แนวคิดในการพัฒนาคนตามแนวพระพุทธเจ้า : “ฝึกไม่ได้ให้ฆ่าเสีย”
มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องได้รับการฝึกฝนพัฒนาตามลำดับขั้นของชีวิต ตั้งแต่เด็กแรกเกิดแม้เมื่อเติบโตแล้วก็ตามก็ยังต้องพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง การพัฒนาคนมีมาแต่โบราณ แนวคิดในวิธีการของพระพุทธองค์ที่ทรงให้ไว้ ทรงคุณค่ามหาศาลควรน้อมมาเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาคนที่สามารถปรับใช้ได้อย่างดีแม้ในยุคปัจจุบัน แม้ในอนาคตก็ยังคงใช้ได้ เพราะธรรมะของพระพุทธองค์ไม่จำกัดด้วยกาล จึงขอยกกรณีศึกษาในครั้งพุทธกาลมาดังนี้
ครั้งหนึ่ง นายเกสี ผู้ฝึกม้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งถวายความเคารพเรียบร้อย ถูกพระองค์ตรัสถามว่า
“ท่านเป็นสารถีฝึกม้า มีชื่อเสียง ท่านฝึกม้าด้วยวิธีอย่างไร”
นายเกสีได้กราบทูลว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าฝึกม้าด้วยวิธีละมุนละม่อมบ้าง ด้วยวิธีรุนแรงบ้าง ด้วยวิธีทั้ง ๒ ประกอบกันบ้าง”
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า
“ถ้าม้าของท่านไม่รับการฝึกด้วยวิธีละมุนละม่อม
ไม่รับการฝึกด้วยวิธีรุนแรง ไม่รับการฝึกด้วยวิธีทั้ง ๒ ประกอบกัน ท่านจะทำอย่างไรกับม้านั้น”
“ถ้าม้าของข้าพระพุทธเจ้าไม่รับการฝึกด้วยวิธีละมุนละม่อม
ทั้งวิธีรุนแรง และวิธีทั้ง ๒ ประกอบกัน ข้าพระพุทธเจ้าก็ฆ่ามันเสีย ที่ทำอย่างนั้นเพราะเหตุไร เพราะเพื่อมิให้สำนักอาจารย์ต้องเสียชื่อเสียง”
ครั้นกราบทูลเช่นนั้นแล้ว ก็กราบทูลถามว่า
“สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสารถีฝึกคนชั้นเยี่ยมยอดทรงฝึกคนด้วยวิธีใดเล่า พระพุทธเจ้าข้า”
พระองค์ทรงแสดงคล้อยตามวิธีฝึกม้าของนายกาสี ความว่า
"เราก็ฝึกคนด้วยวิธีละมุนละม่อมบ้าง ด้วยวิธีรุนแรงบ้าง ด้วยวิธีฝึกทั้ง ๒ ประกอบกันบ้าง "
วิธีละมุนละม่อม คือ แสดงสุจริต ความประพฤติดี และผลของสุจริต ความประพฤติดีนั้นว่า กายสุจริตอย่างนี้ ผลของกายสุจริตอย่างนี้ วจีสุจริตอย่างนี้ ผลของวจีสุจริตอย่างนี้ มโนสุจริตอย่างนี้ ผลของมโนสุจริตอย่างนี้ เทวดาเป็นอย่างนี้ มนุษย์เป็นอย่างนี้
วิธีรุนแรงเป็นอย่างไร คือ แสดงทุจริตและผลของทุจริตว่า การทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตอย่างนี้
ผลของกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตอย่างนี้ นรกคติที่มีความเดือดร้อนเป็นอย่างนี้
กำเนิดสัตว์เดรัจฉานเป็นอย่างนี้ เปตวิสัยเป็นอย่างนี้ ฯลฯ”
นายเกสีได้กราบทูลถามว่า
“ถ้าผู้นั้นไม่รับการฝึกด้วยวิธีทั้ง ๒ นั้น พระองค์จะทรงทำอย่างไรกับเขา พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสตอบว่า
“ถ้าคนนั้นไม่รับการฝึกด้วยวิธีทั้ง ๒ นั้น เราก็ฆ่าเขาเสียเหมือนกัน”
นายเกสีกราบทูลย้อนถามว่า
“ปาณาติบาต ไม่ควรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้ามิใช่หรือ ไฉนจึงรับสั่งว่า เราก็ฆ่าเสีย กระนั้นเล่า”
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสอธิบายว่า
“จริงซีเกสี ตถาคตไม่ควรฆ่าสัตว์ แต่ว่าคนผู้ใดไม่รับการฝึกด้วยวิธีละมุนละม่อม ไม่รับการฝึกด้วยวิธีรุนแรง ไม่รับการฝึกด้วยวิธีทั้ง ๒ ประกอบกัน ตถาคตก็ไม่นับคนผู้นั้นว่าเป็นคนควรกล่าวสั่งสอนอีกต่อไป
ทั้งเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย ก็ไม่นับคนผู้นั้นว่าเป็นคนที่จะพึงว่ากล่าวสั่งสอนด้วย
ข้อที่ตถาคตไม่นับคนผู้นั้นว่าเป็นคนที่จะพึงว่ากล่าวสั่งสอนได้ต่อไป
ทั้งเพื่อนพรหมจารี ผู้รู้ทั้งหลายก็ไม่นับคนผู้นั้นว่า เป็นคนที่จะพึงว่ากล่าวสั่งสอนด้วยนั้น ชื่อว่าเป็นการฆ่าคนผู้นั้นเสียอย่างดีทีเดียว ในวินัยของพระอริยเจ้า”
นายเกสีได้กราบทูลสดุดีพระผู้มีพระภาคเจ้า และขอแสดงตนเป็นพุทธมามกะตลอดชีวิต
ในการพัฒนาคนนั้นการชี้ให้เห็นประโยชน์ของการพัฒนา ให้คนนั้นรับทราบและเข้าใจ หรือในทางกลับกันการชี้ให้เห็นโทษอย่างชัดเจนหากไม่ได้พัฒนาหรือพัฒนาผิดทาง เป็นภารกิจที่มีความสำคัญมาก แต่อาจต่างกันไปตามจริต ความพร้อมและเครื่องรับของแต่ละ บุคคล บางคนชอบคำสอนแบบมธุรสวาจา อ่อนหวาน นุ่มนวล สอนด้วยไม้แข็งไม่ได้ แต่สำหรับบางคนต้องพูดแรง ๆ ตรง ๆ เพื่อกระตุ้นต่อมปัญญาให้คิดตาม บางคนก็ ต้องใช้สลับกันไป การวิเคราะห์กลุ่มคนก่อนพัฒนา เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมจึงจำเป็นอย่างยิ่งและเป็นหน้าที่ของหัวหน้า หรือผู้บริหารต้องทำการบ้านมาก่อน ไม่ใช่ใช้วิธีใดวิธีการเดียวกันกับทุกคน แต่ถ้าลงทุนใช้ทุกวิธีแล้ว ไม่ได้ผลก็คงไม่ต้องเสียเวลาลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ พระพุทธองค์ท่านให้ “ฆ่า” คือตัดออกไป ส่วนจะตัดออกด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ตามสภาวการณ์ของแต่ละท่านนะครับ
(อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต เกสีวรรค)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น