++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สมมุติว่า... วินทร์ เลียววาริณ


ฟิล คอนเนอร์ส ตื่นขึ้นมาในตอนเช้าวันที่ 2 กุมภาพันธ์ด้วยความเบื่อหน่าย วันนี้เขาต้องไปรายงานข่าวสภาพอากาศที่เขตพังสทอนีย์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย

ฟิล คอนเนอร์ส เป็นผู้ประกาศข่าวดินฟ้าอากาศประจำสถานีโทรทัศน์ WPBH-TV9 แห่งเมืองพิตต์สเบิร์ก เขากับตากล้องและโปรดิวเซอร์สาว ริตา ไปทำรายงานเกี่ยวกับเทศกาลวันกราวนด์ฮอกประจำปี เขาเบื่องานชิ้นนี้ แต่เลี่ยงไม่ได้

วันกราวนด์ฮอก เป็นวันฉลองทางอเมริกาเหนือและแคนาดา เป็นวันที่คาดว่าตัวอ้น (groundhog สัตว์พันธุ์หนูชนิดหนึ่ง) จะออกจากรูของมันหรือไม่หลังการจำศีลตลอดช่วงฤดูหนาว หากมันออกจากรูก็ถือว่าฤดูหนาวสิ้นสุดลงแล้ว

ฟิลรายงานข่าวจบอย่างรวดเร็วและเบื่อหน่าย เขาต้องการกลับพิตต์สเบิร์กทันที แต่พายุหิมะถล่มปิดทางออกจากเมือง เขาไม่มีทางเลือกต้องค้างคืนที่นั่น

เขาตื่นขึ้นมาในตอนเช้า เสียงวิทยุที่ดังออกมาเป็นข้อความเดิมกับเมื่อวานนี้ทุกประการ เขาพบว่าวันใหม่นี้คือวันที่ 2 กุมภาพันธ์! เขากำลังใช้ชีวิตซ้ำกับเมื่อวานนี้!

เขาผ่านวันใหม่ไปเหมือนเดิม ชีวิตยังคงน่าเบื่อสุดทน ไม่มีใครที่รู้ว่ามันเป็นวันเดิม มีแต่เขาเท่านั้นที่รู้ว่าเขากำลังใช้ชีวิตวันเดิม

คืนนั้นฟิลเข้านอนโดยหวังว่าเมื่อตื่นขึ้นมา ชีวิตของเขาจะกลับคืนมาตามปกติ แต่เมื่อเขาตื่นขึ้นในเช้าวันที่สาม ก็ได้ยินเสียงวิทยุข้อความเดิม เขาใช้ชีวิตวันที่ 2 กุมภาพันธ์อีกครั้ง!

หลังจากนั้น ฟิล คอนเนอร์ส ก็ใช้ชีวิตวันที่ 2 กุมภาพันธ์ซ้ำรอบแล้วรอบเล่า ทีแรกเขาเบื่อ แต่ต่อมาเขาก็ใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์

เช่น กินอาหารไขมันสูงโดยไม่ต้องกลัวเป็นโรคหัวใจ เรียนรู้ความลับของแต่ละคนที่เขาพบ รวมทั้งของหญิงสาวคนหนึ่งเพื่อจะได้นอนกับเธอ เขาขโมยเงินเพื่อความบันเทิง ขับรถชนเล่น แม้กระทั่งฆ่าตัวตาย แต่ทุกครั้งเขาก็ตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตวันที่ 2 กุมภาพันธ์อีกรอบ

เขาพยายามใกล้ชิดกับริตา แต่ริตาไม่ชอบหน้าเขาเลย วันแล้ววันเล่า (ก็คือวันเดิม) เขาเรียนรู้สิ่งที่เธอชอบทีละน้อย เขาเล่าเรื่องนี้ให้เธอฟัง เธอไม่เชื่อ แต่ก็แนะนำให้เขาใช้โอกาสนี้ปรับปรุงตัวเอง

เขาจึงไปเรียนเล่นเปียโน แกะสลักน้ำแข็ง เรียนภาษาฝรั่งเศส (เพราะริตาพูดฝรั่งเศสได้) ช่วยเหลือชาวบ้านจากเหตุร้ายและอุบัติเหตุ เขาใกล้ชิดกับริตามากขึ้น แต่เมื่อสิ้นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เขาก็เริ่มวันใหม่โดยที่เธอจำเหตุการณ์ทั้งหมดไม่ได้ และไม่ชอบหน้าเขาเหมือนเดิม

วันหนึ่งทั้งสองอยู่ด้วยกัน เธอหลับอยู่ในอ้อมแขนของเขา เขาไม่อยากหลับเพราะเชื่อว่าเมื่อตื่นขึ้นในวันใหม่ เธอจะจำเรื่องทั้งหมดนี้ไม่ได้

วันรุ่งขึ้นเมื่อเขาตื่นขึ้นมาและสัมผัสร่างของเธอในอ้อมแขนของเขา เขาก็รู้ทันทีว่ามันคือวันที่ 3 กุมภาพันธ์ วันกราวนด์ฮอกแสนยาวนานสิ้นสุดลงแล้ว!

นี่คือหนังเรื่อง Groundhog Day (1993) ผลงานของ แฮโรลด์ เรมิส และนี่คือนิยาย! แต่มันทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า หากเราสามารถใช้วันเดิมซ้ำ เราจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นหรือไม่

ในมุมฟิสิกส์ นี่อาจไม่ใช่เรื่องจินตนาการเหลวไหล มันเป็นไปได้ที่เราแต่ละคนมี ‘หนึ่งวันเดียวกัน’ ที่ต่างกัน โลกแต่ละเวอร์ชั่นมีตัวจริง ๆ ของเราอยู่ในนั้น!

เคยคิดบ้างไหมว่า หากคุณไม่ได้ทำงานที่คุณกำลังทำอยู่ ไม่ได้เรียนสาขาที่คุณเรียนมา ไม่ได้แต่งงานกับคนที่อยู่กับคุณในตอนนี้ ฯลฯ ชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร จะดีกว่าที่เป็นอยู่ไหม? หรือมีความสุขกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่?

สมมุติว่าคุณเดินไปในทางสายที่ 2 หรือ 3 หรือ 4, 5, 6... ชีวิตของคุณจะแตกต่างจากที่คุณกำลังเป็นอยู่หรือไม่? และแค่ไหน? หากคุณเป็นพ่อค้าขายผ้า ขายของชำ พ่อครัว ทนายความ ครู หมอ นักการเมือง เหล่านี้คือเส้นทางอื่นที่แต่ละคนมักนึกถึงทุกครั้งที่ไม่พอใจกับชีวิตปัจจุบันที่เป็นอยู่ ด้วยประโยค “ถ้ารู้งี้ก็ทำอย่างนั้นไปแล้ว!”

บางครั้งเมื่ออยู่ในโหมดสำรวจตัวเอง ผมเคยคิดว่าตนเองจะเป็นอย่างไร หากพ่อของผมไม่ตัดสินใจลงเรือจากเมืองจีนมาตั้งรกรากในเมืองไทย ผมคงเติบโตเป็นชาวจีนเต็มตัว อาจเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ อาจเป็นทหาร ฯลฯ

สมมุติว่าพ่อผมไม่ได้ตั้งรกรากที่อำเภอหาดใหญ่ สงขลา ผมก็อาจเกิดและโตที่จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต ระยอง สมมุติว่าผมไม่ได้มาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ก็คงเจริญรอยตามพ่อ นาทีนี้ก็คงเป็นช่างทำรองเท้า มีลูกเจ็ดคน

สมมุติว่าผมไม่ได้เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ สมมุติว่าไม่ได้ไปเมืองนอก และอีกหลาย ๆ สมมุติ ผมก็คงมีโลกที่แตกต่างจากเวลานี้มากทีเดียว

เหล่านี้คือ ‘โลกใบอื่น’ บางโลกดูสวยงามกว่าโลกปัจจุบัน บางโลกดูมีความสุขกว่า แต่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าโลกไหนดีที่สุด เรารู้แต่ว่าเราอยู่ในโลกปัจจุบัน เราไม่ได้เลือกโลกใบอื่น ๆ ซึ่งอาจมีนับล้าน ๆ โลก...

การนึกถึงโลกใบอื่นจึงเป็นไปได้แค่ความฝัน ทว่า ในแนวคิดของ ควอนตัม ฟิสิกส์ โลกใบอื่นนับล้าน ๆ โลกเหล่านั้นมีตัวตนอยู่จริง และมีตัวเราอยู่จริง ๆ ในโลกแต่ละใบนั้น นี่คือทฤษฎีหลายจักรวาล (multiverse) ซึ่งเป็นผลจากการคิดฟุ้งซ่านแบบควอนตัม!

วินทร์ เลียววาริณ, 26 กุมภาพันธ์ 2554
ข่าวหน้าหนึ่ง www.winbookclub.com
ท่อนหนึ่งจากบทที่ 6 ปลาที่ว่ายนอกสนามฟุตบอล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น