++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เรื่องของพิษที่มีอยู่ใน "มะเฟือง"

หลายเสียงเล่าลือกันถึงเรื่องของพิษที่มีอยู่ใน "มะเฟือง" ส่งผลทำให้มีอันตรายถึงชีวิตจากภาวะไตวายเฉียบพลัน

เพื่อให้คลายสงสัย รศ.นายแพทย์ ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร อายุรแพทย์ หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความกระจ่างว่า

มะเฟืองเป็นผลไม้เขตร้อนที่คนไทยรู้จักมา เนิ่นนาน แต่ในจำนวนคนไทย 67 ล้านคน มีน้อยคนนักที่จะทราบว่าพิษของมะเฟืองมีผลต่อสุขภาพของไตและอาจทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้

"ไต" เป็นอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อระบบในร่างกายของเรา มีรูปร่างคล้ายเม็ดถั่วเหลือง มี 2 ข้างอยู่บริเวณบั้นเอว ไตเป็น ส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะ ส่วนที่ต่อจากท่อไต (URETER) ซึ่งจะนำปัสสาวะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ และเข้าสู่ท่อปัสสาวะ (URETHRA) ในเพศชายจะมีต่อมลูกหมากอยู่โดยรอบท่อปัสสาวะ

หน้าที่สำคัญของไต
1. ขับถ่ายของเสียที่เกิดจากการแตกตัวของโปรตีนในอาหารออกจากร่างกาย
2. รักษาสมดุลของน้ำ เกลือแร่ กรดและด่างของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
3. ควบคุมความดันโลหิต
4. สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงในไขกระดูก

ความหมายของภาวะไตวาย คือ ภาวะที่มีการสูญเสียการทำงานของไต แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้

1. ไตวายเรื้อรัง คือการสูญเสียการทำงานของไต ที่เป็นไปอย่างช้าๆ และถาวรช่วงเวลาอาจตั้งแต่ 1–2 ปี จนถึง 10 ปีขึ้นไป จนในที่สุดเข้าสู่ภาวะสุดท้ายของไตวาย (END STAGE RENAL FAILURE)

ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ต้องการการรักษาแบบทดแทน เช่น ฟอกเลือด, เปลี่ยนไตเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้

2. ไตวายเฉียบพลัน ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นชั่วโมง หรือ เป็นวัน ทำให้เกิดการคั่งของของเสียทำให้เกลือแร่ กรด ด่าง และการควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายผิดปกติ

"ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีปริมาณปัสสาวะต่อวันน้อยกว่า 400 ซีซี"

รศ.นายแพทย์ ม.ล.ชาครีย์ กล่าอีกว่า สาเหตุของไตวายเฉียบพลัน มีหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่ เกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย...การอุดตัน ผู้ป่วยที่ช็อกจากการติดเชื้อ, เสียเลือดจำนวนมาก หรือขาดน้ำอย่างรุนแรงจากท้องเสีย

การใช้คำว่า "เฉียบพลัน" นอกจากบ่งถึงช่วงเวลาระยะสั้นที่เกิดขึ้นแล้ว ยังบ่งถึงความเป็นไปได้ ที่ไตจะกลับสู่ภาวะปกติได้

คนไทยรู้จักมะเฟืองมานาน นิยมรับประทานเป็นผลไม้สด หรือคั้นเป็นน้ำผลไม้ หรือรับประทานผลดิบเป็นผัก เช่น ในอาหารเวียดนาม

"ใน บ้านเรามีรายงานเกี่ยวกับคนไข้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันหลังการรับประทานผลสด หรือน้ำมะเฟืองจำนวนมากเนื่องจากมะเฟืองเป็นพืชที่มีสารออกซาเลตสะสมอยู่ เป็นจำนวนมากปกติแล้วออกซาเลตสามารถละลายและถูกดูดซึมได้อย่าง อิสระ แล้วถูกขับออกทางไต โดยสาเหตุของไตวายเฉียบพลันนั้น เพราะไตเป็นแหล่งที่มีสารต่างๆหลายชนิด เมื่อสารออกซาเลตในมะเฟืองจับตัวกับแคลเซียมที่อยู่ในไต จะกลายเป็นผลึกนิ่วออกซาเลตผลึกนิ่วจำนวนมากตกตะกอน หรืออุดตันในเนื้อไตและท่อไต ทำให้ไตวายหรือสูญเสียการทำงานไป"

แต่กระนั้นการเกิดภาวะไตวายไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทาน และภาวะพร่องหรือขาดน้ำในผู้ป่วย

หน่วยโรคไต โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยพบกรณีคนไข้ในประเทศไทยมีอาการไตวายเฉียบพลัน จากการได้รับภาวะพิษจากการรับประทานผลมะเฟือง และได้ส่งรายงานไปต่างประเทศ

ผู้ป่วยที่มีภาวะพิษต่อไต เกิดขึ้นในหลายชั่วโมงถัดมา หลังรับประทานผลมะเฟือง ผู้ป่วยจะมาด้วยภาวะไตวายเฉียบพลัน กล่าวคืออาจจะมีปัสสาวะออกน้อยลง, บวมน้ำ, ความดันโลหิตสูงขึ้น, น้ำท่วมปอด, อ่อนเพลีย หรือบางรายอาจมาด้วยอาการสะอึก เนื่องจากของเสียในร่างกายคั่ง จากการที่ไตไม่สามารถขับของเสีย และน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้ และอาจจะต้องได้รับการฟอกเลือดล้างไตในที่สุด

ถ้ามีภาวะไตวายเฉียบพลันเกิดขึ้น หลังหยุดรับประทานมะเฟืองผู้ป่วยเดิมที่มีไตปกติ กว่าไตจะกลับมาทำงานได้ตามปกติอาจใช้เวลานาน ประมาณ 3-4 สัปดาห์ แต่หากเป็นผู้ป่วยที่มีโรคไตเดิมอยู่ก่อนแล้ว การทำงานของไต อาจจะดีขึ้นบ้าง แต่ไม่กลับมาเท่าเดิม และอาจจะต้องฟอกไตถาวร

ผลการศึกษาปัจจัยการเกิดโรค พบว่าขึ้นอยู่กับชนิดมะเฟือง มะเฟืองเปรี้ยวมีโอกาสเกิดโรคมากกว่ามะเฟือง ชนิดหวาน เนื่องจากมีปริมาณกรดออกซาลิคมากกว่า

"ถ้ารับประทานผลสด หรือผลไม้คั้น จะมีโอกาสเกิดโรคมากกว่า แต่ถ้าผ่านการดอง หรือแปรรูปหรือเจือจางในน้ำเชื่อม เช่น ในน้ำมะเฟืองสำเร็จรูป จะทำให้ปริมาณออกซาเลตลดน้อยลง"

ปริมาณที่รับประทาน พบว่าระดับออกซาเลต ที่เป็นพิษต่อร่างกายมีค่าตั้งแต่ 2-30 กรัมของปริมาณออกซาเลต ผลมะเฟืองเปรี้ยวมีออกซาเลต ประมาณ 0.8 กรัม ในขณะที่มะเฟืองหวานมีออกซาเลต 0.2 กรัม

สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคไตอยู่เดิมอาจมีไตวายเฉียบพลัน จากการรับประทานมะเฟืองเพียงเล็กน้อย

นอกจาก นี้ ระดับความรุนแรงยังขึ้นอยู่กับภาวะพร่องหรือขาดน้ำ จากการรายงานผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายหลังรับประทานมะเฟือง พบว่าผู้ป่วยดื่มน้ำมะเฟืองหลังจากการทำงานหนักหรือสูญเสียเหงื่อมาก จะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น เนื่องจากผลึกแคลเซียมออกซาเลตจะอิ่มตัว และตกผลึกง่ายขึ้นในเนื้อไต

ในผู้ที่มีไตเรื้อรังอยู่ก่อนโดยเฉพาะ ผู้ที่ไตวายต้องล้างไตแล้ว มะเฟืองมีผลต่อระบบประสาทด้วย มีรายงานในผู้ป่วยกว่า 50 รายทั่วโลก...มะเฟืองอาจมีสารที่เป็นพิษกับระบบประสาท ซึ่งผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงไปจากการที่สมองบวม จากการที่มีผลึกนิ่วออกซาเลตไปเกาะสมอง

หรือการที่มะเฟืองมีสารพิษ อื่นที่กระตุ้นสมอง สารพิษต่อสมองนี้จะสะสมในภาวะไตวาย ดังนั้นการเกิดพิษลักษณะนี้พบได้น้อยมากในคนปกติ และผู้ป่วยมักต้องรับประทานผลมะเฟืองเป็นจำนวนมาก

"ผู้ป่วยไตวายอาจ มีอาการทางสมองหลังรับประทานมะเฟืองทั้งชนิดหวานและชนิดเปรี้ยว เพียงหนึ่งผล อาการมักเริ่มไม่กี่ชั่วโมงหลังรับประทานมะเฟือง โดยผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน สะอึก ตามด้วยภาวะซึมหรือชักผู้ป่วยส่วนใหญ่จะดีขึ้นหลังหยุดรับประทานมะเฟือง หลังการล้างไตเพื่อเอาพิษมะเฟืองออกอย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตหลังรับประทานมะเฟือง"

น่าสนใจที่ว่า ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ยินข่าวผู้ป่วยจากพิษมะเฟือง เป็นไปได้ ว่าที่ผ่านมามะเฟืองไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก ผลผลิตมะเฟืองในแต่ละปีก็มีจำนวนไม่มากอย่างผลไม้อื่นๆ คนส่วนใหญ่จะรับประทานในปริมาณน้อย และไม่รับประทานมะเฟืองเปรี้ยว

แต่ ในช่วงหลังๆมานี้ได้มีบทความแพร่ทางสื่อออนไลน์ชวนให้รับประทานมะเฟืองสด โดยชี้แนะประโยชน์ทางสุขภาพ เช่น ลดน้ำตาลในเลือด หรือช่วยรักษาโรคอื่นๆ จึงอาจทำให้มีคนเชื่อ หันมาบริโภคมะเฟืองกันมากขึ้น

ปัจจุบันยัง ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ระบุชัดเจนถึงประโยชน์ของมะเฟือง ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง มะเฟืองสดเป็นผลไม้ที่น่าจะเกิดโทษกับผู้ที่รับประทานมากเกินกว่าที่ร่างกายจะทำลายพิษได้

และขึ้นอยู่กับสุขภาพของผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง ต่อภาวะไตวาย ผู้บริโภคสุขภาพปกติทานได้แต่ในปริมาณไม่มากผู้ป่วยที่มีนิ่วในไตควรหลีก เลี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีไตเสื่อม หรือมีความเสี่ยงต่อโรคไต ห้ามทานมะเฟืองทั้งเปรี้ยวและหวานเด็ดขาด

คุณหมอชาครีย์ย้ำทิ้งท้าย ว่าโรคไตมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ผู้รักสุขภาพควรเอาใจใส่ต่อโภชนาการที่เหมาะสม และตรวจสุขภาพไตเป็นประจำทุกปี

ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.นายแพทย์ ม.ล.ชาครีย์ กิติยากร อายุรแพทย์ หน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
#RamaChannel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น