++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เวทีประชาคมสัญจร อบต.เชียงกลม สร้างสุขภาพ กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงกลม อ.เชียงกลม จ.เลย

เรียบเรียงโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

            "เราจัดให้มีเวทีประชาคมโดยเฉลี่ย เดือนละ 2 ครั้ง ตามลักษณะประเด็น เน้นกระบวนการทำแผนที่ เน้นชุมชนมีส่วนร่วม ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเรื่องสุขภาพมากจนชุมชนปรับตัวไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้สารเคมีปริมาณมากเกินไปเพื่อดูแลพืชผล " นายก อบต.เชียงกลม
            คนส่วนใหญ่ในตำบลนี้ ทำมาหาเลี้นงชีพด้วยการเป็นเกษตรกรทั้งงานสวน งานไร่และงานนา คณะทำงานกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ จัดเวทีสัญจรไปทั่วตำบล ขยายพื้นฐานความเข้าใจ ให้คนทั่วไปมองเห็นและร่วมเข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน
            ประเด็นใหญ่เน้นงานพัฒนาสุขภาพ อยู่ดี-มีสุข ด้วยโรงพยาบาล 2 บาท มุ่งสร้างประชาคมสุขภาพ ตรวจสุขภาพในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ 6 ปีถึง 25 ปี รวมถึง กลุ่ม 25 ปีขึ้นไปจนถึงวัยสูงอายุ
            ในด้านสุขภาพอื่นๆ มีการตรวจหาสารเคมีในเลือด ตรวจเบาหวาน ตรวจความดันโลหิตสูงให้กับประชาชนบ้านโพนทอง, บ้านสาธร , บ้านห้วยนา บ้านคอนสาและบ้านเหมืองทอง
            "ผมทราบข่าวว่า สปสช.มอบทุนหลักประกันสุขภาพฯ จากเพื่อนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วยกัน ช่วงนั้น เลยเวลารับสมัครไปแล้ว แต่ลองโทรเดือนกันยายน 2549 สปสช. จึงให้เข้าร่วมแบบสมัครใจ" ปลัด อบต.เชียงกลมกล่าวอย่างนั่น

            หลังจากนั้นได้มีการจัดเวทีประชาสังคมสัญจร ยังหมู่บ้านต่างๆ เพื่อรับทราบปัญหา ข้อมูลจากการประเมินสุขภาพ พบว่า ประชาชนเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและมีสารพิษในร่างกาย (ชาวบ้านใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมกันมาก) คณะทำงานกองทุนฯ  ได้วางเป้าเพื่อการแก้ไขปัญหา "อยู่รอดปลอดภัย มีอยู่มีกิน-อยู่ดีมีสุข ด้วยการใช้วิธีประชาคมสุขภาพ" และมีการจัดเก็บข้อมูลเอาไว้ในฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ

            "การดูแลสุขภาพประชาชน ควรครอบคลุมทุกเรื่องทั้งการส่งเสริมป้องกัน การรักษา การให้บริการที่ชาวบ้านต้องการ คิดแล้วอยากทำเลย บางครั้งนอนไม่หลับ เพราะอยากให้ชาวบ้านได้รับสิ่งดีๆ เราไม่ได้ทำเพื่อตนเอง อยากให้ครอบคลุมไปหมดทุกเรื่องอย่างที่ว่ามานั่นแหละ " นายก อบต.เชียงกลม กล่าวย้ำอีกครั้ง
            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการดำเนินการต่อเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพฯ ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่สิ่งที่คนเชียงกลมได้เรียนรู้ นั่นคือ การร่วมคิด-ร่วมสร้าง พัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน
            ซึ่งสามารถสรุปบทเรียนการดำเนินงานได้ดังนี้
            - เจ้าหน้าที่เกิดแนวคิดการทำงานใหม่ ด้วยการสร้างความร่วมมือจากภาคีประชาชน ด้วยกลยุทธ์ เข้าหาประชาชน สร้างเวทีประชาคม เปิดพื้นที่ ความคิดเห็นของประชาชน ด้วยการดึงคนจากทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน "แต่เดิม ไม่มีเวทีประชาคมเสนอะไรจะผ่าน อบต. การทำประชาคมเพิ่งเริ่มทำปีแรก ในชื่อว่า โครงการ อบต.สัญจร"
            - ใช้ระบบการจัดการความรู้ ด้วยการศึกษาดูงานจากแหล่งที่ประสบความสำเร็จ ในเรื่องโรงพยาบาล 2 บาท การให้ทุนการศึกษากับเยาวชน สร้างทุนทรัพยากรมนุษย์
            - ระบบการดำเนินงานกองทุน จะเน้นการสร้างความตระหนักให้ประชาชนเกิดแนวคิด ปรับทัศนคติ ในเรื่องสุขภาพของตนเองเน้นความรู้ ส่งเสริมป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย เพราะการรักษายากกว่าการป้องกัน
            - เกิดกระบวนการรวมคน คิด ทำ สร้างกิจกรรมสุขภาพร่วมกัน กลายเป็นชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ
            - การเรียนรู้แนวคิด กลไก การขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพ และการพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวมร่วมกัน ทำให้เกิดกระบวนการในการจัดการ รู้ทิศทางและวิธีการที่จะพัฒนาสุขภาพตามแนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้งร่วมวางแผนและลงมือปฏิบัติ
            " เราต้องการให้ความรู้แก่ชาวบ้านทุกเรื่อง รวมทั้งความรุ้ด้านการใช้สารเคมี ชาวบ้านใช้สารเคมีปลูกพืชกันมาก ต้องสร้างหลักสูตรปุ๋ยชีวภาพให้ชาวบ้านเอาไปใช้เพราะหากชาวบ้านไม่มีความรู้ ความตระหนัก จะไม่เกิดการรักษา ส่งเสริม ป้องกัน จะเป็นหน้าที่ตามกิจวัตรของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยชาวบ้านพึ่งตนเองไม่ได้เลย "ปลัด อบต.เชียงกลม กล่าวถึงแนวคิดการทำงาน
            สำหรับโครงการต่อไป อบต.เชียงกลม มั่นใจว่า จะนำแนวคิดเรื่องโรงพยาบาล 2 บาท มาดำเนินโครงการ โดยการเก็บค่าใช้จ่าย คนละ 2บาท/ปี เป็นโรงพยาบาลที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกับรถรับส่ง หากเกิดเหตุฉุกเฉิน พร้อมกับร่วมระดมทุน จากการจัดผ้าป่าสุขภาพเพื่อทำกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น มีความยั่งยืน เป็นหลักประกันให้แก่คนเชียงกลมตลอดไป

            ทั้งนี้ แนวคิดเหล่านี้ มาจาก การเข้าถึงต้นตอแห่งปัญหา จากการจัดเวทีประชาคมสัญจร นั่นเอง
            เวทีนี้อาจไม่มีพี่เลี้ยง แต่มีคนทั้งชุมชนพร้อมใจกันสร้างสรรค์ งานสร้างหลักประกันสุขภาพโดยไม่มีเกี่ยงงอน

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ยลฤดี ตัณฑสิทธิ์
อรัญญา ศรีสุนาครัว
เอกชัย ด่านชาญชัย
กาญจนา สานุกูล



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น