++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

วิธีรู้สึกดีขึ้นกับคนที่คุณเกลียด

วิธีรู้สึกดีขึ้นกับคนที่คุณเกลียด

ฉบับที่ ๑๔๐ วิธีรู้สึกดีขึ้นกับคนที่คุณเกลียด

วิธีที่ดีที่สุด
ที่จะรู้สึกดีขึ้นทันทีกับคนที่คุณเกลียด
คือมองเขาเป็นเครื่องฝึกจิต
จะได้เห็นว่า
เขาช่วยทำให้ชีวิตคุณก้าวหน้ากว่าคนทั่วไปมาก

ความรู้สึกที่มีต่อคนคนหนึ่ง
ไม่ได้อยู่ที่ความเป็นเขาถ่ายเดียว
แต่อยู่ที่มุมมองของคุณเองด้วย

มองอย่างคาดหวัง
ก็ให้ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์แบบรอความหวัง
หรือผิดหวังสมหวัง
ทั้งที่เขาอาจไม่ได้อยากรับฝากความหวังให้คุณ

มองอย่างเป็นเพื่อนร่วมโลก
ก็ให้ความรู้สึกพึ่งพาซึ่งกันและกัน
แบบคนที่ต้องอาศัยโลกใบเดียวกัน
คนหนึ่งทำไว้กับโลกอย่างไร
อีกคนก็ได้รับผลกระทบจากความเป็นโลกอย่างนั้น

มองอย่างเป็นศัตรูคู่แข่ง
ก็ให้ความรู้สึกว่าต้องเอาชนะคะคานกัน ทำลายกัน
ยอมกันไม่ได้ ถอยแม้แต่ก้าวเดียวไม่ได้
หรือกระทั่งเป็นสุขกับการอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้

แต่ถ้ามองอย่างเป็นเครื่องฝึกจิต
ความรู้สึกทั้งหมดจะพลิกกลับ
เพราะธรรมดาคนเราจะไม่คิดฝึกจิต
ฉะนั้น เมื่อใครบางคนกลายเป็นที่ตั้งของการฝึกหัด
ความตั้งใจนั้น จะช่วยให้มองย้อนเข้ามาที่ตัว
รู้สึกเข้ามาที่ใจ รู้จักเทียบวัด
เห็นจิตของตัวเองดีขึ้นหรือแย่ลงได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

คุณเลือกฝึกได้สารพัด
ฝึกควบคุมตนเองในสถานการณ์อึดอัด
ฝึกความฉลาดเลือกคำพูดผ่าทางตัน
ฝึกคิดหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่าย
และที่สุดอันเป็นที่สุด คือ
ฝึกสมาธิแบบแผ่เมตตา

การฝึกแผ่เมตตาให้เข้าถึงอัปปมัญญาสมาบัติ
หรือเอาให้ได้สมาธิชั้นเลิศนั้น
พระพุทธเจ้าก็แนะให้ใช้ความผูกใจเกลียดนี่เอง เป็นตัวตั้ง
โดยพิจารณาความเกลียดเหมือนโรคภัยไข้เจ็บ
คนเราเมื่อหายป่วยได้ ก็กลับฟื้นมีกำลังวังชาได้
ดีใจได้ว่าเราหายแล้ว หรือทุเลาป่วยแล้ว
ความรู้สึกนั้นย่อมให้ความโล่งอกเบาใจ
ความโล่งอกเบาใจจากอารมณ์เกลียด
ปรุงแต่งจิตให้สว่าง ปลอดโปร่ง แผ่ผาย เป็นกุศลใหญ่
จึงง่ายที่จะพัฒนาเป็นจิตใหญ่ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ
เพียงแค่จดจ่อรู้อยู่กับรสสุข สว่างโล่งจากอารมณ์เกลียดนั้น

เพียงระลึกว่า
ไม่มีใครเป็นเป้าฝึกจิตได้เหมาะเท่าคนที่คุณเกลียด
คนที่คุณเกลียดจะไม่น่ารังเกียจอีกต่อไป
ยิ่งถ้าคุณฝึกจิตข้อไหนสำเร็จ
พัฒนาจิตให้ก้าวหน้าขึ้นได้จริง
เมื่อนั้น ภาพในใจของคนที่คุณเกลียด
อาจสว่างเรืองรอง ให้ความรู้สึกดีเกินกว่าจะคาดได้ถูกด้วย

ดังตฤณ
ตุลาคม ๕๗
....................................................
ขอบพระคุณข้อมูลจาก..
"ธรรมะใกล้ตัวฉบับ Lite
ฉบับวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗"
ที่ได้เผยแพร่สู่ "สาธารณะ"
ให้ทุกคนในโลกนี้
ได้ทราบว่า...
"อะไรผิด, อะไรถูก"
....................................................
....................................................
หมายเหตุ: "สีเขียว" ในที่นี้
ใช้เพื่อระลึกถึง "ใบโพธิ์" ที่ "ต้นโพธิ์"
ไม่ได้เกี่ยวกับ "สี" ที่ "รั้วของชาติ"
ที่ไหนใดๆในโลกนี้ "ใช้" ใดๆทั้งสิ้น
     
โพธิพฤกษ์  หรือ  ต้นโพธิ์,
ต้นพระศรีมหาโพธิ์      
เป็นต้นไม้เป็นที่่ตรัสรู้ ('โพธิ'
หมายถึง 'ปัญญา' เป็นเครื่องตรัสรู้)
เป็นต้นไม้ที่ 'พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมสัมพุทธเจ้า'
ทรงบำเพ็ญพระบารมีมา
ตลอดระยะเวลานาน
ถึง "สี่อสงไขยแสนกัปป์"
เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์
เพื่อที่จะได้เสด็จมาประทับ
ณ บริเวณใต้ต้นไม้ต้นนี้      
แล้วตรัสรู้เป็น 'พระสัมมาสัมพุทธเจ้า'
เป็นการตรัสรู้โดยชอบได้โดยพระองค์เอง    
ไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์        
'โพธิพฤกษ์' จึงเป็นบริโภคเจดีย์    
เป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงใช้สอย  
เป็นเครื่องเตือนให้พุทธศาสนิกชน
ได้ระลึกถึง 'พระสัมมาสัมพุทธเจ้า'      
ผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม ได้เข้าใจพระธรรม    
ก็จะซาบซึ้งในพระคุณของพระองค์
ที่ทรงมีพระมหากรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์โลก
ด้วยการทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕  พรรษา    
วันหนึ่ง ๆ พระองค์ทรงมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก          
ทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกโดยแท้  
เมื่อได้เดินทางไปกราบนมัสการ
สังเวชนียสถาน และ พุทธสถาน
ที่ประเทศอินเดีย โดยเฉพาะที่พุทธยคา
ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงตรัสรู้
ก็จะมีต้นพระศรีมหาโพธิ์
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วที่ไป
ก็จะเก็บใบที่ร่วงหล่นลงมาที่พื้น
เพื่อสักการะบูชาระลึกถึง
'พระคุณ' ของ 'พระองค์'.
...................................
มีข้อความว่า      
คำว่า สัตว์เหล่านั้น "เป็นผู้ตกต่ำ"
ตั้งอยู่ในกรรมอันไม่เสมอ

มีความว่า คำว่า "ตกต่ำ"
คือ แม้สัตว์ผู้ไปต่ำ ชื่อว่า "ผู้ตกต่ำ"
แม้ผู้มีความตระหนี่ ก็ชื่อว่า "ผู้ตกต่ำ"
ผู้ไม่เชื่อถือคำ ถ้อยคำ เทศนา คำสอน
ของ 'พระพุทธเจ้า' และ 'สาวก'
ของ 'พระพุทธเจ้า' ทั้งหลาย
ก็ชื่อว่า "ผู้ตกต่ำ"
     
ผู้ไปต่ำ ชื่อว่า "ผู้ตกต่ำ" อย่างไรหนอ ?
สัตว์ผู้ไปต่ำ ก็คือ สัตว์ที่ไปสู่นรก
ไปสู่ดิรัจฉานกำเนิด ไปสู่เปรตวิสัย
ชื่อว่า "ไปต่ำ"
ผู้ไปต่ำอย่างนี้ จึงชื่อว่า "ผู้ตกต่ำ"
................................................      
ท่านทั้งหลาย พึงพิจารณา
จากข้อความใน ขุททกนิกาย มหานิทเทส
คุหัฏฐกสุตตนิทเทส ที่ ๒ ข้อ ๔๒
................................................
||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
................................................
โลกใบเดียวกัน

แท้ที่จริงแล้ว
"โลก" ไม่ได้เป็น "ใบๆ, กลมๆ"

เพราะทุกคนมี "จิต" คนละ ๑ ขณะ
(ไม่ใช่ทุกคนมี "โลก" ใบเดียวกัน)

ขณะที่ "ปฏิสนธิจิต" เกิด
แท้ที่จริงแล้ว "ไม่มีแสงสว่าง,
ไม่มีเสียง, ไม่มีอะไรเลย,
มืดสนิท" (ไม่ใช่ "โลก"
เป็น "ใบๆ, กลมๆ")

แต่.. มี "ธาตุรู้" เกิดขึ้น
แล้วขณะใดที่ไม่มีแสงสว่าง
"ขณะนั้น" ก็มืด
อย่างเวลาที่เรากระทบแข็ง
ขณะที่แข็งปรากฏยังไม่ได้สว่างเลย
       
เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่แล้ว
เราจะมีสิ่งที่ปรากฏ "ทางตา"
เป็นแสงสว่าง หรือ "สี" นิดหนึ่ง
แล้วก็ "ดับ" ไป
แต่.. เราก็จำไว้
แล้วคิดเรื่องนั้น
(เป็น"โลก" ใบๆ, กลมๆ
เป็น "สัตว์, มนุษย์, สิ่งของ)

พอมี "เสียง" กระทบ "หู"
ความจริงเป็นเสียง (สูงๆ ต่ำๆ)
แต่เราก็ค่อยๆ "จำ"
จนกระทั่งเป็นภาษา เป็นคำ
จนกระทั่งรู้ความหมายว่า...
ถ้าเสียงสูงอย่างนี้
ภาษานี้ เป็นอย่างนั้น
ภาษานั้น เป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ก็มีความทรงจำ
เรื่อง "เสียง" นั่นเอง
       
เพราะฉะนั้น "โลก"
ที่เข้าใจผิดคิดว่า.. เป็น "ใบ" นี้
ความจริงเป็นเพียง การคิดตลอด
ขณะที่จิตคิดนึก "จิต" นั้น "มืดสนิท"
แต่พอมีแสงสว่างปรากฏทางตา
เพียงนิดหนึ่งแล้ว ก็คิดเรื่องนั้น
(เป็น"โลก" ใบๆ, กลมๆ
เป็น "สัตว์, มนุษย์, สิ่งของ)

พอมีเสียงกระทบหูนิดหนึ่งคิดเรื่องเสียง
พอมีกลิ่นกระทบนิดหนึ่งคิดเรื่องกลิ่น
พอมีรสกระทบนิดหนึ่งคิดเรื่องรส
พอมีกายกระทบเย็นร้อนอ่อนแข็ง
ก็คิดเรื่องสิ่งที่กระทบสัมผัส
รวมความว่า... เมื่อยังมีกิเลสอย่างหนา
"อวิชชาครอบงำ" จึงรวม "โลก"
ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถาวร ที่มั่นคง
(เป็น"โลก" ใบๆ, กลมๆ
เป็น "สัตว์, มนุษย์, สิ่งของ)

แต่ความจริง เป็นเพียงเพราะจิตคิด
ถ้าจะคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม
แต่... "ตายทันที"
ก็จบเรื่องนั้น ทันที นั่นเอง
       
เพราะฉะนั้น เรื่องที่ปรากฏว่า...
เป็นเรื่องยาวๆ เป็นความคิดของเรา
แท้ที่จริงเป็น "จิต" เกิดขึ้น
คิดทีละคำ ทีละขณะ ทีละเรื่อง เท่านั้นเอง
ไม่ว่าจะคิดเรื่อง "โลก"
เป็นใบๆ, กลมๆ ฯลฯ
หรือ เรื่องอะไรทั้งหมด
เรื่องสาขาวิชาการใดๆ ก็ตาม
เพราะมี "จิต" เกิดขึ้น
แล้วขณะนั้น ก็ "คิด" นั่นเอง
       
เพราะฉะนั้น เวลาที่ "บางคน"
ยังไม่รู้จัก "ปรมัตถธรรม"
ยังไม่รู้จักว่า "โลก" นั้น
ความจริง ก็คือ มี "ทาง" (ทวาร)
ที่จะมากระทบ ๕ ทาง
(ตา หู จมูก ลิ้น กาย)
ส่วน "ใจ" นั้น "คิดนึก" ตลอด
       
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักอย่างนี้จริงๆ
เหมือนเราอยู่ในโลกที่มีคนเยอะแยะ
แต่.. เยอะเพราะ "คิดนึก" นั่นเอง

เพราะฉะนั้น "บางคน" มีความไม่รู้
(กิเลสอย่างหนา อวิชชาครอบงำ)
เรียกสั้นๆ ว่า.. "โง่"
จึงยืดถือ "โลก" นี้ว่า..
เป็น ใบๆ, กลมๆ

จึงยืดถือ "โลก" นี้ว่า..
"เป็นเรา" ฉันใด
ก็เห็นเป็นคนอื่น ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น จึงมีรัก มีชัง
เพราะเหตุว่า.. "ไม่รู้ความจริง"
ว่าเป็น "สภาพธรรม"
ที่เพียง "ปรากฏ" แล้ว "ดับ" สั้นมาก
ถ้าประจักษ์จริงๆ
ความยืดถือ "สภาพธรรม"
ว่า... เป็นตัวตนก็ไม่มี
แต่เพราะว่าไม่ประจักษ์
ก็ยังมีอยู่นั่นแหละ
ยังเป็นเราที่นั่งอยู่ที่นี่
ยังเป็นคนนั้นคนนี้
ถ้าจิตไม่คิดถึงคนนั้น
จะมีคนนั้นหรือ
ถ้าจิตไม่โกรธ
จะมีคนนั้นที่เราโกรธหรือ

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะความโกรธ
หรือ ความรัก ความผูกพัน
ก็เพราะคิดถึงสิ่งต่างๆ
ที่เพียง "ปรากฏ" แล้ว
ก็ "ดับ" ไป นั่นเอง.
..............................................
พระพุทธเจ้าก็แนะให้ใช้ความผูกใจเกลียดนี่เอง เป็นตัวตั้ง

"การสอนให้โกรธ (ความผูกใจเกลียด)
ไม่มีในคำสอนทางพระพุทธศาสนา"

กิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองของ "จิต"
ไม่ได้มีเพียงแค่ ๓ อย่าง
คือ "โลภะ โทสะ โมหะ" เท่านั้น
ยังมีอีกมาก เช่น ความไม่ละอายต่ออกุศล
ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล
ความฟุ้งซ่านไม่สงบแห่ง "จิต" เป็นต้น
และ ทุกครั้งที่ "จิต" เป็น  "อกุศล"
ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม
ก็จะมีโมหะ ซึ่งเป็นความหลง
(ความไม่รู้) เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง  
ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว
ไม่เคยนำประโยชน์ใด ๆ
มาให้เลยแม้แต่น้อย
เพราะเป็นสภาพธรรม
ที่ขจัดซึ่งคุณความดี  
พร้อมทั้งให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น      
ตราบใดที่ยังมีกิเลส
ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด
ในสังสารวัฏฏ์อีกต่อไปไม่จบไม่สิ้น
   
"พระธรรม" ที่ 'พระพุทธเจ้า' ทรงแสดง
ตลอด ๔๕ พรรษา
เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก
เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม
ไม่ใช่อกุศลธรรม    
ไม่มีพระพุทธพจน์แม้แต่บทเดียว
ที่ส่งเสริม หรือ สนับสนุน
ให้คนเกิดอกุศลเลย
แม้เพียงเล็กน้อย
รวมถึงความโกรธ,
ความผูกใจเกลียด ด้วย        
เพราะโดยทั่วไปแล้ว
คนเรามักจะโกรธในคนที่ทำไม่ดี
แต่ความโกรธ ไม่ว่าเป็นใครโกรธ
และ โกรธใคร ก็ไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น
เพราะเป็นอกุศล,
เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ
ไม่ว่าจะจากบุคคลอื่น
หรือ เรืองอื่น ๆ ก็ตาม  
ถ้าหากว่าไม่โกรธ  
ไม่เกิดความไม่พอใจ    
ก็นับว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยาก  
เพราะโดยปกติของปุถุชน
ผู้ที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลสแล้ว
กิเลสย่อมเกิดขึ้นมากเป็นธรรมดา  
แต่ก็สามารถขัดเกลาได้
ด้วยการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ      
"ตามความเป็นจริง"
ที่สำคัญ "พระธรรม" สอนไม่ให้โกรธ  
สอนไม่ให้อาฆาต
ไม่ให้ผูกใจเกลียด
มีแต่สอนให้มีเมตตา
มีความเป็นมิตร มีความเป็นเพื่อน
มีความหวังดีต่อผู้อื่น
ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม
"การสอนให้โกรธ
ไม่มีในคำสอนทางพระพุทธศาสนา"
   
ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง
เกิดได้กับทุกบุคคล เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย  
แต่... บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้น
ที่จะเห็นโทษของความโกรธ
ว่าเป็นอกุศลธรรม ที่พึง "ละ"    
ไม่ควรพอใจ ไม่ควรยินดีที่จะโกรธต่อไป  
เพราะความโกรธแม้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ
เมื่อสะสมมากขึ้น
ก็อาจจะถึงขั้นผูกโกรธ
พยาบาท เกลียดชัง แค้นเคือง
ที่จะเป็นเหตุให้เกิดการประทุษร้าย    
ทางกาย หรือ ทางวาจา ในภายหน้าได้      
ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย

ดังนั้น "ธรรม" (ธัมมะ)
ที่ 'พระพุทธเจ้า' ทรงแสดง
จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดี
และ ควรอย่างยิ่ง
ที่จะน้อมประพฤติตาม
ด้วยความจริงใจ
กล่าวคือ ควรมีเมตตา    
มีความเป็นมิตร
มีความเป็นเพื่อนต่อบุคคลอื่น
ด้วยกาย วาจา ใจ  
เพราะเหตุว่า แต่ละบุคคล
ก็เป็นเพื่อนร่วมเดินทาง
ในสังสารวัฏฏ์เหมือนกันทั้งนั้น
มีทั้งดี และ ไม่ดี เหมือนกันทั้งนั้น  
การเห็นใจ และ เข้าใจซึ่งกันและกัน
เป็นสิ่งที่ถูกต้องสมควรที่สุด  
แต่... การไม่ชอบกัน การโกรธกัน
การไม่พอใจกัน ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
มีแต่โทษอย่างเดียว เท่านั้น.
..............................................
บุคคล "บางคน" ในโลกนี้
เป็นคนไม่ดี, ชั่ว
ทำลายพุทธศาสนา
แต่งตำราออกขาย
ได้เงินมากมาย แบบสบายๆ
เราไม่กลัวความผิดพลาดใดๆ
เรา "ยอมผิด" บ่อยๆ
(แต่.. สวดอิติปิโส ตลอดวัน ตลอดคืน
แม้จะสวดจน "ตลอดชีวิต")
เมื่อแตกกายตายไป เข้าสู่ทุคติ
อบายภูมิ มี "นรก" เป็นต้น
เวียนว่ายตายเกิดไม่จบไม่สิ้น
จึงมี "ยามรัก ยามชัง" นั่นเอง.

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นคำสอนที่ทุกคนรู้แต่ยังทำไม่ได้ ( เส้นผมบังภูเขา )

    ตอบลบ