++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

นางมาร



ยังอบอวลอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เทศกาลปีใหม่ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมจีนอันทรงอิทธิพลไปทั่วโลก รวมถึงไทย

หนึ่งในบรรดาวัฒนธรรมจีนที่ได้รับความนิยมกว้างขวางในไทยมานาน คือยุทธจักรนิยายจีน

แน่นอนว่า ถ้าพูดถึงแวดวงนี้ นักเขียนกระบี่มือหนึ่งคือ กิมย้ง ที่จะมีอายุครบ 90 ปี วันที่ 6 ก.พ.นี้

แม้มีผลงานเพียง 15 เรื่อง แต่ล้วนโด่งดังเป็นที่นิยม ทั้งถ่ายทอดเป็นละครและภาพยนตร์หลายเวอร์ชั่น ไม่เคยมีปีไหนที่วงการบันเทิงฝั่งเอเชียตะวันออก ไม่เปิดกล้องถ่ายทำนิยายของกิมย้ง

จุดเด่นของนิยายของกิมย้งคือ การสร้างตัวละครที่มีมิติน่าค้นหา และมีข้อสังเกตว่า บทบาทของสตรีและบุรุษนั้น สำคัญในระดับเท่าเทียมกัน

นางเอกในหลายเรื่องของกิมย้งมีบทบาทสูงถึงระดับ "ผู้นำ" มีความแกร่งกล้า สง่าผ่าเผย แม้ถูกคนในฝ่ายอนุรักษนิยม-คลั่งชาติ เรียกว่า "นางมาร"

น่าแปลกที่ว่า กิมย้งเขียนถึงนางมารในบริบทนี้เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน แต่คำๆ นี้ที่หลายครั้งถูกเติม อี เพื่อใช้ด่าทอ กลับมาฮิต ณ ยุคปัจจุบัน ตามเวทีปราศรัย โลกออนไลน์ และป้ายประท้วงของเหล่าคนดี

ยูเอ็น วีเมน ถึงกับออกแถลงการณ์ถึงไทยว่า "น่าวิตกอย่างยิ่งที่มีการใช้ภาษาจาบจ้วงเพศหญิง เพื่อหวังผลทางการเมือง"

สำหรับนางมารในนิยายของกิมย้งที่เป็นตัวละครขวัญใจผู้อ่าน-ผู้ชม เริ่มจาก อึ้งย้ง แห่งมังกรหยก ลูกสาวของ อึ้งเอี๊ยะซือ มารบูรพา

เมื่อพ่อถูกเรียกเป็นมาร อึ้งย้งจึงเป็น "นางมารน้อย" ถูกผู้คนในฝ่ายธรรมะมองด้วยสายตารังเกียจและกีดกันไม่ให้คบกับ ก๊วยเจ๋ง พระเอกคนซื่อ

แต่สำหรับ อั้งฉิกกง ยาจกอุดรที่ไม่มองคนเพียงเปลือกนอก ไม่เพียงเชียร์ให้ทั้งสองลงเอยกัน ยังยกตำแหน่งประมุขพรรคกระยาจก ให้อึ้งย้งด้วย

นางมารรายต่อมาคือ เตี่ยเมี่ยง ใน ดาบมังกรหยก ถูกทั้งฝ่ายธรรมะและฝ่ายมารเรียกว่า นางมาร ด้วยความเกลียดชังเชื้อชาติ

เตี่ยเมี่ยงไม่เพียงเป็นองค์หญิงแห่งมองโกล หากมีอิทธิพลในกองทัพที่จะรุกรานแผ่นดินฮั่น จึงถูกต่อต้านอย่างแข็งกร้าว

ไม่เท่านั้น การบุกล่มพิธีแต่งงานของ เตียบ่อกี้ ชายในดวงใจ กับ จิวจี้เยียก สาวสำนักง้อไบ๊ ฝ่ายธรรมะ ในศึกชิงรัก ยิ่งตอกย้ำความเป็นนางมารมากขึ้น

แต่ความเด็ดเดี่ยว ตรงไปตรงมา ไม่เฟก ทำให้พระเอกเนื้อหอมเลือกเตี่ยเมี่ยงเป็นคู่ชีวิต

ด้าน ยิ่มเอี่ยงเอี้ยง หรือ เยิ่นอิ๋งอิ๋ง ใน กระบี่เย้ยยุทธจักร แม้มีฉายา ธิดาเทพ แต่ติดโผนางมารเพราะเป็นลูกอดีตหัวหน้าพรรคตะวัน จันทรา ฝ่ายมาร

พระเอก เหล้งฮู้ชง ผู้รู้จักแยกแยะ ดีชั่ว ไม่ตัดสินอะไรแบบขาวดำ มองทะลุคำว่ามารจนสัมผัสความงามในจิตใจของแม่นางท่านนี้ได้

จากตัวอย่างนี้กล่าวได้ว่า คำเรียกนางมารในนิยายกิมย้งสะท้อนถึงสังคมที่มีวิญญูชนจอมปลอมคอยเหยียดหยามผู้อื่น

ตัวละครที่เป็นนางมารจริงๆ คือ ลี้มกโช้ว ศิษย์สำนักสุสานโบราณ ใน มังกรหยกภาค 2 หลังผิดหวังในรักแล้วไม่รู้จักปลง มีแต่ความเคียดแค้นโกรธเกลียดกัดกร่อนจิตใจจนกลายเป็นคนโหดเหี้ยม

มุมมองในนิยายของกิมย้งประเด็นนี้ก็น่าสนใจเช่นกัน

ข่าวสดออนไลน์, 1 ก.พ.57

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น