ผลงานที่น่าสนใจ เผื่อได้นำไปปรับปรุงใช้ประโยชน์ครับ...เรื่อง....ผู้นำ 5 ระดับ ใน
วิทยานิพนธ์ ของ นักศึกษา ปริญญาเอกจาก มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ดตาม
แนวคิดแบบตะวันออกแบ่งผู้นำเป็น 5 ระดับ ดังนี้
1. ระดับล่างสุด คือผู้นำที่เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ รู้เท่าทันคน มียุทธวิธี
และกลยุทธ์ที่แหลมคม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นผู้นำที่ลูกทีมมั่นใจว่า
จะพาทีมไปได้ตลอดรอดฝั่ง ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่เก่งฉลาด”
2. ระดับที่สอง คือผู้นำเก่งฉลาดบวกด้วยประสบการณ์ชีวิต รวมทั้งมีบทเรียนที่เคย
ผ่านความเจ็บปวดมาแล้ว และแน่นอนต้องผ่านการทำงานอย่างโชกโชนเพียงพอ
เขาจะได้เข้าใจถึงกาลเทศะ เรื่องอะไรควรหนัก เรื่องอะไรควรเบา สิ่งใดควรรีบเร่ง
สิ่งใดควรรั้งรอไว้ก่อน ประเด็นใดสำคัญมาก ประเด็นใดสำคัญน้อยกว่า
ผู้นำระดับนี้ก็จะสร้างความมั่นใจได้มากขึ้นว่า จะไม่บุ่มบ่าม หุนหันพลันแล่น
แต่จะมีวิธีแก้ปัญหาที่ยืดหยุ่น นุ่มนวล ถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น
เท่ากับนำพาให้ทีมงานลดความเสี่ยงที่จะต้องพบเจอกับภาวะวิกฤตโดยไม่จำเป็น
ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่มีปัญญา”
3. ระดับที่สาม คือผู้นำที่มีปัญญาแล้วยังสามารถเป็นที่พึ่งของลูกน้องได้
มีความเมตตากรุณาที่ใครเดือดร้อนก็จะมาพึ่งพาขอความช่วยเหลือ
ลูกทีมที่อยู่ร่วมกันก็จะมีความรู้สึกผูกพัน อบอุ่น มั่นคง ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่มีน้ำใจ”
4. ระดับที่สี่ คือ ผู้นำที่เปิดทางสนับสนุนให้ลูกทีมได้ประสบความสำเร็จ
บุคคลเหล่านั้นจะเคารพนับถือผู้นำชนิดนี้อย่างสุดจิตสุดใจ เพราะความสำเร็จ
ในชีวิตของพวกเขาได้มาจากผู้นำคนนี้ ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่สร้างคน”
5. ระดับสูงสุด คือผู้นำที่ไม่ได้อยากเป็นผู้นำ แต่เป็นคนที่มีความสามารถนำพา
องค์กรทั้งทีมฝ่าฟันผ่านพ้นวิกฤตไปได้ โดยไม่มีกิเลสตัณหาคิดจะเป็นใหญ่
จึงทำทุกอย่างโดยไม่มีอะไรแอบแฝง โปร่งใสตรวจสอบได้ในทุกด้าน
ดังเช่นปูชนียบุคคลที่ผมเคยเขียนแนะนำประวัติไว้สองท่านคือ จอร์จ วอชิงตัน1
และ เติ้งเสียวผิง 2 ซึ่งล้วนถูกเคี่ยวเข็ญให้ขึ้นมาเป็นใหญ่เพื่อกอบกู้วิกฤต
และ พยายามขอถอนตัวจากไปอย่างเงียบๆ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ
ผู้นำระดับนี้เรียกว่า “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่”
กล่าวโดยสรุป ผู้นำระดับที่หนึ่งและสองใช้ “สมอง” เป็นหลัก แต่ผู้นำที่สูงขึ้นมา
ในระดับสาม สี่ ห้า ต้องใช้ “หัวใจ” เป็นกลไกขับเคลื่อน แนวทางการบริหารจัดการ
แบบตะวันออกเน้นเรื่องหัวใจมากกว่าสมอง โดยยึดปรัชญาที่ว่า
“คนจะใหญ่ หัวใจต้องใหญ่พอ!”
ดังนั้น บุคคลที่ไม่ได้มีความสามารถโดดเด่นมากที่สุดหรือเก่งที่สุด แต่มีภาวะจิตใจ
อยู่ในระดับสาม สี่ ห้า ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงมักจะอยู่ในตำแหน่งระดับสูงของ
องค์กรใหญ่ๆที่บริหารตามแนวทางตะวันออก เพราะองค์กรเหล่านี้ไม่ได้ยึด
ผลประโยชน์เป็นใหญ่ แต่ให้น้ำหนักกับเรื่องความสุขของทุกคนในทีมเป็น
เป้าหมายที่สำคัญที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น