++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

“4 จว.อีสานใต้” เตรียมพร้อมทีมแพทย์ “Sky Doctor”- รับมือภาวะวิกฤตฉุกเฉิน

ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - 4 จังหวัดอีสานใต้เตรียมพร้อมทีมแพทย์ “Sky Doctor” ลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน เพื่อช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน น้ำท่วมสูง-เส้นทางถูกตัดขาดและอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ขณะโคราชเร่งจัดทำพิกัดที่จอดเครื่องบินลำเลียงผู้ป่วยทุกอำเภอ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ซ้ำอีก

วันนี้ (18 ม.ค.) ที่ห้องประชุมวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ภายในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา พญ.เพิ่มศิริ เลอมานุวรรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุภาพ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน” โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่สาธารณสุขเขต 14 ประกอบ ด้วย จ.ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์ และ นครราชสีมา และ บุคลากรเครือข่ายการช่วยชีวิตของ จ.นครราชสีมา เข้าร่วมการประชุม กว่า 100 คน

ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้และทักษะทางการแพทย์ในการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ทุรกันดารให้ ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และสร้างเครือข่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ป่วยทาง อากาศยาน

นพ.สุนทร ชินประสาทศักดิ์ หัวหน้างานเวชศาสตร์ฉุกเฉินและนิติเวช โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อบุคลากรทางการ แพทย์ โดยมีทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ฝึกการปฏิบัติงานได้ อย่างสมจริงเมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งชุดแพทย์ช่วยเหลือทางอากาศ หรือ “SKY DOCTOR” จะต้องเป็นทีมแพทย์ที่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติงาน เนื่องจากต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที โดยจะปฏิบัติภารกิจในภาวะฉุกเฉิน เช่น ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมสูง เส้นทางถูกตัดขาดไม่สามารถลำเลียงผู้ป่วยภาคพื้นดินได้ หรือ ผู้ป่วยที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารไม่สามารถใช้รถแพทย์เข้าไปให้บริการได้

ส่วนใหญ่ทีมแพทย์ Sky Doctor ที่พบบ่อย มักจะอยู่ทางภาคเหนือเนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง การเข้าถึงบริการทางการแพทย์มีน้อย ส่วนภาคอีสานโดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณสุขเขต 14 นั้น ทีม Sky Doctor เคยให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะปอดล้มเหลวในพื้นที่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ซึ่งขณะนั้น จ.นครราชสีมา ประสบกับภาวะน้ำท่วมครั้งใหญ่ ต้องส่งทีมแพทย์ชุดดังกล่าวเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย โดยสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในจุดเกิดเหตุและนำส่ง โรงพยาบาลด้วยการลำเลียงทางอากาศยานได้ด้วยความปลอดภัยโดยใช้เวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องจุดลงจอดเครื่องบิน

ฉะนั้น เพื่อเป็นการรองรับการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน ขณะนี้ได้ให้หน่วยแพทย์ทุกอำเภอทั้ง 32 อำเภอของ จ.นครราชสีมาเร่งจัดทำพิกัดจุดลงจอดเครื่องบินกรณีที่จะต้องส่งต่อผู้ป่วย ฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือหากในปีหน้าเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมสูงอีกรอบ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที โดยประสานหน่วยบินของตำรวจ ทหาร และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีเครื่องบินไว้คอยสนับสนุนอยู่แล้ว

“การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยานนั้นมีความจำเป็นอย่างมากใน พื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมสูงหรือ ถิ่นทุรกันดาร เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ เพราะหากปล่อยให้ผู้ป่วยรอนานอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยานนั้นครอบคลุมผู้ป่วยทุกราย ทั้งที่มีบัตรทองและไม่มีบัตร โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่การออกให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจะมีทีมแพทย์ประเมินอาการคนไข้อีกครั้งว่า ควรจะต้องขนย้ายทางอากาศยานหรือไม่” นพ.สุนทร กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น