++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พนักงานเล่น Line ในเวลางาน


พนักงานเล่น Line ในเวลางาน
โดย jobsDB
พนักงานเล่น Line ในเวลางาน...ทำไงดี?
วันนี้มีปัญหาเกี่ยวกับ Social Network ในที่ทำงานมาเล่าสู่กันฟัง และเชื่อว่าจะต้องเป็นปัญหายอดนิยมในหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ในขณะนี้
ปัญหาการใช้ Line ในหน่วยงาน
ต้องยอมรับว่า ในวันนี้เป็นโลกของการสื่อสารที่ Social Network เข้ามามีอิทธิพลกับแทบทุกคน จนหลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับถ้าเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมต้องเดี้ยงไป
ในบรรดาแอพ (Application) ยอดนิยมของ Social Network ตัวหนึ่งคือ Line ที่สามารถ Chat กันเป็นส่วนตัวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ ใช้ส่งรูปภาพ สติ๊กเกอร์ เสียง พิกัดที่อยู่ ฯลฯ ได้ แถมในหลายองค์กรก็ยังนำ Line มาใช้ในการทำงานสื่อสารสั่งงานกันอีกด้วย
จากความที่เป็น Social Network ยอดนิยม เลยเกิดปัญหา work-life balance ขึ้นมาในหลายองค์กรที่พนักงานมัวแต่นั่งกด Line ในระหว่างเวลางานจนไม่เป็นอันทำงาน แถมเสียงเรียกเข้าของ Line ยังรบกวนการทำงานเพื่อนข้าง ๆ
ถ้าลูกน้องมัวแต่ Line ก็ไม่เป็นอันทำงาน เพราะหมกมุ่นส่งข้อความหรือสติ๊กเกอร์กันอย่างนี้ เลยมีคำถามและข้อเสนอจากหัวหน้างานว่า งั้นเราควรจะมีการจัดระเบียบในเรื่องนี้กันบ้างไหม เช่น
1. ควรจะเก็บโทรศัพท์มือถือทุกคนก่อนเริ่มงานดีหรือไม่ และให้ใช้ได้ตอนพักเที่ยงเท่านั้น (อันนี้ก็ดูเป็นเผด็จการ โหด และลิดรอนสิทธิ์ส่วนบุคคล)
2. ห้ามพนักงานเล่น Line ในขณะปฏิบัติงาน โดยออกประกาศแจ้งให้พนักงานทราบ (นี่ก็ออกแนวเหมือนพนักงานเป็นเด็กนักเรียน) ถ้าใครฝ่าฝืนจะมีการลงโทษทางวินัย เช่น เริ่มจากการตักเตือนด้วยวาจา ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร (ไม่ทราบว่าแล้วถ้ายังฝ่าฝืนอีกต่อไปจะถึงขั้นเลิกจ้าง เพราะสาเหตุเล่น Line ในระหว่างปฏิบัติงานด้วยหรือเปล่า)
ตอนนี้ในหน่วยงานของคุณเคยเจอปัญหาพนักงานเล่น Line ในเวลางานบ้างไหม และคุณจะแก้ปัญหานี้อย่างที่มีหัวหน้างานบางคนบอกมาข้างต้นหรือไม่

หรือจะแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้...
• หัวหน้างานต้องคิด และหาคำตอบกับตัวเองให้ได้เสียก่อนว่าจะให้ลูกน้องใช้ Line ในระหว่างการทำงานหรือไม่ แค่ไหนอย่างไร เช่น บางองค์กรก็ใช้ Line ในการติดต่อสื่อสารกันในเรื่องงาน ทั้งสื่อสารเป็นกลุ่ม หรือสื่อสารเฉพาะตัวบุคคล แต่บางองค์กรไม่ได้ใช้ Line ในการทำงาน ฯลฯ
ดังนั้น หัวหน้างาน (หรือผู้บริหาร) จะต้องมีคำตอบ (หรือนโยบาย) ให้กับตัวเองในเรื่องนี้ให้ชัดเจนเสียก่อนว่าจะตัดสินใจอย่างไร พูดภาษาเทคนิคคือต้องมี Solution ให้ชัดเสียก่อน
• ประชุมทีมงานสื่อสารทำความเข้าใจให้ตรงกันในเรื่องการใช้ Line ในระหว่างการทำงาน ซึ่งถ้าเป็นกรณีที่องค์กรใช้ Line เพื่อการติดต่อประสานงานกันอยู่แล้วไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้มากนัก
3. ปัญหาคือในกรณีที่องค์กรที่ไม่ได้ใช้ Line ในการทำงาน แต่สั่งห้ามใช้ Line ในระหว่างการทำงาน พนักงานอาจเลี่ยงไปแอบใช้ในเวลาที่หัวหน้าเผลอ เช่น ไปประชุม ไปติดต่องานนอกแผนก ฯลฯ ซึ่งพนักงานบางคนอาจจะชอบความรู้สึกแบบนี้ เพราะจะทำให้เหมือนกลับมาเป็นเด็กอีกครั้งที่พอคุณครูสั่งห้ามกินขนมในห้องเรียนก็มักจะชอบแอบกินเพราะตื่นเต้นดี
ในกรณีนี้แทนที่จะสั่งห้าม ลองมาใช้วิธีนี้จะดีกว่าไหม...
• ประชุมทีมงาน และบอกให้ลูกน้องทราบว่าตอนนี้มีปัญหาในเรื่องพนักงานใช้ Line จนทำให้มีผลกระทบต่องานอย่างไรบ้าง และเสียง Line เรียกเข้าไปรบกวนการทำงานคนอื่นอย่างไร
• ขอความร่วมมือจากคนที่ใช้ Line ให้ปิดเสียงเรียกเข้าเพื่อไม่ให้ไปรบกวนการทำงานคนอื่น
• การใช้ Line ในระหว่างการทำงานจะต้องไม่ทำให้มีปัญหากับงานที่รับผิดชอบ (พูดง่าย ๆ ว่าต้องไม่เล่น Line ซะ จนเสียงานเสียการ)
• มองตัวผลงาน (Output) เป็นหลักว่าลูกน้องยังทำได้ตามที่ได้รับมอบหมาย หรือตามเป้าหมาย (บางแห่งมีการวัดผลด้วยตัวชี้วัด หรือ KPIs) หรือไม่ ถ้าลูกน้องยังมีผลงานเป็นไปตามเป้าหมายก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเรื่องการใช้ Line ของเขาหรอก คุมกันที่ผลงานดีกว่า
• ถ้าผลงานของใครมีปัญหาไม่ได้ตามเกณฑ์ที่ตกลงกัน หรืองานเกิดความเสียหายจะมีการพิจารณาผลการปฏิบัติงานกันตอนสิ้นปี เพื่อนำผลการปฏิบัติงานไปขึ้นเงินเดือนประจำปี หรือจ่ายโบนัสกันตามผลงานอยู่แล้ว
4. หัวหน้างานจะต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกน้องเห็น เช่น ไม่นั่งเล่น Line ในระหว่างการทำงาน หรือเข้าประชุมไปก็จิ้มโทรศัพท์ไป แถมยังมีอมยิ้มเวลาส่ง Line อีกต่างหาก นี่เป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่ง นั่นคือการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกน้องเห็น ซึ่งหัวหน้าหลายคนสั่งห้ามลูกน้องทำโน่นทำนี่ แต่ตัวเองทำเสียเอง แถมบางทียังอ้างเหตุผลเข้าข้างตัวเองแบบข้าง ๆ คู ๆ อย่างนี้จะทำให้ลูกน้องเชื่อถือได้อย่างไร
5. หลังจากนี้หัวหน้างานคงจะต้องติดตามผลว่าจะดีขึ้นหรือไม่ เพราะทั้งหมดนี้เป็นเพียงไอเดียที่เสนอให้ลองนำกลับไปคิดดูเท่านั้น
แล้วคุณมีไอเดียจะจัดการในเรื่องนี้อย่างไร ?
ที่มา : ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น