++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

สตรีเป็นมารแห่งพรหมจรรย์

มีคนกล่าวไว้ว่า “สตรีเป็นศัตรูแห่งพรหมจรรย์” บางคนอาจคิดว่าเป็นการกล่าวร้ายผู้หญิง จริงๆแล้วในพระไตรปิฎก็มีการพูดถึง “สตรีเป็นมลทินของภิกษุ” โดยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระอุทายี เป็นพระในสกุลเมืองสาวัตถี ท่านชอบเข้าออกในสกุลเป็นประจำ ซึ่งสมัยนั้นท่านมีหญิงสาวที่พ่อแม่ได้ยกให้ไว้แล้วเป็นอุปัฏฐากอยู่ วันหนึ่งท่านไปบ้านหญิงดังกล่าว และหญิงสาวอยู่ในห้อง ท่านก็ตามเข้าไปในห้องคุยกันสองต่อสอง ปรากฏว่านางวิสาขามหาอุบาสิกา ไปบ้านนั้นพอดีเห็นพระอุทายีทำเช่นนั้น ก็กล่าวติเตียนว่าปฏิบัติตนไม่เหมาะสม แต่พระอุทายีไม่สนใจ นางจึงไปเล่าให้พระภิกษุอื่นฟัง พวกพระภิกษุก็พากันตำนิพระอุทายีและนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ให้มีการประชุมสงฆ์สอบสวนเรื่องนี้ เมื่อได้ความจริงก็ทรงตำหนิว่า พระอุทายีทำไม่เหมาะ ไม่ควร เพราะจะเป็นเหตุให้ผู้ไม่เลื่อมใสพระพุทธศาสนา ยิ่งไม่เลื่อมใส ส่วนใครที่เลื่อมใส ก็อาจจะคลายความเลื่อมใสลง เมื่อกล่าวติเตียนแล้วก็ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุนั่งในที่ลับหูหรือลับตากับหญิง หนึ่งต่อหนึ่งอีกต่อไป ซึ่งพระวินัยข้อนี้ยังใช้อยู่จนปัจจุบัน จากเรื่องนี้จะเห็นว่าที่กล่าวว่าผู้หญิงทำให้ภิกษุเป็นมลทิน นั้น ก็เพราะว่าหากผู้หญิงเข้าใกล้พระเมื่อใด แม้จะเพียงคุยกัน และไม่มีอะไรกันเช่นพระอุทายี แต่ก็จะทำให้พระมัวหมอง และถูกกล่าวหาได้โดยง่าย ยิ่งอยู่ในที่ลับตาคน ยิ่งไม่เหมาะ และพระภิกษุแม้จะบวชถือศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ก็มิใช่ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ยังมีความเป็นปุถุชนอยู่ หากอยู่ใกล้ชิดกันโอกาสจะเกิดเรื่องไม่ดีไม่งามนั้นมีง่าย ซึ่งเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงปรารภกับพระอานนท์ว่า ถ้ามีผู้หญิงมาบวชเมื่อไร ก็จะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พระศาสนาตั้งอยู่ได้ไม่นาน และคงด้วยเหตุผลนี้ เมื่อพระนางปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระน้านางและพระมารดาบุญธรรมของพระองค์มาขอบวชเป็นภิกษุณีองค์แรก พระวินัยของภิกษุณีจึงมีถึง ๓๑๑ ข้อมากกว่าพระภิกษุเสียอีก รวมทั้งมีครุธรรมที่ต้องปฏิบัติอีกด้วย


พระกับผู้หญิง เกี่ยวข้องอย่างไรไม่เป็นโทษ


พระควรเกี่ยวข้องกับมาตุคามอย่างไร

พระอานนท์พุทธอนุชากราบทูลถามข้อหนึ่งว่า "ข้าพระองค์ (ภิกษุทั้งปวง)

จะพึงปฏิบัติตนต่อสตรีอย่างไร"
พระองค์ตรัสว่า "ไม่เห็นเป็นดีที่สุด อานนท์"
"ถ้าจำต้องเห็นล่ะ พึงปฏิบัติอย่างไร พระเจ้าข้า"
"ไม่เจรจาด้วย"
"ถ้าจำเป็นจะต้องเจรจา จะพึงปฏิบัติอย่างไร พระเจ้าข้า"
"ถึงตั้งสติไว้ อานนท์"

พระอานนท์นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รอบคอบที่สุดรูปหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าท่านเป็น
เอตทัคคะ(มีความเป็นเลิศ) หลายด้าน เช่น เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติรอบคอบ
เป็นผู้มีธิติ (ความเพียร) เป็นผู้มีคติ (มีวิธีจำพุทธวจนะอย่างเยี่ยม)

ครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลนิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารเป็นประจำในวัง พระก็ไปฉัน
ติดต่อกันมา แต่ต่อมาภายหลังพระเจ้าแผ่นดินทรงมีภารกิจอย่างอื่นมากมาย
ทรงลืมสั่งให้ตระเตรียมภัตตาหารภวายพระ พระสงฆ์อื่นๆโดนเข้าครั้งสองครั้งก็ไม่ไปอีก
คงมีแต่พระอานนท์รูปเดียวไปอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งพระเจ้าปเสนทิโกศลรำลึกขึ้นได้
และทรงขอโทษพระอานนท์ พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลเรื่องนี้ให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
พระพุทธองค์ตรัสว่า "อานนท์เธอเป็น "การณวสิก"
(การณวสิก = เป็นคนมองการณ์ไกล, เป็นคนหนักในเหตุในผล)

ในเมื่อท่านเป็นคนมีสติรอบคอบ มองการณ์ไกล ท่านจึงพยายามทูลถามแนวปฏิบัติต่างๆ
จากพระพุทธองค์เท่าที่มีเวลาให้ เพราะอีกไม่นานก็จะไม่มีโอกาสแล้ว
ข้อซักถามหลายต่อหลายเรื่องท่านมิได้ถามเพื่อตัวท่านเอง
หากถามเพื่อพระสงฆ์และพุทธบริษัททุกหมู่เหล่า ดังคำถามเกี่ยวกับสตรีนี้
ก็ถามเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ทั้งปวง พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ควรเห็น
แต่ถ้าต้องเห็น ก็ไม่ควรเจรจา ถ้าจำเป็นต้องเจรจาก็ให้เจรจาด้วยสติ

นี้มิได้หมายความว่าเป็นการ "ดูหมิ่น" สตรี ดังที่บางคนอาจเข้าใจ
ต้องเข้าใจว่า "พรหมจรรย์" คือการงดเว้นเมถุนธรรม บุรุษที่ประพฤติพรหมจรรย์ก็ต้อง
ระวังมิให้เกี่ยวข้องกับสตรี สตรีที่ประพฤติพรหมจรรย์ก็ต้องระวังมิให้เกี่ยวข้องกับบุรุษ
"เกี่ยวข้อง" ในที่นี้หมายถึง ไม่พึงคลุกคลีจนเกินพอดี เกินงาม เพราะอะไร?
เพราะจะทำให้พรหมจรรย์มัวหมองไป และอาจทำให้เสียพรหมจรรย์ในที่สุด
เป็นธรรมดาอยู่แล้วมิใช่หรือ "ผาณิตผิชิดมด ฤาจะอดกระไรไหว"
บุรุษกับสตรีใกล้ชิดกันบ่อยและนานเข้า ไม่ว่าใครท้ายที่สุดก็ "ไฟฟ้าชอร์ต" เข้าจนได้

เมื่อบวชเข้ามา ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์แล้ว ไม่ว่าหญิงหรือบุรุษ
ก็พึงปลีกตนห่างเพศตรงข้ามให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถ้ามีเหตุจะเจรจาด้วยก็ให้มีสติ

ประเภทที่บวชมาแล้วยินดีคลุกคลีกับสีกา ไปไหนมาไหนมีคาราวานสตรีล้วน
ทั้งสาวแก่แม่ม่ายไฮโซฯ ขี้เหงาล้อมหน้าล้อมหลังนั้น มิใช่ปฏิปทาของสาวกพระพุทธเจ้า เขาเรียกว่าปฏิปทาของ "ฉัพพัคคีย์"(อลัชชี ๖ คน) วิญญูชนเห็นก็พยากรณ์ได้ทันทีว่า ปฏิปทาอย่างนี้ไปไม่รอด ในที่สุดก็จะวิบัติฉิบหาย "ตกหล่น" จากพระศาสนา เรียกว่า "เน่าตั้งแต่ยังไม่ตาย"

โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น