++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คาถาหัวใจเศรษฐี

พูดเรื่องเคล็ดลับการออมจากมุมมองของฝรั่งตะวันตกมาหลายครั้ง วันนี้ก็ขอเอาเคล็ดลับการเป็นเศรษฐีจากมุมมองของพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกกันว่า “คาถาหัวใจเศรษฐี” มาฝาก

เรื่องนี้มาจาก พระสุตันตปิฎก เล่มที่ 15 กล่าวถึงเมื่อท่านเสด็จไปถึงนิคมของชาวโกฬิยะ มีกระทาชายนายคนหนึ่ง ชื่อ ฑีฆชาณุ เข้าไปเรียนถามว่า สำหรับเขาที่เป็นคนธรรมดา ยังบริโภคสิ่งที่ต่าง ๆ อยู่ครองเรือน นอนกับลูกเมีย ยินดีเรื่องเงินทอง ยังไม่สละทุกอย่าง ขอให้ทรงบอก สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับการครองชีวิตของปุถุชนเช่นเขาด้วย

พระพุทธองค์จึงได้สงเคราะห์ให้คาถาหัวใจเศรษฐี “อุ อา กะ สะ” กับ ฑีฆชาณุ ประกอบด้วย

1. การขยันทำมาหากินโดยสุจริต เลี้ยงชีพด้วยการหมั่นประกอบการงาน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านไหน ๆ ทั้ง เกษตร พาณิชย์ ราชการ ทหาร ไม่เกียจคร้านในงานนั้น ๆ เอาใจใส่ ใช้ปัญญาพัฒนางาน และความรู้ของตนให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ข้อ นี้ชัดเจน ถ้าอยากเป็นเศรษฐี ต้องเริ่มจากการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นเป็นเบื้องต้น ขยันหมั่นเพียร หนักเบาเอาสู้ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากและอุปสรรค รู้จักหาความรู้ แก้ไขการงานให้ดียิ่งขึ้นไป

ซึ่งในประเด็นนี้ ถ้าความชอบเป็น จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ ในอิทธิบาทสี่ ความขยันทำมาหากินและรู้ทบทวนในสิ่งที่ตนเองทำเป็นจุดเริ่ม ต้นของความมั่งคั่ง พูดสั้น ๆ จะมีเงินได้ ก็ต้องมีความขยันในการทำมาหากิน ครั้นพอมีเงินแล้ว จึงค่อยคิดที่จะให้เงินทำงานให้เต็มที่ตามที่ฝรั่งบอก

2. การรู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ มีเงินทองที่หามาได้โดยชอบธรรม ด้วยความเหนื่อยยาก ด้วยความขยันหมั่นเพียร บางคนก็ด้วยกำลังแขนกำลังขา จนเหงื่อโทรมตัว ก็ต้องรู้จักรักษาเงินทองเหล่านั้นไว้ ท่านใช้คำว่า รักษา “ไม่ให้โจรลักไป น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทผู้ไม่เป็นที่รักจะไม่พึงลักไป”




ตรง นี้ ที่คนมักมองข้าม และต้องระวังจริง ๆ ก็คือ ตนเอง เพราะคนที่ทำให้การรักษาทรัพย์ที่หามาได้เป็นไปได้ยาก ก็เรานี่แหละ เห็นอะไรก็ซื้อหมด ใช้หมด ท่านจึงทรงเตือนต่อไปว่า เงินทองที่หามา ได้มีทางเสื่อม 4 ด้าน ก็คือ เป็นนักเลงหญิง 1 นักเลงสุรา 1 นักเลงการพนัน 1 และมีมิตรชั่ว สหายชั่ว เพื่อนชั่ว 1 เสมือนกับสระน้ำใหญ่ที่มีทางไหลออก 4 ทาง ถ้ายังเปิดทางเหล่านี้เอาไว้ ก็มีแต่ไหลออก ไม่น่าแปลกใจว่านำไปแต่ทางเสื่อม ท้ายสุด สระก็แห้งเหือด

ถ้า ไม่รู้จักรักษา ไม่รู้จักใช้ เงินทองก็วิ่งหนีจากเราได้เช่นกัน แต่ถ้าอยากร่ำรวย ก็ต้องทำกลับกัน โดยปิดทางที่น้ำไหลออก เปิดทางไหลเข้าด้วยความขยันหมั่นพียร ท้ายสุดสระน้ำแม้จะใหญ่ก็เต็มบริบรูณ์ได้

3. การคบมิตรดี คบคนที่จะให้คำแนะนำ สนับสนุน เกื้อกูลแก่เรา เป็นแบบอย่างให้กับเราเรื่องการทำความดี การมีความเชื่อในสิ่งที่ถูก การไม่ตระหนี่ การมีปัญญา

เรื่องมิตรดีมิตรไม่ดีนี้ คุณเสถียร พงษ์ วรรณปก เขียนไว้จับใจว่า “มิตรชั่วถอนเสาเรือนใครต่อใครมามากนักแล้ว ผู้ครองเรือนจะต้องระวังให้จงหนัก” มิตรดีถ้ามี ก็จะเป็นที่ปรึกษาในการใช้ชีวิตให้กับเรา แม้กระทั่งแนะนำ ให้คำปรึกษาในการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดี เงินทองก็จะสามารถงอกเงยได้

4. การอยู่อย่างพอเหมาะพอดี โดยคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงชีพตนเหมาะสมตามอัตภาพ ทำให้รายได้เราจะเหนือจากรายจ่าย และรายจ่ายจะไม่เหนือรายได้ ไม่ตกอยู่ในภาวะ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” เดินทางสายกลาง ไม่ฟูมฟาย ไม่โอ่โถงเกินไปนัก รวมทั้งไม่ให้ฝืดเคืองเกินไปนัก

ก็ขอให้แต่ ละคนหมั่นทบทวนตนเองเสมอ ๆ ว่า เราได้ปฏิบัติตามหัวใจเศรษฐีทั้ง 4 ข้อนี้ ให้ถึงพร้อมแล้วหรือยัง เมื่อทำได้ ความเจริญในชีวิตก็จะเกิดขึ้น และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นเศรษฐี จึงนับเป็นข้อแนะนำด้านการเงินที่ลึกซึ้งชัดเจน ไม่จำกัดกาล แข่งกับความรู้การออมสมัยใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น