++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความภูมิใจของนักวิจัยไทย แพทย์ มข. พัฒนา “ชุดน้ำยาตรวจวินิจฉัยโรค”

คณะแพทย์จากศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ ม.ขอนแก่น สร้างชื่อ วิจัยและพัฒนาชุดน้ำยาตรวจวินิจฉัยโรคได้เป็นผลสำเร็จ เผยประสิทธิภาพแม่นยำ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ



คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) นำเสนอผลงานของ ศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาสุขภาพที่ดีและยั่งยืนของชาวอีสาน โดยมี คณะผู้บริหารของศูนย์ร่วมแถลงข่าว ได้แก่ รศ. ดร. วีระพงษ์ ลุลิตานนท์ ผู้อำนวยการ ศ. ดร. วันชัย มาลีวงษ์ รองผู้อำนวยการ ศ. พญ. ผิวพรรณ มาลีวงษ์ นักวิจัยประจำศูนย์

ศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2549 ด้วยเจตนารมณ์ เพื่อทำการค้นคว้าวิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ หลังจากการระบาดอย่างหนักของโรคซารส์ และโรคไข้หวัดนก ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงทั้งประเทศ ปัจจุบันศูนย์ดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ ชั้น 7 อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ถึงแม้จะเป็นหน่วยงานที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ ก็มีผลงานการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการแพทย์ คือ การพัฒนาชุดน้ำยาตรวจโรคเท้าช้าง โรคพยาธิใบไม้ตับวัวควาย โรคพยาธิใบไม้ในปอด โรคพยาธิตัวจี๊ด โรคเม็ดสาคูพยาธิตืดหมู โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิหอยโข่ง โรคพยาธิแคปิลลาเรีย ไวรัสในกลุ่มเริ่ม ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ตามฤดูกาล และสายพันธุ์ใหม่ เป็นต้น



รศ.ดร.วีระพงษ์ ลุลิตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯได้ร่วมกับภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มข. ได้เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อทางห้องปฏิบัติการโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อช่วยให้แพทย์ผู้รักษาสามารถให้การวินิจฉัยและทำการรักษาได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

“ในส่วนของการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อ ทางศูนย์วิจัยฯ ได้ดำเนินการตรวจนำร่องหาปริมาณลูกน้ำยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกและโรคชิกุนคุนยา ในเขตรอบ ๆ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคทั้งสอง นอกจากนี้ทางศูนย์วิจัยฯ ร่วมกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้มีการตรวจหาไวรัสไข้หวัดนกในนกตามธรรมชาติ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไข้หวัดนกที่อาจจะติดต่อมายังสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามบ้านหรือฟาร์ม ในกรณีตัวอย่าง เช่น โรคเท้าช้าง ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความพิการให้กับผู้ป่วย บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ หรือ ตั้งแต่ข้อศอกและเข่าลงไป มียุงเป็นพาหะนำโรค เกิดจากพยาธิฟิลาเรีย (Filaria) ซึ่งเป็นหนอนพยาธิตัวกลม อาการทางคลินิกของโรคเท้าช้างนั้น ก็มีความซับซ้อนและยากต่อการวินิจฉัย แต่เมื่อมีการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้าง ขึ้นมา โดยศูนย์วิจัยและบริการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อระบาดใหม่ ทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น”



ด้าน ศ. พญ. ผิวพรรณ มาลีวงษ์ รองหัวหน้าภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มข. และในนามนักวิจัยของศูนย์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันทางศูนย์ฯ ได้พัฒนาวิธีเรียลไทม์ พีซีอาร์ ซึ่งเป็นวิธีที่มีความไว ความจำเพาะ และความถูกต้องแม่นยำสูง สามารถอ่านผลได้ในครั้งเดียว โดยไม่ต้องนำมาแยกด้วยกระแสไฟฟ้าบนแผ่นวุ้นเพื่ออ่านผลเหมือนในวิธีพีซีอาร์แบบดั้งเดิม ทำให้ลดปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อ จึงไม่เกิดผลลบหรือผลบวกปลอม สามารถตรวจหาสารพันธุกรรม (DNA) ของเชื้อทั้งชนิดวูลเชอรีเรีย แบนครอฟไต และบรูเกีย มาลาไย ที่อยู่ในยุงพาหะและในเลือดคนได้สำเร็จ แม้ว่าจะมีปริมาณ DNA น้อยมาก และยังสามารถตรวจหาเชื้อได้ทั้งสองชนิดในครั้งเดียวกันได้ ทำให้ลดต้นทุน ใช้เวลาในการตรวจวินิจฉัยประมาณ 1 ชั่วโมง ทำให้สามารถรายงานผลได้ในเวลาอันรวดเร็ว และไม่มีปัญหาในการปนเปื้อน และยังสามารถตรวจได้ครั้งละ 30 ตัวอย่าง ใช้ตัวอย่างส่งตรวจในปริมาณน้อย ซึ่งทำให้วิธีนี้มีศักยภาพในการวินิจฉัยโรคเท้าช้าง รวมถึงโรคต่างๆ ที่ได้กล่าวมาในข้างต้น

ศ. ดร. วันชัย มาลีวงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวเสริมว่า การพัฒนาชุดน้ำยาตรวจวินิจฉัยโรคดังกล่าวนั้น เป็นการต่อยอดจากผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติหลายฉบับ และได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร เป็นผลงานที่เกิดจากมันสมองของทีมนักวิจัยไทย เป็นการวิจัยแบบพึ่งพาตนเอง ผลงานวิจัยสามารถลงไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแห่งแรกของโลก ที่มีการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคดังกล่าว ด้วยวิธีนี้

นอกจากภารกิจในการตรวจวินิจฉัยโรคทางห้องปฏิบัติการ และ การศึกษาวิจัยแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังมีกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการในด้านต่าง ๆ เช่น การให้คำปรึกษาด้านวิชาการ การจัดประชุมอบรม เกี่ยวกับเทคโนโลยีในการวิจัยและตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อ ซึ่งแน่นอนศูนย์ฯ นี้ จะสามารถเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพของประชาชน อีกแห่งหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานของประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น