่า ห้ามเคลื่อนย้ายเครื่องเรือนอะไรทั้งสิ้น หลังทำงานเสร็จ ทุกคนไม่มีนาฬิกา แต่ต้องรอปิดห้องตอน 6 โมงเย็น จึงนั่งรอจนได้ยินเสียงเพลงชาติไทยแว่วมาจากวิทยุ - โทรทัศน์ที่ทุกครัวเรือนเปิดอยู่
งานชิ้นนี้ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการเตรียมงาน ถ่ายทำกันเป็นจริงเป็นจังแค่ 3 วัน นักแสดงก็ใช้คนธรรมดาเช่นเดียวกับหนังสั้นเรื่อง “ เกษตร ...ตะกอน” ของนนทรีย์ นิมิบุตร
“ ผมทำงานอินดี้อยู่แล้ว ผมจะเลือกคนที่เหมาะกับตัวละคร โดยไม่ได้คิดว่าต้องใช้ดารา คนดังที่มีชื่อเสียง เพราะหนังเรื่องนี้นักแสดงทั้ง 3 คนก็รับบทคนธรรมดาๆ ซึ่งผมเลือกจากยามจริง , แม่บ้านจริง และอีกคนเป็นนักแสดงเอ็กซ์ตราที่เคยร่วมงานกันมาก่อน” อาทิตย์ อัสสรัตน์กล่าว
ส่วนอีกคน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ร่วมวงสนทนาในครั้งนี้ แต่ชื่อของเธอ พิมพกา โตวีระ เป็นเจ้าของรางวัลศิลปาธร ปี พ.ศ. 2552 ในสายภาพยนตร์เช่นเดียวกับ “อุ๋ย” นนทรีย์ และ “จุ๊ก” อาทิตย์ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอมาทำหนังสั้นเรื่อง “สุดสะแนน”
พิมพกาคนนี้จบสาขาวิชาภาพยนตร์และภาพถ่ายจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกำกับหนังสั้น “แม่นาค” และได้รับรางวัล Special Jury Prize จากเทศกาล Image Forum Festival ปี 1998 ที่ประเทศญี่ปุ่น ส่วนหนังยาวเรื่องแรกซึ่งกำกับและเขียนบทเองคือ คืนไร้เงา (One night Husband)
9 มหัศจรรย์ องค์ราชัน พลังแผ่นดิน
ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับการแสดงโดย ภาม รังสี โดยทาง สศร.ให้งบสนับสนุนในการจัดสร้าง เป็นภาพยนตร์แนว Drama Inpriration เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดถึงแรงบันดาลใจที่ได้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สู่ความมหัศจรรย์ทั้ง 9 เรื่องสั้น ผสมผสานเป็นเรื่องยาว ประกอบด้วย มหัศจรรย์สามัคคี, มหัศจรรย์เสียงเพลง, มหัศจรรย์แห่งศิลป์, มหัศจรรย์แห่งน้ำ, มหัศจรรย์แห่งรัก, มหัศจรรย์พอเพียง, มหัศจรรย์สีเขียว, มหัศจรรย์พระมหาชนก และมหัศจรรย์ องค์ราชัน พลังแผ่นดิน หนังสั้นทั้ง 9 เรื่องชุดนี้จะมีนักแสดงมืออาชีพร่วมแสดงด้วย เช่น สินจัย เปล่งพานิช, สมภพ เบญจาธิกุล, สุเชาว์ พงษ์วิไล, “เก้า” จิรายุ ละอองมณี, “เป้” อารักษ์ อมรศุภศิริ ฯลฯ
“ อย่างเก้า - จิรายุ เราอาจจะเคยเห็นเขาเล่นหนัง เล่นละครต่างๆ นานามาหลายเรื่อง แต่หนังเรื่องนี้จะเป็นครั้งแรกของเก้าที่เล่นหนังโดยไม่มีบทพูดเลยตลอด 12 นาทีเต็ม เก้าจะนั่งละเมียดกับการเขียนรูปในหลวง เป็นภาพวาดขนาดเล็กจิ๋ว เก้าจะมีบทพูดในช่วงตอนจบที่แสดงงานภาพในหอศิลป์ว่า “เฮ้ย...น้องวาดได้ยังไงเนี่ยภาพนี้” - “ไม่เห็นมีอะไรเลยพี่ แค่ผมรักในหลวงสุดหัวใจเท่านั้นเอง” สำหรับ “เป้” อารักษ์ ยิ่งเป็นอาร์ตเลย เป้จะแสดงหนังสั้นเรื่อง “มหัศจรรย์พระมหาชนก” โดยได้แรงบันดาลใจจากการอ่าน “พระมหาชนก” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแสดงบอดี้อาร์ตโดย “เป้” อารักษ์” ภาม รังสี กล่าว
ในภาพยนตร์ชุดดังกล่าวจะมีการจัดฉายครั้งแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 เวลา 18.15 น. ที่ SF Cinema โรง 10 เซ็นทรัลเวิลด์
ปิดทองหลังพระ
ปิดทองหลังพระ ตอน “ความฝันอันสูงสุด” นี้ เป็นภาพยนตร์เรื่องยาวเพียงเรื่องเดียวในโครงการนี้ที่สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้งบสนับสนุนในการจัดสร้าง ผลงานชิ้นนี้ สมชาย เจริญสมบัติ ประธาน บริษัท ไทยเทเลวิชั่นเคยจัดสร้างเป็นละครในนามของ “มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช” มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยแพร่ภาพออกอากาศไปแล้วทางโมเดิร์นไนน์ เมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม 2551 โครงการ “ปิดทองหลังพระ” นี้เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระองค์ท่านมาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจคนไทยทั้งชาติให้ได้รับรู้ถึงความดีของวีรชนผู้กล้า ความเสียสละของทหาร ตำรวจ และครู ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่าง ผู้กองแคน, หมวดตี้ และครูจูหลิน ในส่วนของละครเทิดพระเกียรติที่แพร่ภาพไปแล้ว นำแสดงโดย พ.ต.วันชนะ สวัสดี, สมจิตร จงจอหอ, ศรราม เทพพิทักษ์, รังสิโรจน์ พันธุ์เพ็ง ฯลฯ
นอกจากเทศกาลภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติฯ ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรมตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ 7 เรื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ KING PAVILION ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย, กลาโหม , คมนาคม และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 5 ธันวาคม 2553 กิจกรรมตามโครงการนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม ปีนี้ จนถึงปีหน้า … พ.ศ. 2554 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา
ภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติทั้ง 7 เรื่อง ได้ขอพระราชทานลิขสิทธิ์และพระบรมราชานุญาตจัดสร้าง โดยภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติทั้ง 7 เรื่องนี้จะจัดฉายที่ศาลากลางทุกจังหวัดทั่วประเทศ, ที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอ และจะฉายด้วยเทคนิคผ่านจอม่านน้ำ ขนาด 30 เมตร บริเวณฝั่งท่าพระจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2553 นอกจากนี้ ทางคณะทำงานยังได้กราบบังคมทูล ขอพระบรมราชานุญาตผลิตเป็นวีซีดี จำนวน 5 ล้านชุด เพื่อแจกจ่าย เผยแพร่แก่ประชาชนให้ได้รับชมกันอย่างทั่วถึงทุกครัวเรือน
ความโดดเด่นในโครงการนี้อยู่ที่ การนำเอาผู้กำกับภาพยนตร์ และนักแสดงที่มีชื่อเสียงมาร่วมงาน …
1. “เรื่องเดียวกัน” - ทีมผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน”
เนื้อหาสื่อถึงความสำนึกของคนไทยทุกคนที่ได้เรียนรู้เรื่องราวพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับ 3 โครงการหลวง ได้แก่ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ, ฟาร์มโคนมพระราชทาน และการปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น แสดงโดย “แน๊ก” ชาลี ไตรรัตน์ และ “ใบเฟิร์น” พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์
2. มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ - เหมันต์ เชตมี
หนังเรื่องนี้มีเค้าโครงมาจากชีวิตจริงของ “ป้าก้อนดิน” พรรณจันทร์ ศาลยาชีวิน (อาสาสมัครดีเด่น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ปี พ.ศ. 2552) และ “ป้าอ๋อย” นิธิพร เตชะรัฐ ซึ่งรับบทบาทการแสดงโดย สินจัย เปล่งพานิช และเพ็ญพักตร์ ศิริกุล เนื้อหาสื่อถึงการทำงานและความเสียสละของเจ้าหน้าที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ที่ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนชาวไทยในเหตุการณ์ต่างๆ ครั้งหนึ่ง แม่กับลูกชายได้พบกันโดยบังเอิญ เพราะต่างคนต่างลงไปช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิ
ต่อมา เมื่อจะมีการสร้างภาพยนตร์เฉลิมพระเกียรติ เรื่องดังกล่าวถูกปรับเป็นภาพยนตร์ในแนวดารามาสะเทือนใจ โดยหยิบเอาเหตุการณ์ “พายุไต้ฝุ่นเกย์” (วันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2532) ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 35 ปีเข้าถล่มที่ อ. บางสะพานน้อย และบางสะพานใหญ่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่ อ. ท่าแซะ และปะทิว ในจังหวัดชุมพร เ รื่องใหม่นี้ กำหนดให้ อาสาสมัครมูลนิธิฯ ที่รับบทโดย สินจัย ต้องสูญเสียลูกชายไปขณะที่ไปตั้งค่ายลูกเสืออยู่ที่นั่น ความทุกข์ของแม่ที่สูญเสียลูกในขณะที่ต้องปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนจะถูกถ่ายทอดอยู่ในหนังเรื่องนี้ เหมันต์ เชตมี จะทำหน้าที่กำกับฯ ภาพยนตร์ที่สุดสะเทือนใจและประทับใจในเรื่องนี้ (ผลงานภาพยนตร์สร้างชื่อมาแล้วหลายเรื่อง เช่น ปอบ หวีด สยอง, เซ็กซ์โฟน คลื่นเหงา สาวข้างบ้าน, พันธุ์เอ็กซ์ เด็กสุดขั้ว, รักจัง , รักนะ 24 ชั้วโมง, ม.3 ปี 4 เรารักนาย)
“ แล้วคุณหมอจะทิ้งชีวิตของคุณหมอไว้ที่นี่เหรอคะ”
“ พระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทิ้งเรา ผมก็จะไม่ทิ้งคนที่นี่เหมือนกัน”
3. เหรียญของพ่อ - นนทรีย์ นิมิบุตร
เรื่องราวของตำรวจตระเวนชายแดนที่เสียสละเพื่อประเทศชาติ ที่เข้าต่อสู้กับขบวนการค้ายาเสพติด แสดงโดย “บิ๊ก” ทองภูมิ สิริพิพัฒน์, “ฝ้าย” อริญรดา ปิติมารัชต์ และ สุเมธ องอาจ
“ ส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าหนังเทิดพระเกียรติเป็นแนวดรามา เพื่อให้เกิดความซาบซึ้ง ผมก็เลยคิดว่าทำอย่างไรมันถึงจะให้ความแตกต่าง แล้วค่อยแทรกความรู้สึกที่มีต่อในหลวง ไอเดียของหนังเรื่องนี้เกิดจากเรื่องจริงที่เคยอ่าน เคยฟังมา เช่น ตัวเอกเป็น ตชด.ที่ถูกยิงจากผู้ก่อการร้าย แล้วลูกปืนที่ยิงเข้าหัวใจมันไปกระแทกโดนเหรียญที่เขาห้อยอยู่แล้วไปโดนที่แขน” นนทรีย์กล่าว
4. อาม่า - พิง ลำพระเพลิง
ประโยคเด็ดของหนังเรื่องนี้คือ “ พระบริบาล แปลว่าอะไร ทำไมคนไทยไม่รู้จัก??” หนังอารมณ์ดีเรื่องนี้สื่อถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของชาวจีนที่อพยพมาอยู่บนแผ่นดินไทย จากที่พูดไทยไม่ชัดโดยผ่านตัวละคร “อาม่า” ที่มานะฝึกฝนจนสามารถร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีได้ กำกับการแสดงโดย พิง ลำพระเพลิง ซึ่งเป็นนามปากกาของ ภูพิงค์ พังสะอาด เขาเคยผ่านการเขียนบท , กำกับการแสดงภาพยนตร์และละครเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างงานหนังที่เราคุ้นเคย เช่น โคตรรักเอ็งเลย, คนหิ้วหัว, ฝันโคตรโคตร ส่วนละครโทรทัศน์ เช่น เขาวานให้หนูเป็นสายลับ, นางสาวจริงใจกับนายแสนดี, คู่กรรม, ซึมน้อยหน่อย กะล่อนมากหน่อย, ด้วยแรงอธิษฐาน เป็นต้น
5. จากฟ้าสู่ดิน - พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง
ในช่วงวิกฤตทางการเมืองในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2548 -2550 “อ๊อฟ” พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง เป็นบุคคลหนึ่งที่เคยขึ้นเวทีปราศรัยของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ “ตั้ว” ศรัณยู วงศ์กระจ่าง และวันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม 2553 เขาได้ฉายภาพ “พ่อหลวง” ผ่านวลี “ ที่นี่คือ แผ่นดินของพ่อ” บนเวทีการตัดสินรางวัลนาฏราช ครั้งที่ 1 และนั่นไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า เขาคือบุคคลที่มีความสำคัญและอยู่ในความทรงจำของเดือนพฤษภาคม 2553
“จากฟ้าสู่ดิน” เป็นเรื่องราวของชาวนาที่ล้มละลายในอาชีพเกษตรกรรม จนต้องขายที่ดินทำกินและเดินทางเข้าสู่สังคมเมืองเพื่อเป็นกรรมกรรับจ้าง ถูกกดขี่ขูดรีดด้วยค่าแรงต่ำกว่าความเป็นจริง ภาพยนตร์เรื่องนี้เขากำกับและแสดงเอง - “เกิดเป็นลูกชาวนา แต่กลับต้องมาซื้อข้าวกิน มันน่าเจ็บใจหลาย , เฮาบ่มีทางเลือกแล้ว บ่มีไผช่วยเฮาได้ดอก, ต้องมีซิแม่ เทวดาเพิ่นบ่ทิ้งคนจนอย่างเฮาดอก” …
"เรื่องนี้เป็นเรื่องชาวนาครับ เพราะว่าชาวนาเราตัวเล็กๆ จนและไม่มีจะกิน ทั้งๆ ที่เรารู้สึกว่ามันน่าสังเวชมาก ถ้าเกิดอาชีพที่ถูกเรียกว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ต้องเป็นอาชีพที่จะต้องล่มสลายเป็นอันดับแรก คือไม่อยากด่าคนนะ แต่มันเป็นเรื่องจริงที่ไม่มีใครสนใจดูแล มีอยู่แค่พระองค์เดียวคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญและคิดมา 60 กว่าปีแล้วนะ ที่พระองค์ท่านทรงงานหนักเพื่อที่จะดูแลชาวนาของเรา รัฐบาลทุกยุคไม่เคยใส่ใจ มีแต่ปากที่พูดว่าจะดูแล แต่สุดท้ายจริงๆ มันไม่ได้อะไรเลย … สุดท้ายก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยพระบารมีของพระองค์ท่าน ด้วยความรู้สึกที่ทุกคนมีต่อพระองค์ท่านในลักษณะเดียวกัน ในจุดเดียวกัน คือความเคารพและความรัก และการมองเห็นสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำให้แก่ประเทศชาติ …" พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง กล่าวแสดงความเห็น
6. คนล่าเมฆ - ปรัชญา ปิ่นแก้ว
เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริฝนหลวง โดยนำเหตุการณ์เมื่อปี 2542 เมืองไทยเกิดวิกฤตฝนแล้งจัด พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าว จึงมีรับสั่งให้จัดทีมฝนหลวงพิเศษขึ้นเป็นการด่วนเพื่อช่วยพสกนิกร นำแสดงโดย “บอย AF 3” สิทธิชัย ผาบชมภู
7. แผ่นดินของเรา - ยุทธนา มุกดาสนิท
“แผ่นดินของเรา” เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะมีการอัญเชิญพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของพระองค์ท่าน จากบทเพลงพระราชนิพนธ์สู่ภาพยนตร์เพลงเต็มรูปแบบ นำแสดงโดย “เจมส์” เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์, นัท มีเรีย, ธงไชย แมคอินไตย์, “บี้” สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว, “สิงโตThe star 5” สิงหรัตน์ จันทร์ภักดี , “นัททิว AF 5” ณัฏฐ์ ทิวไผ่งาม , สุนารี ราชสีมา เป็นต้น
แผ่นดินของเรา หรือ Alexandra เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในลำดับที่ 34 (ทรงพระราชนิพนธ์เนื่องในโอกาสที่เจ้าหญิงอเล็กซานดรา แห่งเคนต์ สหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2502 ) ปี 2516 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่าท่วงทำนองไพเราะ น่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้ จึงกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ประพันธ์คำร้องภาษาไทย
การทำภาพยนตร์เพลงเรื่องนี้ต้องถือว่าเป็นความถนัดของ ยุทธนา มุกดาสนิทอยู่แล้ว เนื่องจากในอดีตเขาเคยทำหนังเพลงอย่าง เทพธิดาบาร์ 21 (พ.ศ. 2521) และ เงิน เงิน เงิน (พ.ศ. 2526) รวมถึงละครเวทีอย่าง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ และจุมพิตนางแมงมุม มาแล้ว ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายเมื่อปี 2543 คือ “ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ” จนเมื่อ 2 ปีที่แล้วเขาได้กลับมารีเมกละครเวทีเรื่อง “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” อีกครั้งตามคำเชื้อเชิญของ “บอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณ
ความหลากหลายของแผ่นฟิล์มเฉลิมพระเกียรติในปีนี้ เสมือนดอกไม้งดงามที่ถูกสอดแซมด้วยสีสันมากมาย ไม่ว่าหนังเรื่องนั้นจะจัดสร้างโดยหน่วยงานใด จะเป็นหนังสั้น - หนังยาว ใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียง หรือบุคคลที่เราไม่เคยรู้จัก ไม่เคยพบเห็นหน้าค่าตามาก่อน หรือแม้แต่หนังในแนวทางที่แตกต่างกันไปตามความถนัดของผู้กำกับฯ แต่ละคนนั้น อุปมาดั่งลูกแต่ละคนในครอบครัวที่มีความคิด มุมมองและนิสัยใจคอ ผู้เป็น “พ่อ” ย่อมคาดหวังให้ลูกทุกคนได้อยู่ร่วมกันกันอย่าง รู้รักสามัคคีและยอมรับในความต่างของพี่กับน้องในครอบครัวเดียวกัน
เราคือ มนุษย์ผู้มีเผ่าพันธุ์แห่ง “ความจงรักภักดี” เป็นสรณะ
ที่มา http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9530000168345
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น