++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

น้ำท่วมที่ราบสูง : ตลกร้ายของคนโคราช

โดย วิทยา วชิระอังกูร 4 พฤศจิกายน 2553 10:52 น.




น้ำท่วมสลับกับภัยแล้ง ตรรกะขัดแย้งชวนหงุดหงิด
บริหารจัดการน้ำไร้เข็มทิศ นับวันยิ่งวิกฤต วินาศสันตะโร

อุทกภัยกับภัยแล้งกลายเป็นภัยพิบัติซ้ำซากของประเทศนี้ และมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทุกปี โดยเฉพาะน้ำท่วมโคราชแผ่นดินที่ราบสูง ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างเหลือเชื่อ และท่วมมากที่สุดในรอบ 100 ปี (เท่าที่มีคนเกิดทัน) ถ้ารัฐบาลนี้ยังบริหารจัดการน้ำแบบขอไปทีเหมือนกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และผ่านมา ภัยพิบัติเกี่ยวกับน้ำก็อาจจะเป็นวิกฤตทำลายล้างประเทศนี้ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่บ่อนแซะทำลายประเทศชาติอยุ่ทุกเมื่อเชื่อวัน

เรามีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่เป็นองค์กรระดับชาติสูงสุดในการบริหารจัดการน้ำ แต่ใครจะเชื่อว่า มีคนไทยสักกี่คนที่รู้จักและเคยได้ยินชื่อองค์กรสำคัญแห่งนี้ เพราะยังไม่เคยปรากฏให้เห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นรูปธรรมให้จับต้องได้เลย ที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลก็จะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ โดยไม่เคยใส่ใจว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คนที่เป็นประธานในปัจจุบันนี้ก็คือ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ผู้เชี่ยวชาญการปรองดองแห่งชาติ แต่เกี่ยวกับเรื่องน้ำ ดูจากประสบการณ์แล้ว ท่านอาจจะไม่ประสีประสา หรืออาจจะไม่กระดิกหูเลยก็ว่าได้

องค์กรระดับชาตินี้ ถูกกำหนดให้มีภารกิจใหญ่หลวง ในการกำหนดนโยบายน้ำแห่งชาติ โดยครอบคลุมอำนาจหน้าที่ในการจัดหา พัฒนา อนุรักษ์ ฟื้นฟู ควบคุม กำกับการประสาน การประเมินผล และการแก้ไขปัญหา แต่ก็น่าเสียดายที่ไม่ได้แตกต่างจากคณะกรรมการอื่นอีกมากมายของประเทศนี้ ที่ตั้งขึ้นเพียงไว้อ้างอิงว่ามีแล้ว กำหนดอำนาจหน้าที่อย่างวิจิตรบรรจง แต่หาได้เกิดประโยชน์โภคผลอันใดไม่

ตั้งกันขึ้นมาเพื่อทำงานแก้ไขปัญหาระดับชาติ แต่กลับทำงานกันในลักษณะงานปกติ (Routine) เรียกประชุมกันเป็นระยะๆ เพื่อใช้งบการประชุมและเบี้ยประชุม ระดมเรียกหน่วยงานต่างๆ ที่อ้างว่าเกี่ยวข้องมามากมาย ซึ่งน่าสังเกตว่าหน่วยงานที่ถูกระบุว่าเกี่ยวข้อง ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ แทนที่ระดับปลัดกระทรวง อธิบดี หัวหน้าองค์กรรัฐวิสาหกิจ ที่มีอำนาจตัดสินใจจะมาประชุมด้วยตนเอง ก็กลับส่งเพียงผู้แทนมาประชุมแบบขอไปที ข้อสรุปการประชุม ก็แทบจะไม่มีผลในทางปฏิบัติ มีเพียงการรับทราบการรายงานของหน่วยงาน แล้วก็มอบนโยบายแบบกว้างๆ ไม่มีการติดตามประเมินผลอย่างจริงจังแต่อย่างใด

การบริหารจัดการน้ำของประเทศนี้จึงล้มเหลวอย่างที่เห็นที่เป็นอยู่ และเราจึงได้เห็นความทุกข์ยากของเกษตรกรรมประเทศไทย ที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งและน้ำท่วมสลับกันไปมาอย่างชนิดหัวเราะไม่ได้ร้องไห้ไม่ออก อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดมา

นอกจากองค์กรน้ำระดับชาติดังกล่าว เรายังมีหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำใหญ่ๆ อีกหลายหน่วยงาน อาทิ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม, กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ , และกรมอุตุนิยม ซึ่งก็ต่างคนต่างใหญ่ ต่างคนต่างทำ ทั้งซ้ำซ้อนทั้งละเลย คือบางทีก็แย่งกันทำ บางทีก็เกี่ยงกันที่จะทำ โดยสรุปคือขาดการบูรณาการอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้การบริหารจัดการเรื่องน้ำโดยรวม ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง

วิกฤตอุทกภัยในปีนี้ที่เกิดขึ้นแล้วอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ ในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงอีกในภาคใต้และกรุงเทพมหานคร เป็นวิกฤตที่เพียงพอหรือยังที่จะเรียกร้องรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ โดยการจัดทำแผนแม่บท ทั้งในเรื่องน้ำขาดแคลน และน้ำมากเกินความต้องการอย่างเป็นระบบและจริงจังเสียที

กรณีน้ำท่วมแผ่นดินที่ราบสูงโคราชครั้งนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ใช้เป็นกรณีศึกษา วิเคราะห์วิจัยถึงสาเหตุปัญหา และจัดวางแนวทางการแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักวิชาการได้เป็นอย่างดี เพราะดูจากลักษณะการเกิดน่าจะมาจากสาเหตุการขาดการบริหารจัดการน้ำโดยตรง เพราะน้ำท่วมโคราชครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากพายุดีเปรสชัน เป็นเพียงฝนที่ตกต้องตามฤดูกาล แต่ตกติดต่อกันหลายวันหน่อยเท่านั้นเอง ปริมาณน้ำฝนอาจจะมากกว่าปีก่อนๆ บ้าง ก็คงไม่ใช่มากมายจนเป็นเหตุให้เกิดการท่วมเมืองโคราชอย่างวินาศสันตะโรเช่นนี้ ท่วมครบ 32 อำเภอ กินพื้นที่ถึง 80% อย่างที่ไม่ควรจะเป็น

มันเกิดอะไรขึ้นกับเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ลำน้ำลำบริบูรณ์ และลำน้ำมูล เป็นคำถามที่คนโคราชทั้งที่ประสบภัยโดยตรงทั้งที่ถูกผลกระทบทางอ้อมจากน้ำท่วมครั้งนี้ ควรจะต้องได้รับคำตอบ และคำยืนยันจากรัฐบาลว่า เกิดปัญหาอะไรขึ้นกับแผ่นดินที่ราบสูง ที่เคยถูกพยากรณ์ว่าจะเป็นแผ่นดินชายทะเล เมื่อกรุงเทพฯ และเมืองบริวารถูกน้ำท่วมจมหาย สิ้น

มาบัดนี้ คนโคราชคงจะเริ่มลังเลแล้วว่า ในอนาคตคนโคราชจำเป็นจะต้องอพยพย้ายเมืองไปสร้างเมืองใหม่บนเขาใหญ่ เขายายเที่ยง เขาแผงม้า หรือวังน้ำเขียว เพื่อหลีกเลี่ยงภัยน้ำท่วม หรืออย่างไร?

ผมขอถอดใจคนโคราชทั้งมวล มาบอกกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอย่างตรงไปตรงมาว่า คนโคราชคงรับไม่ได้ที่จะต้องหวาดผวากับภัยพิบัติน้ำท่วมในปีต่อๆ ไป ซึ่งไม่มีหลักประกันว่า จะรุนแรงยิ่งกว่าปีนี้ ที่นาไร่ และบ้านเรือนถูกน้ำท่วมขังจนเน่าเหม็นทุกชุมชนถึงสิบกว่าวัน

ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะครับ ผมเชื่อว่าคนที่ทุกข์ทรมานจากน้ำท่วมทั้งประเทศ เขาหวังจะเห็นการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพจับต้องได้ เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยจากน้ำท่วมและภัยแล้งมากกว่าค่าชดเชยถูกๆ และถุงยังชีพชั่วคราวที่ต้องรอรับเหมือนเศษทานซ้ำซากทุกรายปี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น