++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วิกฤตผู้นำ... กับความสำเร็จขององค์กร


คำถามที่มักอยู่ในใจของหลายๆ ท่านก็คือ อะไรคือความเป็นผู้นำที่เหมาะสมและคุณลักษณะที่ผู้นำควรมี ในการนำองค์กรหนึ่งๆ ไปสู่ความสำเร็จได้ เพื่อจะได้นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการ ไม่ให้เกิดเป็นปัญหาลุกลามจนกระทั่งบั่นทอนศักยภาพโดยรวมขององค์กรของเรา
โดยสิ่งหนึ่งซึ่งนักกลยุทธ์เห็นพ้องต้องกันคือ การนำกลยุทธ์ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้นำเป็นปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ ของประเด็นนี้เลยทีเดียว เนื่องจากจะต้องเป็นผู้ที่สื่อสาร โน้มน้าวใจให้ลูกน้องเห็นความสำคัญของกลยุทธ์ดังกล่าว และร่วมแรงร่วมใจกันในการนำกลยุทธ์ที่คิดร่วมกันนั้น ไปสู่การนำไปปฏิบัติอย่างเต็มที่ ดังนั้นผู้นำจึงต้องมีคุณลักษณะหลายประการ ที่จะสามารถสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นกับลูกน้องทั่วทั้งองค์กร และเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานทั้งหมดด้วย
ลักษณะของผู้นำดังกล่าวจึงมักมีการกล่าวเปรียบเปรยว่า ต้องเป็นผู้นำที่มี "Charisma" หรือผมขอใช้คำว่าเป็นผู้นำที่มี "เสน่ห์" แล้วกันครับ แต่เสน่ห์ที่กล่าวในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงเสน่ห์ในเชิงหนุ่มสาวนะครับ แต่เป็นลักษณะที่สามารถทำให้ลูกน้องเกิดความรักชอบ ความเชื่อมั่นและความศรัทธาจากใจจริงได้ และจะนำมาสู่การทุ่มเทในการทำงานให้กับผู้นำคนดังกล่าวได้นั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่างานที่มีการทุ่มเททำจากใจนั้น ย่อมจะมีประสิทธิภาพสูงมากกว่าการถูกบังคับแน่นอน
โดยคุณลักษณะประการแรกที่ถือเป็นเสน่ห์ คือ การเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งหมายถึงว่า ผู้นำที่ดีนั้นควรจะต้องมีความคิดกว้างไกล สามารถมองออกไปในอนาคต และคาดการณ์ได้ว่าเหตุการณ์ใดน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้น เพื่อที่จะนำพาองค์กรให้อยู่รอดได้ดีที่สุดในสถานการณ์ที่จะเกิดนั้น ดังเช่นผู้บริหารของแอปเปิลที่นับว่า มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและแม่นยำอย่างมาก ในการมองพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว จนกระทั่งทำให้แอปเปิลพลิกฟื้นกลับขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์เพื่อความบันเทิงอย่าง "ไอพอด" จนกระทั่งแซงยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่โด่งดังมากับวอล์กแมนอย่างโซนี่ไปได้
ซึ่งผู้นำที่มีวิสัยทัศน์นั้นบางท่านถามว่า จะต่างจากหมอดูที่ตรงไหน คำตอบก็คือ ผู้นำนั้นจะมีการวิเคราะห์และคาดการณ์อย่างเป็นระบบ จากฐานข้อมูลที่เก็บมาอย่างทันท่วงทีและเชื่อถือได้ มีหลักฐานประกอบการคาดการณ์อย่างชัดเจน แม้ในหลายครั้งอาจจะมีการใช้ความคิดเห็นส่วนตัวเข้ามาสอดแทรกด้วย แต่ก็จะสามารถอธิบายเหตุผลและที่มาที่ไปได้ จนกระทั่งสามารถโน้มน้าวใจให้ลูกน้องเกิดความเชื่อมั่นใ นสิ่งที่วิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ นอกจากนี้สิ่งที่คาดการณ์จะต้องอยู่ในพื้นฐานของความเป็นจริงที่เป็นไปได้เสมอ ซึ่งมักจะมีคำเปรียบเปรยว่า ผู้นำที่ดีจะต้องมี "ความใฝ่ฝัน มิใช่ความเพ้อฝัน" ครับ
ประการที่สองก็คือ ผู้นำจะต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถเป็นหลักและที่พึ่งให้กับลูกน้อง ยามที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ได้ โดยความเชื่อมั่นนี้ จะเห็นว่ามีเพียงเส้นกั้นบางๆ ระหว่าง "ความเชื่อมั่น" กับ "ความดื้อรั้นหรือหลงในอัตตาของตนเอง" นะครับ โดยผู้นำที่มีความเชื่อมั่นนั้น จะสามารถนำเสนอแนวคิดของตนเองออกมาอย่างชัดเจน มีเหตุมีผลที่เหมาะสม และสร้างความเลื่อมใสในแนวความคิดนั้นๆ ที่จะกระทำต่อไปได้ รวมถึงมีความเชื่อว่าตนเองจะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคทุกอย่างที่เกิดขึ้นไปได้เป็นอย่างดี แต่ผู้นำที่มีความเชื่อมั่น ก็จะยังรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใต้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความหลากหลายและสมบูรณ์ในแนวคิดที่ได้รับการเติมเต็มและขัดเกลาจากทุกฝ่ายด้วย
ดังนั้นในที่นี้ผู้นำจึงควรมี "ความเชื่อมั่น" มิใช่ "ความยึดมั่น" ซึ่งประเด็นหลังหากเกิดขึ้นมาแล้ว จะทำให้เกิดความลุ่มหลงในความคิดของตนเอง จนอาจจะนำมาสู่ความล้มเหลวขององค์กรโดยรวมได้ และในหลายกรณีความยึดมั่นนี้ก็ได้รับการพัฒนามาจากความเชื่อมั่นในตอนต้นนั่นเอง โดยหากมีความสำเร็จที่ต่อเนื่องมามากมาย และลูกน้องแวดล้อมเองก็เป็นประเภท "ขุนพลอยพยัก" ที่คอยชื่นชมเจ้านายในทุกประเด็น จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้นำอาจจะเกิดความลุ่มหลงในตนเอง แทนที่จะฟังความคิดเห็นของผู้คนรอบข้าง ซึ่งในระยะยาวถือเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากย่อมไม่มีผู้ใดจะสามารถตัดสินใจได้ถูกต้องทุกครั้งไป ประเด็นนี้จึงถือว่าเป็น "กับดักแห่งความล้มเหลวของผู้นำ" ที่มีการย้ำเตือนกันอยู่เสมอครับ
ประการถัดมา ผู้นำควรต้องมีความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งก็รวมถึงความขยันหมั่นเพียรและอุทิศตนให้กับการทำงานอย่างมากนั่นเอง โดยผู้นำที่ประสบความสำเร็จนั้น โดยทั่วไปต้องเป็นผู้ที่ทำงานหนักกว่าลูกน้องครับ หากองค์กรใดหัวหน้านั่งๆ นอนๆ แล้ว คงไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาและยากที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความรุ่งเรืองได้ ซึ่งจากสถิติโดยทั่วไป ซีอีโอของบริษัทที่ประสบความสำเร็จระดับโลกนั้น ใช้เวลากับการทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 10-12 ชั่วโมง ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างศรัทธากับลูกน้องเช่นกัน
นอกจากนี้ สิ่งที่มีความสำคัญมากก็คือ ผู้นำต้องมีพฤติกรรมที่เหนือกว่าหรือโดดเด่นกว่าคนปกติโดยเฉลี่ยทั่วไป นั่นคือ ต้องมีความเสียสละมากกว่า มีความซื่อสัตย์และโปร่งใสมากกว่า รวมถึงต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัวด้วย เนื่องจากผู้นำนั้นถือเป็น "แบบอย่าง" สำหรับลูกน้องทั่วทั้งองค์กร จึงต้องมีความไม่ธรรมดาในแง่ต่างๆ ด้วย เพื่อสร้างตนเองให้แตกต่างจากบุคคลอื่นๆ ทั่วไป ดังนั้นบ่อยครั้งกฎระเบียบขององค์กรที่บังคับใช้กับคนโดยทั่วไปนั้น อาจจะไม่เพียงพอต่อการกำกับดูแลพฤติกรรมของผู้นำ เช่น ในเรื่องของเวลาทำงาน ผู้นำคงต้องเสียสละกับองค์กรมากกว่าเวลางานขั้นต่ำที่กำหนดไว้ต่อพนักงานทั่วไป หรือทางด้านความโปร่งใสตรวจสอบได้ ผู้นำยิ่งจะต้องสามารถเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างอย่างชัดเจนมากกว่าที่กำหนดไว้ปกติด้วย เพื่อแสดงความซื่อสัตย์จริงใจต่อการนำพากิจการ และเป็นแบบอย่างต่อผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหมด ซึ่งหากองค์กรใดที่ผู้นำมีพฤติกรรมที่ "ด้อยกว่า" กฎระเบียบที่กำหนดไว้ จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อวิกฤตศรัทธาในผู้นำ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความล้มเหลวได้
อย่างไรก็ตาม การที่องค์กรจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาว คงมิใช่อาศัยแต่ผู้นำขององค์กรแต่เพียงอย่างเดียว ผู้นำที่ดีและเหมาะสมดังกล่าวอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคำถามที่มี บุคลากรทุกคนในองค์กรนั้นๆ ด้วย เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่สำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพ ร่วมแรงร่วมใจ และยึดมั่นในทิศทางร่วมกัน อันจะนำไปสู่สิ่งที่ทุกคนในองค์กรคาดหวังในอนาคตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น