++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปริศนา "นางนพมาศ" กับ "ประเพณีลอยกระทง" มีจริงหรือ

พระจันทร์เต็มดวงสาดแสงสีนวล ลอยเด่นอยู่บนน่านฟ้าสีนิล

กระทงใบตองหลายต่อหลายใบก็อาศัยแสงสว่างจากเทียนเล่มเล็กๆ ลอยเด่นอยู่บนน่านน้ำแข่งกับดวงจันทร์ในคือวันเพ็ญ ทำให้วันลอยกระทงเป็นคืนที่หนุ่มสาวทั้งหลายมารวมตัวกันเพื่อสืบทอดและชื่นชมความสวยงามของประเพณีอันดีงามที่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณ

แต่มีใครทราบบ้างว่าจริงๆ แล้ว ประเพณีลอยกระทงและนางนพมาศนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยใด?

ยังคงเป็นที่สงสัยและเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าด้วยเรื่องของนางนพมาศและประเพณีลอยกระทงนั้น แท้จริงแล้วเกิดขึ้นในสมัยใด หนังสือเรื่อง "นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์" ได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2457 โดยมีชื่อเรียกทั้งหมด 3 ชื่อ ได้แก่ 1.นางนพมาศ 2.เรวดีนพมาศ 3.ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ผู้ที่แต่งหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมานั้นกล่าวกันว่าชื่อ "นางนพมาศ" บิดา เป็นพราหมณ์เข้ารับราชการเป็นพระปุโรหิต ในตำแหน่งพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์ (พราหมณ์ผู้ดำเนินพระราชพิธีในวัง) เมื่อครั้งนครสุโขทัยเป็นราชธานีของสยามประเทศ บิดาและมารดานามว่าเรวดีได้นำนางนพมาศเข้าถวายแด่สมเด็จพระร่วงเจ้า (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นสนมเอกในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรง วิเคาระห์ไว้ว่า ข้อความในหนังสือนั้นกล่าวด้วยเรื่องประวัติความเป็นมาของ ผู้แต่งที่อ้างว่าตนนั้นมีนามว่า "นพมาศ" ได้ถือกำเนิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระร่วงเจ้า (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) และได้เข้าถวายการรับใช้พระเจ้าอยู่หัวผู้ปกครองเมืองสุโขทัย



แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สำนวนที่ใช้เขียนนั้นกลับเป็นสำนวน "ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์"!

นอก จากนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์อธิบายไว้เมื่อพิมพ์ครั้งแรกว่า ทรงมิได้มีความนิยมต่อหนังสือ เรื่องนางนพมาศนี้ เนื่องจากทรงเห็นว่ามีข้อความที่กล่าวผิดอยู่หลายแห่งยกตัวอย่างจากหัวข้อ ที่ว่าด้วยชนชั้นต่างๆ หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงชื่อประเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งแท้จริงแล้วในสมัยสุโขทัยนั้นยังมิได้มีต่างชาติประเทศใดเข้ามาเมื่อ ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีเป็นแน่

หาก แต่ยังทรงกล่าวต่อว่า มีท่านผู้ศึกษาโบราณคดีสมัยก่อนนั้น มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และกรมวงศาธิราชสนิท ทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ จึงคาดว่าหนังสือเรื่องนางนพมาศของดั้งเดิมน่าจะถูกแต่งขึ้นโดยท้าวศรี จุฬาลักษณ์พระสนมเอกในสมเด็จพระร่วงเจ้า (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช) จริงดังที่กล่าวไว้ หากแต่ฉบับเดิมอาจจะเก่าและขาดหายไปบ้าง จึงมีผู้ที่อยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แต่งขึ้นใหม่โดยตั้งใจจะปฎิสังขรณ์ ให้เรียบร้อย แต่ผู้แต่งมิได้ถือเอาความจริงเท็จในพงศาวดารเป็นสำคัญ แต่ต้องการจะแต่งให้ไพเราะเพราะพริ้งเรียบเรียงลงไปตามความรู้ที่มีอยู่ใน เวลานั้น เรื่องราวในหนังสือจึงวิปลาสไป

กรมศิลปากร จึง จัดจำแนกให้หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ อยู่ในสมัยสุโขทัย แต่ได้มีคำอธิบายเรื่องสุภาษิตพระร่วงและคำอธิบายเรื่องนางนพมาศกำกับให้รู้ ว่าการจัดไว้ให้เป็นวรรณกรรมสมัยสุโขทัยก็เพียงเพื่อ "มิให้เกิดความสับสน แก่ผู้ที่ศึกษาและเพื่อมิให้ขัดกับตำรับตำราว่าด้วยวิชาประวัติวรรณคดีไทย ปัจจุบันเท่านั้นเอง"

ทั้ง นี้ กรมศิลปากรยังบอกต่ออีกว่า "วรรณคดีเรื่องนางนพมาศนี้น่าจะจัดไว้ในสมัยรัตน โกสินทร์ตอนต้น ด้วยเหตุที่การกำหนดยุคสมัยของวรรณคดีนั้นเป็นสำคัญ มิใช่กำหนดจากข้อมูลในเรื่อง..." (กรมศิลปากร : ๒๕๒๘ : ๒๕๕)

ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงษ์ ได้ กล่าวระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "ความน่าสนใจของหนังสือเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเป็น งานวรรณกรรมที่เขียนในสมัยช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ความพยายามที่ไปจัดนางนพมาศเป็นวรรณกรรมสุโขทัยนั้นได้ปิดบังมิให้ได้เห็น สิ่งที่น่าตื่นเต้นอันแฝงเร้นอยู่ในวรรณกรรมชิ้นนี้มาเป็นเวลานาน"

สุพจน์ แจ้งเร็ว บรรณาธิการพิเศษของ "ศิลปวัฒนธรรม" ได้ เขียนบทความลงในหนังสือศิลปวัฒนธรรมมาก่อนหน้านี้แล้วในฉบับเดือน พฤศจิกายน (ปีที่ 5 ฉบับที่ 1) และฉบับเดือนธันวาคม (ปีที่ 5 ฉบับที่ 2) พ.ศ.2526 ซึ่งได้เสนอหลักฐานและพยานแวดล้อมอีกจำนวนหนึ่งที่ยืนยันว่าเป็น วรรณกรรมที่เขียนขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินรัชกาลที่ 3 เป็นแน่

นางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์แท้จริงแล้วได้เป็นผู้ประพันธ์หนังสือเรื่องนางนพมาศนี้จริงหรือไม่?

สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้รวบรวมข้อมูลและข้อสันนิฐานทั้งหมดเอาไว้ในหนังสือเรื่อง "ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย" เพื่อให้นักอ่านที่สนใจความเป็นมาเป็นไปของประเพณีลอยกระทงและนางนพมาศได้ ลองวิเคราะห์พิจารณากันดูว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ...
โดย ส่วนตัวแล้ว สุจิตต์ วงษ์เทศ ไม่เชื่ออย่างเด็ดขาดว่านางนพมาศนั้นได้มีตัวตนอยู่จริง จึงเชื่อว่าเรื่องนางนพมาศนี้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาให้เป็นนิยาย ซ้ำยังกล่าวอีกว่า "ถ้าหากนางนพมาศที่มีตัวตนอยู่จริงก็คงจะมีเพียงบรรดา "เทพีนางนพมาศ" ที่ชนะการประกวดความงามประจำปีตามเวทีประกวดต่างๆ ทั่วประเทศไทยมานานหลายสิบปี ซึ่งก็คงจะมีเยอะเกินจนยากที่จะจดจำได้ไหว"

แล้วท่านผู้อ่านเล่าคิดอย่างไร ...

***************************************
แหล่ง อ้างอิง : หนังสือนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์,พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๔๕๗,พิมพ์ครั้งที่ ๑๔ พ.ศ.๒๕๑๓ ; หนังสือไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทง สมัยสุโขทัย : สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ,พิมพ์ครั้งที่ ๒ พฤศจิกายน,๒๕๓๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น