++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คน 5 ประเภท ในโลกของการเปลี่ยนแปลง


เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นทั้งเล็กใหญ่ ก็มักจะมีคนอยู่ 5 ประเภท ดังต่อไปนี้ ที่มีพฤติกรรมแตกต่างกันไป

1. คนที่ลงมือทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
2. คนที่เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง
3. คนสงสัยว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง
4. คนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และ
5. คนไม่เคยรับรู้การเปลี่ยนแปลงใดๆ

ซึ่งก็พอจะอธิบายความหมายของคนแต่ละประเภทได้พอสังเขป ดังต่อไปนี้

คนที่ลงมือทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เทียบเคียงกับคำในภาษาอังกฤษแล้ว อาจจะตรงกับคำว่า เป็นคนประเภท Proactive คนประเภทนี้มักเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ รู้จักมองการณ์ไกล เป็นคนที่ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท มีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ และมักเป็นคนที่กระตือรือร้น มักเป็นผู้ชิงลงมือทำก่อน มีภาวะผู้นำสูง (ไม่เกี่ยวกับสถานะของตำแหน่ง) มักกล้าตัดสินใจและลงมือทำสิ่งที่ควรทำ โดยไม่ต้องมีใครมาบอกให้ทำ

คนประเภทนี้มักรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี เพราะหลายสิ่งหลายอย่างเขาได้ลงมือทำ ลงมือเตรียมการไปก่อนหน้านั้นแล้ว เช่น ถ้าเป็นเจ้าของกิจการ SMEs เขาก็จะปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้เป็นสมัยใหม่ มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมมาใช้ หรือปรับปรุงหน้าร้านให้เป็นแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) นำระบบลอจิสติคส์ (Logistics) มาใช้ มีการเก็บข้อมูลทั้งข้อมูลลูกค้า ข้อมูลสินค้าคงคลังด้วยระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ ฯลฯ และทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ พวกเขาได้ตระเตรียมลงมือทำไว้ตั้งแต่พวกบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติยังไม่ได้เข้ามาอาละวาด

ถ้าเป็นนักขาย นักขายที่เป็นคนประเภท Proactive นี้ เขาก็อาจจะปรับปรุงและพัฒนาตนเองในเรื่องของภาษาต่างประเทศ เพื่อขยายฐานลูกค้าเป้าหมายที่เป็นชาวต่างชาติให้กว้างขวางขึ้น การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อจัดเก็บข้อมูลลูกค้า การวางแผนการทำงานที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น นักขายประกันชีวิตเขาก็จะพัฒนาตนเองไปเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ที่ปรึกษาทางการเงิน เรียนรู้เรื่องของตลาดทุน ตลาดเงิน ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ฯลฯ

คนที่เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง ถ้าเทียบเคียงกับภาษาอังกฤษแล้ว ก็อาจตรงกับคำว่าเป็นพวก Reactive คือเป็นพวกที่รู้อะไรเป็นอะไรทุกอย่างหมด บางครั้งก็คาดการณ์การณ์ล่วงหน้าได้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ยังขาดความมั่นใจ ขาดความเด็ดขาด ขาดความกล้าที่จะตัดสินใจ และขาดความกล้าที่จะลงมือทำอะไร จึงได้แต่เฝ้าดูไปก่อน หากจะลงมือทำอะไรไปบ้างก็จะทำเท่าที่จำเป็น หรือรอดูให้คนอื่นเขาลงมือทำนำร่องไปก่อน ครั้นเห็นว่าดี เห็นว่าได้ผล จึงค่อยทำตามอย่างเขา บางคนจะลงมือทำอะไรสักอย่างก็ต่อเมื่อเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องทำแล้วจริงๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นแหละ เขาจึงจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าโชคดี ทันเวลาพอดีก็ดีไป แต่ถ้าโชคไม่ดี กว้าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ ก็อาจไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว อย่างพวกบรรดาร้านโชห่วย ที่เสียชีวิตกันไปเกือบหมดแล้วนั่นเป็นตัวอย่าง

คนที่สงสัยว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง อาจเรียกเป็นภาษาอังกฤษได้ว่าเป็นพวก Preactive คือเป็นพวกที่รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ไอ้ที่รู้บ้างนั้น บางครั้งก็รู้มาไม่จริง ไอ้ที่พอจะรู้จริงก็ไม่ค่อยจะเข้าใจ ไอ้ที่พอจะเข้าใจก็รับไม่ได้ ไอ้ที่พอจะรับได้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แล้วก็ไม่ยอมดิ้นรนที่จะหาข้อมูลข่าวสารอะไรเพิ่ม พอใจที่จะทำแบบเดิมๆ คิดและทำแบบนักอนุรักษ์นิยม ระแวงสงสัยไปหมด ระมัดระวังตั้งการ์ดสูงจนไม่เป็นอันทำอะไร พวกนี้มีชีวิตอยู่ด้วยความสับสน งุนงง ไม่รู้ว่าจะทำชีวิตอย่างไร ไม่รู้ว่าควรไปทางไหนดี จึงในที่สุดก็เลือกที่จะไม่ทำอะไรเลย ทำมันไปในแบบเดิมๆ เพราะคิดว่าการไม่ทำอะไรเลยเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด

คนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่าพวก Antiactive พวกนี้นอกจากจะไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงเหมือนพวกที่สงสัยว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย วันๆหนึ่งคนพวกนี้จะนั่งด่านั่งว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังเปลี่ยนแปลง บางครั้งก็ทำทุกวิถีทางที่จะขัดขวางคนอื่นที่เขากำลังจะเปลี่ยนแปลงอะไรด้วย เช่น คนบางคนที่มีจมูกคล้ายลูกชมพู่ กับคนบางคนที่มีฉายาว่าข้าวบูดหน้าจืด ที่ยังหน้าด้านออกทีวีทุกวันเพื่อด่าคนทุกคนที่กำลังทำสิ่งที่สร้างสรรค์ต่อสังคมประเทศชาติ โชคดีที่พวกขี้เรื้อนสองคนนี้โดนกระแสความเปลี่ยนแปลงถีบตกจอทีวีไปแล้ว

คนที่ไม่เคยรับรู้การเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือพวก Inactive คือเป็นพวกที่เฉื่อยชา เฉื่อยแฉะไปวันๆ คนพวกนี้ไม่สนใจอะไรอื่นนอกจากเรื่องของตัวเอง แล้วไอ้เรื่องของตัวเองที่เขาสนใจก็ล้วนเป็นเรื่องไร้สาระทั้งสิ้น เช่น วันหนึ่งๆเขาก็จะยุ่งอยู่แต่เรื่องการกินการอยู่ประจำวัน วันนี้จะไปเที่ยวไหนดี จะไปกินที่ไหนดี วันนี้จะไปเที่ยวไล่ปล้ำคนไหนดี วันพรุ่งนี้จะไปเที่ยวไล่ปี้คนไหนกัน วันๆ หนึ่งคิดแต่เรื่องแทงหวย เปียร์แชร์ ยืมเงินชาวบ้าน มือถือรุ่นล่าสุด ฯลฯ มีชีวิตอยู่ด้วยการหายใจไปวันๆเท่านั้น คนพวกนี้นี่แหละครับที่ผมเคยเปรียบเปรยเอาไว้ว่าแม้เอาไปทำปุ๋ย บรรดาต้นไม้ยังไม่ยอมให้เอามารดเลย

สังคมไดก็ตาม องค์กรใดก็ตาม หรือแม้แต่คนใดคนหนึ่งก็ตาม จะสามารถยืนหยัดทรงกายอยู่ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงปัจจุบันได้ดีหรือไม่เพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้น องค์กรนั้น มีคนประเภทไหนมากน้อยเพียงใด จากประสบการณ์ของผม ถ้ามองเพียงระดับองค์กร มักจะพบว่ามีคนประเภท Proactive อยู่น้อยมาก มีอยู่ราวๆ 5-10% เท่านั้นเอง ส่วนคนประเภท Reactive มักจะมีอยู่ราว 40-50% (มากที่สุด) สำหรับคนประเภท Preactive ก็คงในราว 20-30% คนประเภท Antiactive ก็น่าจะมีอยู่ประมาณ 10-20% และพวก Inactive ก็อาจจะอยู่ในราว 10% ทุกองค์กร ทุกสังคม ต้องพยายามสร้างให้มีคนประเภท Proactive ให้มากที่สุด และต้องพยายามขจัดคนประเภท Antiactive และ Inactive ให้มีน้อยที่สุด เพราะคนสองสามกลุ่มที่ว่านี้ มักจะมีอิทธิพลกับอีกสองกลุ่มที่เหลือ (พวก Reactive และพวก Preactive) เพราะสองกลุ่มที่เหลือนี้ มักจะแปรผันขึ้นหรือลงได้ แล้วแต่ว่าจะโดนกลุ่มไหนดึงดูดไป

ทฤษฎี “Survival of the fittest” ของ Charles Darwin นั้น มีความหมายว่า “ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุดหรอก จึงจะอยู่รอด คนที่ยืดหยุ่นปรับตัวได้ดีต่างหากที่จะอยู่รอดได้!”

ท่านล่ะ ท่านคิดว่าตัวเองเป็นคนประเภทไหนในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น