++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ฆาตกรเงียบ – ความสกปรกของอากาศที่เราคาดไม่ถึง

โดย ไสว บุญมา 21 พฤศจิกายน 2553 17:00 น.



ตอนนี้มีคนเป็นโรคภูมิแพ้กันมาก ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งเพราะ “โลกนี้ไม่มีของเปล่า” นั่นคือ ความก้าวหน้าในช่วงเวลานี้มีต้นทุนที่เราต้องจ่ายในรูปของการหายใจอากาศพิษซึ่งส่วนมากเกิดจากฝุ่นละออง ควันและสารเคมีที่เราปล่อยออกไปในอากาศ ประเทศก้าวหน้าพยายามกำจัดอากาศพิษด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการย้ายโรงงานไปตั้งในประเทศด้อยพัฒนาซึ่งอ้าแขนรับ “ความก้าวหน้า” โดยไม่นึกถึงของเสียที่ติดมาด้วย ในปัจจุบัน ปัญหามลพิษในอากาศจึงแพร่กระจายออกไปทั่วโลก

นั่นเป็นปัญหาเกี่ยวกับอากาศทั่วๆ ไปที่อยู่ภายนอกอาคารและบ้านเรือน ยังมีปัญหาอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในประเทศด้อยพัฒนา ได้แก่ปัญหาเกี่ยวกับอากาศสกปรกภายในอาคารและบ้านเรือนซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมทั้งการลอกเลียนวิถีชีวิตของประเทศก้าวหน้า เช่น ปิดประตูหน้าต่างอย่างแน่นหนาเพื่อปรับอากาศให้เย็นสบายและใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ เช่น เครื่องสำอาง ยาฆ่าแมลง และยาปรับแต่งกลิ่น

ปัญหาเกี่ยวกับอากาศในอาคารเป็นอันตรายไม่ค่อยได้รับความสนใจนักเนื่องจากสารอันตรายมักมองไม่เห็นและไม่มีกลิ่น ในประเทศก้าวหน้า ปัญหานี้มักเป็นที่รู้กันจากการติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ เมื่อปี 2549 นายแพทย์ Allan Somersall พิมพ์หนังสือชื่อ Fresh Air for Life: How to Win Your Unseen War Against Indoor Air Pollution ออกมาสำหรับคนในทวีปอเมริกาเหนือ เนื้อหาของหนังสือมีเรื่องควรรู้สำหรับคนไทยเนื่องจากเราได้พยายามเดินตามก้นคนอเมริกันมานานและเริ่มมีปัญหาอากาศพิษภายในอาคารและบ้านเรือนแล้ว บทคัดย่อของหนังสือเล่มนี้มีอยู่ในหนังสือชื่อ ธาตุ 4 พิโรธ

ทุกๆ นาทีเราหายใจหลายครั้งและสูดทุกอย่างในอากาศเข้าไปในปอด ในปัจจุบัน เราใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในอาคารและบ้านเรือน ความสะอาดของอากาศภายในจึงสำคัญกว่าอากาศภายนอก การศึกษาขององค์การปกป้องสิ่งแวดล้อมของอเมริกาพบว่า อากาศภายในมีมลพิษมากกว่าอากาศภายนอกราว 2-10 เท่าและมลพิษภายในเป็น 1 ใน 5 ของบรรดาสิ่งแวดล้อมที่มีอันตรายสูงสุดสำหรับชาวอเมริกัน นอกจากนั้นองค์การอนามัยโลกประเมินว่าเกือบ 1 ใน 3 ของตึกทั่วโลกมีปัญหามลพิษ สมาคมแพทย์โรคภูมิแพ้ของอเมริกาชี้ว่า ราว 50% ของความเจ็บป่วยในอเมริกามีสาเหตุมาจากมลพิษภายในอาคาร ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชาวอเมริกันเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าและอัตราการตายจากโรคนี้เพิ่มขึ้นกว่าสามเท่า

สำหรับแนวทางแก้ปัญหา ผู้เขียนแนะนำว่ามีอยู่ 5 วิธีคือ 1) กำจัดที่มาของสิ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ เนื่องจากควันบุหรี่มีสารพิษ การเลิกสูบบุหรี่ย่อมดีแน่ นอกจากนั้นเขาแนะนำให้ใช้ไม้และกระเบื้องปูพื้นแทนพรม และเลิกเลี้ยงสัตว์ภายในบ้าน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายในบ้านมักมีสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายผสมอยู่ จากสบู่ เครื่องสำอาง ของเล่นไปจนถึงยาฆ่าแมลง ถ้าเป็นไปได้ต้องเลิกใช้ หรือไม่ก็จำกัดให้เหลือน้อยที่สุด

2) ถ่ายเทอากาศ การศึกษาพบว่าปัญหาอากาศภายในอาคารเป็นพิษราว 60% เกิดจากอากาศถ่ายเทไม่พอ แต่การเปิดหน้าต่าง ประตูหรือบานเกล็ดอย่างเดียวก็อาจทำให้อากาศถ่ายเทได้ไม่เพียงพอ ฉะนั้น นอกจากการออกแบบอาคารจะต้องคิดถึงเรื่องการถ่ายเทของอากาศตามธรรมชาติแล้ว อาจต้องเพิ่มเครื่องช่วยถ่ายเทอากาศจำพวกพัดลมเข้าไปด้วย

3) กรองอากาศ การทำให้อากาศถ่ายเทเป็นการสับเปลี่ยนระหว่างอากาศภายในกับอากาศภายนอกอาคาร ถ้าอากาศภายนอกเป็นพิษอยู่แล้ว การถ่ายเทย่อมไม่เกิดประโยชน์ ในบางกรณีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกรองอากาศ สำหรับอากาศที่มีฝุ่นละอองเจือปนอยู่มาก เครื่องกรองอาจเป็นจำพวกแผงเส้นใยสำหรับให้อากาศไหลผ่าน หรือ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทำให้ฝุ่นมีประจุไฟฟ้าแล้วลอยไปเกาะตามฝา พื้นและสิ่งอื่นซึ่งมีอยู่ในอาคาร ส่วนสิ่งเจือปนที่อยู่ในรูปของไอน้ำ ก๊าซและเชื้อจุลินทรีย์ เครื่องกรองอาจต้องเป็นจำพวกผงถ่านซึ่งผ่านกรรมวิธีให้มีความสามารถในการดูดซับเรียกว่า “ถ่านกัมมันต์” (Activated Charcoal)

4) ฟอกอากาศให้บริสุทธิ์โดยเลียนแบบธรรมชาติซึ่งมีอยู่ 3 อย่างคือ ใช้โอโซน หรือออกซิเจนที่มีสารอะตอมซึ่งมีความสามารถในการทำความสะอาดสูงฟอกปฏิกูลในอากาศ (Ozonation) ทำให้เกิดประจุไฟฟ้าในฝุ่นละอองแล้วให้มันรวมกันเป็นสารอื่นที่ไม่มีอันตราย (Ionization) และใช้แสงอัลตราไวโอเลตทำลายสิ่งที่มีอันตราย (Irradiation)

5) ฟอกอากาศโดยเทคโนโลยีที่มนุษย์อวกาศใช้เมื่อเขาออกไปอยู่นอกโลกซึ่งเขาต้องฟอกอากาศที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อนำกลับมาใช้อีก กระบวนการฟอกชนิดนี้ทำได้หลายวิธีด้วยกัน แต่ผู้เขียนเสนอว่า วิธีที่อาจใช้ได้ผลดีที่สุดในชีวิตประจำวันได้แก่ Radiant Catalytic Ionization

ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตรวจดูว่าในบ้าน โรงงาน โรงพยาบาลและสำนักงานของเรามีอากาศที่เป็นฆาตกรเงียบแฝงตัวอยู่หรือไม่ ถ้ามีก็ต้องหาวิธีกำจัดที่เหมาะสมอย่างเร่งด่วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น