++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2557

วิชาแรก วิชาชีวิต

วิชาแรก วิชาชีวิต

วิชาอะไรเอ่ยที่เราควรรู้ แต่กลับไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย? คอลัมน์ “ดร.ณัชร ชวนจัดตู้หนังสือ” เล่มที่ 15 วันนี้ จะมาคุยถึงหนังสือ “วิชาแรก วิชาชีวิต” ของท่านว.วชิรเมธี ซึ่งเป็นแนวหนังสือหมวดพัฒนาตนเองมากกว่าหนังสือธรรมะล้วน ๆ กันค่ะ (**หมายเหตุ** ต้องอัพโหลดโพสต์ใหม่เพราะปัญหาทางเทคนิคค่ะ ขอประทานโทษด้วยค่ะ)
จากคำนำสำนักพิมพ์ “...คนส่วนใหญ่มักเลือกเรียนวิชาที่ตนรักและคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต แต่ในบรรดานับพันล้านคนบนโลกใบนี้ จะมีสักกี่คนที่รู้จักและรักที่จะเรียน “วิชาชีวิต”...”
วิชาชีวิต คือ อะไร จากการอ่านเล่มนี้ผู้วิจารณ์ขอสรุปรวม ๆ ว่าคือ วิชาที่ช่วยให้เราเข้าใจชีวิต และสามารถวางแผนชีวิต ใช้ชีวิต ประสบความสำเร็จในชีวิต และเรียนรู้จากชีวิตได้อย่างรู้เท่าทัน โดยใจไม่เดือดร้อนแม้ยามทุกข์มาเยือนค่ะ ท่านว.วชิรเมธีเขียนไว้ในคำปรารภตอนเปิดเล่มว่า คนเรามีความรู้ทางวิชาการด้านต่าง ๆ มากมาย แต่ทว่าขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของตัวเอง ชีวิตจึงมักจะเต็มไปด้วยปัญหาค่ะ
ตัวเล่มแบ่งเป็น 9 บทดังนี้นะคะ
บทที่ 1 “วัฒนธรรมแห่งปัญญา” พูดถึงความสำคัญของปัญญามนุษย์และวิธีพัฒนาปัญญาค่ะ โดยท่านว.จะแสดงให้เห็นว่าปัญญามีหลายระดับและสามารถพัฒนาได้หลายวิธี ซึ่งต้องชมท่านว.ในประเด็นนี้นะคะที่สามารถดึงหลักธรรมสารพัดมาปรับให้เป็นวิธีพัฒนาปัญญาและคิดค้นวิธีพัฒนาปัญญาที่เห็นภาพชัดขึ้นมาด้วยตนเองอีก เพียงแค่สารพัดวิธีพัฒนาปัญญานี้หมวดเดียวก็นับเป็นนวัตกรรมอันล้ำค่าของหนังสือเล่มนี้ได้แล้วค่ะ
ในบทนี้ท่านว.นำเสนอว่ามนุษย์ควรไปให้ถึงในระดับสูงสุดคือ ภาวนามยปัญญาที่ได้จากการเจริญสติ เพราะจะเป็นปัญญาที่นำไปสู่การพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงค่ะ ทั้งนี้ในตัวบทท่านว.ได้ยกตัวอย่างเรื่องราวของผู้มีปัญญาหลายต่อหลายท่านด้วยกันค่ะไม่ว่าจะเป็นท่านพุทธทาส เนลสัน แมนเดลา หรือ ไอน์สไตน์ โดยท่านว.ทิ้งข้อคิดปิดท้ายไว้ว่าขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาปัญญานั้นก็คือ “การนำมาใช้ประโยชน์ต่อสังคมได้จริง” มิฉะนั้นก็จะเป็นเพียงทฤษฎีความรู้ชนิดหนึ่งเท่านั้นค่ะ
บทที่ 2 “สติมา ปัญญาเกิด” จะเน้นไปที่ความสำคัญของการฝึกสติซึ่งเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่ปัญญาขั้นสูงสุด มีคำคมภาษาบาลีอยู่ว่า สยํ อิกฺขตีติ สิกฺขา หรือ การหยั่งเห็นตัวเองชื่อว่าการศึกษา ดังนั้นการศึกษาวิชาใดที่ไม่ได้ทำให้เรารู้จักตนเองยังไม่ใช่การศึกษาที่แท้ในทัศนะของพุทธศาสนาค่ะ ท่านว.เสริมต่อว่า คนที่มีการศึกษาที่แท้จะไม่มีใครไปหาหมอดูเลย เพราะดูตัวเองออก บอกตัวเองได้ ใช้ตัวเองเป็น เห็นตัวเองชัดค่ะ
บทที่ 3 “หลักการคิดและการคบมิตร” บอกเราว่า เมื่อมีทั้งสติและปัญญาแล้ว ถ้าจะทำให้ชีวิตก้าวหน้าก็จะต้องมีคุณธรรมอีก 2 ประการ คือ 1) โยนิโสมนสิการ หรือ ความรู้จักคิด และ 2) กัลยาณมิตร ซึ่งในที่นี้ท่านว.บอกว่าความหมายลึกมากกว่าแค่เพื่อน แต่หมายถึงผู้นำทางจิตวิญญาณกันเลยทีเดียว โดยท่านว.ยกตัวอย่างเรื่องเล่าอันมีพลังอีกหลายเรื่องค่ะเพื่อมาทำให้เห็นภาพชัดว่าการรู้จักคิดและการมีกัลยาณมิตรนั้นพลิกชีวิตคนได้อย่างไร โดยกัลยาณมิตรอาจไม่ใช่คนก็ได้นะคะ แต่เป็นสิ่งใดก็ตามที่กระตุ้นให้เราเกิดปัญญาพาชีวิตไปทางดีงามค่ะ
บทที่ 4 “สำคัญที่การเรียนรู้” มีข้อคิด 3 ข้อซึ่งน่าสนใจมากค่ะ 1) จบการศึกษา ไม่ได้หมายความว่าจบการเรียนรู้ มีการยกตัวอย่างเรื่องราวที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อนเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประกอบด้วยค่ะ 2) บัณฑิตที่ดีต้องมีปริญญา 2 ใบ (คือทางโลก และ ทางธรรม) โดยยกตัวอย่างไมเคิล แจ็คสันว่า ซึ่งท่านว.กล่าวว่าอาจได้ปริญญาเอกทางดนตรี แต่ขาดปริญญาตรีทางธรรมค่ะ ชีวิตจึงต้องจบลงในลักษณะดังกล่าวอย่างน่าเสียดาย และ 3) คนที่ดีต้องมีหัวใจของความเป็นมนุษย์ โดยยกตัวอย่างเรื่องราวที่น่าสะเทือนใจมาก ๆ ของหญิงชาวเขาท้องแก่ใกล้คลอดชาวไต้หวันผู้เป็นที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิฉือจี้ค่ะ
บทที่ 5 “รู้จักตัวเอง” บทนี้สั้นนิดเดียวแต่กระนั้นก็ “จิ๋วแต่แจ๋ว” นะคะ เปิดบทด้วยการยกตัวอย่างเรื่องราวของผู้ที่ประสบความสำเร็จระดับโลกหลายคนและชี้ให้เห็นว่าเคล็ดลับอยู่ที่การที่พวกเขา “ค้นพบตัวเอง” แต่เนิ่นค่ะ จากนั้นก็บอกวิธีค้นหาตัวตนแบบง่าย ๆ ด้วยการศึกษา “จริต 6” ในพระพุทธศาสนาโดยมีการยกตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพชัดทีเดียวค่ะว่า จริตใดน่าจะเหมาะกับงานประเภทใด
บทที่ 6 “ความสุขและความสำเร็จ” ท่านว.เป็นนักเล่าเรื่องที่มีตัวอย่างมากมายมหาศาลค่ะ บทนี้ก็เช่นกันค่ะ ท่านยกตัวอย่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จแต่ไม่มีความสุขและวิเคราะห์ให้ดู ท่านแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จกับความสุขมันไม่จำเป็นต้องมาคู่กันเสมอไป ความสำเร็จนำมาซึ่งความทุกข์มหันต์จนถึงแก่ชีวิตก็มีถมไป ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จ แต่อยู่ที่การ “บริหารความสำเร็จที่ได้มา” ให้เกิดดุลยภาพต่างหาก และที่สุดของการประสบความสำเร็จก็คือ การมีจิตใจลอยพ้นเหนือ “ความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จ” นั่นเอง ลึกซึ้งมากค่ะบทนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จ ท่านว.แนะนำให้วางแผนให้ดี อดทน ทุ่มเท ฝึกฝน พัฒนาตนอย่างเต็มที่ค่ะ และแน่นอนค่ะมีตัวอย่างผู้ประสบความสำเร็จระดับโลกที่ทุ่มเทสุด ๆ มาประกอบมากมายหลายคน รวมไปถึงการทุ่มเทแบบเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพันของบรรดานายช่างที่ปั้นหุ่นทหารที่อยู่ในสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ด้วยนะคะ
บทที่ 7 “คุณค่าของความทุกข์“ พูดถึงเทคนิควิธีแก้ทุกข์ค่ะ ท่านว.แยกออกเป็นการแก้ในระดับปัญญาและในระดับจิตค่ะ ซึ่งประการหลังก็คือการเจริญสตินั่นเอง ท่านว.กล่าวว่าอาวุธของความทุกข์คือความคิด ถ้าไม่คิดถึงอดีต ไม่คิดถึงอนาคต แต่รู้สึกตัวอยู่ในปัจจุบันขณะด้วยสตินั้น ความทุกข์ที่เกิดเพราะความคิดก็จะไม่เกิดขึ้นค่ะ ท่านว.เน้นว่า ทุกวันนี้ 99% ของความทุกข์ในชีวิตมนุษย์เกิดจากการจัดการกับความคิดไม่ได้ค่ะ ในบทนี้ท่านว.ยกตัวอย่างเรื่องการอยู่กับปัจจุบันด้วยการเจริญสติไว้น่าสนใจด้วยค่ะว่า ถ้าล้างจานก็ขอให้รู้ว่ากำลังล้างจาน ถ้าล้างจานแล้วคิดว่าจะล้างให้สะอาดก็หลุดไปอยู่กับ “ความอยาก” ในอนาคตแล้ว!
บทที่ 8 “เข็มทิศของปัญญาชน” นั้นน่าจะเป็นธรรมบรรยายที่ท่านไปแสดงให้นักเรียนไทยที่อยู่ต่างประเทศได้ฟังนะคะ ท่านให้ข้อคิดสำหรับความสำเร็จในชีวิตที่จะกลับไปเป็นปัญญาชนของประเทศไว้ว่า 1) ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว 2) กล้าโง่และพร้อมที่จะแก้ไขความโง่ของตน 3) กักตุนความรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญาไว้ให้มากที่สุดในวัยเรียนนี้เพื่อไว้ใช้ในอนาคต และ 4) ให้มีความกตัญญูต่อผู้ที่ส่งเรามาเรียนและประเทศชาติค่ะ
บทที่ 9 “ครูสอนคน คนสอนครู” นั้นอ่านเผิน ๆ เหมือนท่านว.จะพูดกับผู้ที่มีอาชีพครูเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วท่านพูดกับทุกคนค่ะ เพราะท่านบอกว่าคนทุกคนควรจะเป็นครูของตนเองให้ได้ ท่านเปิดบทมาถึงความสำคัญอย่างยิ่งของการอ่าน โดยยกตัวอย่างเรื่องเล่าจากประสบการณ์ท่านหลายเรื่องว่ากว่าท่านจะออกมาเทศน์ได้อย่างนี้ท่านอ่านมาเยอะมากตั้งแต่ยังเด็ก และอ่านอย่างหลากหลายด้วย (ซึ่งดูจากสารพันเรื่องเล่าของท่านแล้วก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ค่ะ หนังสือท่านว.นั้นมีเสน่ห์ตรงที่เรื่องเล่าเยอะมาก ๆ จึงทำให้ไม่น่าเบื่อเลยค่ะ และผู้เขียนเคยไปกราบท่านที่กุฎิท่านสมัยท่านอยู่วัดเบญจฯ ก็พบว่ามีหนังสือหลายพันเล่มค่ะ) จากนั้นท่านจึงโยงเข้าไปเรื่องคุณสมบัติของความเป็นครูค่ะ
อันได้แก่ 1) ครูต้องเด่นด้วยวิชาการ รู้ลึก รู้กว้าง รู้ไกล หรือมี 3 รู้ คือ 1.1) ความรู้ที่ต้องรู้ อันได้แก่รู้ลึกในสาขาของตนเอง 1.2) ความรู้ที่ควรรู้ เช่น รู้ว่าบารัก โอบาม่า คือ ใคร โฮจิมินห์ คือ ใคร ฯลฯ และ 1.3) รู้ไว้ใช่ว่า เช่น ข่าวสารบ้านเมืองปัจจุบัน มีแผ่นดินไหวที่ไหน ฯลฯ 2) ครูต้องมีศิลปะในการคายความรู้ และ 3) ครูต้องเย็นด้วยน้ำ คือ มีเมตตา
ตอนที่ผู้วิจารณ์จะสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์นั้น ได้เคยมอบหนังสือเล่มนี้เป็นการแสดงความขอบพระคุณคณะกรรมการสอบที่กรุณาสละเวลามาอ่านดุษฎีนิพนธ์เล่มหนาและกรุณาให้คำแนะนำในการปรับปรุงให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ปีหนึ่งผ่านไปผู้วิจารณ์ได้พบกับหนึ่งในคณะกรรมการอีกครั้ง ท่านบอกว่า “...ขอบใจนะสำหรับหนังสือเล่มนั้น ผมอ่านแล้วชอบมาก เลยมอบให้อาจารย์ท่านอื่นได้อ่านด้วย...” ดังนั้นกล่าวได้ว่าแม้ผู้ที่มีอาชีพสอนในมหาวิทยาลัยมาจนวัยจะเกษียณแล้วยังเห็นความสำคัญของ “วิชาชีวิต” ที่มหาวิทยาลัยไม่มีสอนนี้นะคะ
ปิดท้ายด้วยคำคม จากหนังสือเล่มนี้กันค่ะ
“...การศึกษาอาจยุติลงเมื่อเรารับปริญญา แต่การเรียนรู้นั้นเป็นเรื่องของชีวิตทั้งชีวิต...”
“...ธรรมะนั้นเป็นศิลปะในการบริหารจัดการชีวิต ถ้าใช้ศัพท์ของอาตมาก็คือวิชา “กิเลส management” เราทุกคนต้องเรียนวิชานี้...”
เป็นหนังสือที่เหมาะกับทุกคนค่ะ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังเป็นนักเรียน นักศึกษา และครูบาอาจารย์ ผู้ปกครองควรให้ลูกหลานวัยเรียนรู้อ่านไว้นะคะ เด็กมัธยมก็อ่านได้แล้วค่ะ จะได้เป็นแรงบันดาลใจในการนำชีวิตไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน และเพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ความทุกข์ที่อย่างไรเสียก็จะมาเยือนแน่นอนไม่ช้าก็เร็วค่ะ
ชื่อหนังสือ วิชาแรก วิชาชีวิต โดย ว.วชิรเมธี สำนักพิมพ์ปราณ พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2556 202 หน้า ราคา 159 บาท
-----------------------------------------------------------------
คอลัมน์ "ดร.ณัชร ชวนจัดตู้หนังสือ" นี้ มีขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนไทยเพาะบ่มนิสัยรักการอ่านค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น