++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2554

สปสช.ก้าวสู่ปีที่ 9 ภารกิจหนัก “สร้างสังคมเท่าเทียม”

โดย...จารยา บุญมาก



ใน ก้าวสู่ปีที่ 9 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ASTVผู้จัดการ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ถึงแนวนโยบายในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของคนไทยในปี 2554 โดยในปีนี้ คุณหมอ บอกว่า จะเน้นเรื่องความเท่าเทียมเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้

หวังสร้างระบบสุขภาพเท่าเทียม -ยั่งยืน

นพ.วินัย มองลึกถึงประเด็นนี้ ว่า ความเท่าเทียมนี้หมายถึง ทำให้สังคมเท่าเทียมกันในทุกระบบหลักประกันสุขภาพ ทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ ระบบสวัสดิการข้าราชการ, ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ไม่ได้หมายถึง การยุบรวมกันแน่ๆ เพราะแต่ละกองทุนมีระบบการบริหารแตกต่างกัน แต่จะเน้นการหารือ การจัดทำระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมต่อกันโดยเฉพาะโรคเรื้อรัง การเปลี่ยนสิทธิด้านสุขภาพ ระบบการส่งต่อ ระบบการจ่ายเงินให้กับโรงเพยาบาลแห่งละแห่ง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างสอดคล้องกัน ลดความเหลื่อมล้ำในแต่ละกองทุนให้ได้มากที่สุด

ตั้งซอฟต์แวร์จับตาระบบจ่ายยา

นพ.วินัย กล่าวต่อว่านอกจากนี้ สปสช.ได้พัฒนาข้อมูลด้านยาโดยจัดทำข้อมูลเชิงอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามระบบ การสั่งจ่ายยาของแพทย์และเภสัชกร ซึ่งมีการนำร่องแล้วใน 8 จังหวัด ก็จะมีการขยายให้คลอบคลุม โรงพยาบาลทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะเกิดรูปแบบ แบบแผนการใช้ยาที่เหมาะสมแล เป็นการช่วยกำกับพฤติกรรมในการใช้ยาด้วย

“ทั้งนี้ ตัวอย่างการจัดการระบบยา เช่น กรณี “ยากำพร้า” หรือยาที่มีอัตราการใช้ต่ำ เช่น เซรุ่มต้านพิษหน่อไม้ปี๊บเป็นต้น โดยจะมีการร่วมรวมยาที่มีความจำเป็นและใช้มากในกลุ่มนี้ 6 รายการ จากราว 52 รายการ และให้มีการกระจายยาอย่างเหมาะสม ในสถานพยาบาลที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ เท่านั้น” นพ.วินัย กล่าว

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า โดยจะต้องเริ่มที่การปรับปรุงระบบสารสนเทศโดยอาศัยซอฟต์แวร์เพื่อการจัดการ คลังยาและเวชภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้โรงพยาบาลสามารถลดปริมาณการสำรอง และมียาใช้เพียงพอตลอดเวลา ทั้งยังได้รับยาที่ผลิตใหม่ ลดการสูญเสียจากการทำลายยาที่โรงพยาบาลส่งคืนยาที่หมดอายุ ส่งผลให้สามารถขยายจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการได้มากขึ้น เนื่องจากมีการบริหารคลังยาที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ใช้งบประมาณเท่าเดิม และสามารถลดการสูญเสียทรัพยากรจากการทำลายยาหมดอายุอีกด้วย

ผุดกองทุนผู้การหุ้น อบจ.ดูแลผู้พิการ

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า นอกจากจะลดความเหลื่อมล้ำ การให้บริการในระบบสุขภาพแล้ว ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการของกลุ่มผู้พิการ ซึ่งในปี 2554 การขยายสิทธิประโยชน์ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้พิการให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรีไม่ถูกมองว่า เป็นภาระ

ทั้งนี้ การจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการเพิ่มเป็น 8.08 บาทต่อประชากร จากเดิม 5 บาทต่อประชากร รวมเป็นเงิน 380 ล้าน เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพแก่คนพิการเน้นที่การส่งเสริมให้โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือนักกายภาพบำบัดอยู่ประจำ ขณะที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.และกองทุนสุขภาพขององค์การปกครองส่วนตำบล รวมทั้งเทศบาลเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูด้วย

“ในปีที่ผ่านมีการนำร่องกองทุนสุขภาพผู้พิการ ใน 3 จังหวัด คือ จ.อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู และอุบลราชธานี โดยเป็นการร่วมหุ้นเพื่อสนับสนุนงบประมาณร่วมกันกับองค์การบริหารส่วน จังหวัด (อบจ.) ลักษณะคล้ายกับกองทุนสุขภาพตำบล แต่จะมีการร่วมหุ้นแบบ 1 ต่อ 1 มีตัวแทนจากทั้งผู้ปฏิบัติวิชาชีพและผู้พิการเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุน ร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นพ.วินัย ให้ภาพ

ชี้ทางออกแก้ปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่อง

และอีกปัญหาที่จะลืมสอบถาม เลขาฯ สปสช.ไม่ได้ คือ ปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง นพ.วินัย บอกว่า คงไม่ต้องกังวล เพราะขณะที่ สปสช.จัดสรรงบประมาณทั้งหมดให้ไปแล้ว และที่ผ่านมาก็จ่ายเงินถูกต้องตามขั้นตอนและหลักการแล้ว เชื่อว่าปัญหาน่าจะลุเลาเบาบางลง อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่ได้เกิดมาจากการบริการจัดการที่แย่แต่อาจเป็นที่ระบบ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากหลายสาเหตุ

“ยกตัวอย่างล่าสุดจะ มีการขยายบริการ เปิดโรงพยาบาลชุมชนแห่งใหม่ใน 54 อำเภอเกิดใหม่ ควรพิจารณาตามเงื่อนไขความเป็นจริงไม่ใช่สร้างโรงพยาบาลตามโครงสร้าง ของกระทรวงมหาดไทยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากในบางพื้นที่มีโรงพยาบาลอยู่แล้ว อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่เพียงพอ หากมีการผุดสถานพยาบาลแห่งใหม่ มีการกระจายกำลังบุคลากรโดยแบ่งจากที่เดิม ก็จะเป็นการเพิ่มภาระ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการบริการลดลงและเสียค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเพิ่ม มากขึ้นไปด้วย” เลขาธิการทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น