หมอประกิต เผย ควันบุหรี่มือสองทำคนทั่วโลกเสียชีวิตปีละหกแสนคน พบบ้านเป็นแหล่งเกิดควันบุรี่มากสุด ขณะที่ไทยมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่าปีละสี่พันคน ด้าน สธ.ออกประกาศให้ที่สาธารณะ ที่ทำงานทุกแห่ง เป็นเขตปลอดบุหรี่ร้อยเปอร์เซ็นต์
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์แลนเซท ฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่พบว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองหกแสนคนต่อปี ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวทำโดย แมทเทียส โอเบิร์ก และคณะจากสถาบันเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมคาโรลินสกี ประเทศฟินแลนด์ โดยการวิเคราะห์ข้อมูล ปี พ.ศ.2547 ของ 192 ประเทศ พบว่า ร้อยละ 40 ของเด็ก ร้อยละ 33 ของผู้ชาย และร้อยละ 35 ของผู้หญิงทั่วโลกที่ไม่สูบบุหรี่ได้รับควันบุหรี่มือสอง และมีผู้เสียชีวิต 379,000 คน จากโรคหัวใจขาดเลือด 165,000 คน จากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง 36,900 คน จากโรคหืด และ 21,400 คนจากมะเร็งปอด รวมจำนวนผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองเท่ากับ 603,000 คน ซึ่งเท่ากับร้อยละ 1 ของผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุในปีเดียวกัน ทั้งนี้ ร้อยละ 47 ของผู้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองเป็นผู้หญิง ร้อยละ 28 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และร้อยละ 26 เป็นผู้ชาย และคำนวณดาลีย์ (การคำนวณจำนวนปีที่สูญเสียไปจากการป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลา) รวมทั้งสิ้นต่อปีเท่ากับ 10.9 ล้านดาลีย์ โดยเป็นการสูญเสียดาลีย์ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ถึงเกือบ 6 ล้านดาลีย์ หรือ 6 ล้านปีที่สูญเสียไป แทนที่จะมีชีวิตอยู่ตามที่ควรจะเป็น
และในการวิเคราะห์ข้อมูล ยังพบอีกว่า แหล่งควันบุหรี่มือสองที่สำคัญที่สุด คือ ในบ้าน รองลงมาคือ ในที่ทำงานและสถานที่สาธารณะต่างๆ คณะผู้วิจัยเร่งรัดให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ดำเนินการออกกฎหมายให้สถานที่ทำงานและสถานที่สาธารณะเป็นที่ปลอดบุหรี่ร้อยเปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งเสนอให้ผู้หญิงแสดงบทบาทนำในการปกป้องสมาชิกในบ้านจากควันบุหรี่มือสอง โดยการกำหนดให้ไม่มีการสูบบุหรี่ในบ้าน
นอกจากนี้ ศ.นพ.ประกิต ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนข้อมูลของประเทศไทย การสำรวจในปี พ.ศ. 2549 พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 2.2 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน และการสำรวจในปี พ.ศ.2552 มีผู้ใหญ่ร้อยละ 39 หรือ 20 ล้านคน ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ในที่สาธารณะ และที่ทำงาน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 กำหนดให้สถานที่สาธารณะและที่ทำงานทุกแห่งเป็นเขตปลอดบุหรี่ร้อยเปอร์เซ็นต์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในขณะที่สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นแม่ข่ายในการรณรงค์บ้านปลอดบุหรี่ผ่านผู้ปกครองที่พาเด็กมารักษาตัวในแผนกกุมารเวชศาสตร์ทั่วประเทศ และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับโรงเรียนอนุบาลต่างๆ สนับสนุนให้นักเรียนอนุบาลเป็นผู้รณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่
โดยการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนของประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2547 จำนวน 40,100 คน และน่าจะมีผู้เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ไม่ต่ำกว่าปีละ 4,000 คน เนื่องจากผู้สูบบุหรี่ไทยส่วนใหญ่ยังคงสูบในบ้าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น